Kiss Me: จูบฉันสิ จากตู้เสื้อผ้านาร์เนีย สู่ She’s All That เพลงแห่งแลนด์มาร์คยุค 90s

Kiss Me: จูบฉันสิ จากตู้เสื้อผ้านาร์เนีย สู่ She’s All That เพลงแห่งแลนด์มาร์คยุค 90s
Kiss Me แซค ไซเลอร์ (Zack Siler) ชายหนุ่มนักเรียนสุดฮอตแห่งโรงเรียน Southern California High School เพิ่งโดน เทย์เลอร์ วอห์น (Taylor Vaughan) แฟนสาวเชียร์ลีดเดอร์สุดแซ่บประจำโรงเรียนหักอกแบบไร้เยื่อใยเพื่อไปคบกับดารารายการเรียลิตีโชว์ แซคได้แต่ปลอบใจตัวเองและคิดจะกู้หน้าตัวเองกลับมา เขาเดิมพันกับเพื่อนว่า ถึงแม้จะไม่ได้คบกับเทย์เลอร์ เขาก็สามารถปั้นสาวคนไหนก็ได้ในโรงเรียนให้โดดเด่นเป็นดาวและเป็นราชินีแห่งงานพรอมยืนเคียงข้างเขาได้ไม่ยาก  ว่าแล้วการท้าชนของแซคและเพื่อนก็เริ่มขึ้น เมื่อเพื่อนชี้เป้าหมายของหญิงผู้จะมาเป็นพรอมควีนคนต่อไปของแซคที่ เลนีย์ บ็อกซ์ (Laney Boggs) สาวศิลปะ สันโดษ ไม่ค่อยมีเพื่อนฝูง ถือว่าเป็นขั้วฝั่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับเทย์เลอร์ แซคจะทำยังไงให้สาวผู้ไม่ป็อปปูลาร์กลายเป็นราชินีแห่งงานพรอมได้ภายใน 6 สัปดาห์ จนในที่สุดแซคได้เรียนรู้ความหมายของความสัมพันธ์ที่งดงามกว่าการมองคนที่รูปลักษณ์ภายนอกได้ในที่สุด ถึงตอนนี้ เพลงต้องมาแล้ว...   Kiss me, out of the bearded barley Nightly, beside the green, green grass Swing, swing, (swing, swing) swing the spinning step You wear those shoes and I will wear that dress   (จูบฉันสิ ท่ามกลางทุ่งบาร์เลย์ที่ขึ้นสูงชันนี้ ส่วนตอนกลางคืน (ก็จูบฉันสิ) ท่ามกลางใบไม้ใบหญ้าอันเขียวสดนี้ เต้นรำ (ด้วยกันสิ) แล้วหมุนตัวสวิงไปด้วยกันในขณะที่คุณใส่รองเท้าคู่นั้น และฉันก็ใส่กระโปรงชุดนี้)   สำหรับวัยรุ่นยุคปลาย 1990s ต่อมาถึง 2000s คงคุ้นเคยกันดีกับเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่อง She’s All That ภาพยนตร์ปี 1999 ที่ขายแฟนตาซีกับเรื่องความรักของวัยรุ่นยุคนั้น (เนื้อหาแบบนี้อาจจะพ้นยุคจากสมัยนี้ไปแล้ว) ซึ่งตีคู่มากับเพลงในภาพยนตร์อย่าง Kiss Me เพลงชาติประกอบงานพรอมของวัยรุ่นอเมริกันในยุคนั้น เพลงที่เนื้อเพลงขึ้นต้นด้วย Kiss Me แล้วจบด้วยคำว่า Kiss Me เช่นเดียวกัน มารำลึกถึงเพลงนี้กัน ยุคปลาย 90s ยุคที่จะต่ออินเทอร์เน็ตที่ต้องใช้เวลาแสนยาวนานกว่ายุคนี้ สิ่งบันเทิงหนึ่งของวัยรุ่นสมัยนั้นจึงเป็นการจับกลุ่มรวมตัวกันร้องเพลง พร้อมกีตาร์และหนังสือเพลงรวมฮิตคอร์ดกีตาร์ที่ถูกวางอยู่กลางวง หนึ่งในเพลงที่น่าจะถูกเล่นขึ้นบ่อยที่สุดในวงเด็กหนุ่มสาวยุค 90s ที่มีใจรักเสียงเพลงก็ไม่น่าจะใช่เพลงไหนนอกเสียจาก... เพลงที่เริ่มต้นด้วย 3 คอร์ดวน และถูกร้องโดยเสียงจากหญิงสาวที่เริ่มเอื้อนเอ่ยร้องด้วยน้ำเสียงหวานปนเท่ว่า “Kiss me” นี่คือเพลงที่ทำให้หญิงสาวผู้ร้องเพลงนี้สปอตไลต์จับรัว ๆ เพราะเพลงมันน่ารัก ยิ่งทำให้คนร้องน่ารักขึ้นไปอีก เพลงที่เป็นรอยจำของวัยรุ่นของยุค 90s เพลงที่พลเมืองชาวเน็ตอเมริกันแห่งยุคนั้น เคยขนานนามว่าเป็นเพลงชาติแห่งงานพรอมของยุค ก่อนที่จะเข้าสู่เพลง Kiss Me มาฟังเรื่องราวต้นทางของเพลง นั่นคือเรื่องของวง Sixpence None The Richer กันก่อนดีกว่า   Sixpence None The Richer ตู้เสื้อผ้านาร์เนียกับความเชื่อต่อพระเจ้า วง Sixpence None The Richer ผู้รังสรรค์เพลง Kiss Me ชื่อวงนั้นเกี่ยวโยงกับ ซี.เอส. ลูอิส (C.S. Lewis) ผู้ประพันธ์ชุดหนังสือนวนิยายแฟนตาซีอย่าง ตำนานแห่งนาร์เนีย (The Chronicles of Narnia) วรรณกรรมอังกฤษว่าด้วยเรื่องราวของพี่น้องทั้ง 4 คนที่หลบภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาอยู่ที่ชนบท แล้วค้นพบว่าตู้เสื้อผ้าที่บ้านของศาสตราจารย์ที่พวกเขามาพักอาศัยด้วยนั้นเชื่อมต่อกับดินแดนมหัศจรรย์ แม้ว่าพวกเขา - สมาชิกทั้งของวง จะไม่ได้ใช้ตู้เสื้อผ้าเพื่อเชื่อมต่อกับโลกมหัศจรรย์ทางดนตรี แต่จุดร่วมของการเกิดขึ้นของชื่อวงกับวรรณกรรมคลาสสิกเรื่องดังกล่าวนั้นมาจากหนังสืออีกเล่มของคนเขียนคนเดียวกัน เจ้าของเพลง Kiss Me ได้ชื่อวงมาจากการอ่านบทประพันธ์เรื่อง Mere Christianity ของ ซี.เอส. ลูอิส ในบทประพันธ์เรื่องนี้มีเนื้อหาอยู่ท่อนหนึ่งเล่าถึงเด็กชายที่ขอเงินจากพ่อเป็นจำนวน 6 เพนนี (ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่เล็กน้อยมากในยุคนั้น) เมื่อได้รับเงินจากพ่อเด็กชายก็นำเงินที่ตนเองได้มาไปซื้อของขวัญแล้วนำกลับมามอบคืนให้แก่พ่อของตน ชายหนุ่มผู้เป็นพ่อเมื่อได้รับของขวัญก็ดีใจ แต่ทันใดนั้นเอง ชายผู้เป็นพ่อก็ตระหนักขึ้นได้ว่า เขาไม่ได้ร่ำรวยขึ้นเลยจากการลงทุนที่ให้เงินลูกชายไป 6 เพนนี ซึ่งตรงนี้เองนักร้องนำของวงอย่าง ลีห์ แนช (Leigh Nash) ได้ตีความไว้ว่า ลูอิสน่าจะเปรียบเปรยถึงความเชื่อของตัวเขาเองว่า ของขวัญทุกชิ้นที่พระเจ้าทรงมอบให้กับพวกเรา พวกเราควรจะระลึกถึงคุณค่าของมัน และใช้มันอย่างถ่อมตนที่สุด เพราะอย่างไรก็ตาม ของขวัญนั้นจะแปรรูปกลับมาในมูลค่าเท่าเดิมที่พระองค์ทรงมอบไว้ แต่แรกเริ่มเดิมทีแล้วสมาชิกของวงทั้ง 3 เป็นชาวคริสต์และมีความเชื่อต่อพระเจ้า อย่าง แมตต์ สโลคัม (Matt Slocum) - มือกีตาร์, ลีห์ แนช (Leigh Nash) - นักร้องนำ, และมือเบสของวงอย่าง ที.เจ. เบห์ลิง (T.J. Behling) จึงตกลงปลงใจใช้ชื่อ Sixpence None The Richer เป็นชื่อวง Sixpence None The Richer ได้ทะลุออกมาจากตู้เสื้อผ้าประตูแห่งนาร์เนีย เนื่องด้วยมาจากผู้ประพันธ์เดียวกันก็อาจจะไม่ผิดเท่าไรนัก   เส้นทาง Kiss Me เพลงที่ไม่ได้ดังตั้งแต่เริ่มต้น ก่อนที่จะเป็นที่รู้จักจากหนัง She’s All That ในปี 1999 แรกเริ่มเดิมทีเพลง Kiss Me ถูกปล่อยออกมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 1997 แล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับที่มากมายเท่าไร เพลงนี้ถูกเขียนขึ้นจากปลายปากกาของแมตต์ - มือกีตาร์ของวง ในขณะที่เขาอินกับการอ่านบทกวีของดีแลน โธมัส (Dylan Thomas) “ตอนแรกคำที่ใช้ในเพลงมันก็ไม่ใช่แบบนี้เป๊ะ ๆ ซะทีเดียว มันออกจะดูหม่น ๆ สักหน่อย แต่ก็นั่นแหละ แมตต์เขาเขียนมันขึ้นมา และเราก็ลองเริ่มร้องและเล่นเพลงนี้ทันทีเลยในคืนนั้นที่เขาเขียนเสร็จ” ลีห์ - นักร้องนำกล่าวให้สัมภาษณ์ไว้ถึงที่มาของเพลงนี้ ตอนปล่อยเพลงนี้ออกมาเมื่อปลายปี 1997 ก็ว่าไม่ค่อยปังเท่าไร แต่พอเดือนพฤศจิกายน 1998 เท่านั้นแหละ ก็เหมือนสปอตไลต์เริ่มส่องมาที่เพลงนี้ เพลง Kiss Me ได้ถูกหยิบไปใช้ประกอบซีรีส์เรื่อง Dawson’s Creek และรอยจูบแห่งบทเพลง Kiss Me ก็เริ่มเป็นที่รู้จักและคุ้นหูเหล่าวัยรุ่นอเมริกัน แต่ความสำเร็จของเพลงนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่การได้เป็นเพลงประกอบซีรีส์ในอเมริกาเท่านั้น และคงจะมีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่รู้ว่าพระองค์ทรงมีแผนการอะไรที่ตระเตรียมไว้ให้กับสมาชิกชาวคริสต์ผู้เป็นนักดนตรีทั้ง 3 คนนี้    Oh, kiss me, beneath the milky twilight Lead me out on the moonlit floor Lift your open hand Strike up the band and make the fireflies dance Silver moon’s sparkling So kiss me   (จูบฉันสิ ใต้แสงดาวที่ส่องประกายยามพลบค่ำ นำฉันไปบนฟลอร์เต้นรำใต้แสงจันทร์ ยกมือของเธอขึ้นบอกวงดนตรีให้เริ่มเล่นเพลงและทำให้หิ่งห้อยส่องแสงระยิบระยับเต้นรำไปท่ามกลางแสงจันทร์ แล้วจูบฉันอีกทีสิ)   เดือนมกราคม ปี 1999 แผนการทั้งหมดที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ให้ Sixpence None The Richer ก็มาถึง เพลง Kiss Me ถูกนำมาประกอบภาพยนตร์ She’s All That ภาพยนตร์วัยรุ่นวุ่นรักของอเมริกันชน ซึ่งนำแสดงโดย เฟรดดี้ พรินซ์ จูเนียร์ (Freddie Prinze Jr.) และ ราเชล ลีห์ คุก (Rachael Leigh Cook)  พอหยิบเพลงนี้เข้ามาใส่ในหนัง ก็ดูเหมือนกับว่าทั้งเพลง Kiss Me และภาพยนตร์เรื่อง She’s All That เป็นสิ่งที่เกิดมาเพื่อกันและกัน เพราะหนังก็ส่งเพลง เพลงก็ส่งหนัง โดย She’s All That กวาดเงินไปกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการฉายทั่วโลก (จากทุนสร้างแค่ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ) พอหนังประสบความสำเร็จก็เป็นธรรมดาที่คนจะได้ยินได้ฟังเพลงนี้มากขึ้นไปด้วย  จากที่เพลง Kiss Me เปิดตัวมาแบบเงียบ ๆ ในปลายปี 1997 พอหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง She’s All That ออกฉายและโกยรายได้ไปแบบสิบเท่าตัว เพลง Kiss Me ก็ค่อย ๆ ไต่ชาร์ตบิลบอร์ดและขึ้นไปสูงสุดอยู่ที่อันดับ 2 รวมเวลาแล้วเพลงนี้ได้อยู่บนบิลบอร์ดนานถึง 56 สัปดาห์เลยทีเดียว นอกจากนี้ในปี 1999 (ปีที่ภาพยนตร์ She’s All That ออกฉาย) เพลง Kiss Me ถูกจัดอันดับให้เป็นเพลงที่ถูกเปิดบนหน้าปัดวิทยุมากที่สุดใน 11 ประเทศทั่วโลก เช่น แคนาดา, อังกฤษ, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น และอิสราเอล  แต่ความดังของเพลงไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้นน่ะสิ นี่มันแค่เริ่มต้นเท่านั้นเอง ถึงจุดหนึ่ง เพลงก็ดันไปไกลกว่าตัวหนังที่ตอนนี้เนื้อหาแฟนตาซีเรื่องความรักแบบนั้นอาจจะไม่ทันยุคนี้เอาเสียแล้ว   So Kiss Me เวลานำภาพยนตร์ออกฉายในต่างประเทศ ก็เป็นเรื่องปกติที่โปรโมเตอร์ประจำถิ่นจะต้องตั้งชื่อของหนังเป็นภาษาของประเทศนั้น ๆ ตามไปด้วย  She’s All That ก็เช่นกัน ตอนเอาเข้ามาฉายในไทย She’s All That ถูกตั้งชื่อว่า ‘สาวเอ๋อ สุดหัวใจ’ ตอนไปที่ฝรั่งเศสก็ถูกตั้งชื่อว่า Elle Est Trop Bien (ความหมายก็ประมาณว่าเธอเป็นคนที่เจ๋งมาก เยี่ยมมากนั่นแหละ) แต่ตอนไปฉายที่อิตาลี เขากลับเรียกหนังเรื่องนี้ว่า Kiss Me คือใช้ชื่อเพลงมาตั้งเป็นชื่อของหนังไปซะเลย เพราะเพลงมันได้ดังนำหน้าหนังไปก่อนแล้ว แต่แผนของพระองค์ยังไม่จบเพียงแค่นั้น เพราะเพลง Kiss Me ถูกยกขึ้นมาเปิดในอีกหลายโอกาสสำคัญ เช่น BBC ได้ใช้เพลง Kiss Me เป็นเพลงปิดรายการถ่ายทอดงานอภิเษกสมรสของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด (Prince Edward - พระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2) กับโซฟี ไรส์-โจนส์ (Sophie Rhys-Jones) และตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา อาจจะเรียกได้ว่าเพลง Kiss Me เป็นอีกหนึ่งเพลงที่เป็นสัญลักษณ์และรอยจำแห่งยุค 90s (ต่อถึงต้น 2000s) และถูกหยิบยกเอามาใช้ประกอบภาพยนตร์ ประกอบซีรีส์เรื่อยมา ภาพยนตร์และซีรีส์ที่เพลงนี้เคยถูกนำไปใช้ก็อย่างเช่น Not Another Teen Movie (2001), How To Lose a Guy in 10 Days (2003) เรื่อยมาจนถึงซีรีส์ใน Netflix อย่าง You ในซีซัน 2 (2019) ก็ยังคงหยิบยกเอาเพลง Kiss Me มาใช้ประกอบ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ศิลปินหญิงอเมริกันที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่งในยุคนี้ผู้สร้างปรากฏการณ์ The Taylor Swift Effect (อ่านบทความเทย์เลอร์ สวิฟต์- จากเจ้าหญิงเพลงคันทรีสู่การสร้างปรากฏการณ์ The Taylor Swift Effect ได้ที่นี่ https://thepeople.co/the-taylor-swift-effect/) เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ Vogue ว่าเพลงแรกที่เธอใช้ในการหัดเล่นกีตาร์ก็เพลงนี้แหละ Kiss Me  ถึงแม้ว่าวันนี้เราอาจจะไม่ได้เห็นภาพเหล่าเด็กหนุ่มสาวรวมตัวกันนั่งล้อมวง เปิดหนังสือรวมฮิตคอร์ดเพลงกีตาร์แล้วพากันร้องเพลง เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไปต่อความนิยมในการเล่นเพลง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ที่เราได้ยินเสียงอินโทรกีตาร์เพลงนี้ดังขึ้น เราก็คงอดใจไม่ไหวที่จะไม่เปล่งเสียงร้องตาม  มิหนำซ้ำเราคงต้องช่วยพากันร้องจนมาถึงท่อนสุดท้ายก่อนจูบลาเพลงนี้ว่า...So Kiss me   ที่มา:  https://www.boxofficemojo.com/release/rl3647899137/weekend/ https://www.billboard.com/music/sixpence-none-the-richer/chart-history/adult-pop-songs/song/58054 https://www.songfacts.com/facts/sixpence-none-the-richer/kiss-me https://www.huffpost.com/entry/dance-scene-shes-all-that_n_5c424345e4b0a8dbe171585b https://www.youtube.com/watch?v=Zmf_Q7i_uvo https://www.youtube.com/watch?v=XnbCSboujF4 https://www.allmusic.com/artist/sixpence-none-the-richer-mn0000017387/biography