คิตะซาโตะ ชิบะซาบุโร: บิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่ ผู้เสนอให้คนญี่ปุ่น 'เลี้ยงแมว' ป้องกันกาฬโรค

คิตะซาโตะ ชิบะซาบุโร: บิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่ ผู้เสนอให้คนญี่ปุ่น 'เลี้ยงแมว' ป้องกันกาฬโรค
“เป็นเรื่องน่าอายที่ประเทศเราไม่ทำอะไรให้เลย ทั้ง ๆ ที่มีนักวิชาการคุณภาพล้ำเลิศขนาดนี้” นี่คือคำพูดที่ ฟุคุซาวะ ยูคิจิ ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยเคโอ กิจุคุ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเคโอ) กล่าวกับนักวิทยาแบคทีเรียคนแรกของญี่ปุ่น ในวันที่เขารู้สึกสิ้นหวัง ต่อความล้าหลังของระบบสาธารณสุขประเทศ เพราะศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ ยังไม่เป็นที่นิยมนัก ในญี่ปุ่นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ความรู้ความสามารถอันทรงคุณค่าของ คิตะซาโตะ ชิบะซาบุโร (Kitazato Shibasaburo) จึงถูกมองข้ามเป็นเวลาหลายปี ก่อนที่เขาจะตัดสินใจลุกขึ้นสู้ใหม่ เพราะคำพูดที่ ฟุคุซาวะ ยูคิจิ พูดต่อจากนั้นเพียงประโยคเดียว “แต่อย่างไรก็ขอให้คุณคิตะซาโตะสู้ต่อไป อย่าเพิ่งยอมแพ้ แทนที่จะรวบรวมเงินทุนให้ได้ก่อนแล้วค่อยทำ ผมว่าคุณลงมือทำงานเลยดีกว่า” นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสถานค้นคว้าวิจัยโรคติดต่อแห่งแรกของประเทศญี่ปุ่น ที่นำองค์ความรู้การแพทย์สมัยใหม่ เข้ามาสู่แวดวงสาธารณสุขที่เคยล้าหลัง จนสามารถป้องกันโรคระบาดอย่าง “กาฬโรค” ที่ไม่เคยมีใครในญี่ปุ่น รู้วิธีรับมือกับมันมาก่อนได้ ชื่อของ คิตะซาโตะ ชิบะซาบุโร จึงได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่ หลังจากนั้น  ชิบะซาบุโร มีชีวิตอยู่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 เขาเกิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ปัจจุบันคือพื้นที่ในจังหวัดคุมาโมโตะ ราว ๆ ครึ่งปี ก่อนที่นายพลเรือเพอร์รี่ (Matthew Calbraith Perry) ผู้ที่นำกองเรือปืนของสหรัฐฯ จะเดินทางมาถึงอุรางะ เพื่อบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ ผ่านสนธิสัญญาคะนะงะวะในปี 1854 เพราะวัยเยาว์ที่เป็นเด็กซุกซน ดื้อรั้น และไม่สนใจการศึกษา บิดาซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในเวลานั้น จึงต้องปวดหัวกับเขาอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเอาไปฝากเรียน หรือเอาไปฝากเลี้ยงไว้ที่บ้านคุณตาบ่อยแค่ไหน พฤติกรรมของเขาก็ดูเหมือนจะไม่ดีขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะความฝันของเขาในวัยเด็ก คือการเป็นทหารที่ทำงานรับใช้ประเทศชาติ การศึกษาเล่าเรียนจึงดูจะเป็นสิ่งไม่จำเป็น แต่น่าแปลกใจที่สุดท้ายในปี 1871 ชิบะซาบุโรก็ตัดสินใจเข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์ของคุมาโมโตะ แม้ใจจะยังไม่ได้ต้องการเป็นแพทย์ แต่เพราะสนใจเรียนวิชาการตะวันตก ที่สอนด้วยภาษาดัตช์ เขาจึงกัดฟันเรียนในสิ่งที่ไม่ได้สนใจต่อไป ถึงแม้จะไม่ใช่ความตั้งใจ แต่การเข้าเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ ก็มีความหมายอย่างยิ่งต่อการกำเนิดของชิบะซาบุโร นักวิทยาแบคทีเรียชื่อก้องโลก เพราะมันคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้พบกับอาจารย์ชาวดัตช์ ที่เข้ามาเปลี่ยนความคิดของเขา ที่มีต่อวิชาแพทย์ไปตลอดกาล “นี่เธอตั้งใจจะเป็นหมอจริง ๆ หรือ” อาจารย์ผู้นั้นถามเขา ในวันที่สังเกตพฤติกรรมของชิบะซาบุโรมาได้ระยะหนึ่ง และพบว่าเขาไม่ได้สนใจที่จะเรียนวิชาแพทย์อย่างจริงจัง ทั้ง ๆ ที่มีพรสวรรค์ล้ำเลิศ ชิบะซาบุโรตอบไปตามตรงว่า ที่จริงแล้วเขาอยากเป็นทหาร และที่มาเรียนก็เพราะสนใจวิชาตะวันตก เพราะเป็นวิชาที่จำเป็นในช่วงที่อารยธรรมกำลังเบ่งบานเท่านั้น แม้จะได้ยินเช่นนั้น แต่อาจารย์ของเขาก็ยังตอบกลับไปว่า “การที่ผู้ชายคนหนึ่งจะเป็นทหารให้สมกับที่ตั้งใจไว้ เป็นสิ่งดี แต่วิชาแพทย์ที่จำเป็นต้องค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยชีวิตมนุษย์ ย่อมไม่ใช่วิชาที่ไร้ค่าอย่างแน่นอน” แม้ตอนนั้นชิบะซาบุโรจะไม่ได้เก็บเอาคำพูดของอาจารย์มาใส่ใจ แต่มันก็เป็นสิ่งที่เขาไม่เคยลืมเลยตลอดช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ หลังจากร่ำเรียนวิชาแพทย์ไปได้สักพัก ชิบะซาบุโรก็เริ่มตื่นตาตื่นใจไปกับโลกที่เต็มไปด้วยความลึกลับของเชื้อแบคทีเรีย เขารู้สึกทึ่งที่มนุษย์สามารถมองเห็นสิ่งเล็ก ๆ ที่กำลังขยับอยู่บนตัวอย่างเนื้อเยื่อที่เขากำลังส่องกล้องจุลทรรศน์ดูอยู่ได้ เขาเริ่มฝังจิตฝังใจอยู่กับความลึกล้ำและกว้างไกลของวิชาแพทย์ และตระหนักว่าศาสตร์การแพทย์อาจไม่ได้เรียนไปเพื่อเป็นหมออย่างเดียว แต่ยังมีสิ่งน่าสนใจอื่น ๆ รออยู่ ด้วยคำแนะนำของอาจารย์ชาวดัตช์ที่บอกเขาว่า “ที่อาจารย์สอนเธอไป ไม่มีอะไรมากไปกว่าคำแนะนำขั้นต้น เพื่อเข้าสู่วิชาแพทย์เท่านั้น ถ้าอยากเรียนรู้ให้สูงขึ้น ต้องไปเรียนในโรงเรียนแพทย์ที่โตเกียว และจึงไปเรียนต่อเมืองนอก” ชิบะซาบุโรทำตามคำแนะนำของอาจารย์ โดยเข้าเรียนต่อในสถาบันการศึกษา ซึ่งปัจจุบันคือคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว เขาตั้งใจเรียนอย่างหนัก พร้อมกับทำงานพิเศษอย่างการส่งนม เพื่อค้ำจุนการดำรงชีวิตไปด้วย โรงเรียนแพทย์สมัยนั้น เน้นสอนวิชาแพทย์ที่เป็นหลักสูตรของเยอรมนี ชิบะซาบุโรจึงต้องคร่ำเคร่งกับการเรียนภาษาเยอรมัน ควบคู่ไปกับวิชาแพทย์ เขาเริ่มสนใจการแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นการแพทย์เชิงป้องกันโรค ที่มุ่งเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้ผู้คนเป็นโรค แทนที่จะต้องป่วยก่อน แล้วค่อยมารักษาแทน หลังจากเรียนจบ เขาหันหลังให้กับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือครูใหญ่โรงเรียนแพทย์ที่ล้วนได้เงินเดือนสูง ก่อนจะเข้าทำงานในกรมอนามัย กระทรวงกิจการภายใน ซึ่งได้เงินเดือนน้อยกว่า เพราะคิดว่าการทำงานที่นี่จะช่วยให้เขาได้ไปเรียนต่อต่างประเทศอย่างที่อาจารย์เคยแนะนำ ในที่สุดปี 1885 เขาก็ได้ไปเรียนต่อสมใจ ในสถาบันการแพทย์ของเยอรมนี ที่มีนักวิทยาแบคทีเรีย ดร.โรแบร์ท ค็อค ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลกทำงานอยู่ หลังจากเรียนมาได้ 2 ปี เขาก็เริ่มค้นคว้าวิจัยโรคบาดทะยัก ชิบะซาบุโรเป็นคนเอเชียเพียงคนเดียวที่ได้ร่วมทีมค้นคว้าร่วมกับ ดร.ค็อค เขาทำงานหนักมากจนเป็นที่เลื่องลือกันว่าคนญี่ปุ่นผู้นี้แทบไม่ได้ไปไหนเลย นอกจากบ้านพักกับสถาบันค้นคว้าวิจัย  โรคบาดทะยักเป็นโรคร้ายที่น่ากลัวมาก เพราะเกิดจากเชื้อโรคผ่านเข้าไปในร่างกายทางบาดแผล ไม่นานผู้ป่วยก็จะเกิดอาการชักและอาจเสียชีวิตได้ ก่อนหน้านั้นนักวิจัยสามารถนำเชื้อของโรคอย่างวัณโรคหรืออหิวาตกโรคออกมาเพาะเชื้อบริสุทธิ์ ด้วยการเพาะเชื้อเทียมและหาวิธีรักษาต่อได้ แต่เชื้อบาดทะยักซึ่งเต็มไปด้วยปริศนานั้น นักวิชาการบางคนถึงกับประกาศว่าอาจไม่สามารถค้นหาวิธีเพาะเชื้อจากมันได้ แต่เพราะความดื้อดึงอันเป็นปกติวิสัยของชิบะซาบุโร เขาจึงเมินเฉยต่อคำพูดนั้น และค้นคว้าวิจัยหาวิธีจัดการกับเชื้อโรคชนิดนี้อยู่คนเดียว ผู้ร่วมงานในสถานค้นคว้าวิจัยมองเขาด้วยสายตาว่างเปล่า เจ้าคนญี่ปุ่นคนนี้กำลังทำอะไรที่เสียเวลาอีกแล้ว แต่ชิบะซาบุโรผู้ที่ยังสู้ไม่ถอย ในที่สุดก็สามารถเพาะเชื้อบริสุทธิ์ของบาดทะยักได้สำเร็จ ทั้งยังค้นพบว่า น้ำและอาหารเป็นตัวการแพร่เชื้อชั้นดี แต่เชื้อดังกล่าวกลับแพ้ต่อกรด ในการรักษาจึงต้องใช้กรดในการฆ่าเชื้อ เขาค้นพบวิธีการรักษาบาดทะยักจนเป็นที่ยอมรับจาก ดร.ค็อค  เขาเรียนที่เยอรมนีอยู่ราว 6 ปี และได้เป็นนักวิทยาแบคทีเรียที่น่ายกย่องคนหนึ่งของโลกเมื่ออายุ 39 ก่อนจะตัดสินใจเดินทางกลับญี่ปุ่น เพราะประสบการณ์ในต่างประเทศ ทำให้เขาเห็นว่าระบบสาธารณสุขและอนามัยของญี่ปุ่นยังล้าหลังอยู่มาก การรอผู้ป่วยเดินมาขอรับการรักษานั้นไม่เพียงพอ การรีบป้องกันโรคระบาดและการค้นคว้าวิจัยอย่างเร่งด่วนต่างหาก จึงจะหยุดยั้งโรคได้ ทว่าเมื่อเสนอความคิดนี้ออกไป กระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยโตเกียวกลับไม่สนใจไปเดียของเขาแม่แต่น้อย ชิบะซาบุโรทั้งโกรธและเศร้าใจ เมื่อคิดว่าไม่เพียงการแพทย์ของญี่ปุ่นเท่านั้นที่ล้าหลัง แต่คนในวงการแพทย์ยังจิตใจคับแคบ และไม่เปิดรับองค์ความรู้ใหม่ ๆ อีกด้วย แต่เพราะได้พบกับ ฟุคุซาวะ ยูคิจิ นักปฏิวัติแห่งยุคเมจิ ที่กล่าวคำพูดให้กำลังใจแก่เขาในครั้งนั้น ทำให้ชิบะซาบุโรตัดสินใจลุกขึ้นสู้ และก่อตั้งสถานค้นคว้าวิจัยของตัวเอง ถึงแม้จะเป็นอาคารสองชั้นเล็ก ๆ แต่นั่นก็เป็นสถานค้นคว้าวิจัยโรคระบาดแห่งแรกของญี่ปุ่น ในที่สุด ปี 1893 สถาบันของเขาก็ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล และเริ่มก่อสร้างสถานค้นคว้าวิจัยแห่งใหม่ขึ้นบนที่ดินของกระทรวงกิจการภายใน แต่ความขัดแย้งกับกระทรวงศึกษาธิการและมหาวิทยาลัยโตเกียวของเขากลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ยิ่งกว่านั้นการสร้างสถาบันโรคระบาดของเขายังถูกผู้คนที่อาศัยอยู่ละแวกนั้นต่อต้าน หาว่าการก่อสร้างสถานค้นคว้าวิจัยที่จัดการกับโรคระบาดนั้นเป็นอันตราย เขาจึงต้องใช้เวลาถึงหนึ่งปีกว่าสถานค้นคว้าวิจัยจะสร้างเสร็จ ปี 1896 หลังจากสถานค้นคว้าวิจัยแห่งใหม่สร้างเสร็จได้ 3 เดือน ชิบะซาบุโรได้รับจดหมายเชิญให้ไปร่วมค้นคว้าวิธีรักษากาฬโรคที่ฮ่องกง ซึ่งเชื้อกาฬโรคกำลังระบาด และเพราะเขาสามารถค้นพบแบคทีเรียเชื้อกาฬโรคได้เร็วก่อนแพทย์คนอื่น ๆ จากทั่วโลก ชื่อเสียงของเขาจึงยิ่งโด่งดัง จนสามารถเสนอแนะแนวทางการรักษาที่รัฐบาลรับฟังได้  ข้อกฎหมายในการป้องกันโรคระบาดของเขาซึ่งเป็นที่รู้จักก็คือ การกักตัวคนเข้าเมืองที่ดูอาการไม่ดี แก้ไขระบบน้ำประปาและน้ำเสียให้แยกกันทั้งหมด สุดท้ายเมื่อกาฬโรคมาเยือนญี่ปุ่น เขาก็สามารถแนะนำวิธีจัดการกับโรคได้ถึงขั้นเด็ดขาด โดยนำคนไข้ไปรักษาแยกในที่ห่างชุมชน และเพราะหนึ่งในพาหะนำโรคคือ หนู เขาจึงเสนอให้มีการเลี้ยงแมวไว้ทุกบ้าน เพื่อกำจัดหนูให้สิ้นซากนั่นเอง (อาจเป็นเหตุผลที่แมวจรยังอยู่รอดปลอดภัยในญี่ปุ่น โดยไม่โดนเชือดเหมือนสุนัข) ผลจากความมุ่งมั่นและมานะพยายามของชิบะซาบุโร ทำให้สถานค้นคว้าวิจัยโรคติดต่อเป็นที่ยอมรับว่ามีความสำคัญ และได้เริ่มบทบาทใหม่ในฐานะสถาบันค้นคว้าวิจัยของรัฐ ไม่นานสถาบันของเขาก็มีความดีเด่นจนเทียบเคียงกับสถาบันค้นคว้าวิจัยค็อคของเยอรมนี โรงเรียนที่เขาเคยศึกษามาก่อนได้  ทว่าในปี 1914 สถาบันของเขาถูกย้ายจากกระทรวงกิจการภายในไปเป็นหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการอย่างกะทันหัน ชิบะซาบุโรซึ่งไม่ถูกกับกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้วจึงตัดสินใจลาออก และสร้างสถาบันค้นคว้าวิจัยโรคติดต่อแห่งใหม่ในชื่อของตนเอง คือ สถาบันค้นคว้าวิจัยคิตะซาโตะ สร้างเสร็จเมื่อปี 1915 และยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน โดยเวลานั้น นักค้นคว้าวิจัยจำนวนมากยอมออกจากงานที่เก่า และติดตามมาทำงานกับเขาด้วย  หลังจากได้เป็นผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าวิจัยเมื่ออายุ 62 ปี ชิบะซาบุโรก็มอบหมายงานค้นคว้าวิจัยให้ผู้ร่วมงานวัยหนุ่มสาว ส่วนตนเองก็ไปเป็นประธานสมาคมนายแพทย์แห่งญี่ปุ่น ชิบะซาบุโร่ทุ่มเทพละกำลังให้บรรดาผู้ประกอบอาชีพหมอทั่วประเทศ เขายังจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัยเคโอ และดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรก เพื่อสนองคุณของ ฟุคุซาวะ ยูคิจิ ผู้ให้การสนับสนุนเขาตลอดมา     ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Kitasato_Shibasabur%C5%8D https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/th/ondemand/audio/readingjapan-20190615-1/ https://www.britannica.com/biography/Kitasato-Shibasaburo http://www.discoveriesinmedicine.com/General-Information-and-Biographies/Kitasato-Shibasaburo.html