สัมภาษณ์ กิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี เปลี่ยนโรงหนังร้อยปีย่านบางรักสู่ที่พัก “ปรินซ์ เธียเตอร์ฯ”

สัมภาษณ์ กิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี เปลี่ยนโรงหนังร้อยปีย่านบางรักสู่ที่พัก “ปรินซ์ เธียเตอร์ฯ”
“ปรินซ์ รามา” คือโรงหนังเก่าแก่ย่านบางรักที่ยืนหยัดผ่านร้อนผ่านหนาวมาร่วมร้อยปี แม้จะทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ทว่าจิตวิญญาณความเป็นมายังอบอวล และฟื้นคืนลมหายใจอีกครั้งในปี 2561 ในรูปแบบของที่พักนามว่า “ปรินซ์ เธียเตอร์ เฮอริเทจ สเตย์”  “ผมว่าทุกคนก็รู้ว่าครั้งหนึ่งที่นี่เคยเป็นโรงหนังและอยากจะให้มีชีวิตชีวาขึ้น ซึ่งพอเห็นก็ค่อนข้างตื่นเต้น เพราะไม่คิดว่าจะได้เห็นอาคารย่านบางรักที่ข้างในมีพื้นที่ใหญ่ขนาดนี้...เลยคิดว่าน่าจะมีความคิดสร้างสรรค์อะไรบางอย่างที่ทำให้เขากลับมามีชีวิตอีกครั้ง” กิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ มนทาระ ฮอสพิตาลิตี้ กรุ๊ป (MHG) บอกด้วยแววตาเป็นประกาย ชายหนุ่มวัย 33 ปี ไม่ใช่คนหน้าใหม่ในแวดวงธุรกิจโรงแรม เพราะเขาพกดีกรีปริญญาตรีระดับเกียรตินิยมด้าน Operations Research จาก Columbia University และปริญญาโทจาก Harvard Business School สหรัฐอเมริกา เข้ามาช่วย ณรงค์ ปัทมะเสวี ผู้เป็นพ่อ ดูแล “ตรีสรา” รีสอร์ทระดับอัลตรา-ลักชัวรี ที่ จ.ภูเก็ต อย่างเต็มตัวในปี 2556 ซึ่งคนดังระดับโลกที่เคยพักที่นี่มาแล้ว มีทั้งนักแสดง นางแบบ นักดนตรี นักกีฬา อย่าง เควิน เบคอน, ปารีส ฮิลตัน, ลินด์ซีย์ โลฮาน, เคท มอสส์, มารูน 5, ดาบิด ซิลบา, โรเจอร์ เฟเดอเรอร์, มาเรีย ชาราโปวา เป็นต้น นวันที่คนรุ่นใหม่อย่างเขายังมีความฝันเต็มเปี่ยมเรื่องการอนุรักษ์อาคารเก่า เมื่อเจอสิ่งที่ใช่จึงไม่รอช้าเข้าไปลงมือทำ ขณะเดียวกันก็ผสานความเชี่ยวชาญทางธุรกิจเข้าไปด้วย เพื่อให้ความฝันยังคงเดินหน้าไปได้โดยไม่สะดุดเสียก่อน   สัมภาษณ์ กิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี เปลี่ยนโรงหนังร้อยปีย่านบางรักสู่ที่พัก “ปรินซ์ เธียเตอร์ฯ”   The People: ทำไมถึงสนใจบูรณะอาคารเก่า กิตติศักดิ์: ธุรกิจครอบครัวของผมคือด้าน hospitality ด้านการโรงแรม ซึ่งตัวที่เป็น flagship ของเราคือตรีสราที่ภูเก็ต เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวลักชัวรี แต่ส่วนตัวแล้วครอบครัวผมชอบอนุรักษ์อาคารเก่า คุณพ่อเป็นคนก่อตั้ง มูลนิธินิยม ปัทมะเสวี ส่งเสริมการศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรมใน จ.ลำปาง ซึ่งมูลนิธิก็บูรณะเรือนไม้สักใน ต.สวนดอก ให้เป็นหอศิลป์ลำปาง และบูรณะบ้านบริบูรณ์ที่สร้างเมื่อร้อยปีก่อน แต่เดิมเป็นสำนักงานของพ่อเลี้ยงหม่องยีที่เป็นคหบดีชาวพม่า ให้เป็นที่จัดแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เมื่อบูรณะแล้วก็พบว่ามีผลที่ดีกับชุมชนโดยรอบ ทำให้มีความกระตือรือร้นที่จะอนุรักษ์อาคารเก่าไว้ เลยคิดว่าเราควรจะทำอย่างนี้ในวิธีที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยการทำให้อาคารเหล่านี้มีชีวิตขึ้นมาผ่านการทำธุรกิจที่เราเชี่ยวชาญคือการท่องเที่ยวและการโรงแรม เลยมองหาอาคารเก่าในกรุงเทพฯ   The People: มาเจอโรงหนังปรินซ์ รามา ได้อย่างไร กิตติศักดิ์: จริง ๆ มีโอกาสดูหลายอาคาร แต่ละที่ก็มีเสน่ห์ต่างกันไป มีทั้งคฤหาสน์เก่าที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ และอาคารเก่าที่ไม่ถูกใช้สอยแล้ว แต่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่น่าเก็บรักษาไว้ จากนั้นมีโอกาสปรึกษากับกรมธนารักษ์ ทางกรมฯ ก็แนะนำให้มาดูโรงหนังเก่าที่ชื่อ ปรินซ์ รามา ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมฯ ที่นี่มีประวัติศาสตร์ประมาณร้อยปี เป็นโรงบ่อน โรงงิ้ว จนมาเป็นโรงหนัง stand alone แต่ต่อมาซบเซาจนต้องปิด ซึ่งตอนมาเห็นที่นี่ก็ปิดไปประมาณ 8 ปีแล้ว พอเห็นปุ๊บก็คิดว่าเป็นอาคารที่มีทำเลดีมาก อยู่ใน creative district อยู่ใกล้แม่น้ำ อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า แล้วที่สำคัญสุดคือมีเรื่องราว เลยคิดว่าน่าจะนำมาทำเป็นโปรเจกต์การอนุรักษ์อาคารเก่าในรูปแบบของการโรงแรม   The People: แวบแรกที่เห็นรู้สึกอย่างไรบ้าง กิตติศักดิ์: ผมมาที่นี่เมื่อราวปี 2559 ตอนนั้นสภาพโรงหนังคือถูกทอดทิ้งและข้างในเหมือนเป็นที่เก็บขยะ ผมว่าทุกคนก็รู้ว่าครั้งหนึ่งที่นี่เคยเป็นโรงหนังและอยากจะให้มีชีวิตชีวาขึ้น ซึ่งพอมาดูก็ค่อนข้างตื่นเต้น เพราะไม่คิดว่าจะได้เห็นอาคารย่านบางรักที่ข้างในมีพื้นที่ใหญ่ขนาดนี้ แล้วด้วยทำเลของเขาที่มี potential สูงมาก ก็ตื่นเต้น ผมเองชอบดูหนังอยู่แล้ว เลยคิดว่าน่าจะมีความคิดสร้างสรรค์อะไรบางอย่างที่ทำให้เขากลับมามีชีวิตอีกครั้ง ตอนนั้นผมไม่ได้หนักใจเรื่องที่ต้องมาปรับปรุงอะไรเยอะมาก เรียกว่าเป็นความท้าทายตั้งแต่ต้นมากกว่า เพราะก่อนที่จะลงทุนก็ลองทำตัวเลขดูว่าถ้าจะทำให้เป็นธุรกิจโรงแรมขึ้นมา มีห้องเท่านี้ ต้องมีแขกเท่าไหร่ถึงจะสามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม คือตั้งแต่วันแรกที่เราลงทุน เรารู้อยู่แล้วว่าถ้าเป็นโรงแรมทั่วไปคงจ่ายค่าน้ำค่าไฟได้ แต่คงไม่ใช่ธุรกิจที่มีกำไรมากเท่าไหร่ โจทย์ของเราจึงต้องทำให้เขาเป็นมากกว่าโรงแรม ต้องทำให้เป็นจุดศูนย์กลางของคนที่จะมาใช้พื้นที่ทำเวิร์กช็อป แลกเปลี่ยนไอเดียกัน จัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้ ทำให้มีรายได้มากพอที่จะเป็นโปรเจกต์ที่น่าสนใจในการลงทุน   The People: การไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นอุปสรรคในการพัฒนาโปรเจกต์ไหม กิตติศักดิ์: เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค โอกาสคือแทนที่จะเป็นการลงทุนสูงเบื้องต้น ก็เป็นลักษณะการเช่าแทน เงินลงทุนเบื้องต้นก็น้อยลง ทำให้เราตัดสินใจง่ายขึ้น แต่ก็หมายความว่าเราจำเป็นต้องทำให้ธุรกิจคืนทุนในเวลาที่กระชั้นชิดมากขึ้น ก็เป็นความกดดันที่สูงขึ้น เราทำสัญญากับกรมธนารักษ์ไว้ 8 ปี พอถึงเวลาก็จะขอต่อสัญญาอีกรอบ แต่ต้องพยายามคืนทุนให้ได้ก่อน 8 ปี (หัวเราะ)   [caption id="attachment_4064" align="aligncenter" width="1200"] สัมภาษณ์ กิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี เปลี่ยนโรงหนังร้อยปีย่านบางรักสู่ที่พัก “ปรินซ์ เธียเตอร์ฯ” เครื่องฉายหนังที่กิตติศักดิ์นำมาเป็นส่วนหนึ่งของปรินซ์ เธียเตอร์ เฮอริเทจ สเตย์[/caption]   The People: งบที่ใช้ลงทุนกับ ปรินซ์ เธียเตอร์ เฮอริเทจ สเตย์? กิตติศักดิ์: รวมงบทั้งหมดแล้วน่าจะเกือบ 50 ล้านบาท ตอนแรกคิดว่าจะเน้นธุรกิจของห้อง แต่จริง ๆ กรุงเทพฯ มีโรงแรมเยอะมากแล้ว และราคาห้องอย่างเดียวก็มีการแข่งขันค่อนข้างสูง อย่างที่บอกคือถ้าทำให้มีพื้นที่ตรงกลางที่กว้างขึ้นเพื่อให้ยืดหยุ่นในการหาโมเดลอื่น ๆ มาใส่ ก็น่าจะเหมาะกว่า ความที่เป็นโรงหนังเก่า ดังนั้นก็ต้องออกแบบให้เป็นโรงหนัง เก็บความเป็นจอใหญ่ ๆ ไว้ มีเครื่องฉายหนัง เก็บโครงสร้างเก่า เสาไม้ พื้นไม้ ก็เอากลับมาใช้ ห้องที่แต่ก่อนเป็นห้องของผู้จัดการโรงหนังที่อยู่ติดกับจอก็ปรับเป็นห้องพัก ตอนนี้ที่นี่มีห้องทั้งห้องส่วนตัวและห้องรวม รวมทั้งหมด 26 ห้อง ถ้าคิดเป็นจำนวนเตียงก็ 130 เตียง หมายความว่าถ้าบริษัทต่าง ๆ อยากจัด hackathon ระดมความคิดก็มาจัดเวิร์กช็อปตรงพื้นที่ส่วนกลางได้ แล้วพนักงานก็ค้างที่นี่ได้เลย   The People: ปฏิกิริยาของคนในชุมชนที่รู้ว่าโรงหนังจะเปลี่ยนเป็นที่พักเป็นอย่างไร กิตติศักดิ์: เป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน เมื่อก่อนที่นี่คืออาคารร้างเอาไว้เก็บขยะ หลังจากเขารู้ว่าจะมีการเอาพื้นที่มาทำประโยชน์ก็สนับสนุนเราดีมาก เราเองก็พยายามรักษาความสัมพันธ์และสนับสนุนในวิธีที่เราทำได้ อย่างที่นี่ไม่มีครัว เราซื้ออาหารจากเพื่อนบ้านแล้วเอามาเสิร์ฟ อย่างโจ๊กปรินซ์ที่มีชื่อเสียงมากอยู่แล้ว ขนมปังร้านปั้นลี่ เป็ดย่างร้านประจักษ์ ฯลฯ เราพยายามพาแขกที่มาพักเดินท่องเที่ยวแถวนี้ ซึ่งการทำอย่างนี้น่าจะเป็นจุดขายของเราเองด้วย และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนบางรักด้วย   The People: วางตัวเองเป็นบูทีค โฮเทล หรือเปล่า กิตติศักดิ์: สิ่งที่ทำให้เราคล้ายโฮสเทลคือมีห้องรวม ส่วนที่ทำให้เราคล้ายบูทีค โฮเทล คือมีเรื่องราว เราเน้นให้พนักงานพูดคุยกับแขกเหมือนเป็นเพื่อนที่เข้ามาในบ้าน อีกสิ่งที่อยากทำมากคือเน้นคอนเซปต์ใหม่ที่ไม่ได้เป็นที่พักว่าต้องกี่ดาวหรือห้องกว้างแค่ไหน แต่เน้นให้แขกที่มาพักสามารถเรียนรู้ heritage ของสถานที่และเข้าถึงชุมชนได้มากน้อยแค่ไหนมากกว่า เราถึงเติมคำว่า เฮอริเทจ สเตย์ เข้าไปหลังคำว่า ปรินซ์ เธียเตอร์   [caption id="attachment_4063" align="aligncenter" width="1536"] สัมภาษณ์ กิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี เปลี่ยนโรงหนังร้อยปีย่านบางรักสู่ที่พัก “ปรินซ์ เธียเตอร์ฯ” ห้อง Duplex Suite ที่ตกแต่งให้มีบรรยากาศแบบโรงงิ้ว เพราะโรงหนังปรินซ์ รามา เคยใช้เป็นโรงงิ้วด้วย (ภาพ: MHG) [/caption]   The People: ในกรุงเทพฯ มีที่พักมากน้อยแค่ไหนที่เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับชุมชน กิตติศักดิ์: ตัวอย่างของโรงแรมที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราที่หนึ่งคือโฮสเทลที่ชื่อ Once Again อยู่แถวสำราญราษฎร์ เขาค่อนข้างเชื่อมโยงกับชุมชนมาก แต่ก็มีอีกหลายแห่งที่เป็นแนวนี้ เช่น Bangkok Publishing Residence แถวหลานหลวง ย่านไชน่าทาวน์ก็จะมี Shanghai Mansion Bangkok หรืออย่างวังจักรพงษ์ ซึ่งก็จะไฮเอนด์ไปเลย ซึ่งตอนที่เราค้นคว้าข้อมูลก็พบว่าบูทีค โฮเทล ที่สามารถค้นเจอจากการเสิร์ชออนไลน์ ถ้าจะโดดเด่นขึ้นมาได้ก็ต้องมีเรื่องราว มีประวัติศาสตร์ที่ชัดเจน   The People: ที่พักแบบบูทีค โฮเทล ในกรุงเทพฯ ที่บูรณะอาคารเก่าที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีเยอะไหม กิตติศักดิ์: ผมว่ายังไม่เยอะมาก ซึ่งก็มีสาเหตุว่าทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะถึงที่สุดแล้วมันมีความท้าทายในตัวมันเอง อย่างแรก ถ้าจะบูรณะอาคารเก่า หมายความว่าต้องลงทุนซ่อมสิ่งที่พังด้วย อย่างที่สอง อาคารเก่าส่วนมากไม่ได้มีสเกลที่ใหญ่ เพราะฉะนั้นธุรกิจที่ทำจะเกิดต้นทุนเยอะ ไหนจะต้องลงทุนเยอะเพื่อซ่อมแซมตึก แล้วขนาดของธุรกิจถ้าเป็นห้องก็ไม่สามารถจุได้เยอะ อย่างที่นี่ถ้าเป็นห้องก็จุได้แค่ 26 ห้อง ถึงเราจะพยายามใส่เตียงเข้าไปเพิ่มแต่ก็ไม่มีช่องทางธุรกิจที่จะทำให้รายได้สูงมาก เพราะฉะนั้นถ้าเป็นโรงแรมเชนใหญ่ ๆ เขาก็ไม่ได้สนใจที่จะทำธุรกิจนี้เพราะเล็กเกิน ลงทุนเยอะด้วย แต่ถ้าเป็นผู้เล่นรายเล็กที่เป็นผู้ประกอบการ ก็ไม่ง่ายที่จะตัดสินใจลงทุน เพราะต้องลงทุนซ่อมเยอะ ดังนั้น 2 ปัจจัยนี้ทำให้มีเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้นที่ลองเข้ามาทำธุรกิจนี้ได้ เช่นอาจเป็นคนที่มีธุรกิจการโรงแรมอยู่แล้ว มีประสบการณ์สั่งสมพอที่จะคิดว่า โอเค...โมเดลการทำโรงแรมแบบเดิมสามารถครอบคลุมต้นทุนได้ แต่ถ้าจะทำให้มากกว่านั้นและได้ผลตอบแทนที่ดี ต้องคิดค้นอะไรใหม่ ๆ คิดว่าจะทำอะไรกับสถานที่ สำหรับเราในแง่ธุรกิจ เราคิดว่าเราทำได้ไม่ขาดทุน ในแง่ความชอบส่วนตัวของครอบครัวก็อยากอนุรักษ์อยู่แล้ว และตัวผมเองที่เป็นเจเนอเรชันใหม่ก็อยากสร้างความแตกต่างในการมีอะไรใหม่ ๆ มา contribute โมเดลโรงแรมเก่า   สัมภาษณ์ กิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี เปลี่ยนโรงหนังร้อยปีย่านบางรักสู่ที่พัก “ปรินซ์ เธียเตอร์ฯ”   The People: คนที่เข้ามาลงทุนจำเป็นต้องสายป่านยาวไหม เพื่อให้การปรับอาคารเก่าเป็นที่พักสามารถไปรอดได้ในแง่ความฝันและธุรกิจ กิตติศักดิ์: คือ...ต้องจำเป็นที่จะมีความกล้ายอมรับความเสี่ยง ซึ่งหนึ่งในการยอมรับความเสี่ยงคืออาจมีธุรกิจที่อย่างน้อยสนับสนุนตรงนี้ได้นิดหน่อย เพราะช่วงแรกก็ต้องใช้เวลากว่าจะมีรายได้ที่นิ่งและแน่นอน แล้วอย่างที่บอกคือนอกจากธุรกิจโรงแรมที่ทำปกติแล้ว ต้องมีอย่างอื่นด้วยที่จะทำให้มันไปได้ อย่างเราก็ใช้พื้นที่ตรงกลางเป็นที่จัดงาน   The People: มองว่าเราเป็นโมเดลให้หลายที่ได้มาเรียนรู้หรือแบ่งปันประสบการณ์ได้หรือเปล่า กิตติศักดิ์: ผมอยากให้เป็นอย่างนั้น เราเปิดให้บริการเมื่อปีที่แล้ว ก็มีนักท่องเที่ยวที่ส่วนมากเป็นชาวต่างชาติจากเกาหลี ฮ่องกง อเมริกัน ยุโรป เข้ามาพักต่อเนื่อง ช่วงปีใหม่ก็มีคนมาพักเต็ม ก็พิสูจน์ว่าธุรกิจห้องมันไปได้ สิ่งที่ต้องพิสูจน์ตัวเองในปีนี้คือความฝันที่อยากให้ที่นี่เป็นจุดกลางของชุมชน ให้คนในชุมชนมาใช้พื้นที่ ให้คนข้างนอกมาแลกเปลี่ยนไอเดีย มาทำกิจกรรม ซึ่ง TEDxCharoenkrung ก็มาที่นี่ แล้วก็เป็นหนึ่งในสถานที่จัดงาน TCDC : Bangkok Design Week ธนาคารทหารไทยก็เคยมาจัด hackathon หรือองค์กรที่อยู่รอบ ๆ อย่าง สหวิริยา ก็มาจัดเวิร์กช็อปบ่อย ๆ ดังนั้นก็พอจะมีความเป็นไปได้ที่จะหล่อเลี้ยงธุรกิจได้ส่วนหนึ่ง   [caption id="attachment_4103" align="aligncenter" width="1024"] สัมภาษณ์ กิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี เปลี่ยนโรงหนังร้อยปีย่านบางรักสู่ที่พัก “ปรินซ์ เธียเตอร์ฯ” พระยาพาลาซโซ่ อาคารเก่าที่มีความเป็นมาเกือบร้อยปี (ภาพ: MHG) [/caption]   The People: คุณยังดูแล พระยาพาลาซโซ่ ที่พักซึ่งปรับจากอาคารเก่าด้วยอีกแห่ง? กิตติศักดิ์: เราทำตรีสราที่ภูเก็ต เวลาคุยกับเอเยนต์ท่องเที่ยวที่ดูกลุ่มลักชัวรี ทุกคนจะบอกว่าตอนนี้ความต้องการไปอยู่ที่ independent property มากกว่าจะเป็นโรงแรมเชนใหญ่ที่กระจายตัวทั่วโลก นักท่องเที่ยวกลุ่มลักชัวรีต้องการอะไรที่เชื่อมโยงกับปลายทางนั้น ๆ ซึ่งที่พักแบบ independent property จะมอบความรู้สึกนั้นให้เขาได้มากกว่าโรงแรมเชน ผมเจอพระยาพาลาซโซ่เมื่อปี 2559 ซึ่งน่าทึ่งมากในแง่การเป็นอาคารเก่าที่มีประวัติศาสตร์ เพราะเดิมคือบ้านบางยี่ขัน สร้างเมื่อเกือบร้อยปีก่อน เป็นคฤหาสน์ของอำมาตย์เอก พระยาชลภูมิพานิช กับคุณหญิงส่วน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาลูกหลานโอนกรรมสิทธิ์บ้านบางยี่ขันให้มูลนิธิมุสลิมกรุงเทพวิทยาทานใช้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนราชการุณ ตอนหลังโรงเรียนปิดตัว อาคารก็เลยถูกทิ้งร้าง จนมีอาจารย์ท่านหนึ่งเข้ามาบูรณะ จากนั้นก็เปิดเป็นโรงแรม ฝั่งตรงข้ามของพระยาพาลาซโซ่คือท่าพระอาทิตย์ เดินไปไม่ไกลก็เป็นถนนข้าวสาร แล้วความโดดเด่นอีกอย่างของที่นี่นอกจากประวัติความเป็นมาคือเข้าได้เฉพาะทางเรือเท่านั้น เพราะด้านหลังของพระยาพาลาซโซ่เป็นชุมชน ซึ่งซอยข้างหลังก็ค่อนข้างเล็กมาก เราเองมีประสบการณ์กับกลุ่มนักท่องเที่ยวลักชัวรีที่ตรีสรา ก็อยากเชื่อมโยงประสบการณ์นั้นที่กรุงเทพฯ เลยขอเช่าที่จากมูลนิธิฯ ใช้งบรวมสัญญาเช่าและงบปรับปรุงทั้งหมดไปประมาณ 100 ล้านบาท ที่พระยาพาลาซโซ่มีห้องพัก 17 ห้อง เราเคยมีแผนจะปรับห้องนอนให้ลักชัวรีขึ้น แต่หน่วยงานของรัฐบาลบอกว่าอาคารนี้เป็นอาคารอนุรักษ์ เลยไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้มากกว่านี้ ดังนั้นสิ่งที่เราคิดว่าจะอัพมาตรฐานขึ้นมาก็จะยังคงเดินตามแนวนี้อยู่ แต่จะทำโดยใช้ด้าน food & beverage เข้ามาแทน เพราะร้านอาหารพรุที่ตรีสราเพิ่งได้ Michelin Star เป็นที่แรกและที่เดียวในภูเก็ต ตอนนี้ทางทีมที่ทำให้ร้านพรุก็เข้ามาเริ่มปรับร้านอาหารที่พระยาพาลาซโซ่ให้มีมาตรฐานขึ้น   [caption id="attachment_4068" align="aligncenter" width="1536"] สัมภาษณ์ กิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี เปลี่ยนโรงหนังร้อยปีย่านบางรักสู่ที่พัก “ปรินซ์ เธียเตอร์ฯ” ห้องพักทุกห้องของตรีสรา จ.ภูเก็ต สามารถมองเห็นวิวทะเลได้อย่างชัดเจน (ภาพ: MHG)[/caption]   The People: ทำไมชอบความท้าทายยาก ๆ เพราะทั้ง 2 ที่มีข้อจำกัดในแง่การเป็นที่เช่า กิตติศักดิ์: (นิ่งคิด) คือยากเหมือนกัน แต่ธุรกิจที่ทำอยู่แล้วที่ภูเก็ตเราก็ทำเต็มที่เพราะเป็น flagship ธุรกิจก็โตขึ้น ไซส์ก็ใหญ่กว่าที่นี่เป็นร้อยเท่า ตลาดก็มีความแน่นอน ลูกค้าก็ใช้เงินสูงกว่า แล้วเราก็มีโปรเจกต์ใน pipeline ที่เป็นลักษณะอย่างนั้นอยู่ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเราไม่ลองเสี่ยงด้านอื่นเลย ก็จะพลาดโอกาสทำอะไรที่แตกต่างในแง่ heritage อาคารเก่า ซึ่งจริง ๆ traditional hotel ถึงจะมีความแน่นอนสูง แต่ก็มีโอกาสถูกทดแทนด้วยโรงแรมที่เข้ามาใหม่ ที่ใหม่กว่า ที่มีคนรู้จักมากกว่า   The People: ความยากง่ายในการบริหาร ตรีสรา พระยาพาลาซโซ่ และ ปรินซ์ เธียเตอร์ เฮอริเทจ สเตย์? กิตติศักดิ์: มีความยากในตัวเองทั้งหมดเลย ความยากที่ตรีสราคือความคาดหวังของแขกที่เดินทางมาแล้วทั่วโลก อยู่ที่พักระดับลักชัวรีมาแล้ว เราต้องพยายามสร้างสรรค์ทุกสิ่งให้มากกว่าสิ่งที่เขาคิดว่าควรจะได้ ซึ่งนั่นก็สูงอยู่แล้ว ส่วนพระยาพาลาซโซ่และปรินซ์ เธียเตอร์ จริง ๆ โจทย์ก็คล้ายกัน คือไม่ได้มีสเกลที่ใหญ่ ดังนั้นก็ต้องมองหาอะไรนอกธุรกิจโรงแรมไป อย่างพระยาพาลาซโซ่คือการเสริมเรื่อง food & beverage ส่วนปรินซ์ เธียเตอร์ คือการใช้พื้นที่ส่วนกลางให้เกิดประโยชน์ที่สุด คือต้องพยายามคิด differentiate ตัวเอง นี่คือสิ่งที่คิดตรงกันหมดทุกแห่ง  

สัมภาษณ์ กิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี เปลี่ยนโรงหนังร้อยปีย่านบางรักสู่ที่พัก “ปรินซ์ เธียเตอร์ฯ”

  The People: แบ่งเวลาดูแลแต่ละที่อย่างไร กิตติศักดิ์: ผมใช้ 50% ที่ตรีสรา ซึ่งที่นั่นเป็นธุรกิจสำคัญและไซส์ใหญ่สุดของเรา และอีก 50% ที่พระยาพาลาซโซ่และปรินซ์ เธียเตอร์ฯ เพราะ 2 ที่หลังใหม่กว่า ก็ต้องใช้เวลาเพื่อทำให้เขามั่นคงก่อน   The People: หลักในการทำงานของคุณ? กิตติศักดิ์: พอมีหลายโปรเจกต์มากขึ้น เราต้องมีทีมที่เราเชื่อใจให้เขาตัดสินใจได้ เพราะฉะนั้นความเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญสุด ต้องคุยกันว่าวัฒนธรรมที่เรา establish องค์กรคืออะไร และเราจะมุ่งสู่เป้าหมายอะไร นอกจากนั้นต้องปล่อยให้เขาได้ทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมายในวิธีของเขาเอง ถ้ามีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี รู้ว่าเป้าหมายคืออะไร แล้วเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ ก็สามารถขับเคลื่อนทุกอย่างไปได้