คิตตี เทต : เด็กหญิงอบขนมปังเมื่อมีภาวะซึมเศร้าขณะอายุ 14 ลองเปิดร้านจนดังทั่วประเทศ

คิตตี เทต : เด็กหญิงอบขนมปังเมื่อมีภาวะซึมเศร้าขณะอายุ 14 ลองเปิดร้านจนดังทั่วประเทศ
เมืองวอทลิงตัน (Watlington) ในอ็อกซ์ฟอร์ดไชร์ (Oxfordshire) ของอังกฤษ มีประชากรราว 2,600 คน จนถูกมองว่าเป็นเมืองขนาดเล็กที่สุดในอังกฤษ คิตตี เทต ประชากรวัยรุ่นคนหนึ่งในเมืองนี้กลับรู้สึกว่า เธอภูมิใจกับสถานะเป็นหนึ่งในประชากรจำนวนหนึ่งในเมืองขนาดเล็กที่สุดของประเทศ คิตตี เทต (Kitty Tait) ในตอนนี้อายุ 17 ปี และอัล เทต (Al Tait) พ่อของเธออายุ 52 ช่วยกันบริหารกิจการเบเกอรีขนาดย่อมเยาแห่งหนึ่งในเมืองที่เริ่มเปิดเมื่อปี 2019 เธอเรียกร้านว่า The Orange Bakery ในวันนี้ ร้านของตระกูลเทตกลายเป็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์และยังเป็นร้านขวัญใจในชุมชน คนท้องถิ่นและนักเดินทางมาต่อคิวเพื่อให้ได้ขนมปังคุณภาพจากร้านในเมืองเล็ก ๆ ของอังกฤษกันทุกวัน ร้านแห่งนี้ยังเสมือนเป็นจุดสร้างชุมชนเล็ก ๆ ของคนรักผลิตภัณฑ์ของตระกูลเทตที่เริ่มขยายตัวขึ้นเรื่อย หากไม่สามารถไปถึงหน้าร้านได้ด้วยตัวเอง คิตตี และเบเกอรี ของเธอ รวมสูตรขนมปังไว้ในหนังสือทำขนมปัง พวกเขาตั้งชื่อหนังสือว่า Breadsong โดยอ้างอิงตามเสียงของขนมปังแถวที่แตกตัวเมื่อออกจากเตาอบ นักทำขนมปังมักบอกกันว่าเหมือนเสียงปรบมือจากระยะทางที่ห่างไกลออกไป ทิม ลูอิส (Tim Lewis) คอลัมนิสต์ด้านการอบขนมปังของ The Observer ไปพูดคุยกับครอบครัวเทตเกี่ยวกับความเป็นมาของร้านขนมปังในชุมชนขนาดเล็กแต่สร้างผลกระทบที่ใหญ่เกินขนาดตัวได้และพบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่แรกเริ่ม กลับเป็นสิ่งที่ครอบครัวเทต ไม่อยากให้มีใครเผชิญประสบการณ์แบบนี้มาก่อน เมื่อพบว่าในปี 2018 คิตตี เทต ซึ่งขณะนั้นอายุ 14 ปี เคยมีร่างกายปกติสมบูรณ์ใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนในสังคมด้วยดี มีอาการซึมเศร้า จากที่เคยร่าเริง เข้าร่วมสังคมในโรงเรียนได้ดี คิตตี เทต กลับกินได้น้อยลง นอนไม่ค่อยหลับ และเริ่มมีภาวะหวาดระแวง เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ เธอเริ่มไม่อยากลุกออกจากเตียง ไม่ไปโรงเรียน นั่นทำให้เธอต้องเข้าพบนักบำบัดที่อ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford) 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ทิม ลูอิส เล่าว่า การบำบัดไม่ค่อยคืบหน้ามากนัก ทั้งพ่อและคิตตี พยายามหากิจกรรมมาทำร่วมกันทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อช่วยให้คิตตี ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทำสวน งานศิลปะ จนถึงเย็บผ้า อัล เทต พ่อของเธอที่ทำงานกับนักศึกษาปริญญาตรีที่มีภาวะบกพร่องด้านการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและองค์กรการกุศลเริ่มมีทางเลือกน้อยลงเรื่อย ๆ กระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่เขาทำขนมปังก้อน (loaf) โดยใช้สูตรอบขนมของนักทำขนมปังจากนิวยอร์กรายหนึ่ง คิตตี เทต กลับสนใจในสิ่งนี้ เธอเล่าว่าในมุมมองของเธอ เวลานั้น การทำขนมปังแทบเหมือนการเล่นแร่แปรธาตุ อัล และคิตตี เทต ต่างเห็นตรงกันว่ากระบวนการทำขนมปังเป็นกิจกรรมที่ช่างเย้ายวนไม่แพ้ตัวขนมปังที่ออกมาเป็นผลลัพธ์แล้ว พ่อลูกคู่นี้ทำขนมปังมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงขั้นที่เคต นอนในห้องครัวเพราะรู้สึกสบายใจมากกว่าที่ได้อยู่กับแป้งของเธอ เมื่อขนมปังออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ จนบ้านของครอบครัวเทต รับประทานไม่หมด พวกเขานำขนมปังไปมอบให้เพื่อนบ้าน บางครั้งมีคนแปลกหน้าในซูเปอร์มาร์เก็ตมาถามว่าพวกเขาไปได้ขนมปังก้อนพวกนี้มาจากไหน ราวกับว่าครอบครัวเป็นเจ้าพ่อค้าของดีขาใหญ่ในเมือง การทำขนมปังมีส่วนทำให้คิตตี ใช้พลังงานของเธอในช่องทางที่เหมาะสมและทำให้เกิดผลลัพธ์ออกมาได้ดีด้วย ในช่วงแรกที่คิตตี ไม่สามารถออกจากบ้านได้ เธอใช้วิธีเข้าไปส่องตามหน้าอินสตาแกรม (Instagram) ของนักทำขนมปังและเชฟดังซึ่งเธอชื่นชอบ และบางรายก็ใจดีให้ความช่วยเหลือ เช่น แชด โรเบิร์ตสัน (Chad Robertson) จากเบเกอรีดังในซานฟรานซิสโก มอบอุปกรณ์ชุดตั้งต้นให้ร้าน ‘ออเรนจ์ เบเกอรี’ (The Orange Bakery) สำหรับการเริ่มต้นในโลกใบใหม่ของคิตตี ที่ผ่านมา อินสตาแกรม ถูกวิจารณ์และมีผลสำรวจพบว่าเป็นพื้นที่หนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่บางกลุ่มได้รับผลกระทบเชิงลบต่อจิตใจจากความกดดัน เช่น เมื่อเปรียบเทียบตัวเองกับภาพในชีวิตของคนอื่น แน่นอนว่า ผลสำรวจและสถิติต่าง ๆ เก็บข้อมูลมาจากกลุ่มตัวอย่าง บางครั้งยังมีประชากรกลุ่มอื่นที่มีลักษณะนอกเหนือจากกลุ่มตัวอย่างที่เลือกสุ่มมาเก็บข้อมูล และสำหรับคิตตี มองว่า อินสตาแกรมช่วยให้เธอเห็นโลกภายนอกที่ห่างไกลออกไปจากเมืองเล็ก ๆ ที่เธออาศัย ช่วยทำให้สภาพเธอกลับมาดีขึ้น คิตตี ถึงกับเอ่ยว่า เธอคงไม่มาถึงจุดนี้ถ้าไม่ใช่เพราะอินสตาแกรม (นี่เป็นคำพูดของคิตตี ที่คอลัมนิสต์ในอังกฤษนำมาบอกกล่าว) เบเกอรีของคิตตี มีขนมปังหลากหลายแต่ที่แนะนำว่าเป็นทีเด็ดและเชี่ยวชาญเป็นพิเศษคือขนมปังซาวโดวจ์ (sourdough bread) และเพสตรี (pastry) หรือขนมปังอบที่ทำสดใหม่ เว็บไซต์ของร้านอธิบายส่วนผสมของขนมปังพื้นฐานที่ร้านทำมาจำหน่ายว่ามี 3 อย่าง คือ แป้ง น้ำ และเกลือ ประกอบกับ ‘เวลา’ พร้อมขยายความต่อว่า ขนมปังแต่ละก้อนใช้เวลาทำมากกว่า 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการออกมาพร้อมรับประทาน อันที่จริงแล้ว กว่าที่ร้านขนมปังซึ่งดูแลโดยพ่อลูกคู่นี้จะเข้าที่เข้าทาง พวกเขาพบอุปสรรคไม่ต่างจากกิจการอื่น ๆ มีปัญหาเรื่องการเงินมาตลอด ในขณะเดียวกัน เบเกอรีก็เติบโตทั้งในแง่การรับรู้และการผลิต ปัญหาเรื่องการเงินจึงเริ่มบรรเทาตามไป จากโมเดลแบบฝากท้อง พวกเขาสามารถผลักดันมาเป็นโมเดลตั้งหน้าร้านวางจำหน่ายในเมืองได้ จากปากคำของนักเขียนที่ไปสัมผัสเรื่องราวของทั้งคู่ ทิม ลูอิส เล่าว่า พ่อลูกคู่นี้เป็นทีมที่เข้าขากันอย่างดี คิตตี มีพ่อที่เข้าใจเธอและอยู่เคียงข้างตอนที่รับมือภาวะวิตกกังวล เมื่อคิตตี พยุงตัวเองขึ้นมา และค่อย ๆ ต่อชิ้นส่วนภายในตัวเองกลับขึ้นมาใหม่ เธอมีพ่อเป็นชิ้นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย คิตตี เทต เข้าใจดีว่าเป็นเรื่องดีมากสำหรับเธอ และวัยรุ่นจำนวนหนึ่งไม่ได้มีคนคอยเคียงข้างแบบคิตตี เธอจึงมองว่า อัล เทต ไม่ได้เป็นเพียงผู้ปกครอง ยังเป็นส่วนหนึ่งของเธอ เป็นเพื่อนสนิท และเป็นผู้ร่วมลงทุนในธุรกิจไปในตัว ความสำเร็จของร้านเบเกอรีโดยคู่พ่อลูกมาจนถึงจุดที่พวกเขาพิมพ์หนังสือสูตรทำขนมปังของตัวเองชื่อ Breadsong คิตตี และอัล เทต ร่วมกันเขียนขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเสมือนบันทึกความทรงจำที่มาพร้อมสูตรขนมปังของพวกเขาที่รวบรวมเอาไว้ในหนังสือ การเขียนหนังสือถือเป็นอีกเส้นทางหนึ่งแทบจะแกมบังคับให้คิตตี ต้องเผชิญหน้ากับความจริงว่าเธอเคยมีอาการอย่างไรบ้างในช่วงที่ผ่านมา การเขียนหนังสือทำให้เธอมีอารมณ์ร่วมกับความทรงจำในอดีตมากกว่าที่คิด เรื่องที่เคยผ่านไปแล้วและเธอก้าวข้ามมันไปได้ก็ต้องมาพยายามผ่านมันไปให้ได้อีกครั้ง แม้จะเป็นกระบวนการที่เจ็บปวดแต่คิตตี เชื่อว่า มันมีมุมบวกเช่นกัน เพราะท้ายที่สุดแล้วมันทำให้เธอเข้าใจ ไม่เพียงแค่ว่าทำไมเธอป่วย ทำไมเธอต้องดิ้นรน แต่เธอยังรู้สึกภูมิใจกับตัวเองได้ คิตตี มองว่า ก่อนหน้านี้เธอรู้สึกอับอายกับสภาพสุขภาพจิตของตัวเอง การเขียนเรื่องเหล่านี้ทำให้เธอคิดว่า มันไม่ใช่ความผิดของเธอ และไม่เคยเป็นความผิดของเธอเลย เวลาร่วม 4 ปีที่ผ่านมา จากจุดเริ่มมีอาการเมื่อปี 2018 มาสู่การเปิดร้านต้นปี 2019 ในวันนี้ The Orange Bakery มาถึงจุดที่กำลังไปได้สวย อย่างไรก็ตาม คิตตี และอัล เทต เห็นตรงกันว่าพวกเขายังไม่อยากขยายสเกลของกิจการโดยจ้างคนมาทำงาน คิตตี ยังรักในกิจกรรมที่เธอทำอยู่ 4 ปีที่ผ่านมา เธอและพ่อเริ่มกระบวนการผลิตตั้งแต่ตี 5 ซึ่งอัล เทต ก็เห็นด้วยกับลูก สิ่งที่พวกเขาอยากทำมากกว่าเดิมคือไปทำงานร่วมกับโรงเรียนหรือเรือนจำท้องถิ่น และอยากทำงานเขียนมากกว่าเดิม บางครั้งงานเขียนอย่างเช่นงานผลิตหนังสือสูตรทำอาหารส่งผลทำให้ลดจำนวนวันเปิดร้านลง แต่หากมันเป็นความต้องการของครอบครัวและผู้ผลิตแล้วก็คงต้องเป็นไปตามนั้น เพราะจุดเริ่มของสิ่งที่ปรากฏในวันนี้ทั้งหมดก็มาจากการตัดสินใจภายในเช่นกัน หากสนใจเกี่ยวกับร้าน สามารถเข้าไปติดตามได้ที่อินสตาแกรมของร้าน @the_orangebakery หรือที่เว็บไซต์ theorangebakery.org หรือหากสนใจสูตรอาหาร สามารถค้นหาได้จากหนังสือ Breadsong ภาพ : (ซ้าย) ร้าน The Orange Bakery กับ อัล เทต, แม็กซ์ และ คิตตี เทต (ขวา) คิตตี เทต กับขนมปังมันฝรั่ง ภาพจาก Instagram/the_orangebakery อ้างอิง : Lewis, Tim. “Dad, bread and me: how baking gave one teenager a new zest for life”. The Guardian. Website. Published 24 APR 2022. Access 30 APR 2022. The Orange Bakery. Website. Access 30 APR 2022.