Kodak ทำกล้องดิจิทัลก่อนใคร แต่พ่ายแพ้ล้มละลายในยุคเปลี่ยนผ่าน

Kodak ทำกล้องดิจิทัลก่อนใคร แต่พ่ายแพ้ล้มละลายในยุคเปลี่ยนผ่าน
"The Kodak กล้องที่จะเก็บภาพโลก ไม่ต้องมีความรู้เรื่องถ่ายภาพมาก่อน แค่คุณกดปุ่ม ที่เหลือเป็นงานของเรา (เว้นแต่คุณอยากจะทำเอง) แล้วภาพถ่ายก็เปนอันสำเร็จ" ข้อความจากโปสเตอร์โฆษณากล้องถ่ายรูป Kodak ในปี 1893 โดยบริษัท Eastman Photographic Materials ที่ภายหลังรู้จักกันในชื่อ Eastman Kodak  ตั้งแต่ จอร์จ อีสต์แมน (George Eastman) ริเริ่มพัฒนาการถ่ายรูปให้ผู้บริโภคทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 "Kodak" ก็มักจะเป็นเจ้าแรกของวงการในการแนะนำนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ รวมถึงการพัฒนา "กล้องดิจิทัล" พวกเขาก็ทำเป็นเจ้าแรก แต่พวกเขาก็ไม่อาจปรับตัวได้ทันกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไปจนถึงขั้นล้มละลาย การเป็นเจ้าแรกในตลาดดูเหมือนจะได้เปรียบคู่แข่งอื่น ๆ อยู่มาก จึงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ ในอดีตช่างภาพจะถ่ายรูปแต่ละรูปได้ จะต้องเอาแผ่นกระจกจุ่มลงไปในน้ำยาถ่ายภาพแล้วถ่ายแบบเปียก ๆ เช่นนั้นซึ่งไม่สะดวกเอาเสียแล้ว แม้กระจกฟิล์มแห้งจะเริ่มมีใช้บ้างแล้ว แต่ก็ต้องรอจนปี 1880 เมื่ออีสต์แมนประสบความสำเร็จกับการสร้างเครื่องจักรสำหรับผลิตแผ่นกระจกเคลือบน้ำยาถ่ายภาพแบบแห้งเพื่อออกจำหน่ายเป็นปริมาณมากได้  ต่อมาอีสต์แมนก็พัฒนาฟิล์มเซลลูลอยด์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการถ่ายภาพ ก่อนที่จะออกกล้องถ่ายภาพที่เรียกว่า "Kodak" ออกมาในปี 1888 มันเป็นกล้องที่ทำให้มือสมัครเล่นได้ลองถ่ายภาพได้อย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรก ด้วยสโลแกน "แค่คุณกดปุ่ม ที่เหลือเป็นงานของเรา" ด้วยสนนราคากล้องตัวละ 25 ดอลลาร์พร้อมฟิล์มถ่ายภาพ 100 ภาพ ซึ่งทุกครั้งที่ถ่ายเสร็จ ลูกค้าต้องส่งกล้องทั้งกล้องไปถอดฟิล์มล้างและใส่ฟิล์มใหม่ด้วยค่าบริการอีก 10 ดอลลาร์ แม้จะฟังดูยุ่งยาก แต่นั่นคือความสะดวกสบายที่สุดของสมัยนั้น ความสำเร็จของกล้องถ่ายภาพสำหรับมือสมัครเล่นตัวนี้ ทำให้ชื่อ Kodak กลายเป็นชื่อติดปากของตลาด อีสต์แมนและหุ้นส่วนจึงจดทะเบียนกิจการของพวกเขาในชื่อ Eastman Kodak  Kodak เน้นทำตลาดกับกลุ่มนักถ่ายภาพสมัครเล่นเรื่อยมา (เพราะคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากกว่านักถ่ายภาพอาชีพอยู่แล้ว) และเป็นผู้นำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ เช่น Kodak Brownie กล้องราคา 1 ดอลลาร์ในปี 1900 กับฟิล์มม้วนละ 15 เซนต์ หรือฟิล์มสี Kodachrome ที่ตอนแรกออกมาในขนาด 16 มม. เพื่อรองรับตลาดภาพยนตร์ ในปี 1935 ก่อนขยายไปยังตลาดฟิล์มสไลด์ ขนาด 35 มม. และขนาด 8 มม. สำหรับกล้องฟิล์มวิดีโอประจำบ้าน นอกจากนี้ Kodak ยังกระโดดมาพัฒนากล้องดิจิทัลก่อนใครตั้งแต่ยุค 1970s กล้องดิจิทัลต้นแบบของพวกเขาออกแบบโดย สตีฟ แซสซัน (Steve Sasson) สำเร็จเป็นรูปร่างในปี 1975 มันเป็นกล้องที่มีหน้าตาผิดแผกไปจากกล้องสามัญทั่วไปเป็นอย่างมาก ด้วยขนาดที่ใหญ่กว่าเครื่องปิ้งขนมปัง ใช้เทปคาสเซ็ตเป็นสื่อบันทึกภาพ โดยภาพที่ได้เป็นภาพขาวดำที่ความละเอียด 10,000 พิกเซล หรือถ้าเทียบเป็นเมกะพิกเซลหน่วยที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันก็จะอยู่ที่ 0.01 เมกะพิกเซล (Kodak) พัฒนาการกล้องดิจิทัลของ Kodak ไม่ได้นำไปสู่กล้องดิจิทัลอย่างที่เห็นในปัจจุบันในทันที แต่มันถูกพัฒนาไปใช้งานกับเครื่องขยายและพิมพ์ภาพก่อน โดยในปี 1988 พวกเขาออกผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ KODAK CREATE-A-PRINT ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถนำฟิล์มขนาด 35 มม. มาอัดรูปได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที ก่อนที่จะพัฒนากล้อง DSLR ตัวแรกของโลกในปี 1987 ขึ้นมาเพื่อใช้งานในรัฐบาลสหรัฐฯ มีชื่อว่า Electro-Optic Camera มันเป็นกล้อง 1 ล้านพิกเซลตัวแรก (สำเร็จในปี 1988) มีลักษณะเป็นกล้อง SLR ที่มีสายเชื่อมต่อกับกล่องเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ ตามมาด้วย KODAK Professional Digital Camera System กล้องดัดแปลงจาก Nikon F3 กล้องฟิล์มยอดฮิตที่วางจำหน่ายตั้งแต่ปี 1980 มาติดตั้งเซ็นเซอร์ขนาด 1.3 เมกะพิกเซลของ Kodak ซึ่งส่วนขยายมีขนาดพอ ๆ กับอุปกรณ์เสริมมอเตอร์หมุนฟิล์มอัตโนมัติของ Nikon F3 เองและมีสายเชื่อมต่อไปยังกล่องเก็บข้อมูลติดตั้งหน้าจอ LCD มีกลุ่มเป้าหมายเป็นช่างภาพข่าว เริ่มวางจำหน่ายในปี 1991 ในราคาตั้งแต่ 20,000 ถึง 25,000 ดอลลาร์ โดยมียอดขายรวมไม่ถึง 1,000 ชุด ซึ่งเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณที่พวกเขาทุ่มไปกับการวิจัย และรายได้ที่พวกเขาได้มาจากการขายฟิล์ม เจมส์ แมคการ์วี (James McGarvey) วิศวกรของ Kodak ผู้ออกแบบกล้อง DSLR ตัวแรกของโลก ให้สัมภาษณ์กับ จาร์ล อัสลันด์ (Jarle Aasland) จาก Nikonweb (เว็บส่วนตัวของอัสลันด์ไม่ใช่ของ Nikon) ถึงพัฒนาการของแผนกดิจิทัลใน Kodak ว่า  "หลายคนใน Kodak ค่อนข้างลังเล บางส่วนในระดับบริหารต้องการให้เรายุติการทำงาน แต่ด้วยเหตุและผลพวกเขาก็พ่ายแพ้ไป สำหรับเรามันชัดเจนมากว่า สิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้ เดี๋ยวใคร ๆ ก็ทำได้ แล้วเราก็ควรจะเป็นผู้นำ ถ้าหากธุรกิจฟิล์มจะได้รับผลกระทบอย่างที่เราคาดการณ์ เราพูดกันเล่น ๆ ว่า น่าจะหลบหนีเรดาร์แอบลักลอบเอา DCS ออกจาก Kodak แต่ DCS เป็นข่าวมาพอควร มันจึงเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่พวกเขาเป็นกังวลมากที่สุดก็คือ เป้าหมายของพวกเราอยู่ที่ช่างภาพมืออาชีพ ซึ่งถ้าเราเปลี่ยนพวกเขาให้เป็นลูกค้าได้ นั่นก็แปลว่า รายได้จากการขายฟิล์มจะหายไป "แต่อย่าลืมว่า Kodak ได้ลงทุนพัฒนาด้านระบบภาพอิเล็กทรอนิกส์เป็นเงินมหาศาลในช่วงทศวรรษ 1980s แล้วก็มีโครงการกล้องดิจิทัลที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหลายโครงการ ในขณะที่ DCS เผยแพร่ออกไปแล้ว ปัญหาคือ Kodak ไม่มีแผนที่เป็นระเบียบระบบในเวลานั้น เพื่อเปลี่ยนผ่านจากยุคฟิล์มไปสู่ดิจิทัล แล้วก็พูดอย่างแฟร์ ๆ มันไม่มีทางที่จะหารายได้ใหม่มาทดแทนกำไรมหาศาลจากธุรกิจฟิล์มในตอนนั้นได้ ดังนั้นโดยรวมแล้วบริษัทไม่มีความแน่นอน แล้วก็ไม่ได้ลงทุนมากเท่าที่จะทำได้ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาดดิจิทัล"  ด้วยความลังเลที่จะเปลี่ยนผ่านแม้จะมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีก่อนใคร Kodak ต้องเจอคู่แข่งจากญี่ปุ่นที่สามารถเสนอราคาที่ถูกกว่ามากแย่งส่วนแบ่งตลาดค้าฟิล์มไป และการลงทุนมากมายไปกับการวิจัยเทคโนโลยีดิจิทัล แต่สุดท้ายกลับไม่สามารถนำมาสร้างกำไรในเชิงตลาดได้อย่างแท้จริง ทำให้กำไรจากธุรกิจหลักอย่างการขายฟิล์มค่อย ๆ หดตัวลง จนมีแต่ขาดทุน ขณะที่รายได้จากสิทธิบัตรก็ไม่พอจุนเจือ สุดท้ายบริษัทก็ถึงคราวต้องประสบภาวะล้มละลาย ต้องขายกิจการและสิทธิบัตรบางส่วน เพื่อปรับโครงสร้างให้บริษัทธุรกิจภาพถ่ายที่เก่าแก่กว่าร้อยปี และเป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรมใหม่หลายรายการยังคงอยู่รอดต่อไปได้