ก้อง ห้วยไร่ จากนักร้องหน้ารามฯ สู่ผู้ทลายกรอบความเป็นอีสาน

ก้อง ห้วยไร่ จากนักร้องหน้ารามฯ สู่ผู้ทลายกรอบความเป็นอีสาน
หลังจากเสียงของไข่มุก รุ่งรัตน์ ดังขึ้นในรอบ Knock Out กลางรายการ The Voice Thailand ท่อนร้องละมุนหัวใจที่ว่า “ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน” ก็โด่งดังไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนถามหาว่า เพลง “ถิ่มๆ” นี้ เป็นเพลงของใคร ณ นาทีนั้น ชื่อของ ก้อง ห้วยไร่ ก็ขจรขจายไปทั่วบรรณพิภพ “หลังจากที่น้องไข่มุกเอามาร้อง ผมยอมรับเลยว่า จากเพลงที่จะได้ยินเฉพาะเวทีหมอลำบ้านผม ฟังกันเฉพาะคนอีสาน กลายเป็นว่าคนทุกภาคฟัง” ก้อง ห้วยไร่ พูดถึงปรากฏการณ์ความดังของเพลง หลังจากเขาเพิ่งเป็นที่รู้จักได้ไม่นาน ก่อนหน้าที่ไข่มุกจะนำเพลง ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน มาร้อง เพลงนี้ก็มียอดวิวหลายสิบล้านอยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่ยังไม่แพร่หลายไปสู่คนหมู่มาก แต่นับจากนั้น ก้อง ห้วยไร่ ก็เริ่มเป็นที่จับตามอง โด่งดังขนาดที่ว่า สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรและผู้ดำเนินรายการชื่อดัง เชิญเขาไปออกรายการเจาะข่าวเด่นทางช่อง 3 ในเดือนมกราคม ปี 2559  ตอนนั้นเขายังมีแววตาเขินกล้อง แต่ในบางห้วงเราเห็นความมุ่งมั่นจริงจังแจ่มชัดในน้ำเสียง อัครเดช ยอดจำปา เด็กหนุ่มจากบ้านห้วยไร่ จ.สกลนคร จบ ม.6 เดินทางเข้ามาหางานทำที่กรุงเทพฯ ระหว่างนั้นเขาลงเรียนคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ไปด้วย แต่ด้วยสังคมใหม่ที่ไม่เคยเจอ ก้องยอมรับว่าเขา “หลงแสงสี” จนต้องทะเยอทะยานเพื่อให้มีเสื้อผ้าดี ๆ ใส่ และอยากมีเงินเยอะขึ้น “ผมบอกที่บ้านว่าต้องมาทำงาน อยากซื้อบ้านซื้อรถให้พ่อแม่ ตอนนั้นนึกว่าจะเข้ามาเป็นดาราหรือนักกีฬา แต่เข้ามาปุ๊บ เริ่มต้นด้วยงานก่อสร้าง ไปอยู่กับน้า ได้ค่าแรงวันละ 100 กว่าบาท ติดฉนวนกันความร้อน ยกปูน ผสมปูน ทำทุกอย่าง เพื่อจะเอาเงินไปซื้อชุดนักศึกษา ทำไปได้สักพัก มหา’ลัยเปิด ก็ต้องไปเรียน ทำงานทุกวันไม่ได้แล้ว เลยเปลี่ยนอาชีพมาดีดกีตาร์หน้ารามฯ” เมื่อความต้องการเพิ่มขึ้น การดีดกีตาร์เพื่อให้มีข้าวกินไปวัน ๆ จึงไม่เพียงพอ เขาตัดสินใจหยุดเข้าเรียนเลคเชอร์ มาสมัครงานที่สถานเสริมความงาม เพราะเจอป้ายบอกเงินเดือน 15,000 บาท วินาทีแรกกับการสมัครงานที่ต้องอาศัยหน้าตาผิวพรรณ เด็กบ้านนอกอย่างเขาถูกปฏิเสธทันที แต่ก้องยังไม่ยอมแพ้ ถามต่อว่า “งั้นไม่เป็นไรพี่ มีงานอื่นให้ผมทำไหม” นับแต่นั้น ก้อง ห้วยไร่ ก็กลายเป็นเด็กยกของในสถานเสริมความงาม ซึ่งที่นี่เองทำให้เขาเจอความรักที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล ก้องพบรักกับผู้หญิงคนหนึ่ง อยู่กินใช้ชีวิตด้วยกัน และสัญญาว่าจะผ่านความยากลำบากไปด้วยกัน ช่วงนั้นเองที่ก้องค่อย ๆ ขยับจากเด็กยกของกลายเป็นพีอาร์บริษัท เพราะเขาแสดงความสามารถในการพูดกับผู้คนเมื่อครั้งไปออกบูธที่สกลนคร ทำให้เขาต้องออกเดินทางไปต่างจังหวัดบ่อย ๆ แม้ดูเหมือนว่ากราฟชีวิตจะพุ่งไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อเขากลับมากรุงเทพฯ คนรักของเขาก็สารภาพตามตรงว่า “มีคนอื่นมาตั้งนานแล้ว” ความผิดหวังครั้งนั้นรุนแรงจนก้องลาออกจากงาน ก่อนจากเขาเขียนกลอนวางไว้ให้อดีตคนรัก มีเนื้อความว่า ‘ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน ไสว่าสิมีกันและกัน ไสว่าสิฮักแพงกัน ไสว่าสิมีกันตลอดไป’ และออกมาใช้ชีวิตเร่ร่อน “ผมใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่เกือบ 6 เดือน ดีดกีตาร์อยู่ข้างถนน ตระเวนตามร้านหมูกระทะ สมัครร้องเพลง หาเงินประทังชีวิต จนวันหนึ่งผมไปนั่งดีดกีตาร์อยู่ในสนามกีฬา กกท. ราชมังคลาฯ วันนั้นมีคอนเสิร์ตบอดี้แสลม ผมได้ยินเพลง ทางกลับบ้าน ดังออกมา เนื้อหาประมาณว่า ถ้าวันหนึ่งเราผิดหวัง เราหาทางกลับบ้าน เราไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จก็ได้ ทำไมเราไม่กลับบ้านวะ แล้วพ่อแม่จะคิดยังไงที่เห็นเราเร่ร่อนอย่างนี้” คิดได้ดังนั้น เขาก็กลับไปอยู่บ้านที่สกลนครกับพ่อแม่ ใช้ชีวิตตามท้องไร่ท้องนาปกติ จนถึงช่วงเข้าพรรษา ได้ยินแม่สวดสรภัญญะเป็นภาษาอีสาน เขาก็คิดขึ้นมาว่า ถ้าแต่งเพลงใส่เป็นทำนองสรภัญญะจะเพราะขนาดไหน เมื่อนั้นเขาก็เขียนเพลง ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน โดยได้แรงบันดาลใจคำนี้มาจากอาจารย์ที่เคยพูดปลอบใจเขาหลังอกหัก ขยายความจากกลอนจนกลายเป็นเพลง เก็บเอาความระทม รัก ผิดหวัง ถ่ายทอดออกมาเป็นเนื้อเพลง ใส่คอร์ดกีตาร์ พอได้ท่วงทำนองที่พอเหมาะพอใจ เขาก็อัดลงเฟซบุ๊ก ครั้งแรกได้ 7 ไลก์ กับ 1 คอมเมนต์ ซึ่งมีใจความสั้นกระชับว่า ‘กาก’ แต่คำว่า ‘กาก’ ก็ไม่ได้ทำให้เขาหยุดเขียนเพลง เขายังเขียนเพลงไปเรื่อย ๆ เล่าชีวิตประจำวัน ความรัก อกหักไปเรื่อย ๆ จนได้เจอกับ ‘กบ’ เจ้าของค่ายซาวด์มีแฮงเรคคอร์ด เมื่อคุยกันถูกคอ ก็ตกลงเรียบเรียงเพลงใหม่ อัดเสียง ถ่ายเอ็มวี แล้วอัพลงยูทูบ จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน ก้อง ห้วยไร่ เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เพลงนี้เป็นเพลงที่ผมเขียนขึ้นมาเพื่อให้ผู้หญิงที่ทิ้งผมไปฟังแค่นั้น ไม่ได้คิดว่าต้องเป็นเพลงที่ทุกคนรู้จัก ต้องร้องได้ ต้องชอบ ไม่เคยคิดเลย” แต่เมื่อดังขึ้นมามากจริง ๆ เขาก็ถูกตั้งคำถามว่า หรือดังเพลงเดียวจะเป็นแค่ความฟลุค ในปีถัดมา ก้องลบคำสบประมาทด้วยการแต่งและร้องเพลง คู่คอง ประกอบละครเรื่อง นาคี ใช้คำอีสานโบราณมาใช้เล่าความรักข้ามชาติภพ เพลง คู่คอง ดังถล่มทลายไปพร้อม ๆ กับละคร และส่งให้ ก้อง ห้วยไร่ กลายเป็นภาพแทนของศิลปินอีสานอินดี้ ที่ทลายกรอบความเป็นอีสานแบบเดิมลงไป เขาเลือกใช้ภาษาอีสานยาก ๆ ลึก ๆ โดยไม่เหนียมอาย และไม่ได้จำกัดเครื่องดนตรีเฉพาะพิณแคน เพลง คู่คอง มีเสียงเปียโนคลออยู่ตลอดเพลง และในท่อนที่ต้องขับเน้นอารมณ์ เสียงไวโอลินก็ดังประสานขึ้นมาอย่างเนียนกริบ ทำให้เพลงปรากฏความเป็น ‘ลูกผสม’ ระหว่างลูกทุ่งอีสานกับเพลงป๊อปสมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจ เขายังทำเพลงร่วมกับศิลปินภาคอื่น เช่น โอ้ละน้อ ร่วมกับ ปู่จ๋าน ลองไมค์ ที่ผสมผสานการร้องแรพ บวกกับเนื้อเพลงที่ว่าด้วยหนุ่มอีสานฟังเพลงเกาหลีแต่เลือดอีสานยังเข้มข้นอยู่ในตัว เขายังแต่งเพลงหมอลำผสมอาร์แอนด์บี ในเนื้อร้องที่มีทั้งภาษาอีสานและภาษาอังกฤษ ในเพลง คึดนำ (You Let Me Down) ร้องร่วมกับ ฐา ขนิษ ซึ่งเป็นภรรยาของเขาเอง ด้วยท่วงท่าลีลาที่แปลกใหม่ ทั้งรูปลักษณ์ทันสมัย เมื่อเขาใส่เสื้อหนังร้องเพลงกลางทุ่งนา ด้วยวิธีการร้องเฉพาะตัว ที่รวมเอาเทคนิคการเอื้อนแบบลูกทุ่งเข้ากับหลากหลายภาษา เมื่อรวมกับเครื่องดนตรีตะวันตก เมื่อนั้นเพลงอีสานของ ก้อง ห้วยไร่ ก็ไม่ได้มีไว้เพื่อให้คนอีสานฟังอย่างเดียวอีกต่อไป แต่กลายเป็นเพลงที่ทุกคนฟังได้ ย้อนกลับไปช่วงแรกที่เขาเริ่มมีชื่อเสียง ก้อง ห้วยไร่ ให้สัมภาษณ์ถึงความต้องการของเขาว่า “ผมอยากทลายกรอบ ทลายทุกกำแพง ไม่ใช่ในฐานะศิลปิน แต่ในฐานะเด็กอีสานคนหนึ่ง ทำไมวัฒนธรรมที่อยู่กับเรานาน ๆ เราถึงไม่กล้าให้คนอื่นเห็น เราไม่กล้าบอกคนอื่นว่าเราเป็นคนอีสาน เพราะอะไร” ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป วันนี้เขาอาจทำสำเร็จแล้ว   อ้างอิง บทสัมภาษณ์จากรายการ เจาะข่าวเด่น วันที่ 14-15 มกราคม 2559   เรื่อง: เอวา บุบผา ภาพ: M Pictures