โกษาปาน การติดตั้งรูปปั้นทูตสยามที่ฝรั่งเศสปลื้มยิ่งกว่าเจ้าในยุโรป

โกษาปาน การติดตั้งรูปปั้นทูตสยามที่ฝรั่งเศสปลื้มยิ่งกว่าเจ้าในยุโรป
"ในสมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี เคยมีราชทูตไทยไปถึงยุโรปหลายคราว ตามที่มีจดหมายเหตุปรากฏนั้น ราชทูตไทยไปถึงยุโรปครั้งแรกเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ โปรดให้ทูตานุทูตเชิญพระราชสาส์นออกไปยังประเทศฮอแลนด์ เจริญทางพระราชไมตรีกับเจ้ามอริสในราชวงศ์ออเรนช์ เมื่อปีมะแมจุลศักราช 969 พ.ศ. 2150 ตรงกับคฤศตศก 1607"  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงความเป็นมาของการส่งราชทูตของไทยหรือสยามไปเจริญสัมพันธไมตรียังประเทศตะวันตก ก่อนเสริมว่า "ต่อนั้นมายังมีราชทูตไทยได้ออกไปยุโรปในรัชกาลอื่น ๆ อีก แต่ในเรื่องราชทูตที่ไปมากับประเทศสยาม จะเปนราชทูตที่พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศแต่งเข้ามาก็ดี หรือราชทูตไทยไปเจริญทางพระราชไมตรีถึงต่างประเทศก็ดี ตอนไหน ๆ ไม่เลื่องลือรู้แพร่หลายเท่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยที่ 14 กรุงฝรั่งเศส  “เพราะพระเจ้าหลุยที่ 14 มีรับสั่งให้สร้างสิ่งที่รฦกไว้เฉลิมพระเกียรติยศหลายอย่าง เปนต้นแต่ให้ตีเหรียญแลเขียนรูปภาพราชทูตไทยเข้าเฝ้าที่พระราชวังเวอซาย แลให้แต่งหนังสือทั้งเรื่องราชทูตฝรั่งเศสเข้ามากรุงสยาม แลเรื่องราชทูตสยามคราวโกษาปานออกไปเมืองฝรั่งเศสพิมพ์ไว้ หนังสือเหล่านั้นแพร่หลายทั้งในภาษาฝรั่งเศส แลได้แปลเปนภาษาอื่นยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ จึงได้ทราบเรื่องกันยิ่งกว่าคราวอื่น ๆ" ด้วยเหตุนี้เอง โกษาปาน หรือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) จึงเป็นทูตที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดทั้งในไทยและต่างประเทศ  ที่ฝรั่งเศส นอกจากจะมีการตั้งชื่อถนนเป็นถนนสยาม (Rue de Siam) มีป้ายสถานีรถไฟฟ้าชื่อสถานีสยามแล้ว ในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 333 ปี การเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีของคณะทูตชุดนี้ ก็ยังมีแผนการที่จะนำรูปปั้นของโกษาปานไปประดิษฐาน ณ ถนนสยามของเมืองแบรสต์ ซึ่งเป็นเมืองท่าที่คณะทูตของพระนารายณ์ไปขึ้นฝั่งในฝรั่งเศสอีกด้วย การจัดทำรูปปั้นโกษาปานริเริ่มโดย สมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมกับพันธมิตร โดยได้ วัชระ ประยูรคำ ประติมากรที่ถนัดงานปั้นรูปเหมือนมาเป็นผู้ปั้น มีการแถลงข่าว "Kosa Pan: Le buste โกษาปาน อนุสรณ์สถานแห่งไมตรีที่ถนนสยาม" ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ปี 2562  ฌัก ลาปูฌ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กล่าวว่า "อนุสาวรีย์รูปหล่อราชทูตโกษาปานที่เมืองแบรสต์ นับเป็นเครื่องหมายแห่งการเริ่มต้นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและสืบเนื่องยาวนานของสาธารณรัฐฝรั่งเศสและราชอาณาจักรไทย ราชทูตโกษาปานทำให้ชาวฝรั่งเศสรู้จักสยาม ซึ่งมีวัฒนธรรมที่ร่ำรวย ละเอียดอ่อน และงอกงามอยู่ระหว่างประเทศจีนและอินเดีย "การค้นพบบันทึกรายวันการเดินทางของโกษาปานบรรยายเหตุการณ์และพรรณนาสิ่งพบเห็นขณะที่อยู่เมืองแบรสต์เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ก็ทำให้เข้าใจได้ว่า เหตุใดราชทูตโกษาปานจึงเป็นแรงบันดาลใจให้นักการทูตไทยรุ่นใหม่"   ในงานเดียวกันยังมีการเสวนาเรื่อง “โกษาปาน ณ ถนนสยาม” ซึ่ง ธิดา บุญธรรม อุปนายกสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงการให้ความสำคัญต่อโกษาปานของฝรั่งเศสว่า "เฉพาะถนนสยามเอง (ในฝรั่งเศส) ก็มีถึง 3 แห่ง เพราะความที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เฉลิมฉลองการมาถึงของโกษาปานมากกว่าทูตคณะอื่น ๆ ของประเทศอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่อย่างในยุโรป เจ้าแห่งเวเนเซีย เจ้าแห่งเวนิสก็ไป เจ้ากรุงมอสโควาก็ไป แต่เฉลิมฉลองทำแต่โกษาปานเท่านั้น เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ แล้วถนนสยามตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกทำลายสิ้นเลย เขาสร้างขึ้นใหม่อย่างที่เห็นทุกวันนี้" สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ อุปนายกสมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์แห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และเป็นผู้ประสานงานโครงการ กล่าวว่า ทางรัฐบาลท้องถิ่นเมืองแบรสต์เองให้การต้อนรับดูแลคนไทยเป็นอย่างดีเสมอมา ทางสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสฯ จึงเห็นว่าน่าจะมอบของขวัญให้กับเมืองแบรสต์  ปี 2562 เป็นปีครบรอบ 333 ปี การเดินทางของคณะทูตสยาม จึงได้มีการทาบทามเมืองแบรสต์ถึงการนำเอารูปปั้นของโกษาปานไปประดิษฐาน ณ เมืองแบรสต์ ซึ่งทางเมืองแบรสต์ก็ตอบรับด้วยความยินดี เขาจึงได้ไปติดต่อ วัชระ ประยูรคำ ประติมากรที่เคยปั้นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ให้กับทางสมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์มาก่อน ให้เป็นผู้ปั้นรูปเหมือนของโกษาปาน "ทางผมรู้สึกว่า นอกจากจะทำหนังสือแล้ว ควรจะมีการบันทึกการทำงานครั้งนี้ ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญ เพราะจากที่ผมทราบมาว่า ไม่เคยมีรูปปั้น หรืออนุสาวรีย์ของบุคคลสำคัญของประเทศไทยเลยที่ไปตั้งในประเทศฝรั่งเศส ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรก จึงน่าจะมีการบันทึกเป็นกิจลักษณะ ก็เลยไปติดต่อทางทีวีบูรพา คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุธ ซึ่งเราเห็นกันประจำในรายการคนค้นฅน พี่เช็ค คุณสุทธิพงษ์ ก็รับปากทันทีว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวจะไปเก็บภาพทุกอย่างทุกขั้นตอน ตั้งแต่อาจารย์วัชระปั้นดินก้อนแรก จนกระทั่งเข้าโรงหล่อ แล้วจะตามไปถึงเปิดรูปปั้นถึงประเทศฝรั่งเศส" สุพจน์กล่าวเสริม ด้าน วัชระ ประยูรคำ กล่าวว่า งานนี้มีความท้าทายมาก เนื่องจากต้องไปจัดแสดงถึงฝรั่งเศสถิ่นศิลปะ และศิลปินที่เขาชื่นชมอย่างมากอย่าง ออกุส โรแดง (Auguste Rodin) ก็เป็นชาวฝรั่งเศส เขาจึงต้องทำงานอย่างสุดฝีมือเพื่อไม่ให้ขายหน้า ส่วนการทำงานของเขานั้น ข้อสำคัญคือการหาข้อมูล โดยภาพวาดและภาพพิมพ์โบราณถือเป็นข้อมูลสำคัญที่เขาใช้ในการตีความเพื่อปั้นโกษาปาน "พอดีผมดูจากที่เป็นภาพพิมพ์ engrave แล้วก็มีลายเส้นด้วย ข้อมูลนี้พอเราดูแล้ว ด้วยความที่นักปั้นต้อง drawing (วาดเส้น) เก่ง พอดู drawing ปั๊บ เราก็จะรู้เลยว่า จิตของคนที่ drawing เขาเห็นอะไร ภาพโกษาปานมันจะย้อนเข้ามาสู่ตัวเราได้เลย" สำหรับกำหนดการการประดิษฐานรูปปั้นของโกษาปานนั้น สุพจน์กล่าวว่า ทางเมืองแบรสต์กำหนดไว้ว่าจะมีการเปิดตัวรูปปั้นโกษาปานบนถนนสยามของเมืองแบรสต์ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปี 2563 ซึ่งทัวร์เอื้องหลวงของการบินไทยก็มีการจัดโครงการนำเที่ยวในโอกาสนี้โดยเฉพาะ โดยจะพาชมอนุสรณ์สถานโกษาปานในเมืองแบรสต์ และตามรอยการเดินทางของโกษาปานไปจนถึงพระราชวังแวร์ซาย นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะจัดทำรูปปั้นของโกษาปานขึ้นอีก 1 รูป เพื่อประดิษฐานที่พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นการแสดงถึงสายสัมพันธ์ระหว่างสองอาณาจักรที่มีโกษาปานเป็นจุดเชื่อมโยงอีกด้วย