แม็ค-กฤตธัช สาทรานนท์: จาก CEO โดรนการเกษตร สู่เบื้องหลังทีมโดรนกู้ภัยไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

แม็ค-กฤตธัช สาทรานนท์: จาก CEO โดรนการเกษตร สู่เบื้องหลังทีมโดรนกู้ภัยไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว
“สิ่งที่พวกเราเคยคิดและอยากเตรียมรับมือ มันได้เกิดขึ้นจริง ถึงเวลาแล้วครับ ที่ทุกคนจะหันมาตระหนักและเห็นคุณค่าในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีโดรน และหุ่นยนต์กู้ภัย โดยไม่ต้องใช้มนุษย์เข้าพื้นที่เสี่ยงภัย” นี่คือข้อความส่วนหนึ่งที่แม็ค-กฤตธัช สาทรานนท์ ได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กของเขาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการเป็นหนึ่งในเบื้องหลังทีมบินโดรนเพื่อค้นหาจุดปิดวาล์วถังสารเคมีที่อยู่ใต้ดิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปปิดวาล์วได้สำเร็จในเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว The People ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ แม็ค-กฤตธัช สาทรานนท์ เกี่ยวกับบทบาทของการเป็น CEO ในบริษัท โนวี่ (NOVY) โดรน รวมทั้งที่มาของการเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว และนี่คือเรื่องราวเบื้องหลังของเขา   จุดเริ่มต้นของโนวี่ โดรน ปัจจุบัน แม็ค-กฤตธัช สาทรานนท์ เป็นผู้บริหารของบริษัทสตาร์ตอัปที่มีชื่อว่า ‘บริษัท โนวี่ (2018)’ แม็คเล่าว่าจุดเริ่มต้นของบริษัท โนวี่ (2018) เริ่มจากคุณพ่อของเขาที่มองว่าในอนาคตเทคโนโลยีการเกษตรจะต้องเกิดขึ้นมาอย่างแน่นอน แม็คจึงเริ่มมีแนวคิดในการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรขึ้นมาพร้อมกับกลุ่มเพื่อนสนิทที่เรียนวิศวกรรมมาด้วยกัน ในปี 2017 เกิดโครงการประกวดธุรกิจนวัตกรรมทางอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV Startup 2017 ขึ้น แม็คและเพื่อน ๆ จึงตัดสินใจเข้าร่วมแข่งขันและได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจสตาร์ตอัปโนวี่ (NOVY) โดรนขึ้นมา ในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ แม็คเล่าว่าเทคโนโลยีทางการเกษตรยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของเกษตรกร จึงได้รับผลตอบรับไม่ดีเท่าที่ควร แม็คจึงต้องมีหน้าที่ในการให้ความรู้กับเกษตรกรว่า ‘เทคโนโลยีจะช่วยให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นอย่างไร?’  และในช่วงสองปีที่ผ่านมา แม็คยอมรับว่าเทคโนโลยีทางการเกษตรเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากเกษตรกรมากขึ้น มีการใช้โดรนในการเกษตรอย่างแพร่หลาย ซึ่งเขามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ดี เพราะเกษตรกรจะเริ่มรู้จักและหันมาสนใจใช้เทคโนโลยีมากขึ้น   เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว “เรามีภารกิจที่ทำร่วมกับหน่วยงานราชการในหลาย ๆ โครงการ อย่างภารกิจนี้มีผู้ใหญ่ในหน่วยราชการได้ติดต่อมาว่าเกิดเหตุการณ์โรงงานไฟไหม้ขึ้น และเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรง” แม็คจึงตัดสินใจจัดทีมงานและรวบรวมจิตอาสาเข้าไปช่วย เขากล่าวว่าโดรนที่นำไปช่วยเปรียบเสมือน ‘ดวงตา’ ให้กับทีมกู้ภัยในการหาจุดปิดวาล์วให้เจอ ซึ่งหากสังเกตเหตุการณ์ในวันนั้น จากภาพข่าวไฟโหมแรงและควันท่วม ทำให้หน่วยกู้ภัยไม่สามารถเดินเข้าไปที่จุดปิดวาล์วได้ และมองไม่เห็นตำแหน่งของจุดปิดวาล์วที่ชัดเจน แม็คกล่าวว่ามีแผนผังของโรงงาน แต่ก็ไม่สามารถใช้ได้ เพราะไฟไหม้ทำให้โครงสร้างอาคารทุกอย่างในโรงงานแบนราบและกลายเป็นซากปรักหักพังไปทั้งหมด ดังนั้น โดรนจึงกลายเป็นตัวระบุตำแหน่งเพื่อให้หน่วยกู้ภัยสามารถเข้าไปปิดวาล์วได้อย่างแม่นยำและถูกต้อง “เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกือบจะเสี่ยงภัยมากที่สุด เนื่องจากเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสารเคมีตัวดังกล่าวจะมีการปะทุหรือระเบิดขึ้นมาเมื่อไหร่ และจะทวีความรุนแรงขึ้นอีกเท่าไร ดังนั้น ไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ได้ จึงเป็นภารกิจที่เสี่ยงมาก” แม็คกล่าว   โดรนกู้ภัย ก่อนเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้วนั้น แม็คเคยได้มีโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับ C asean ในรายการ Win Win WAR Thailand Season 2 โดยได้ร่วมกันพัฒนาโดรนกู้ภัยเพื่อช่วยเหลือชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สืบเนื่องจากปัญหาไฟป่าที่รุนแรง อัคคีภัยที่เกิดขึ้นในเมืองหรือชุมชนแออัด ซึ่งเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้พิสูจน์แล้วว่าเทคโนโลยีสามารถตอบโจทย์กับปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นได้อย่างดีทีเดียว นอกจากนี้บริษัท โนวี่ ยังได้พัฒนาโดรนกู้ชีพทางน้ำ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุทางทะเล ซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่ยากต่อการช่วยเหลือให้ทันท่วงทีเพื่อช่วยเหลือชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอีกด้วย เหตุการณ์นี้สะท้อนภาพของโดรน แม้บางส่วนจะเคยถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อติดอาวุธและระเบิดซึ่งใช้ในยามสงคราม สู่ปัจจุบันที่โดรนกลายเป็นเทคโนโลยีที่กำลังถูกพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์อย่างไม่หยุดยั้งและกำลังเปลี่ยนโลกของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ จากบทบาทสำคัญในด้านต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการช่วยชีวิตมนุษย์   เรื่อง: สรายุทธ ปลิวปลอด (The People Junior)   ภาพ: https://www.facebook.com/1106611319/posts/10219023059983224/?d=n https://www.facebook.com/1949748631978948/posts/3086751174945349/?