ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์: เภสัชไทยในแอฟริกา ผู้สร้างยาต้านเอชไอวีเพื่อคนจน

ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์: เภสัชไทยในแอฟริกา ผู้สร้างยาต้านเอชไอวีเพื่อคนจน
หลายคนอาจจะรับรู้เรื่องราวของโรคเอดส์ (AIDS) หรือเชื้อเอชไอวี (HIV) จากสื่ออย่างละครหรือซีรีส์ แต่ถ้าพูดถึงสิ่งที่ทำให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้เป็นไปได้อย่างถูกต้อง ก็คงจะหนีไม่พ้นตัวละครอย่าง ‘พละ’ จากซีรีส์ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ซีซัน 3 ที่ออกมาพูดว่าตัวเองมีเชื้อเอชไอวี แต่ก็ยังคงสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนคนทั่วไป  ทำให้คนไทยหลายคนรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวี หรือภาวะภูมิคุ้มกับบกพร่องนี้มากขึ้น และไม่มองว่าเป็นเรื่องน่ากลัวอีกต่อไป เพราะเพียงกินยาอย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ วัน ถึงแม้ว่าเชื้อจะไม่หายไป แต่ก็สามารถต้านเชื้อไว้ไม่ให้แสดงอาการและใช้ชีวิตอย่างปกติได้ แต่รู้หรือไม่ว่า กว่าที่เอชไอวีหรือโรคเอดส์จะสามารถดูแลรักษาได้เท่าในปัจจุบัน ในอดีตนั้นโรคนี้ถือเป็นโรคที่น่ากลัวอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากและมีอัตราการตายที่สูง เพราะคนไม่สามารถเข้าถึงยาได้ เนื่องจากมีราคาสูง และจำเป็นต้องกินในปริมาณมาก ถึงแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกจะสามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ครั้งหนึ่ง ยังมีอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกาที่ไม่มีกำลังผลิต ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงตัวยาเหล่านี้ในราคาที่ถูกได้ ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญสำหรับ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ นักเภสัชศาสตร์ชาวไทยในแอฟริกา ผู้ที่คิดค้นสูตรยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีในราคาถูก และเดินทางไปทั่วทวีปแอฟริกาเพื่อรักษาและผลิตยาเพื่อผู้ป่วยยากจน จนได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็น ‘เภสัชยิปซี’ และได้รับรางวัลแมกไซไซ ในสาขาบริการสาธารณะประจำปี 2009 พื้นเพเดิมของกฤษณาเป็นชาวเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1952 ในครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่ทำงานด้านสาธารณสุข และมีคุณยายเป็นแม่ชี “ฉันจำได้ว่าวัยเด็ก ฉันกระโดดขึ้นบนหลังม้าของพ่อ เพื่อตามไปรักษาผู้ป่วยยังหมู่บ้านห่างไกล เนื่องจากเกาะสมุยไม่มีโรงพยาบาล”  การที่กฤษณาเติบโตมาพร้อมกับการช่วยเหลือผู้อื่นตั้งแต่เด็ก ทำให้พ่อและแม่กลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญสำหรับเธอ จึงไม่แปลกใจเลยที่เมื่อโตขึ้น เธอจึงตัดสินใจศึกษาต่อในสายสุขภาพ เพื่อความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการช่วยเหลือผู้อื่นทั้งในด้านร่างกายและจิตใจต่อไปในอนาคต หลังจากจบชั้นมัธยมฯ ปลาย กฤษณาตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะเภสัชศาสตร์ และความมุ่งมั่นในสายงานของเธอ ก็ทำให้เธอตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโท สาขาเภสัชวิเคราะห์ มหาวิทยาลัยสแตรธไคลด์ (Strathclyde University) และปริญญาเอก สาขาเภสัชเคมี มหาวิทยาลัยบาธ (University of Bath)  ก่อนจะเรียนจบและกลับมาเป็นอาจารย์หัวหน้าภาควิชาเภสัชเคมี ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 1981 ด้วยความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่เธอได้เรียนมาให้กับนักศึกษาต่อไป เนื่องจากในขณะนั้นเภสัชเคมีเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปเท่าไรนัก ในระหว่างที่เธอดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์อยู่ ในขณะนั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาของการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยเอชไอวีเป็นจำนวนมาก ไม่ต่ำกว่า 150,000 คนจากทั่วประเทศ และมีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์ถึงปีละกว่า 60,000 คน  “มีผู้ป่วยจำนวนมากที่เป็นโรคนี้ แต่มีเพียงผู้ป่วยที่มีฐานะดีเท่านั้นที่มีสิทธิ์เข้าถึงการรักษา ในขณะที่คนจนต้องนอนรอความตาย มันไม่ยุติธรรมเลย ทั้ง ๆ ที่เรื่องพวกนี้คือสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน” ดร.กฤษณากล่าว ความอึดอัดคับข้องใจทำให้ ดร.กฤษณาตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย และเข้าร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม (GPO) เพื่อจุดมุ่งหมายในการพัฒนายารักษาเพื่อผู้ป่วยที่มีฐานะยากจน ในช่วงแรกเธอต้องพยายามค้นคว้าวิจัยอย่างหนักด้วยตัวเธอเพียงคนเดียว เพื่อพัฒนาสูตรยาที่มีประสิทธิภาพในราคาที่ถูกลงและผสมอยู่ในเม็ดเดียว เนื่องจากถูกมองว่าโอกาสที่จะสำเร็จนั้นน้อยมาก  แต่แล้วความหวังอันน้อยนิดก็ประสบผลสำเร็จ ความพยายามของเธอประสบผลในปี 1995 ดร.กฤษณาสามารถผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวีในชื่อ ‘AZT’ ที่มีฤทธิ์ในการลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก และทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกที่ผลิตยาสามัญสำหรับการต้านเชื้อเอชไอวีได้ในราคาที่ถูกกว่าเดิมถึง 20 เท่า เรียกได้ว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยทุกคน ไม่จำกัดอยู่เพียงคนรวยอีกต่อไป ก่อนที่ในภายหลังอีก 3 ปี จะถูกพัฒนามาเป็น ‘GPO-VIR’ หรือยาต้านเอดส์ที่รู้จักในชื่อ ค็อกเทล (Cocktail) เพราะเป็นการรวมตัวยารักษาโรคเอดส์กว่า 3 ชนิดไว้ในเม็ดเดียวเป็นครั้งแรกในโลก จากที่กล่าวมา ทุกอย่างดูเหมือนว่าจะประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี แต่เส้นทางของเธอไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่หวังไว้ เพราะการมีอยู่ของยาชนิดใหม่ที่เข้าถึงได้ง่ายและถูกลง ทำให้เกิดข้อกังขาในช่วงแรกจากทั้งแพทย์ทั่วไปที่มีข้อสงสัยในคุณภาพของตัวยา และสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรมที่กังวลถึงต้นทุนและกำไรที่จะได้น้อยลงจากเดิม ทำให้ ดร.กฤษณาเริ่มรู้สึกว่าการอยู่ที่ไทยอาจจะไม่ตอบโจทย์เป้าหมายที่เธอตั้งไว้อีกต่อไป เพราะจะทำอะไรก็ดูลำบากไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นการเมืองภายในหรือภายนอก สิ่งต่าง ๆ กลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เธอไม่สามารถทำสิ่งที่ต้องการได้ ในปี 1999 หลังจากที่องค์การอนามัยโลกได้เชิญไปที่แอฟริกา ทำให้เธอเริ่มมองเห็นว่านอกจากประเทศไทยที่ประสบปัญหาเอชไอวีแล้ว ยังมีประเทศอื่น ๆ ในทวีปแอฟริกาอีกมากที่เป็นประเทศยากจน และไม่สามารถเข้าถึงยารักษาโรคได้  ดร.กฤษณาจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม และออกเดินทางไปยังทวีปแอฟริกาด้วยตัวคนเดียว ในปี 2002 โดยเธอตัดสินใจตั้งโรงงานเภสัชกรรมแห่งแรกขึ้นที่ประเทศคองโกเป็นประเทศแรก  ด้วยความตั้งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้คนที่ยากจนให้พ้นจากโรคที่กำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตาม ดร.กฤษณาใช้เวลาก่อสร้างโรงงานอยู่นานถึง 3 ปี พบเจอกับปัญหาอุปสรรคมากมาย  ก่อนจะประสบความสำเร็จอีกครั้งกับการผลิตยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีในชื่อ ‘Afrivir’ ในปี 2005 ก่อนจะย้ายไปยังประเทศแทนซาเนียเพื่อวิจัยและผลิตยา ‘Thai-Tanzunate’ ที่ใช้ในการรักษาโรคมาลาเรีย เธอใช้เวลาในชีวิตที่เหลือไปกับการเดินทางทั่วทั้งทวีปแอฟริกาเพื่อคิดค้นผลิตยาที่จะสามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้น จนมีคนเรียกเธอว่าเภสัชยิปซี ที่แสดงถึงการที่เคยย้ายที่อยู่ไปเรื่อย ๆ มาจนถึงทุกวันนี้ และเมื่อปี 2019 ดร.กฤษณาก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่าในตอนนี้เธอได้ช่วยให้แอฟริกาผลิตยามาแล้วกว่า 15 ประเทศ จาก 26 ประเทศ โดยความตั้งใจสูงสุดของเธอคือการทำให้ทุกประเทศที่ยากจนสามารถเข้าถึงยาได้ แม้ว่าจะต้องพบเจอกับปัญหาหรือใช้ระยะเวลานานแค่ไหนก็ตาม เรื่องราวชีวิตของเธอถูกยกย่องจากหลายประเทศ มีการตีพิมพ์ผลงานของเธอในหนังสือพิมพ์เยอรมัน สร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ ‘A Right to Live - Aids Medication for Millions’ หรือแม้กระทั่งบทละครบรอดเวย์อย่าง ‘Cocktail’ หรือ ‘นางฟ้านิรนาม’  และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคนลุกขึ้นมาช่วยเหลือสังคม อย่างที่เธอได้ทำ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้   ภาพ: Peter Charlesworth/LightRocket via Getty Images   อ้างอิง: บทละครเรื่อง นางฟ้านิรนาม http://www.healthyfoodseo.com/pharmacy-treatment/mama-tough-of-africa-or-the-gypsy-pharmacist-and-biography/ https://www.scidev.net/global/role-models/thailand-s-gypsy-pharmacist-a-champion-of-affordable-drugs-1x/ https://asiapacific.unwomen.org/en/news-and-events/stories/2015/04/thailand-dr-kraisintu https://hrdo.org/%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B8%B2-%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B9%8C-%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%B4/ https://www.youtube.com/watch?time_continue=134&v=x5YfF4xNNmI&feature=emb_title