เคิร์ท โคเบน: ราชากรันจ์ผู้ต่อต้านคนเกลียดเกย์ คนเหยียดผิว และประโยค ‘teaching men not to rape’

เคิร์ท โคเบน: ราชากรันจ์ผู้ต่อต้านคนเกลียดเกย์ คนเหยียดผิว และประโยค ‘teaching men not to rape’
“คำแนะนำสำหรับเด็กชายทั้งหลาย, จงจำไว้ว่าพี่ชายของคุณ ลูกพี่ลูกน้อง ลุง หรือแม้พ่อของคุณไม่ใช่ ‘ต้นแบบ’ (role model) ของคุณ พวกเขามาจากช่วงเวลาที่ต้นแบบของพวกเขาสอนลูกสอนหลานให้หยาบช้ากับผู้หญิง และคิดว่าตัวเองดีกว่า เข้มแข็งกว่า และฉลาดกว่าผู้หญิง พวกเขายังสอนอีกว่า คุณจะโตมาอย่างเข้มแข็งถ้าคุณรังแกเพื่อนผู้ชายที่ดูอ่อนแอกว่า เป็นเด็กเนิร์ด หรือกีคส์” เหล่านี้คือถ้อยคำที่ราชากรันจ์ร็อก ‘เคิร์ท โคเบน’ (Kurt Cobain) ฝากไว้กับโลกผ่านสมุดบันทึกของเขา นอกจากนี้ ในหน้าเดียวกันกับข้อความดังกล่าว เคิร์ทยังเขียน ‘ข้อปฏิบัติอย่างง่าย’ สำหรับเด็กชาย (และทุกเพศทุกวัย) ไว้เป็นข้อ ๆ ว่า
  1. อย่าข่มขืน 2. อย่าอคติ 3. อย่าเหยียดเพศ 4. รักลูก 5. รักเพื่อนบ้าน 6. รักตัวเอง และอย่าให้ความคิดเห็นใด ๆ ก็ตามขัดขวางคุณจาก 6 ข้อนี้
ปลายยุค 80s - กลางยุค 90s ที่วงดนตรี ‘Nirvana’ ก่อตั้งโด่งดัง และสิ้นสุด คือช่วงเวลาเดียวกับที่แวดวงดนตรียังหล่อเลี้ยงด้วยแนวคิดที่ขาดไร้ความเท่าเทียมทางเพศ การ ‘ข่มขืน’ เป็นปัญหาใหญ่ เช่นเดียวกับความหวาดกลัวซึ่งเชื้อ ‘HIV’ ที่นำมาซึ่งการล่าแม่มด ‘เกย์’ ในสังคมอเมริกัน เคิร์ท โคเบน และวง Nirvana ไม่ได้ถูกเรียกว่า ‘กระบอกเสียงแห่งยุค 90s’ อย่างไม่มีเหตุผล เพราะเบื้องหลังบทเพลงมากมายจากปลายปากกาของเคิร์ทในระยะเวลาสั้น ๆ ที่เขามีชีวิต ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านักดนตรีหนุ่มผมบลอนด์คนนี้สมาทานแนวคิดเฟมินิสต์ และเป็นพันธมิตรของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+ Supporter) ไปพร้อมกับที่ต่อต้านการเหยียดทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เหยียดเพศ (sexist) เหยียดเชื้อชาติ (racist) และอื่น ๆ    Everyone is gay “ผมคิดว่าตัวเองเป็นเกย์ด้วยซ้ำ ผมมีเพื่อนเป็นเกย์ และแม่ของผมก็ห้ามไม่ให้เราติดต่อกันอีก เพราะว่า... ใช่ เธอเป็นโรคเกลียดเกย์ (homophobic)” คือคำที่เคิร์ทเคยพูดไว้ในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง และที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะการเติบโตของเคิร์ทในชุมชนอะเบอร์ดีน สหรัฐอเมริกานั้นอัดแน่นไปด้วย ‘ความเป็นชาย’ จนเด็กหนุ่มแทบหายใจไม่ออก เล่นกีฬาและล่าสัตว์ คือสิ่งที่ ‘ดอน โคเบน’ (Don Cobain) พ่อของเคิร์ทพยายามปลูกฝังให้เด็กชายคุ้นชินตั้งแต่ยังเล็ก ผิดกับความชอบของเขา ที่มักจะทำในสิ่งที่ครอบครัวมองว่าไม่ ‘แมน’ หรือ ‘macho’ นัก อย่างการฟังเทปคาสเซ็ทและขลุกตัวในห้องเพื่อวาดรูป  ไม่เพียงแต่ที่บ้าน เคิร์ทพบว่าตัวเองแปลกแยกเมื่ออยู่ที่โรงเรียน แต่ไหนแต่ไรที่เคิร์ทมักจะมีความเห็นไม่ลงรอยกับเพื่อนผู้ชาย ที่มักจะ ‘หยาบคาย ใช้กำลัง และชอบกลั่นแกล้งคน’ เคิร์ทที่มีบุคลิกเงียบ ๆ จึงลงท้ายด้วยการคบหาเพื่อนผู้หญิงเสียมากกว่า ช่วงมัธยมฯ เคิร์ทประกาศตัวในหมู่เพื่อนว่าเขาเป็นเกย์ และเริ่มคบหากับเพื่อนที่เป็นเกย์เช่นเดียวกัน เหตุการณ์เหล่านั้นแบ่งแยกเขาจากเด็กผู้ชายคนอื่น ๆ มากขึ้น เพื่อนหลายคนเลิกคบกับเขา ขณะที่หลายครั้งเคิร์ทต้องกลับจากโรงเรียนพร้อมกับรอยฟกช้ำตามร่างกาย จากฝีมือของเด็กผู้ชายที่ถูกพ่อและแม่สอนให้กลั่นแกล้งเกย์ ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่เคยเสียใจที่ได้เติมคำระบุเพศวิถีไว้หลังชื่อ “ผมคิดว่าตัวเองอาจเป็นเกย์ เพราะผมไม่รู้สึกสนใจผู้หญิงคนไหน ผมหวังว่าตัวเองจะเป็นเกย์จริง ๆ (I wish I were gay) แต่ผมไม่ใช่ ผมรู้ได้ทันทีตอนที่ผมพบกับคอร์ตนีย์ (ภรรยาของเคิร์ทที่คบหาหลังจากเขากลายเป็นนักร้องนำ Nirvana)” แม้ภายหลังเคิร์ทจะระบุตัวเองว่าเขาเป็นไบเซ็กชวล แต่ท่ามกลางความสับสนในวัยรุ่น เขาก็ได้ค้นพบความงดงามรวมทั้งบาดแผลของผู้หญิงและกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ปี 1986 เคิร์ท โคเบนได้แต่งเพลงที่ถูกขนานนามว่า ‘เพลงที่น่ารังเกียจที่สุด’ จากเพลงทั้งหมดที่เขาเคยเขียนขึ้นมา   ข่มขืนและรักษา Laminated Effect ‘Laminated Effect’ คือบทเพลงเดโมจากปลายปากกาของเคิร์ท สมัยที่เขายังทำวงเก่าชื่อ ‘Fecal Matter’ ท่ามกลางเสียงดนตรีระห่ำและการร้องร่ำแบบตะโกนของเคิร์ท เนื้อเพลงดังกล่าวกำลังเล่าถึงชายที่ค้นพบว่าตัวเองเป็น homosexual และติดเชื้อ HIV เพราะถูกพ่อของตัวเองข่มขืน ส่วนท่อนถัดมาเล่าถึงเด็กสาวที่ ‘หาย’ จาก ‘โรคเลสเบี้ยน’ เพราะได้มีเซ็กส์กับผู้ชาย อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ในทรรศนะของหลายคน เพลงที่เล่าถึงคือเพลงที่ ‘น่ารังเกียจ’ ที่สุดที่เคิร์ทเคยแต่ง เพราะมันเล่าด้วยมุมมองที่คล้ายคลึงกับเพลงที่หนักหน่วงอีกเพลงของ Nirvana อย่าง ‘Rape Me’ ที่ตั้งชื่อเพลงและร้องว่า ‘ข่มขืนฉันสิ’ ให้ขัดแย้งและเสียดสีกับเนื้อเพลงทั้งหมดที่เล่าถึงเสียงคร่ำครวญและไม่ยินยอมของผู้หญิงที่กำลังถูกข่มขืน ‘Laminated Effect’ เป็นเพลงเสียดสีที่ชวนคลื่นไส้ แต่ก็สะท้อนความเป็นไปในปลายยุค 80s ได้อย่างดี ทั้งเรื่องความเกลียดและกลัวที่สังคมมีต่อผู้ติดเชื้อ ‘HIV’ และความเชื่อว่าเลสเบี้ยนหรือเกย์เป็น ‘โรค’ ที่สามารถรักษาให้หายได้ด้วย ‘เซ็กส์’ หรือการ ‘ช็อตไฟฟ้า’ โดยไร้ซึ่งความเคารพในตัวตนและความหลากหลายที่มนุษย์แต่ละคนเป็น หลายครั้งที่เนื้อเพลง ‘Laminated Effect’ มักจะถูกตีความผิด แต่การกระทำของเคิร์ทก็พิสูจน์ว่าเขาไม่ได้มีแนวคิด ‘anti-gay’ แม้แต่น้อย (แน่ละ! เพราะเขานิยามตัวเองว่าเป็นเกย์มาตั้งแต่ก่อนที่เพลงนี้จะถูกแต่งขึ้นเสียอีก)   พันธมิตรLGBTQIA+ และสงครามกับ Guns N Roses หลังจากโดนจับกุมเพราะพ่นสีตามที่สาธารณะถึงสองครั้ง ด้วยคำว่า ‘Gay sex rules’ และ ‘God is gay’ ในที่สุดเคิร์ท โคเบนก็กลายเป็นนักร้องนำในวงร็อกชื่อดัง ท่ามกลางวันเวลาที่วงดนตรีบางคณะนิ่งเงียบกับการกีดกันด้วยเหตุแห่งเพศที่ LGBTQ ต้องเจอ วง Nirvana ออกแถลงการณ์ต่อต้าน ‘ร่างกฎหมายโอเรกอน มาตรา 9’ อันมีเนื้อความว่า รัฐจะห้าม ‘การส่งเสริม’ การรักร่วมเพศ และกำหนดมาตรการสำหรับการอบรมเยาวชนในโรงเรียน ให้ความรักระหว่างกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่อง ‘วิปริต’ และ ‘ผิดธรรมชาติ’และพวกเขายังขึ้นเล่นคอนเสิร์ตการกุศลเพื่อต่อต้านกฎหมายมาตราดังกล่าวอีกด้วย มากไปกว่านั้น วง Nirvana ยังปฏิเสธเงินก้อนโตที่พวกเขาจะได้รับ หากร่วมขึ้นเป็นแขกรับเชิญในคอนเสิร์ต ‘Use Your Illusion’ ของวงดนตรีร็อกเลือดเดือดอย่าง Guns N’ Roses เพราะพวกเขา - โดยเฉพาะเคิร์ท โคเบน รู้สึกว่า แอ็กเซิล โรส (Axl Rose) นักร้องนำของวงนั้นเป็นพวก ‘เหยียดเพศ เหยียดผิว และสารพัดจะเหยียด’ ในสายตาเขา ซึ่งพอแอ็กเซิลรู้ข่าว ก็ฝากคำด่าส่งตรงมาถึงเคิร์ท โคเบนแทบจะในทันทีด้วยถ้อยคำว่า ‘ไอ้หน้าจิ๋ม’ (pussy) แม้จะกลายเป็น ‘ไอ้หน้าจิ๋ม’ ในสายตาเพื่อนร่วมวงการ แต่เคิร์ทก็ยังยืนยันความคิดของเขา อย่างเช่นครั้งที่ Nirvana จัดคอนเสิร์ตต่อต้านร่างกฎหมายมาตรา 9 แฟนคนหนึ่งขึ้นมาบนเวทีและบอกเขาว่า “ไปทัวร์กับ Guns N’ Roses ซะ พวกนายทำเพลงดี พวกเขาก็ทำเพลงดี มันจะแย่อะไรถ้านายจะทำมันด้วยกัน” พอได้ยินแบบนั้น เคิร์ทก็ตอบทันควันว่า “ผิดมหันต์เลยไอ้หนู ไอ้หมอนั่นมันเป็นไอ้งั่งเหยียดเพศ และเรามาเล่นเวทีนี้เพื่อต่อต้านพวกขี้เหยียดเกลียดเกย์ (แอ็กเซิล โรส) มันโคตรจะเหยียดเพศ เหยียดผิว และเกลียดเกย์ นายจะยืนข้างมันไปพร้อมกับยืนข้างเราไม่ได้หรอกนะ”   Rape Me My Friend “การข่มขืนเป็นหนึ่งในอาชญากรรมที่น่ากลัวที่สุด และมันเกิดขึ้นทุก ๆ หนึ่งหรือสองนาที” คือถ้อยคำที่เคิร์ทเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อปี 1991 เขายังขยายความต่อไป โดยยึดโยงจากบริบทในช่วงเวลานั้นที่ยังมีการ ‘เหยียดพฤติกรรมทางเพศ’ (slut-shaming) และการ ‘กล่าวโทษเหยื่อ’ (victim blaming) อยู่ในทุกครั้งที่การข่มขืนเกิดขึ้น อย่าดื่มเหล้า อย่าแต่งกายยั่วยวน อย่าไปเดินที่เปลี่ยว เข้าเรียนคลาสป้องกันตัวเข้าไว้ เหล่านี้คือสิ่งที่หน่วยงาน รัฐ และสังคมเรียกร้องจากผู้หญิงให้พวกเธอปฏิบัติเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัย “ปัญหาหนึ่งที่หน่วยงานต่าง ๆ มักจะเป็นกัน คือพวกเขาพยายามสอนผู้หญิงให้ป้องกันตัวเอง แต่สิ่งที่ต้องทำจริง ๆ ก็คือคุณต้องสอนผู้ชายให้ไม่ข่มขืน ไปที่จุดเริ่มต้น และแก้มัน” แม้ตลอดอาชีพนักดนตรีในฐานะนักร้องนำวง Nirvana เคิร์ท โคเบนไม่เคยยินดีที่ถูกเรียกว่า ‘กระบอกเสียงแห่งยุค’ แม้เพียงครั้ง หากก็เป็นเรื่องจริงที่ว่าเขาได้ทำหน้าที่ของตนเองในการบอกเล่า ถ่ายทอด และพยายามที่จะแก้ไขปัญหาสังคมจากจุดที่เขาทำได้ ไม่ว่าจะเป็นบทเพลง การแสดงสด การกระทำและคำพูดที่เด็กหนุ่มหลายคนยึดเป็น ‘ต้นแบบ’ หรือ ‘role model’ แทนพ่อหรือครอบครัวของตนเอง เช่นเดียวกับบันทึกในอัลบั้มสุดท้าย ‘In Utero’ ก่อนที่เคิร์ทจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ เคิร์ท โคเบนยืนยันที่จะใส่ข้อความที่แสดงจุดยืนในด้านสิทธิมนุษยชนของตนมากกว่าจะสนใจยอดขายของอัลบั้ม ด้วยถ้อยคำประกาศกร้าวว่า “ถ้าคุณเป็นพวกเหยียดเพศ เหยียดผิว เป็น homophobe หรือเป็นไอ้ชั่วโดยธรรมชาติ อย่าซื้อซีดีแผ่นนี้ ผมไม่สนว่าคุณจะชอบผมหรือไม่ ผมเกลียดคุณ”   เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ ที่มา: https://nirvana-legacy.com/2013/02/28/songs-dissected-laminated-effect/  https://www.highsnobiety.com/p/kurt-cobain-feminism/ http://gomag.com/article/men-love-remembering-kurt-cobain-feminist-lgbtq-ally-ahead-time/ https://www.killyourdarlings.com.au/article/been-a-son-kurt-cobain-and-his-challenge-to-the-masculine-ideal/ (Photo by Frank Micelotta Archive / Contributor)