#KuToo ขบวนการผู้หญิงญี่ปุ่นต้านการบังคับสวมส้นสูง

#KuToo ขบวนการผู้หญิงญี่ปุ่นต้านการบังคับสวมส้นสูง
"เครื่องแบบ" มาจากไหน? เครื่องแบบถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีฐานมาจากความเชื่อและศาสนา ซึ่งมีการกำหนดสถานะของผู้สวมใส่อย่างชัดเจน เพื่อเป็นเครื่องบ่งชี้บทบาทของบุคคลนั้น ๆ ทั้งในทางพิธีกรรมและสังคม ตัวอย่างเห็นได้ชัดก็คือชุดของนักบวชในกลุ่มความเชื่อต่าง ๆ การแต่งกายของผู้นำที่อ้างว่าตนได้รับอำนาจจากสิ่งที่เหนือธรรมชาติ และบางศาสนาก็กำหนดไปถึงการแต่งกายของศาสนิก จากนั้นเครื่องแบบก็กลายมาเป็นเครื่องมือในการกำหนดสถานะทางสังคมว่าใครเป็นนาย ใครเป็นบ่าว รวมไปถึงเรื่องของความเป็นหญิง หรือความเป็นชายซึ่งยังคงตกทอดมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะสังคมที่มีการแบ่งแยกเรื่องเพศอย่างแข็งกระด้างเช่นในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสาวออฟฟิศถูกคาดหมายว่าจะต้องแต่งกายอย่างผู้หญิงตามจารีตและต้องสวม "รองเท้าส้นสูง" มาทำงาน แต่ ยูมิ อิชิคาวา (Yumi Ichikawa) นักแสดงและนักเขียนวัย 32 ปี กล่าวว่า การสวมรองเท้าส้นสูงเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้หญิงอย่างร้ายแรง คนที่เธอรู้จักบางคนที่สวมรองเท้าส้นสูงตั้งแต่ยังสาวจนแก่มีเท้าที่ผิดรูปจนไม่สามารถใส่รองเท้าแบบอื่นได้ จึงตัดสินใจออกมารณรงค์เรียกร้องให้สังคมยอมรับการใส่รองเท้าไม่มีส้น (flat shoes) ของผู้หญิง "ถ้าเป็นไปได้เราอยากได้กฎหมายฉบับใหม่ เนื่องจากฉันคิดว่ามันเป็นปัญหาที่เร่งด่วนเรื่องหนึ่ง" อิชิคาวากล่าว (The Japan Times) "ฉันอยากให้สังคมเปลี่ยนความคิด เพื่อให้การสวมรองเท้าไม่มีส้นของผู้หญิงกลายเป็นมาตรฐาน" เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศก็เคยมีการเรียกร้องลักษณะนี้กันมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว และรัฐบาลบางแห่งก็เห็นด้วยกับเสียงเรียกร้องดังกล่าว เช่น ฟิลิปปินส์ที่ออกกฎหมายห้ามนายจ้างออกกฎบังคับให้ผู้หญิงสวมส้นสูงเมื่อปี 2017 ซึ่ง อลัน ตันจูเซย์ (Alan Tanjusay) จากที่ประชุมร่วมสหภาพการค้าและสหภาพแรงงานแห่งฟิลิปปินส์บอกว่า "มันคือการปลดปล่อยผู้หญิงจากนโยบายเหยียดเพศ และบ่วงพันธนาการแห่งสภาพการทำงานที่อันตรายไร้ความปลอดภัย" (Reuters) และหากย้อนกลับไปในอดีต "ผู้ชาย" เองที่เป็นคนกลุ่มแรกที่ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับการสวมส้นสูง เนื่องจากการสวมส้นสูงเคยเป็นข้อบังคับหนึ่งของเครื่องแบบทหารในศตวรรษที่ 19 (The New York Times) อิชิคาวาทำงานให้กับบริษัทจัดการพิธีศพแห่งหนึ่งและได้เจอปัญหานี้กับตัวเอง เมื่อบริษัทส่งเธอไปทำงานให้กับลูกค้าซึ่งกำหนดให้ผู้หญิงจะต้องสวมส้นสูงอย่างน้อย 5 เซนติเมตร เธอรู้สึกว่ารองเท้าแบบนี้ทำให้เธอเจ็บปวดเป็นอย่างมาก จึงไปแสดงความเห็นลงทวิตเตอร์พร้อมติดแฮชแทก #KuToo ซึ่งมาจากการสนธิแฮชแทกรณรงค์ต่อต้านการคุกคามทางเพศ #MeToo ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว กับคำ 2 คำในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า "รองเท้า" และ "ความเจ็บปวด" ซึ่งมีเสียงที่พ้องกันว่า "kutsu" (ต่างกันที่สระที่ใช้ลงท้ายว่าเสียงสั้นหรือเสียงยาว) จนกลายเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจในโลกโซเชียลของญี่ปุ่น เพื่อมิให้กระแสความสนใจหายไปเปล่า ๆ อิชิคาวาจึงเป็นตัวตั้งตัวตีรวบรวมรายชื่อผู้ที่เห็นด้วยกับการรณรงค์ยกเลิกการกำหนดให้ผู้หญิงต้องสวมส้นสูงไปทำงาน ได้รายชื่อผู้ลงนามมาทั้งสิ้น 18,856 คน และนำไปยื่นเป็นคำร้องต่อกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการสังคม เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2019 ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ของกระทรวงยอมรับว่า พวกเขาไม่เคยได้รับข้อร้องเรียนเรื่องการบังคับสวมส้นสูงที่มีผู้ลงชื่อสนับสนุนมากเช่นนี้มาก่อน แต่สองวันให้หลัง ทาคูมิ เนโมโตะ (Takumi Nemoto) รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการสังคม กล่าวระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการรัฐสภาชุดหนึ่งว่า "(การสวมส้นสูง)ในที่ทำงาน มันเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและสมเหตุสมผล" (The Japan Times)   เนโมโตะถูกตั้งคำถามดังกล่าวโดยตัวแทนจากฝ่ายค้านที่เห็นว่า ข้อบังคับเช่นนี้ล้าสมัยไปแล้ว และการบังคับการแต่งกายกับเพศหญิงเพียงเพศเดียวยังมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ แต่เนโมโตะแก้ตัวว่า "มันจะถือเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่เหมาะสมก็ต่อเมื่อเป็นการบังคับต่อพนักงานที่มีอาการบาดเจ็บที่เท้าเท่านั้น" คำอธิบายของรัฐมนตรีไม่น่าแปลกใจเท่าใดนัก เพราะญี่ปุ่นแม้จะมีความก้าวหน้าในหลายด้าน แต่ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศพวกเขาถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 110 จาก 149 ประเทศ ทั้งนี้จากการจัดอันดับของ World Economic Forum และแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีกฎหมายว่าด้วยข้อห้ามในการเลือกปฏิบัติทางเพศ แต่การตีความและการบังคับใช้ก็ยังอยู่บนฐานการแบ่งแยกทางเพศที่ยึดติดเป็นจารีตมายาวนาน ในทางกลับกัน ในส่วนเพศชาย การบังคับเรื่องเครื่องแบบและระเบียบการแต่งกาย อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องร้ายแรงถึงขั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ กรณีนี้เห็นได้จากคดีที่พนักงานขับรถไฟใต้ดินฟ้องร้องว่า เขาถูกประเมินจากองค์กรในแง่ลบเนื่องจากไว้เคราหนวดแพะซึ่งตัวเขาได้ไว้มาตั้งนานแล้ว ก่อนหน้าที่ผู้ว่าการโอซากาจะออกกฎใหม่ห้ามไว้หนวดเครา โดยทางสำนักผู้ว่าฯ อ้างว่า กิจการรถไฟไม่ใช่ไนท์คลับ และพนักงานขับรถถือเป็นหน้าตาขององค์กรจึงจำเป็นต้องแต่งตัวดีในสายตาสาธารณะ แต่ศาลแขวงโอซากาตัดสินเมื่อวันที่ 16 มกราคม (2019) ว่า ข้อบังคับดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อการเรียกร้องต่อฝ่ายบริหารผ่านกระทรวงที่ดูแลเรื่องแรงงานไม่เป็นผล ทางอิชิคาวา และ #KuToo ก็น่าจะต้องพึ่งพากระบวนการยุติธรรมเป็นลำดับต่อไป ส่วนการตีความของศาลจะอยู่บนมาตรฐานเดียวกันกับเพศชายหรือไม่ยังต้องรอการพิสูจน์