บทสัมภาษณ์ ลาบานูน: ย้อนรอยเส้นทางดนตรี 23 ปี วันที่เกือบขายเครื่องดนตรีทิ้ง และลาออกจากงานประจำเพื่อทำวงอีกครั้ง

บทสัมภาษณ์ ลาบานูน: ย้อนรอยเส้นทางดนตรี 23 ปี วันที่เกือบขายเครื่องดนตรีทิ้ง และลาออกจากงานประจำเพื่อทำวงอีกครั้ง
“อนันต์ (มือเบส) ลาออกจากการเป็นพนักงาน นั่นหมายถึงว่าแต่ละเดือนเราไม่รู้เลย คือมาทำฟอร์มวงไม่รู้ว่าจะรอดไม่รอดหรือเปล่า ก็ทิ้ง ทุกคนลาออก (เมธี) ลาออกจากการเป็นอาจารย์ เป็นอาจารย์นั่นหมายถึงอาชีพมั่นคงนะ เราออกเลย ทุบเลย แล้วก็ลุยไปข้างหน้า จับมือไปพร้อมกัน” จากวงดนตรีในชุดลูกเสือสำรองบนเวที Hotwave Music Awards ‘ลาบานูน’ ได้เซ็นสัญญากับค่าย ‘Music Bugs’ และออกอัลบั้มชุดแรก ‘นมสด’ พวกเขาคือวงร็อกสายเลือดไทยกลิ่นอายอาหรับ ที่ส่งเพลงฮิตมากมายเข้าจับจองพื้นที่ในหูและในใจคนไทยมาร่วมสองทศวรรษ The People ชวนสามสมาชิกวง ลาบานูน - เมธี อรุณ (ร้องนำและกีตาร์) อนันต์ สะมัน (มือเบส) และ ณัฐนนท์ ทองอ่อน (มือกลอง) คุยถึงการเปลี่ยนผ่านของชีวิต ครั้งที่คิดเลิกทำวงดนตรีจนเกือบตัดสินใจขายกีตาร์ยกชุด วันที่แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพอื่น จนถึงวันที่ลาออกจากงานประจำมาเพื่อฟอร์มวงอีกครั้งเพราะความคิดถึงของแฟนเพลง และมีเพลงอย่าง ‘เชือกวิเศษ’, ‘แพ้ทาง’, ‘ศึกษานารี’ และ ‘พลังงานจน’ ที่ล้วนได้รับกระแสตอบรับที่ดีเกินคาดสำหรับพวกเขา โดยเฉพาะเพลง ‘เชือกวิเศษ’ ที่ขึ้นแท่นเพลงที่ยอดวิวสูงสุด 500 ล้านวิวเพลงแรกของประเทศไทย ‘ลาบานูน’ กลายเป็นชื่อวงดนตรีที่ปรากฏบนเซตลิสต์ของ festival ใหญ่ ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ ด้วยความมีเอกลักษณ์แต่ยังคงความเข้าถึงง่ายตามสไตล์วงเอาไว้ และในวันนี้พวกเขามีความฝันครั้งใหม่ว่าอยากจะทำวงดนตรีต่อไป และอยากให้ชื่อ ‘ลาบานูน’ อยู่ในใจคนฟังไปอีกนานแสนนาน   The People: เล่าถึงเส้นทางดนตรีของแต่ละคนสักหน่อย เมธี: พวกเราลาบานูนอยู่ในวงการตั้งแต่ปี 2541 นั่นคือออกอัลบั้มแรกของลาบานูน จุดเริ่มต้นของพวกเราตรงนั้นคือเราประกวดปี 2540 เวที Hotwave Music Awards นั่นคือจุดเริ่มต้นของพวกเรา คือการประกวดมีเวทีหนึ่งเป็นเวทีที่ไว้ให้สำหรับเด็กมัธยมฯ ได้โชว์ความสามารถ แล้วก็ปี 2541 ได้ออกอัลบั้มชุดแรกชื่ออัลบั้มว่า ‘นมสด’ (00.49) ตอนนั้นคือมีความพร้อมไหม จริง ๆ หัวใจพร้อม หัวใจเต็มร้อยอยู่แล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เครื่องดนตรีไม่มี แต่หัวใจนี่เต็มร้อย โดยอาศัยยืมข้าง ๆ ยืมข้างหลังเวที อนันต์: มีกองกลางให้ เมธี: ใช่ ๆ มือกลองก็ถือไม้อย่างเดียว เราก็ขอให้มีปิ๊กกีตาร์อย่างเดียว ที่เหลือก็ยืมกีตาร์ใครก็ได้ขึ้นบนเวที ก็สนุกดี   The People: เหตุการณ์ที่ทำให้ได้ออกอัลบั้มแรก เมธี: คือโชคดีของพวกเราลาบานูน ในเวทีนั้นมีค่ายเพลงหลาย ๆ ค่ายเป็นคณะกรรมการ มีค่ายเพลงนั้นค่ายเพลงนี้เยอะแยะไปหมดเลย นั่นหมายถึงว่าแต่ละค่ายเขาคงอาจจะมีอะไรบางอย่างเห็นพวกเราลาบานูน ตอนนั้นก็มีฝ่าย artist GRAMMY พี่เอก-ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ เขาเลยเรียกพวกเราลาบานูนมานั่งคุยกัน แล้วก็ถามว่าอยากจะออกอัลบั้มไหม อยากจะออกเทปไหม ถ้าอยากจะออกเทปก็ลองกลับไปเขียนเพลงดู เราก็กลับไปเขียนเพลงแล้วก็ไปนำเสนอ เขาจับพวกเราเซ็นสัญญาเลยได้ออกอัลบั้มเลย เมธี: ก็แต่งไปเรื่อย ๆ เยอะเหมือนกันนะ อนันต์: จากที่ไม่เคยทำก็กลับมาทำการบ้าน เมธี: ทำการบ้านของตัวเอง เริ่มเขียนเพลงเป็นของตัวเอง   The People: เล่าความหมายชื่อวงสักหน่อย ทำไมถึงชื่อ ‘ลาบานูน’ เมธี: ที่มาของวงชื่อลาบานูน ก็เริ่มจากตอนประกวด Hotwave Music Awards นี่แหละ เราก็คิดกันว่าเราจะใช้ชื่ออะไรดี แล้วก็มีเพื่อนคนหนึ่งเขาตั้งชื่อหลายชื่อเลย หนึ่งในนั้นก็มีลาบานูน ก็เลยรู้สึกว่าเป็นชื่อที่เด่นดี แล้วก็ความหมายดี ซึ่งแปลว่านมสด นมมันอาจจะดูจืด แต่เวลาเรากินแล้วมีคุณค่า เพลงลาบานูนเป็นเพลงที่เรียบง่าย มีเครื่องดนตรีสด 3 ชิ้น ไม่ค่อยมีอิเล็กทรอนิกส์อะไรต่าง ๆ เมื่อก่อนเราแค่ชอบเล่นดนตรี 3 ชิ้นที่มีกีตาร์ เบส กลอง ดิบ ๆ ดี แต่อยากให้เป็นบทเพลงที่มีคุณค่าในตัวของมันด้วย นั่นแหละที่มาที่ไปของคำว่าลาบานูน   The People: ประสบการณ์ตอนทำเพลงแรก อนันต์: ตอนนั้นเพลงที่เราเลือกเพลง ‘ยาม’ เป็นเพลงแรก จริง ๆ เนื้อเพลงเพลงนี้เป็นเพลงสุดท้ายเลยด้วย ในที่ประชุมเขาเคาะโต๊ะเป็นเพลงนี้นะเป็นเพลงแรก เมธี: เมื่อก่อนจำได้ว่าร้องว่า ...จากวันนั้นที่เคเอฟซี...  อนันต์: เนื้อเก่า เมธี: เนื้อเก่า ...นัดเธอที่แมคโดนัลด์... เคเอฟซีกำลังดังมากตอนนั้น (หัวเราะ) อนันต์: คราวนั้นไปกินฟาสต์ฟู้ดกันอยู่ เมธี: ใช่ ๆ ท้ายสุดเนื้อเพลงก็เปลี่ยนมาเป็นยามที่รอคอยเธอ หวังให้เธอรักยามคนนี้ ไม่ได้ยินว่ารัก ถ้าเธอไม่รัก ฉันก็ไม่อยากจะไปไหน จะเฝ้าเป็นยามอยู่ตรงนี้แล้ว   The People: ความรู้สึกหลังออกอัลบั้มชุดแรก อนันต์: โห เหมือนเด็กวัยรุ่นเด็กมัธยมฯ ได้ออกเทป ตอนนั้นจริง ๆ ไม่ได้คิดถึงเรื่องยอดขายอยู่แล้ว ตอนนั้นแค่ได้มีผลงานเป็นของตัวเอง ได้ออกเทป เหมือนที่เมธีบอกว่าได้ค่าแต่งทำนองแค่นี้ก็โอเค ได้ค่าอัด เราไม่ได้คาดหวังอะไร   The People: ลาบานูนเป็นวงดนตรีที่มีกลิ่นอายอาหรับ มีที่มาไหมว่าทำไมถึงมีซาวนด์ที่เป็นเอกลักษณ์แบบนี้ เมธี: เขาเรียกว่าเป็นแนวดนตรีซาวนด์ดนตรีก็จะมีสเกล Harmonic จะออก Minor หน่อย ผมถนัดแต่งเพลงค่อนข้างจะ Minor หน่อย แล้วเรารู้สึกความเป็น Minor มันจะหม่น ๆ หน่อย แล้วก็จะมีความเพราะแบบสไตล์ Minor เกิดขึ้น อนันต์: เพลงเร็วก็จะสนุก ๆ เพลงช้าจะลึก ๆ หน่อย เมธี: แล้วเราก็จะใส่สเกล Harmonic ใส่นิดหนึ่ง มันก็จะออกเป็นอาหรับ ๆ หน่อย มันก็เลยเป็นเอกลักษณ์ของพวกเราลาบานูน จริง ๆ มันก็เป็นสเกล Minor แบบ Harmony ปะปนกันไป ใส่กันไป บทสัมภาษณ์ ลาบานูน: ย้อนรอยเส้นทางดนตรี 23 ปี วันที่เกือบขายเครื่องดนตรีทิ้ง และลาออกจากงานประจำเพื่อทำวงอีกครั้ง The People: ตอนแรกที่ทำวง แต่ละคนยังไม่มีพื้นฐานในการทำเพลงเลยใช่ไหม เมธี: ยังเลย ยังไม่มี จินตนาการ เล่นตามความรู้สึกเลย เฮ้ย! เราชอบแบบนี้ ตีคอร์ดแบบนี้ ลูกโซโล่แบบนี้ ไม่จำเป็นต้องยากลูกกวาด ไม่จำเป็นต้องมีบรื๋อ ๆ เราเล่นที่เราได้แล้วเป็นสำเนียงของเรา อันนั้นแหละมันยาก คือต้องให้เป็นสำเนียงของเรา เป็น signature ของเรา นี่คือกีตาร์ลูกของเรา นี่คือเบสสไตล์ของเบส พี่นันต์เขากลองก็ต้องตีแบบสไตล์เอกลักษณ์ของเขา จริง ๆ เราก็เหมือนเด็กเพิ่งเข้าปี 1 ก็ต้องไปเรียนรู้ว่าการร้องยังไง การเล่นเบสยังไง เพราะว่าเราไม่ได้จบด้านดนตรีกันมา   The People: หาสไตล์ตัวเองเจอได้อย่างไร เมธี: มันเป็นแบบนี้ มันเป็นแบบที่เป็น มันก็เป็นแบบนี้แล้ว ถ้าหาผมว่าหาคงไม่เจอแน่นอน เราก็ร้องกันอย่างนี้ พอร้องก็เป็นแบบนี้เลย อาจจะเป็นเพราะว่าผมเกิดที่นราธิวาส เวลาพูดมันก็มีภาษาท้องถิ่นของตัวเองเป็นภาษามลายู เป็นภาษายาวีที่พูดกันอยู่ มันก็เลยมีสำเนียง อาจจะบวกกับสำเนียงของตัวเอง มันก็เลยกลายเป็นตัวตนเราแบบนี้เลย   The People: ออกมากี่อัลบั้มก่อนจะหยุดพักไป เมธี: ออกมาตอนนั้นเกือบ 6 อัลบั้ม โห! เมื่อก่อนเราแต่งเพลงเร็วมาก 2 ปีออกอัลบั้มครั้ง 3 ปีครั้งหนึ่ง หรือแบบปีละชุดก็มี ตอนนั้นแต่งได้ยังไงก็ไม่รู้ (หัวเราะ) ปีละชุดเลย อนันต์: ก็ออกมา 6 ชุดได้ แล้วก็ค่อย ๆ หยุด เมธี: ค่อย ๆ หยุด ค่อย ๆ พักเพื่อไปตามหาในสิ่งที่ตัวเองได้เรียนมาเราออกอัลบั้มชุดแรกตอนนั้นอายุ 17-18 ปี แล้วกับสิ่งที่เราเรียนมาเราเรียนอีกแบบหนึ่ง อย่างนันต์เขาเรียนด้านไอที ผมก็เรียนด้านการจัดการ ก็เลยลองดู เราไม่ได้เรียนดนตรีเลย ไม่เคยเรียนดนตรีร้องเพลงเลย อยากรู้ว่าถ้าเราไปทำงานอาชีพที่เราจบมา ดูซิว่าเส้นทางชีวิตเรื่องราวเราเป็นแบบไหน นันต์ก็ไปทำงานด้านไอทีบริษัทหนึ่ง ผมก็ไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ไปทำงานอยู่ที่ อบจ. ลองดูว่าสเต็ปเป็นยังไงกับการที่เราเรียนมา มันมาใช้กับชีวิตจริงเป็นแบบไหน อนันต์: ก็เหมือนได้เรียนรู้งานอีกสายงานหนึ่ง จากที่ต้องเล่นดนตรีนอนตี 3 ตี 4 บางที พอทำงานประจำก็ตื่น 8 โมง ตอกบัตรเลิก 5 โมง ก็เป็นความรู้สึกอีกด้านหนึ่ง   The People: อะไรที่ทำให้กลับมารวมวงอีกครั้ง เมธี: ผมว่าความคิดถึงของหลาย ๆ คน หลายคนถามถึงว่าลาบานูนไม่ออกเพลงใหม่แล้วเหรอ เมื่อไหร่ลาบานูนจะมีเพลงใหม่ เราก็เลยหยุดคิดว่า เออ...หรือว่าเขายังอยากจะฟังเพลงงานของพวกเราอยู่ นั่นคือเป็นจุดเริ่มต้นเลย เป็น first choice เลยว่าเริ่มมีความหวังว่าเขาคงอยากจะฟังเพลงลาบานูน เราก็เลยกลับมาทำ อนันต์: เผอิญช่วงที่หยุดนี่ก็ลูกผีลูกคนว่าจะกลับมาหรือเปล่า อาจจะไม่กลับมาก็ได้ เมธี: นั่นแหละจุดเริ่มต้น เราก็เลยกลับมาลองทำอีกทีหนึ่ง ทำใต้ดินก่อนได้ชุดหนึ่งเป็นอัลบั้ม ‘Keep Rocking’ แล้วก็หลังจากนั้นได้ 1-2 ปีก็มาอยู่ Genie Records   The People: ได้ข่าวว่าตอนที่เลิกทำวงไปเกือบขายเครื่องดนตรีไปด้วย เมธี: ใช่ ก็กะว่าจะเลิก เพราะตอนนั้นเหมือนว่าอยากจะลองขายแล้วมันได้ตังค์ดี ก็เลยขาย อนันต์: กะว่าจะไม่เล่นแล้วใช่ไหม เมธี: กะว่าจะไม่เล่นแล้วขายเลย สุดท้ายไปขายแล้วบังเอิญเจ้าของร้านไม่อยู่ ก็เลยขนกลับบ้าน โชคดีที่ยังไม่ได้ขาย อนันต์: สงสัยเป็นโชคชะตาที่อยากให้ทำตรงนี้อยู่ เมธี: ตอนนั้นที่ได้ขายตู้อย่างเดียว เสียดายมากเลย ส่วนชิ้นที่เตรียมว่าจะขายก็มีกีตาร์โปร่ง กีตาร์ไฟฟ้า พอล รีด สมิธ (PRS Guitars) ที่อยู่กับพวกเรา อนันต์: ยกชุดเลย (หัวเราะ) กะเทขายเลย   The People: รู้สึกอย่างไรกับฟีดแบ็กหลังกลับมาอีกครั้ง ณัฐนนท์: จริง ๆ แล้วพวกเราลาบานูน ปกติทำเพลงทำอะไรไม่ค่อยตั้งความหวังว่ามันจะต้องมาถึงจุดที่สูงสุดแค่ไหน จะถามว่าดีใจไหม ดีใจครับ ดีใจกับการที่กลับมาครั้งนี้แล้วทุกคนยังคิดถึง ทุกคนยังต้อนรับเราอยู่ เมธี: ส่วนการทำงานกับ Genie Records ผมดีใจมากที่มีค่ายเพลงดี ๆ แบบนี้คอยซัพพอร์ตพวกเรา เขาให้อิสระกับพวกเราคิดอย่างมหาศาลมากเลย คิดอิสระเต็มที่เลย ไม่มีกรอบให้พวกเรา คืออิสระมากเลย เป็นค่ายที่อบอุ่น รวมทั้งทีมงาน รวมทั้งเจ้าของค่าย รวมทั้งพนักงานใน Genie Records หรือแม้แต่พี่ ๆ น้อง ๆ ศิลปินที่อยู่ในค่าย Genie Records ด้วยกัน ทุกคนมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผมว่ามันไม่ใช่เป็นค่าย มันเหมือนอาจจะเป็นบ้านหลังหนึ่งเลยที่ศิลปินอยู่แล้วอบอุ่น อยู่แล้วมีความสุข บทสัมภาษณ์ ลาบานูน: ย้อนรอยเส้นทางดนตรี 23 ปี วันที่เกือบขายเครื่องดนตรีทิ้ง และลาออกจากงานประจำเพื่อทำวงอีกครั้ง The People: อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในชีวิตการเป็นนักดนตรี เมธี: ก็คงทำยังไงให้มันอยู่รอดท่ามกลางกระแส ทุก ๆ ปี 6 ปีที่แล้วถึงแม้ยุคนั้นเป็นยุคเทป แล้วก็กระแสฮิปฮอปมา กระแสอีโมมา มากระแสแรปเปอร์อีก ท่ามกลางโควิด-19 ท่ามกลางอะไรต่าง ๆ เราจะอยู่รอดได้ยังไงให้มันอยู่ได้ อันนั้นแหละมันยากที่สุด แรปเปอร์มาแต่ลาบานูนก็ยังอยู่ ทำยังไงให้เขาอยากฟังเพลงของพวกเรา อยู่ตรงนี้มันยากมากที่ทำให้ตัวเองรอดอยู่ในวงการนี้ได้ แล้วก็ทุกปีเหมือนว่ามันมีอุปสรรคอยู่ตลอดเวลา อย่างตัวเองเหมือนก่อนหน้านี้เราจะโชว์ เราไม่สามารถที่จะเล่นเพลงเก่า ๆ ได้ เพลงก่อนหน้านี้มันอยู่ในบริษัทเก่า เราเล่นไม่ได้ คิดดูครับว่าเราจะเอายังไงให้รอด เอาวงให้รอดได้ อันนั้นมันยากมากเลยนะครับที่เราเจออยู่ในวงการ   The People: เล่าถึงกรณีปัญหาลิขสิทธิ์สักหน่อย ตอนนี้คลี่คลายอย่างไรบ้าง เมธี: คือตอนนั้นท่ามกลาง 1-2 ปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องของลิขสิทธิ์ค่อนข้างจะได้ข่าวว่ามันเป็นเรื่องการจัดการลิขสิทธิ์ มันเป็นระหว่างเพลงที่อยู่บริษัทเก่ากับบริษัทใหม่ต่าง ๆ มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์อะไรต่าง ๆ ซึ่งทำยังไงให้มันเคลียร์ได้ แล้วก็ก่อนหน้านี้ต้องเข้าใจว่าลาบานูนก็อยู่บริษัทอีกบริษัทหนึ่ง แล้วพวกเราก็มาอยู่อีกบริษัทหนึ่ง แต่พออยู่บริษัทหนึ่งมันก็เป็นเรื่องที่เราจะเอาเพลงเก่าของเรามาเล่นไม่ได้ มันก็กลายเป็นปัญหาต้องขึ้นศาลฟ้องร้องกัน โดนฟ้องกันเละเทะเลย ก็ค่อนข้างจะมีอุปสรรคเหมือนกัน อยู่บนเวทีเล่นเพลงของเราไม่ได้ เล่นเพลงของเราที่อยู่บริษัทเก่าไม่ได้ แล้วอยู่ในบริษัทใหม่ก็มีแค่เพลง 6-7 เพลงเอง ซึ่งมันยังไม่พอ จะทำยังไงดี ก็ต้องไปยืมเพลงพี่เบิร์ด (ธงไชย แมคอินไตย์) มาเล่นก่อน ‘ลิ้นกับฟัน’ เล่นเพลงพี่ป้าง (นครินทร์ กิ่งศักดิ์) สเต็ป ๆ แต่สุดท้ายมันก็เคลียร์กันได้ เล่นได้แล้วครับ 10 ปีเล่นได้   The People: ลาบานูนในวัยย่าง 23 ปีเติบโตขึ้นมากแค่ไหน อนันต์: (หัวเราะ) ก็ยังรุ่น ๆ อยู่นะ ยังไม่แก่ เมธี: ผมว่าไม่ได้เติบโตอะไรมากมาย เราก็ไม่อยากจะให้มันเติบโตอะไรมากมาย เราแค่อยากให้รู้ว่า มีความสุขสนุกกับมัน ยิ่งเวลาผ่านไปอาจจะมีเรื่องราวบทเรียนต่าง ๆ ที่เราได้เจอตรงนี้ มากกว่าบทเรียนใหม่ ๆ เรื่องราวใหม่ ๆ สภาพสังคมที่มันเปลี่ยนแปลง บริบทใหม่ ๆ วัยอะไรต่าง ๆ ตรงนี้มันทำให้เราต้องปรับตัวให้ทัน   The People: บทเรียนที่ยิ่งใหญ่สุดในชีวิต เมธี: บทเรียนไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโชว์ว่าเราจะอยู่รอดอยู่ไม่รอดก็คืออยู่ที่การโชว์บนเวที เราเพิ่งรู้ว่าโอ้โห! เวลาโชว์แบบไม่สามารถเล่นเพลงของพวกเราเก่า ๆ ได้ ผมรู้สึกว่ามันเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่มหาศาลมาก เราเพิ่งรู้ว่าเราต้องมีเพลงใหม่ ๆ ออกมาเยอะ ๆ ต้องมีเพลงใหม่ ๆ ออกมาสม่ำเสมอ เพื่อให้วันหนึ่งสมมติว่ามีปัญหาเกิดขึ้นอีก เราก็มีเพลงพอที่จะโชว์อยู่บนเวทีได้   The People: คิดว่าเป็นเรื่องง่ายสำหรับปัจจุบันไหมที่จะตามหาความฝันบนอาชีพดนตรี อนันต์: ผมว่ายุคนี้มันเป็นยุคที่ง่ายเพราะว่ามีโซเชียลฯ มี YouTube มี tiktok มีอะไรเยอะแยะ ยิ่งเป็นสิ่งใหม่ ๆ ยิ่งเป็นคนที่มีสไตล์เป็นของตัวเองน่าจะเป็นช่องทางที่จะทำเพลงได้ง่าย แต่การที่จะมีระยะยาวมากกว่าที่ทำยังไงที่จะหาจุดที่ตัวเอง ไม่ใช่ว่าดังเพลงเดียวหรือว่า 2 เพลง การที่จะเข้าใจว่าการที่ดังและการที่จะอยู่กับมันยังไง และการที่ไม่ดังและจะอยู่กับมันยังไงมากกว่า เมธี: ผมว่ายุคนี้เป็นยุคที่ง่ายมาก ยุคที่ง่ายมากสำหรับคนที่อยากทำเพลง แต่จะทำสำเร็จหรือเปล่านั่นแหละมันยากตรงนั้น ความสำเร็จมัน... อนันต์: มันอยู่ที่องค์ประกอบ โอกาส วาสนา อะไรอย่างนี้ เมธี: ใช่ หลายอย่างเลย ผมจะยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าสำเร็จเพลงเดียว แต่สามารถมีราคาตัวเองเป็นแสนได้เลย ยกตัวอย่างเช่นอีกหลาย ๆ วงกว่าจะได้เพลงตัวเอง โอ้โห! ไม่ดัง ค่าตัวยังไม่ถึงหมื่นเลย แต่ถ้ายุคนี้ใครก็แล้วแต่ด้วยซ้ำมา present ตัวเองให้คนเขาจำ สามารถอัปค่าตัวของคุณได้เลย เพียงแค่ว่ากล้าในทางที่ดี นั่นแหละมันก็ไม่ใช่ง่าย ๆ ที่จะสำเร็จ   The People: มองว่าลาบานูนประสบความสำเร็จหรือยัง เมธี: ผมว่า... ตอบยากมากนะเราสำเร็จหรือยัง ผมว่าเกินเป้าเลยดีกว่า ไม่รู้ว่าความสำเร็จของลาบานูนจะอยู่ตรงไหน เราไม่รู้เลย อนันต์: จริง ๆ เราคิดว่าตอนนั้นแค่ได้ออกเทป เมธี: ได้ออกเทปเราก็ดีใจแล้ว เหมือนเราได้ออกอัลบั้มชุดใหม่เราก็ดีใจแล้ว ความสำเร็จถ้าไปมองว่าความสำเร็จมันจะกลายเป็นความกดดันเปล่า ๆ ถ้าเราจะเปรียบเทียบเหมือนชุดที่แล้วเรามี ‘เชือกวิเศษ’ 500 กว่าล้านวิว นั่นคือเป็นเพลงที่สูงสุดในประเทศไทย เรามี ‘แพ้ทาง’ 400 กว่าล้านวิว ‘ใจกลางเมือง’ 300 กว่าล้านวิว อัลบั้มหนึ่ง 1,000 กว่าล้านวิว โห! ถ้าเราตั้งความสำเร็จไปเปรียบเทียบกับอัลบั้มที่แล้ว อัลบั้มนี้เครียดตายเลยผมว่า แต่ให้อยู่ที่ว่าอัลบั้มชุดนี้เรามีความสุขแล้ว เราพอใจกับสิ่งที่เรานำเสนอออกมา อนันต์: เราเล่นคอนเสิร์ตแล้วคนดูมีความสุข ร้องตามได้ เราก็พอใจแล้ว   The People: นิยามความฝันฉบับลาบานูน เมธี: เมื่อก่อนตอนเด็ก ๆ แน่นอนอยู่แล้วทุกคนอยากมีปัจจัยพื้นฐาน อยากมีบ้าน มีรถ อะไรต่าง ๆ อยากมีรายได้ อยากมีเงินทอง อยากมีอะไรต่าง ๆ นานา พอวันหนึ่งพอเราหาได้ เรามีบ้าน มีครอบครัว ความฝันอันหนึ่งสิ่งที่เราอยากเห็น มุมมองผมก็คืออีก 10 ปีข้างหน้า 20 ปีข้างหน้า จะเป็นลาบานูนอีกไหม ตอนที่เราอายุ 50 ปี พวกเรายังเฟิร์มอยู่อีกไหม พวกเรายังแข็งแรงอยู่เหมือนเดิมไหม อนันต์: ยังร้องเพลงไหวอยู่ไหม เมธี: ไหวอยู่ไหม อันนั้นคือสิ่งที่อยากเห็น อนันต์: สมมติว่ากลายเป็นคุณตาพาลูกมา ลูกโตขึ้นมาตั้งอีกวงหนึ่ง เมธี: มานะง่อกแง่ก ๆ แต่อายุ 50 กว่าปี โห! เข้ พี่เขายังเฟิร์มอยู่เลย ทำไมพี่เขาดูไม่แก่เลย นั่นคือความฝันที่อยากจะเห็นจริง ๆ อนันต์: แต่ตอนนี้เรากินกันอยู่ (หัวเราะ) เมธี: คือไม่อยากให้มาแบบผมหงอกเดินมา ไม่อยากเป็นแบบนั้น อยากให้เป็นแบบโห! พี่เขาอายุ 50 กว่าปีแล้ว นั่นเกือบ 60 ปีแล้ว ทำไมพี่เขาสุขภาพยังแข็งแรงอยู่เลย นั่นคือความฝันที่อยากจะทำต่ออีก 20 ปีข้างหน้า   The People: มีแพลนไหมว่าต้องทำอย่างไรถึงไปให้ถึงฝันนั้นได้ เมธี: ก็คงต้องขยันทำเพลง ยังต้องทำเพลง ต้องสู้กับมัน ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเรายังอยู่ เรายังทำได้ อนันต์: เพราะระหว่างที่เราหยุดไปก็ยังมีน้อง ๆ รุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทน บางทีถ้าเราทิ้งช่วงไป บางเพลงก็อาจจะไม่เชื่อมต่อ คือทำยังไงให้ตัวเองอยู่ท่ามกลางกระแสได้ ต่อให้ 10 ปีข้างหน้า เด็กรุ่นใหม่ที่อายุ 15-16 ปี 6 ขวบมา 16 ปี ไม่รู้เพลงจะเป็นเพลงอะไรต่อแล้ว จะเป็นเพลงอิเล็กทรอนิกส์อะไรสักอย่างหนึ่ง แต่อย่างน้อย ๆ เพลงลาบานูนก็ยังอยู่ท่ามกลางนั้นได้ อย่างน้อย ๆ อยากให้เด็กรุ่นใหม่ที่เขามาฟัง เฮ้ย! อันนี้เพลงวงอะไร อ๋อ! ลาบานูน อ๋อ! มันเป็นเพลงแบบนี้ ในยุค 90s ตอนที่เขายังไม่เกิดเลย เหมือน 18 อะไรอย่างนี้ เหมือนเพลง ‘หนักใจ’ บางอัลบั้มเขายังไม่เกิด แต่สุดท้ายเขาย้อนกลับมาฟัง อ๋อ! นี่เพลงนี้พี่ ๆ เขาทำแบบนี้ เพลงที่เขายังไม่เกิดแล้วทุกคนไปย้อนฟัง เพลง ‘บังอาจรักเธอ’ ‘ถูกทุกข้อ’ ‘แอบรัก’ อะไรต่าง ๆ ย้อนกลับอีก 20 ปีข้างหน้า นั่นหมายถึงว่าทุกคนอาจจะมาฟังเพลง ‘เชือกวิเศษ’ ‘พลังงานจน’ ‘ใจกลางเมือง’ ต่อ หวังเหลือเกิน   The People: คิดว่าอะไรที่ทำให้ลาบานูนยังอยู่ในใจคนฟังจนถึงวันนี้ เมธี: ผมว่าลาบานูนเป็นวงที่จับต้องได้ง่ายมาก ไม่ซับซ้อน แล้วก็เป็นบทเพลงที่มีความจริงใจ เป็นคำที่สละสลวย นี่คือผมว่าอันนี้น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่เราอยู่มาได้ วันที่คุณเศร้า คุณมีเพลงลาบานูนเป็นเพื่อน วันที่คุณมีความสุข คุณก็มีเพลงลาบานูนคอยยิ้ม วันที่คุณต้องการแรงบันดาลใจ ผมเชื่อว่าก็มีเพลงลาบานูนที่คอยผลักดันให้คุณสู้ต่อไป แล้วเราก็คิดว่าเพลงเราน่าจะเป็นเพื่อนทุก ๆ ช่วงเวลา ทุกบริบทของคุณ มันคือสิ่งที่ผมคิดว่าลาบานูนอยู่ได้จนทุกวันนี้ บทสัมภาษณ์ ลาบานูน: ย้อนรอยเส้นทางดนตรี 23 ปี วันที่เกือบขายเครื่องดนตรีทิ้ง และลาออกจากงานประจำเพื่อทำวงอีกครั้ง The People: เพลงที่สมาชิกแต่ละคนชอบที่สุด ณัฐนนท์: ผมน่าจะเป็นเพลง ‘ตายดาบหน้า’ คือด้วยเพลงนั้นเป็นเพลงตอนที่เรากลับมาที่ GRAMMY เพลงนี้เป็นเพลงที่ตอนนั้นเริ่มทำแรก ๆ เลย แล้วคอนเซปต์ของเพลงที่ตอนนั้นพี่เมธีแกก็เล่าคอนเซปต์มาว่าเป็นเพลงที่แกดิ้นรนสู้ชีวิตที่ต้องนั่งรถไฟชั้นสามเพื่อที่จะขึ้นมาร้องเพลง แล้วผมก็รู้สึกว่ามันก็ตรงกับหลาย ๆ คน แล้วก็ชีวิตผมที่เราสู้ที่จะผ่านระยะเวลานี้ไปได้ เมธี: ข้างหน้าเป็นไงก็ไม่รู้นะ ณัฐนนท์: ข้างหน้าจะเป็นยังไงเราก็ยังไม่รู้เลย แต่เราเฮ้ย! ไปเว้ย ลุยเว้ย โดยที่เราไม่รู้ ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะต้องสำเร็จแค่ไหน อนันต์: ผมก็น่าจะเป็นเพลง ‘พลังงานจน’ เพราะว่าเหมือนกับว่าไม่ว่าชีวิตเราจะเป็นยังไงก็ขอให้เราสู้ ขอให้เรามีความสุขกับสิ่งที่เรามีอยู่ เมธี: ส่วนผมก็น่าจะเป็นเพลงอัลบั้มใหม่ล่าสุดชื่อเพลงว่า ‘ยอดมนุษย์’ กับ ‘ท้าพายุ’ น่าจะเป็นเพลงที่ชอบมาก ยอดมนุษย์ก็คือทุกคนสามารถสู้ชีวิตตัวเองได้เลย ทุกคนมีความเป็นยอดมนุษย์ในตัวเอง สู้กัน อยากให้ทุกคนลองฟังยอดมนุษย์ อยู่ในอัลบั้มชุดใหม่นี่แหละครับ   The People: คิดว่าลาบานูนเหมือนแต่ละเพลงที่สมาชิกในวงชอบอย่างไร เมธี: ก็เหมือนผมลุยไปข้างหน้าเลย เวลาจะทำอะไร อะไรจะเกิดมันก็ต้องทิ้ง เหมือนอนันต์ลาออกจากการเป็นพนักงาน นั่นหมายถึงว่าแต่ละเดือนเราไม่รู้เลย คือมาทำฟอร์มวงไม่รู้จะรอดไม่รอดหรือเปล่า ก็ทิ้งเงินโบนัสอะไรต่าง ๆ ลาออกจากการเป็นอาจารย์ เป็นอาจารย์นั่นหมายถึงอาชีพมั่นคงนะ มีเงินเกษียณ อย่างน้อยก็มีลูกศิษย์อะไรต่าง ๆ อาจารย์อะไรอย่างนี้ ถึงแม้จะไม่ได้รวยเงินทอง แต่รวยลูกศิษย์ ลาออกเลย ทุบเลย แล้วก็ลุยไปข้างหน้า จับมือไปพร้อมกัน ณัฐนนท์: ส่วนเพลงพลังงานจน เราพูดถึงคล้าย ๆ ชีวิตลาบานูนที่เราก็มีแค่นี้ จริง ๆ พูดเหมือนเนื้อเพลง ก็ไม่เป็นไร เมื่อเกิดมาเท่านี้ เมื่อมีเท่าที่มี เราต้องทำมันให้ดีเท่าที่มีอยู่ เมธี: ได้เท่านี้ อนันต์: ลาบานูนทุกบทเพลงก็จะมาจากตัวตนพวกเรา แอบรักเวลาไปชอบใครก็ต้องจีบ อยู่ดี ๆ ผู้หญิงจะมาชอบเราก็ไม่ใช่ ต้องไปแอบรักเขา ผมว่าความจนพวกเราก็เริ่มจากไม่มีอะไรจริง ๆ   The People: สิ่งที่ได้จากการเป็นลาบานูน เมธี: โห! เยอะมาก เราได้สร้างฐานะของตัวเองได้ เราได้ทำความฝันของตัวเองได้ เราได้เห็นอะไรใหม่ ๆ กับสิ่งที่เราไม่คิดว่าเราจะได้เห็น เราได้มีโอกาสไปต่างประเทศ ใครจะไปคิดว่าครั้งหนึ่งไปทัวร์ยุโรป จากประเทศไทยไปเล่นยุโรป สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมันต่าง ๆ ในยุโรปต่าง ๆ ออสเตรเลีย ไม่คิดว่าวันนั้นที่เราซ้อมก๊องแก๊ง ๆ ในห้องเพนกวิน ห้องซ้อมเล็ก ๆ ชั่วโมงละ 150 แล้วอยู่มาวันหนึ่งคุณจะได้ไปไกล ๆ ไปทัวร์ยุโรป มาได้ขึ้นเวทีแบบ festival ใหญ่ ๆ ทุกเทศกาลอันไหนที่ใหญ่ ๆ จะมีลาบานูนอยู่ตลอด ใครจะไปคิดว่าเราอยู่ตรงนั้นได้ ถ้าย้อนกลับมา 23 ปี เคยคิดบ้างไหมตอนที่จะออกอัลบั้มว่าครั้งหนึ่งจะได้ไปทัวร์ยุโรป ครั้งหนึ่งจะได้ขึ้นเวที festival ใหญ่ ๆ ขายเทปได้ 1 ล้านตลับ ไม่มีใครคิดแน่นอน ไม่มีหรอก ไม่กล้าหวังด้วยซ้ำไป   The People: ผ่านเรื่องราวมาขนาดนี้ ลาบานูนเรียกตัวเองว่ายอดมนุษย์ได้หรือยัง เมธี: ได้ เป็นยอดมนุษย์ได้ทุกคน อนันต์: ไม่จำเป็นต้องเป็นสไปเดอร์แมน เมธี: ไม่จำเป็น ใครก็แล้วแต่ที่เขาทำงานออกจากบ้าน ทำงานแล้วกลับมาสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ไม่เบียดเบียนใคร ไม่เป็นภาระให้ใคร คนนั้นคือสุดยอดมนุษย์แล้ว ยิ่งถ้าเกิดอยู่ ๆ วันหนึ่งไปทำงานเลี้ยงดูตัวเองได้ เลี้ยงดูพ่อแม่ หรือถ้าเกิดมีลูก เลี้ยงดูลูกอีก บางคนขายก๋วยเตี๋ยวแต่ส่งลูกเรียนจบปริญญาตรีได้เลย บางคนตัดยาง แต่ลูกจบแพทย์ โห! เนี่ยสุดยอดมนุษย์ตัวจริงเลย เพลงของลาบานูนบางเพลงก็จะเป็นเพลงเกี่ยวกับสังคม เพื่อชีวิต เราอยากเห็นสังคมที่ดีเกิดขึ้น เราอยากเห็นการให้โอกาสคนที่ไม่มีอะไรเลย เขาสามารถมีโอกาส ได้โอกาสด้านการศึกษา ด้านคุณภาพชีวิตของเขา แต่สุดท้ายที่สุดเราสื่อด้วยบทเพลงเพื่อให้เขามีความสุขเกิดขึ้น ต่อให้อยู่มาวันหนึ่งเขาเจออะไรก็แล้วแต่ เพลงลาบานูนก็จะบอกให้เขาว่าไม่เป็นไร เรามีความสุขกับมันได้   สัมภาษณ์และเรียบเรียง: จิรภิญญา สมเทพ