ลาชินแมน กูรุง ทหารกูรข่าผู้ต้านทหารญี่ปุ่น 200 นายด้วยแขนซ้ายข้างเดียว

ลาชินแมน กูรุง ทหารกูรข่าผู้ต้านทหารญี่ปุ่น 200 นายด้วยแขนซ้ายข้างเดียว

เขาคือทหารกูรข่าผู้ต้านทหารญี่ปุ่น 200 นายด้วยแขนซ้ายข้างเดียว

ลาชินแมน กูรุง (Lachchinman Gurung) เป็นทหารกูรข่าชาวเนปาลที่มีส่วนสูงไม่ถึง 150 เซนติเมตร ซึ่งในช่วงเวลาปกติชายรูปร่างอย่างเขาคงไม่เป็นที่ต้องการของกองทัพ แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้สร้างวีรกรรมที่ทำให้เห็นว่าชายร่างเล็ก ๆ ก็สามารถต้านทานกองทัพนับร้อยได้อย่างกล้าหาญ จนได้รับการเชิดชูเกียรติสูงสุดในกองทัพอังกฤษ ทหารกูรข่าทำการรบให้กับอังกฤษมานานกว่า 200 ปี ตั้งแต่เมื่อครั้งที่อังกฤษทำสงครามกับเนปาล จนได้เห็นการรบที่กล้าหาญของทหารกูรข่า อังกฤษจึงเชื้อเชิญให้พวกเขาเข้ามาเป็นอาสาสมัครในกองทัพบริษัทอินเดียตะวันออก และกลายเป็นกองกำลังส่วนน้อยที่สร้างชื่อเสียงจนเป็นที่กล่าวขวัญในหลายสมรภูมิมาจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในการรบที่เด็ดเดี่ยวที่สุดของทหารกูรข่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (อย่างน้อยก็ตามบันทึกของ London Gazette ประกาศของทางการลักษณะเดียวกับราชกิจจานุเบกษา) เกิดขึ้นช่วงคืนวันที่ 12 ถึงย่ำรุ่งวันที่ 13 พฤษภาคม 1945 ที่หมู่บ้านตองดอ (Taungdaw) ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอิรวดีในพม่า เมื่อ ลาชินแมน กูรุง จากหน่วยปืนเล็กยาวกูรข่าที่ประจำการอยู่หน้าสุดในหมวด ต้องเผชิญหน้ากับกำลังทหารญี่ปุ่นกว่า 200 นาย กลุ่มทหารญี่ปุ่นเริ่มโจมตีด้วยการขว้างระเบิดมือเข้าใส่จุดประจำการของทหารกูรข่า เมื่อระเบิดลูกหนึ่งตกลงมาถึงปากสนามเพลาะของกูรุง เขารีบคว้ามันขว้างกลับไปยังศัตรู ไม่ทันไรลูกที่สองก็ตามมา คราวนี้ตกลงมาในสนามเพลาะพอดี กูรุงยังคว้ามันขว้างกลับไปได้ทันกาล แต่เมื่อเจอกับลูกที่สาม ขณะที่ระเบิดกำลังจะออกจากมือ มันได้ระเบิดขึ้นเสียก่อน ทำให้ร่างกายซีกขวาของกูรุงได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง นิ้วแตกละเอียด แขนขวาร่องแร่ง เกิดบาดแผลตั้งแต่ใบหน้า ลำตัว ลงไปถึงขาขวา ส่วนเพื่อนทหารกูรข่าอีกสองนายได้รับบาดเจ็บจนต้องลงไปนอนกองในสนามเพลาะ แค่ช่วยเหลือตัวเองยังทำไม่ได้ ฝ่ายทหารญี่ปุ่นใช้ความได้เปรียบด้านกำลังโห่ร้องดาหน้าบุกเข้ามา แต่กูรุงยังมีสติพยายามต่อสู้แม้จะได้รับบาดเจ็บหนัก เขาใช้แขนซ้ายที่เหลือเพียงข้างเดียวทั้งบรรจุกระสุนและยิงตอบโต้ทหารญี่ปุ่น สามารถต้านทานการจู่โจมระลอกแล้วระลอกเล่าด้วยการยิงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ทำให้ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตจำนวนมาก กูรุงต้านทานทหารญี่ปุ่นด้วยตัวคนเดียวเป็นระยะเวลากว่า 4 ชั่วโมง หลังจบการสู้รบทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตทั้งสิ้น 87 นาย โดยมี 31 นายที่เสียชีวิตหน้าจุดประจำการของกูรุง ซึ่งทาง London Gazette (หนังสือบันทึกกิจการของรัฐบาล เทียบได้กับราชกิจจานุเบกษา) กล่าวว่า งานนี้หากฝ่ายญี่ปุ่นสามารถยึดสนามเพลาะที่กูรุงประจำการอยู่ได้ ก็จะทำให้พวกเขาได้เปรียบมากในการจู่โจมขาลงจากเนินเขา "ด้วยตัวอย่างอันหาญกล้าของพลปืนเล็กรายนี้ปลุกเร้าให้สหายร่วมรบมีใจสู้ร่วมต้านศัตรูจนถึงหยดสุดท้าย แม้จะถูกปิดล้อมและตัดขาดเป็นเวลากว่าสามวันสองคืน พวกเขาสามารถต้านทานและตีกลับศัตรูกลับไปได้ทุกครั้ง "ความกล้าหาญอันโดดเด่นและการอุทิศตนต่อหน้าที่อย่างสุดตัวของเขา แม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นรองอย่างสุดขั้ว คือปัจจัยสำคัญในการเอาชนะศัตรูได้สำเร็จ" หลังการรบ กูรุงใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในการรักษาตัวจนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลงในอีกไม่กี่เดือนต่อมา อาการบาดเจ็บทำให้เขาสูญเสียตาขวา แขนพิการ ขณะเดียวกันวีรกรรมในครั้งนี้ก็ทำให้กูรุงได้รับรางวัลเป็นเหรียญกล้าหาญ "กางเขนวิกตอเรีย" เหรียญเกียรติยศสูงสุดของอังกฤษไปครอบครอง กูรุงมีโอกาสได้มาใช้ชีวิตในอังกฤษเมื่อเข้าถึงบั้นปลายชีวิตในปี 2008 หลายคนคงลืมเรื่องราววีรกรรมของเขาไปแล้ว จนกระทั่งเขาตกเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อรัฐบาลอังกฤษไม่ยอมให้สิทธิแก่ทหารกูรข่าเกษียณอายุที่จะได้ตั้งรกรากในประเทศ โดยอ้างว่าทหารกลุ่มนี้ไม่สามารถแสดงให้เห็นถึง "สายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับสหราชอาณาจักร" ได้ (ตามแผนนโยบายการรับคนเข้าเมืองของรัฐบาลซึ่งประกาศตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งมีผลเป็นการกีดกันทหารกูรข่าหลายพันคนที่เกษียณอายุก่อนปี 1997 ในโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตหลังปลดประจำการในประเทศอังกฤษ) เขาได้เข้าไปร่วมต่อสู้ทางศาลกับทหารผ่านศึกรายอื่น ๆ จนกระทั่งศาลสูงมีคำพิพากษาระบุว่า นโยบายดังกล่าวของรัฐบาลไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเป็นต้องแก้ไขโดยด่วน พร้อมระบุ ทหารกูรข่าซึ่งรับใช้ราชสำนักด้วยความกล้าหาญและซื่อสัตย์มาอย่างยาวนาน ทำให้ชาวอังกฤษติดหนี้บุญคุณซึ่งจำเป็นต้องตอบแทนตามสามัญสำนึก ทำให้กูรุงกับเพื่อนทหารอีกหลายคนได้ใช้ชีวิตบั้นปลายในอังกฤษสมความตั้งใจ แต่การต่อสู้ของเขายังไม่จบสิ้น ในปี 2009 เขาต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดทางให้หลานสาวของเขาได้ใช้ชีวิตในอังกฤษด้วยในฐานะผู้ดูแล ด้วยวัยของเขาก็ปาเข้าไป 91 ปีแล้ว และยังมีปัญหาสุขภาพรุมเร้า ในคำร้องขอ กูรุงซึ่งเหลือแขนซ้ายเพียงข้างเดียวกล่าวว่า "ผมเสียสละอย่างถวายหัวให้กับบริเตน แต่ผมจะไม่ขอตัดพ้อใด ๆ เพราะผมรักประเทศนี้อย่างที่รักครอบครัวของตัวเอง "ผมจะยอมสละแขนอีกข้าง หากบริเตนเรียกร้องให้ผมลุกขึ้นมาปกป้องชาวบริติชอีกครั้ง "อย่างไรก็ดีในวาระสุดท้ายของชีวิต ผมอยากจะขอองค์ราชินีได้โปรดช่วยให้หลานสาวของผมได้ใช้ชีวิตอยู่ข้างกายผม ผมขอนายกรัฐมนตรี (กอร์ดอน) บราวน์ อย่าได้พรากครอบครัวของผม ผมไม่เคยร้องขออะไรจากบริเตนมาก่อน แต่ผมขอให้หลานอันเป็นที่รักได้อยู่กับผม ผมอยากให้เธออยู่ข้างกายเมื่อถึงเวลาตาย" (Telegraph) รายงานของ The Guardian กล่าวว่า กระทรวงกิจการภายในของอังกฤษยอมอนุญาตให้อัมริตา (Amrita) หลานสาวของเขาอยู่ดูแลเขาต่อไปได้ แต่เพียงราวหนึ่งปีต่อมา กูรุงก็ป่วยหนักต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากอาการปอดบวมตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2010 ก่อนเสียชีวิตลง ในวันที่ 12 ธันวาคม ปีเดียวกัน