Lady Godiva and Peeping Tom สาวชั้นสูงเปลือยต้านภาษีไม่เป็นธรรม กับนักถ้ำมองในตำนาน

Lady Godiva and Peeping Tom สาวชั้นสูงเปลือยต้านภาษีไม่เป็นธรรม กับนักถ้ำมองในตำนาน
“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีหญิงชั้นสูงใจบุญรายหนึ่งชื่อว่า ท่านผู้หญิงโกไดวา เธอเป็นภรรยาของท่านเอิร์ลลีโอฟริชผู้เผด็จการ เธอทุกข์ร้อนเมื่อเห็นประชาชนต้องลำบากจากการต้องแบกรับการขูดรีดภาษีอย่างล้นเกิน จึงรบเร้าให้สามีช่วยลดภาษีให้ประชาชนลงบ้าง แต่ท่านเอิร์ลไม่ยอมใจอ่อนง่าย ๆ ท่านผู้หญิงก็อ้อนวอนสามีเรื่อยไปจนสามีรำคาญ จึงกล่าวไปว่า ‘เราจะลดภาษีให้ก็ได้ ถ้าหากเจ้าเปลือยกายขี่ม้าทะลุใจกลางเมือง’ “ท่านผู้หญิงได้ยินเช่นนั้น ก็ไม่หวั่นไหว ยอมทำในสิ่งที่น่าบัดสีบัดเถลิงโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนมากกว่าเกียรติของตน ฝ่ายประชาชนเมื่อได้ทราบข่าวก็ร่วมใจกันปิดประตูหน้าต่าง เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ท่านหญิง  “ถึงเวลาท่านหญิงก็เปลือยกายและปล่อยผมลงปิดบังยอดปทุมถันแล้วขี่ม้าสู่จัตุรัสกลางเมือง ชาวบ้านทุกคนล้วนเก็บตัวอยู่ในบ้านเรือนของตน ยกเว้นชาวบ้านรายหนึ่งที่ชื่อทอม ด้วยใจอยากรู้อยากเห็นทอมส่องรูหน้าต่างเพื่อแอบดูท่านผู้หญิงโกไดวาในร่างอันเปลือยเปล่า แต่เหมือนพระเจ้าลงโทษ ทอมนักถ้ำมองเกิดตาบอดในทันใดนั้นเอง ส่วนเอิร์ลลีโอฟริชที่ตอนแรกไม่เชื่อว่าภรรยาผู้ใฝ่ธรรมะของตนจะยอมทำเรื่องน่าบัดสีเช่นนี้ก็รักษาสัตย์ยอมทำตามคำพูดที่ตนเองให้ไว้ และหันมาทำบุญทำกุศลตามอย่างภรรยา”  โกไดวา (Godiva, บ้างก็ออกเสียงว่า โกดิวา) หลายคนในปัจจุบันอาจจะรู้จักเธอในฐานะยี่ห้อช็อกโกแล็ตชื่อดังที่มีพื้นเพดั้งเดิมจากเบลเยียม (ก่อนแปลงสัญชาติเป็นอเมริกันปนเติร์ก) แต่เดิมที ชื่อนี้เป็นชื่อของหญิงชั้นสูงรายหนึ่งจากอังกฤษที่ได้ชื่อว่าเป็นคนใจบุญ ใฝ่ธรรมะ และยังยอมเปลือยกายเพื่อประโยชน์ของสาธารณะตามตำนานข้างต้น จากข้อมูลของ Britannica โกไดวา เป็นบุคคลที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ มีอายุอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 11 (สันนิษฐานว่าเธอน่าจะเสียชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1066-1086) ชื่อ โกไดวา เป็นการสะกดแบบโรมันจากภาษาอังกฤษโบราณว่า Godgifu หรือของขวัญจากพระเจ้า เธอเป็นภรรยาของ ลีโอฟริช (Leofric) เอิร์ลแห่งเมอร์เซียและโคเวนทรี  ดังที่กล่าวแล้วว่า โกไดวาเป็นคนใจบุญชอบสร้างวัดวาอาราม (ในศาสนาคริสต์) ทำให้พระ (หรือที่คนพุทธในเมืองไทยนิยมเรียกว่า “บาทหลวง”) ในโคเวนทรีให้ความเคารพเธอเป็นอย่างมาก และได้บันทึกเรื่องราวการสร้างบุญกุศลของเธอให้เป็นที่ประจักษ์   อย่างไรก็ดี ตำนานที่เล่าว่า เธอเปลือยกายเพื่อปลดเปลื้องภาระทางภาษีให้กับชาวบ้านนั้นหาได้ปรากฏในบันทึกร่วมสมัยไม่ กว่าจะมีบันทึกที่เล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าวก็หลังจากเธอเสียชีวิตไปแล้วราวเกือบ 200 ปี หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในบันทึกของโรเจอร์แห่งเวนโดเวอร์ (Roger of Wendover เสียชีวิตปี 1236)  ตำนานของโกไดวา ยิ่งนานก็ยิ่งพิสดารขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องภาษีว่ามีการลดหรือยกเลิกอะไรบ้างถูกเพิ่มเข้ามา บางสำนวนเล่าว่า ลีโอฟริชยกเลิกภาษีทั้งหมด ยกเว้นภาษีม้า และในตำนานสำนวนเก่า ๆ นั้น ไม่เคยมีเรื่องราวของ “ทอม นักถ้ำมอง” เลย เพิ่งจะถูกเพิ่มเข้ามาในบันทึกศตวรรษที่ 17 เท่านั้น โทษทัณฑ์ที่เขาได้รับก็มีตั้งแต่ตาบอดไปจนถึงแก่ความตาย คำว่า peeping Tom ยังกลายเป็นคำเรียกนักถ้ำมองทั้งหลายในภาษาอังกฤษมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นที่คุ้นเคยยิ่งกว่าวีรกรรมของโกไดวา  ซิกมุนด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ชาวออสเตรีย ยังใช้ตำนานของท่านผู้หญิงโกไดวากับทอมนักถ้ำมองมาเป็นตัวอย่างในการสนับสนุนทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของเขา โดยชี้ว่า อาการตาบอดของทอมน่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า การมองเห็นที่ผิดปกติเนื่องจากภาวะทางจิต "จากการวิจัยเราได้ผลลัพธ์ที่มีคุณค่ามาก แต่มิตรสหายหลายท่านยังไม่เชื่อ นั่นก็คือความเจ็บป่วยของมนุษย์ที่เรียกว่าอาการทางจิตประสาทนั้นมีผลมาจากหลายสาเหตุ โดยอาจเป็นผลมาจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงสัญชาตญาณทางเพศที่ล้มเหลว 'อัตตา' (ego) อาจรู้สึกถูกคุกคามด้วยสัญชาตญาณทางเพศ แล้วป้องกันด้วยการกดความต้องการนั้นไว้ อย่างไรก็ดี ผลของมันอาจไม่ใช่สิ่งที่น่าปรารถนา มันอาจนำไปสู่การแสวงหาสิ่งทดแทนที่อันตรายกว่า และเพิ่มภาระในการตอบโต้ของอัตตา ปรากฏการณ์ทั้งสองชั้นนี้นำไปสู่การเกิดขึ้นของอาการทางจิตประสาท " ฟรอยด์กล่าว (The Psycho-analytic View of Psychogenic Disturbance of Vision, 1910) "ในส่วนดวงตา เรามักจะแปลกระบวนการที่คลุมเครือทางจิตใจว่าด้วยการกดความต้องการทางเพศผ่านการมอง และการเกิดขึ้นของอาการผิดปกติของการมองเห็นเนื่องจากภาวะทางจิต ราวกับว่า มันมีเสียงแห่งการลงทัณฑ์ออกมาจากข้างในว่า 'เพราะแกใช้อวัยวะสำหรับมองเห็นเพื่อความพึงใจในสัมผัสอันชั่วร้าย มันสมควรแล้วที่แกไม่สามารถมองเห็นได้อีกต่อไป'" ฟรอยด์อธิบาย ก่อนยกตัวอย่างกรณีตำนานของโกไดวา "โทษแบบตาต่อตาฟันต่อฟันในกรณีนี้จริง ๆ แล้ว คำอธิบายของเราที่ว่าปัญหาการมองเห็นที่ผิดปกติเนื่องจากภาวะทางจิตนั้นยังสอดคล้องกับสิ่งที่สื่อในตำนานปรำปรา ตำนานของหญิงงาม ท่านผู้หญิงโกไดวาที่เล่าถึงชาวบ้านซึ่งหลบซ่อนอยู่หลังประตูหน้าต่างที่ปิดทึบ เพื่อให้การขี่ม้าเปลือยกายกลางถนนช่วงกลางวันแสก ๆ ของท่านหญิงเป็นไปได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดีมีชายหนึ่งรายแอบมองลอดช่องหน้าต่างเพื่อมองเห็นความงามที่เปลือยเปล่าของเธอ เขาจึงถูกลงโทษให้ต้องตาบอด หรือไม่นี่ก็อาจเป็นตัวอย่างที่ชี้ว่า อาการป่วยทางจิตคือกุญแจที่ซ่อนอยู่ในตำนานด้วยเช่นกัน" ตำนานของโกไดวาน่าจะเรียกว่า มีความนิยมสูงสุดในช่วงศตวรรษที่ 17 หลังมีการสอดแทรกเรื่องของทอมนักถ้ำมองเข้ามา และมีการจัดขบวนแห่เพื่อจำลองเหตุการณ์ที่ (น่าจะไม่เคย) เกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยปีก่อนที่โคเวนทรีถิ่นกำเนิดของตำนานนับแต่นั้นมา  เพียงแต่ว่า เวลาจัดขบวนแห่ ชาวบ้านจะไม่ได้หลบซ่อนอยู่ในบ้าน หากยืนมุงรอชมหญิงนุ่งน้อยห่มน้อยกึ่งเปลือยที่รับบทเป็นท่านผู้หญิงโกไดวากันเป็นทิวแถว บางครั้งก็มีการทะเลาะวิวาทกันเพื่อแย่งกันเข้าใกล้ผู้รับบทท่านผู้หญิง สร้างความไม่พอใจให้กับเหล่าหมอสอนศาสนาท้องถิ่นที่เห็นว่า ตำนานดังกล่าวถูกบิดเบือนเพื่อสนองตัณหาอันไม่สมควร  เมื่อเกิดสงครามและความวุ่นวายอื่น ๆ เข้ามาขวางเป็นระยะ การจัดงานจึงไม่ต่อเนื่องและเลิกราไป ก่อนกลับมาจัดงานเป็นกิจลักษณะอีกครั้งเมื่อปี 1997 ในชื่อ Coventry Godiva Festival ซึ่งมีการแสดงดนตรีเป็นตัวชูโรงแทน