รู้จัก คุณหญิงใหญ่ ดำรงธรรมสาร สตรีผู้แต่งหนังสือธรรมะยุคแรก

รู้จัก คุณหญิงใหญ่ ดำรงธรรมสาร สตรีผู้แต่งหนังสือธรรมะยุคแรก

สตรีผู้แต่งหนังสือธรรมะยุคแรก

หนังสือที่เคยเข้าใจกันว่าเป็นบทสนทนาระหว่าง “หลวงปู่มั่น” กับ “หลวงปู่จูม” ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “ธัมมานุธัมมปฏิบัติ” (และอีกหลายชื่อ) เป็นงานที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่าและผู้ประพันธ์น่าจะต้องเป็นผู้ที่แตกฉานในธรรมะ จึงมีผู้ยกเครดิตให้กับสองพระอาจารย์ชื่อดัง แต่งานที่พิมพ์ปีเก่าๆ กลับไม่มีการบันทึกชื่อผู้แต่งเอาไว้เลย พึ่งจะมีการระบุชื่อว่าเป็นการสนทนาของหลวงปู่มั่นและหลวงปู่จูมเมื่อราวๆ ปี 2540 เท่านั้น กระทั่ง นริศ จรัสจรรยาวงศ์ และ มาร์ติน ซีเกอร์ สองนักวิชาการได้ร่วมกันพิสูจน์ให้เห็นว่า หนังสือเล่มดังกล่าวแท้จริงแล้วเป็นงานของ “คุณหญิงใหญ่ ดำรงธรรมสาร” สตรีผู้แตกฉานในธรรมะ และยังเป็นสร้างวัดธรรมิการามที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามประวัติคุณหญิงใหญ่ เป็นธิดาของ พระยาเกษตรรักษา (ช่วง) เสนาบดีกระทรวงเกษตร เกิดเมื่อ พ.ศ. 2425 ต่อมาได้สมรสกับ พระยาดำรงธรรมสาร (ส่าง วิเศษศิริ) ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันเพียงคนเดียวซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก ต่อมาจึงได้รับ ประสพ วิเศษสิริ (บุตรของพระยาดำรงธรรมสารกับคุณเจริญ วิเศษศิริ) มาเป็นบุตรบุญธรรม ความศรัทธาในพระศาสนาของคุณหญิงเห็นได้จากการบริจาคที่ดินและการสร้างวัดธรรมิการามที่ประจวบคีรีขันธ์ และเล่ากันว่าคุณหญิงใหญ่สนใจในเรื่องธรรมะมาตั้งแต่ยังเล็ก ได้มีโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์ของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส แต่กว่าที่เราจะรู้จักตัวตนของคุณหญิงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความที่เธอเป็นคนเก็บตัวพอสมควร คุณนริศเล่าถึงเบาะแสที่ทำให้เขาได้พบกับคุณหญิงใหญ่ว่า “ได้พบกับอาจารย์ท่านนึงที่เอาหนังสือให้เมื่อปี 2535 ท่านเจ้าคุณตอนนั้นก็คือสมเด็จพระญานวโรดมที่วัดเทพศิรินทร์บอกว่าเนี่ยท่านเห็นปุ๊บท่านบอกได้เลย งานชิ้นนี้คืองานของคุณหญิงใหญ่เพราะว่าท่านทัน ตอนสมัยนั้นท่านยังเป็นพระหนุ่มๆ” ในบทความชิ้นแรกว่าด้วยเรื่องของคุณหญิงใหญ่ของ คุณนริศและ ดร. มาร์ตินที่เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม (ตามรอยเรื่องราวของ นักปฏิบัติธรรมหญิงโดดเด่นที่ถูกลืม คุณหญิงใหญ่ ดำรงธรรมสาร) ทั้งคู่ได้ยกหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งที่ช่วยชี้ให้เห็นว่า บทสนทนาธรรมที่เข้าใจกันว่าเป็นการสนทนาระหว่างสองพระอาจารย์ชื่อดังนั้น น่าจะเป็นงานของคุณหญิงใหญ่ นั่นก็คือ อารัมภบทในหนังสือ “ตัดบ่วงกรรม” ที่พิมพ์เพื่อเป็นอนุสรณ์อายุครบ 60 ปีของ ประสพ วิเศษศิริ บุตรบุญธรรมคุณหญิงใหญ่ ความว่า “สำหรับบทความ ธรรมะที่คุณแม่ คุณหญิงใหญ่ ดำรงธรรมสาร ได้เขียนขึ้นนี้ ได้มีท่านผู้มีจิตศรัทธาในพระธรรมที่คุณแม่เขียนขึ้น โดยนำไปจัดพิมพ์ออกเผยแพร่ที่เป็นมหากุศลยิ่ง เป็นที่น่าเสียดายและเสียใจที่ผู้นำไปพิมพ์เผยแพร่มิได้ใส่ชื่อของคุณแม่ลงพิมพ์ไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นเกียรติประวัติในผลงานของท่านด้วย ฉะนั้น ในอนาคตหากท่านผู้ใดมีความประสงค์จะนำไปพิมพ์เผยแพร่เป็นการกุศลแล้ว ข้าพเจ้าใคร่ขอความกรุณาได้พิมพ์ชื่อผู้เขียน คือคุณแม่ของข้าพเจ้า (คุณหญิงใหญ่ ดำรงธรรมสาร) ไว้ด้วยก็จักเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน ซึ่งล่วงลับไปแล้ว” และในหนังสือเล่มนี้ก็มี “บทสนทนา” ดังกล่าวทั้ง 5 บทมาตีพิมพ์ พร้อมด้วยโคลงสองบทที่คุณหญิงประพันธ์ขึ้นบอกถึงวัตถุประสงค์ที่เธอตัดสินใจบวชชีความว่า               “จาก สถานถิ่นทิ้ง           ทั้งผอง            บ้าน สิไป่คิดปอง             ปกป้อง            มา สร้างกุศลสนอง          หนีหน่าย ทุกข์แฮ           วัด วิเวกเวิกวุ่นจ้อง           จักพ้นมลทิน ฯ             บวช เรียนเพียรเพื่อพ้น    ภัยมหันต์           ชี วิตจิตต์ใจหัน               ห่างร้าย          หนี ภัยเพื่อพรหมจรรย์       จิตต์สงบ สุขเฮย         ทุกข์ โทษโหดหายได้           เพราะด้วยความเพียร ฯ                                                          ใหญ่ ดำรงธรรมสาร   คุณนริศเล่าว่า มีโอกาสได้พบกับคุณประสพซึ่งมีอายุกว่าเก้าสิบแล้วแต่ยังมีความจำดีและได้ถามถึงอนุสรณ์งานศพของคุณหญิงใหญ่ แต่คุณประสพบอกว่า “ไม่มี” อย่างไรก็ดี หลังจากที่สองนักวิชาการได้ทำการค้นคว้ามากกว่าสามสี่ปีและมีหลักฐานแวดล้อมมากมาย และเตรียมที่จะพิมพ์หนังสือ “ดำรงธรรม” รวบงานงานที่เชื่อว่าเป็นของคุณหญิงใหญ่ออกเผยแพร่ ทั้งคู่ก็ได้มาพบกับหลักฐานที่มีน้ำหนักมากที่สุดที่วัดบางทราย “แต่เมื่อถึงวันสุดท้ายที่เราจะพิมพ์เล่มนี้ รวบรวมงานชิ้นนี้ (หนังสือดำรงธรรม) เข้าปรููฟหมดแล้วนะ เข้าโรงพิมพ์หมดแล้ว แล้วเราก็ไปเที่ยวที่วัดเขาบางทรายกัน ปรากฏว่ามันมีห้องเก็บของเก่าๆ ท่านพระครูดำก็บอกว่าลองไปค้นดู ตอนนั้นเราไม่ได้ตั้งใจเลยนะ วันนั้นผมอยู่กับมาร์ตินตั้งแต่บ่ายสองอยู่จนถึงสองทุ่มแล้วไปนั่งค่อยๆ รื้อ แล้ววันนั้นเป็นวันพระด้วยนะ เป็นวันพระใหญ่ด้วยนะ ฟิลลิงมันแบบ มาร์ตินมันหยิบออกมา มาร์ตินมันก็หยิบหนังสืออนุสรณ์งานศพแล้วบอก ‘นริศ! นริศ! มาดูอะไรนี่’” คุณนริศเล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาพบอนุสรณ์งานศพของคุณหญิงใหญ่ คำนำของหนังสือดังกล่าวมีความว่า “ข้าพเจ้าทราบว่าคุณหญิงดำรงธรรมสาร (ใหญ่ วิเศษศิริ) มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแต่ในปฐมวัยจนถึงมรณะ ท่องมหาสติปัฏฐานสูตรในหนังสือสวดมนต์บาลี 30 หน้าครึ่ง แลท่องความแปลได้ตลอด แลจำโสฬสปัญหาได้ทั้ง 16 ปัญหาทั้งแปลด้วย แลธรรมอื่นอีก เวลาเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้บอกให้คนเขียนตามคำบอกตลอดเล่ม เสร็จแล้วนำมาให้ข้าพเจ้าช่วยตรวจ ข้าพเจ้าแก้นิดหน่อย เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสทำนุบำรุงศาสนามาก เช่นสร้างวัดธรรมิการาม เมืองประจวบคีรีขันธ์ เกื้อกูลภิกษุสามเณร พิมพ์หนังสือธรรมแจกแก่ผู้ปฏิบัติเป็นต้น จนตลอดชีวิต” “คำนำแบบนี้ แล้วเปิดมาอีกหน้านึง ‘สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทราวาส 27 กันยายน 2489’ ตอบคำถามทั้งหมด เพราะว่าอนุสรณ์งานศพเล่มนั้นคือเอางานหนึ่งในห้าเล่มที่ไม่มีปรากฏชื่อของคุณหญิงดำรงธรรมสารไปพิมพ์ โดยเล่มนั้นมีคำนำ”  คุณนริศกล่าว หนังสืออนุสรณ์งานศพของคุณหญิงใหญ่จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยยืนยันสิ่งที่ทั้งสองคนช่วยกันค้นคว้า “มันเป็นกุญแจทุกอย่าง เราเจอคุณหญิงใหญ่อย่างนี้ โอ๊ย! ทำมาสามสี่ปี คุยแบบสนุกๆ ปาฏิหาริย์เลยนะ ถ้าท่านให้เล่มนี้ผมมาตั้งแต่วันแรก เป๊งแรก ปุ๊บอนุสรณ์งานศพก็โอเคก็จบ แต่ท่านมาเนี่ยทุกอย่างสมมติฐาน hypothesis ที่เราสร้างเนี่ยครบหมดแล้ว อนุสรณ์งานศพมาช่วยคอนเฟิร์ม คำนำของอนุสรณ์งานศพของคุณหญิงดำรงธรรมสารมายืนยันทุกอย่างที่เราทำไปสี่ปี” และงานของคุณหญิงใหญ่ (ช่วง 2475-77) ก็นับว่าเป็นงานเกี่ยวกับธรรมะที่ “แต่ง” โดยสตรีที่เก่าที่สุดชิ้นหนึ่งของไทยในสมัยที่การศึกษาของผู้หญิงยังมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ในบั้นปลายชีวิต คุณหญิงใหญ่บวชชีใช้ชีวิตอยู่ในบ้านพักติดกับกำแพงวัดธรรมิการาม “คณะเหนือ” (มีวัด “คณะใต้” อีกวัดหนึ่งอยู่ติดกัน) หลังเสร็จสิ้นงานศพของสามีในช่วงปลายปี 2483 ก่อนที่คุณหญิงใหญ่จะเสียชีวิตลงอย่างกระทันหันในปี 2487 ระหว่างอยู่ในกุฏิชีของวัดสัตตนารถปรวัตร จังหวัดราชบุรี หลังไปร่วมงานศพของ “คุณนายถาง คชะสุต” สตรีนักปฏิบัติธรรมจากราชบุรีผู้เป็นสหธรรมิกของคุณหญิงใหญ่ ซึ่งจากการค้นคว้าของคุณนริศและคุณมาร์ตินมีข้อมูลที่กล่าวว่า ในคืนที่คุณหญิงเสียชีวิตนั้น คุณหญิงได้ไปเชิญภิกษุมาสวดบทที่ท่านต้องการ หลังสนทนาธรรมเสร็จคุณหญิงก็เอ่ยขึ้นว่า “ขอทิ้งสังขารไว้ที่นี่” หลังก้มลงกราบ คุณหญิงก็จากไป