ลม่อม สีบุญเรือง ปัญญาชนหญิงหัวก้าวหน้า ลูกสาวเซียวฮุดเสง

ลม่อม สีบุญเรือง ปัญญาชนหญิงหัวก้าวหน้า ลูกสาวเซียวฮุดเสง
เมื่อผู้หญิงเริ่มได้รับการศึกษาในโรงเรียนหญิงล้วนที่นำเข้ามาจากตะวันตกโดยมิชชันนารี พวกเธอจึงเริ่มแสดงศักยภาพให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน ลม่อม สีบุญเรือง (พ.ศ. 2436-2462) เป็นอีกตัวอย่างของหญิงหัวก้าวหน้าที่มีบทบาททางสังคมในขณะนั้น ลม่อมเติบโตในครอบครัวชนชั้นกลางหัวก้าวหน้า พ่อของเธอ เซียวฮุดเสง เป็นบุคคลในบังคับอังกฤษ นักประชาธิปไตยจีนผู้นำก๊กมินตั๋งในสยาม สนับสนุนการปฏิวัติล้มระบอบกษัตริย์ราชวงศ์แมนจู ซุนยัดเซ็น หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋งยังเคยเดินทางพำนักที่บ้านในสยาม หารือพูดคุยเพื่อให้สนับสนุนชาวจีนโพ้นทะเลในสยาม และเมื่อโค้นล้มราชวงศ์แมนจูและขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกจากจีน พ่อของเธอได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลจีนในช่วง พ.ศ. 2474 ให้เป็นรัฐมนตรีประจำกระทรวงชาวจีนโพ้นทะเล พี่ชายของเธอ ทรงขิม ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายพลประจำกองทัพจีน นอกจากนี้ ครอบครัวของลม่อมยังเป็นเครือญาติกับพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร พจน์ พหลโยธิน มีศักดิ์เป็นหลานเขย เพราะเซียวฮุดเสงมีศักดิ์เป็นลุงภรรยาของเขา มีความรักใคร่และเคารพนับถือมาแต่เวลานมนาน มักไปมาหาสู่บ่อย ๆ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนายทหารชั้นผู้น้อย บ้านของเธอเปิดกิจการโรงพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์และประกอบธุรกิจหนังสือพิมพ์ “จีนโนสยามวารศัพท์” ฉบับภาษาไทย “ฮั่วเซียมซินโป่” ฉบับภาษาจีน และหนังสือพิมพ์รายเดือน “ผดุงวิทยา” ซึ่งจีนโนสยามวารศัพท์มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองในสยามอย่างมาก เพราะมักเสนอความรู้การเมืองและสำนึกประชาธิปไตย วิพากษ์วิจารณ์ แนะนำ ไปจนถึงเป็นปากเป็นเสียงให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ส่งอิทธิพลทางความคิดต่อทหารหนุ่มที่ต้องการปฏิวัติในกรณีกบฏ ร.ศ. 130 และสามัญชนหัวก้าวหน้า   ด้วยเหตุนี้ ลม่อมจึงเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมของคนหัวก้าวหน้าและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง แม้ว่าแม่ของเธอจะหวงลูกสาวอย่างมาก เหมือนชนชั้นกลางทั่วไปในขณะนั้นที่ต้องการให้อยู่ในขนบธรรมเนียมเก่า ไม่อยากให้ลูกสาวออกไปไหนมาไหนนอกบ้าน แต่เธอก็เป็นหญิงชนชั้นกลางที่ออกมาทำงานนอกบ้าน ซึ่งถือว่ามีไม่มากนัก และเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสยามขณะนั้น ลม่อมเป็นหญิงหัวก้าวหน้าสมัยใหม่ที่เฉลียวฉลาดคนหนึ่ง เธอได้รับการศึกษาจากโรงเรียนกาลหว่าร์ โรงเรียนราชินี อัสสัมชัญ และเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ สอบไล่ได้ที่ 1 เสมอ และมีทักษะภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างดี เมื่ออายุ 16 ปี ได้วางแผนจะลาออกมาช่วยกิจการครอบครัว แต่เนื่องจากได้รับทุนการศึกษาจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ จึงไม่ต้องลาออกจากโรงเรียนและได้รับการศึกษาจนจบ แล้วมาเป็นครูฝึกสอนชั้นมัธยมในโรงเรียนราชินีได้ปีกว่า จากนั้นเธอก็ลาออกมาช่วยกิจการครอบครัว ทั้งเป็นผู้จัดการโรงพิมพ์และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ กล่าวได้ว่าลม่อมเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของจีนโนสยามวารศัพท์และเซียวฮุดเสง ลม่อมเป็นผู้กว้างขวางอย่างมาก ไม่เพียงใกล้ชิดกับราชสำนัก เพราะเป็นข้าหลวงเรือนนอกในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ แต่การที่เธอออกมาทำงานนอกบ้าน ยังทำให้เธอสนิทสนมกับลูกหลานสาวและภรรยาชนชั้นนำจำนวนมาก   อย่างไรก็ตาม ลม่อมมีสุขภาพที่ไม่ดีเพราะทำงานหนัก แพทย์แนะนำให้เดินทางไปพักผ่อนเปลี่ยนบรรยากาศต่างประเทศ เธอจึงเดินทางไปญี่ปุ่นกับพ่อใน พ.ศ. 2456 และเริ่มสนใจความรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่นจากนั้นได้แปลหนังสือชื่อ “พงศาวดารญี่ปุ่น” เมื่อสุขภาพดีขึ้นจึงกลับสยาม และหมั้นกับชายคนรัก ขุนจินดาสหกิจ (ละม้าย ธนะสิริ) ใน พ.ศ. 2461 แต่จากนั้นเธอก็เริ่มป่วยอีกครั้ง ลม่อมเป็นนักคิดนักเขียนเหมือนกับพ่อ คอยติดตามข่าวสารต่างประเทศและเผยแพร่ความรู้เสมอ ใช้นามปากกา “ยูปิเตอร์” และ “แดรดนอท” เรียบเรียงเป็นหนังสือ “ชายชาติใจทหาร” พิมพ์แจกนักเรียนและผู้ใช้บริการโรงพิมพ์ ไม่เพียงแปลพงศาวดารญี่ปุ่นพิมพ์เผยแพร่ ยังแปลรัฐประศาสโนบายของญี่ปุ่น ทว่าไม่แล้วเสร็จเพราะเธอเสียชีวิตก่อน ลม่อมอายุสั้น เธอเสียชีวิตเมื่ออายุ 26 ปี ใน พ.ศ. 2462 การตายของเธอทำให้ข้าราชการนักปราชญ์ปัญญาชนในขณะนั้นร่วมกันเขียนคำไว้อาลัยจำนวนมาก และยกย่องเธอถึงกับวางอยู่ในระดับเดียวกับหญิงชนชั้นเจ้านายที่มีบทบาทร่วมสมัยและในประวัติศาสตร์ และให้เธอเป็นตัวอย่างที่ดีของหญิงที่มีความสามารถไม่แพ้ผู้ชาย ในยุคสมัยที่ผู้หญิงยังไม่มีโอกาสหรือได้รับการยอมรับบนที่สาธารณะมากนัก ว่า “แม้ผู้หญิงจะบอบบางกว่าผู้ชาย ทำงานหนักได้ไม่เท่าผู้ชาย แต่สติปัญญาความฉลาดไม่ต่างกัน ผู้หญิงจึงควรเรียนหนังสือได้เสมอผู้ชาย น่าเสียดายที่ผู้หญิงยังถูกกีดกันการศึกษา ผู้หญิงสามารถทำกิจการให้สำเร็จได้ ยกตัวอย่างสมเด็จรีเยนต์ในคราวที่รัชกาลที่ 5 เดินทางไปยุโรป มีความกล้าหาญสามารถรบข้าศึกศัตรูได้เช่น ท้าวเทพกษัตรี และพระสุริโยทัย เก่งด้านอักษรศาสตร์ กวีเช่นลม่อม สีบุญเรือง”   ที่มา พระยาพหลพยุหเสนา คำไว้อาลัย. ใน การฝึกนิสสัยเด็ก พระนคร : ร.ส.พ. หนังสือที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพคุณแม่เหรียญ สีบุญเรือง เมรุวัดแก้วฟ้า (ล่าง) วันที่ 11 ตุลาคม 2496 บุตรธิดาพิมพ์อุทิศ. เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์. เซียวฮุดเสง สีบุญเรือง : ทัศนะและบทบาทของจีนสยามในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงอมร สีบุญเรือง. ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2540. เซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง ไว้อาลัย กัญญานุสร เปน นิพนธ์ของหลายกวี พิมพ์ในการปลงศพนางสาวลม่อม สีบุญเรือง เมื่อปีวอก พ.ศ. 2463 พระนคร จีนโนสยามวารศัพท์. บุรุษสามารถฉันใด สัตรีก็สามารถฉันนั้น พระวรเวทย์พิสิฐ กัญญานุสร เปน นิพนธ์ของหลายกวี พิมพ์ในการปลงศพนางสาวลม่อม สีบุญเรือง เมื่อปีวอก พ.ศ. 2463 พระนคร จีนโนสยามวารศัพท์.   เรื่อง: ชานันท์ ยอดหงษ์