“ที่หนึ่งไม่ไหว!” 19 ปีของ ลี ชอง เหว่ย นักแบดฯ กับมะเร็งที่พรากโอกาสพิชิตเหรียญทองโอลิมปิก

“ที่หนึ่งไม่ไหว!” 19 ปีของ ลี ชอง เหว่ย นักแบดฯ กับมะเร็งที่พรากโอกาสพิชิตเหรียญทองโอลิมปิก
การแข่งขันแบดมินตันเริ่มต้นขึ้นแล้ว สปอตไลท์ฉายนำทางให้นักกีฬาในดวงใจของชาวมาเลเซียเดินออกมาอย่างโดดเด่น พี่น้องเสือเหลืองพร้อมใจกันส่งเสียงกู่ร้องดังกึกก้องไปทั้งสนาม ผู้ชมต่างปรบมือให้การต้อนรับ ลี ชอง เหว่ย! ลี ชอง เหว่ย! ลี ชอง เหว่ย! ลี ชอง เหว่ย (Lee Chong Wei) คือนักกีฬาแบดมินตันชายเดี่ยว ผู้ครองสถิติอันดับ 1 ของโลกรวมกัน 349 สัปดาห์ จำนวนนี้เป็นการครองสถิติ 199 สัปดาห์ติดต่อกัน ทั้งยังเป็นเจ้าของแชมป์เวิลด์ทัวร์ 69 รายการ ชนะ 715 ครั้ง แพ้ 139 ครั้ง พ่วงด้วยการคว้าชัย 28 ครั้งในเกมส์ บีดับเบิลยูเอฟ ซูเปอร์ ซีรีส์ อีก 11 ครั้งของ ซูเปอร์ ซีรีส์ พรีเมียร์ และ 4 ครั้งใน ซูเปอร์ ซีรีส์ ไฟนอลส์ ไม่นับรายการ เอเชีย แชมเปียนชิพส์, อินโดนีเซีย โอเพน, อลล อิงแลนด์ โอเพน และ คอมมอนเวลธ์ เกมส์ ที่ ลี ชอง เหว่ย จองแชมป์ไว้คนเดียวหลายสมัย เรียกได้ว่าเขาเป็นหนึ่งในนักสู้แห่งสังเวียนแบดมินตันที่มีฝีมือหาตัวจับยากในรอบหลายสิบปี ถึงจะคว้าแชมป์มาเป็นกระบุง แต่ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์, เวิลด์ แชมเปียนชิพส์ หรือแม้กระทั่งโอลิมปิก ลีกลับพลาดท่าไม่สามารถคว้าชัยได้แม้แต่ครั้งเดียวในชีวิต เหตุนี้เองทำให้เขาถูกขนานนามว่าเป็นดั่ง “ราชันไร้มงกุฎ” ผู้ปราชัยให้กับศึกใหญ่ เป็นรองในรอบชิงชนะเลิศอยู่ร่ำไป ลี ชอง เหว่ย หรือที่คนไทยรู้จักกันในฉายา “เทพลี” เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ปี 1982 ในครอบครัวชาวจีนที่อาศัยอยู่ในรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย ด้วยอายุ 11 ขวบกับความเข้มงวดจากผู้เป็นแม่ที่สั่งห้ามไม่ให้ไปเล่นบาสเก็ตบอลที่เขารัก ด้วยเหตุผลที่ว่าแดดกลางแจ้งนั้นร้อนจนเกินไป ทำให้พ่อที่รักกีฬาเป็นทุนเดิม ตัดสินใจจูงมือลูกชายเข้าสู่คอร์ทแบดมินตัน โดยฝากฝังเขาไว้กับโค้ชท้องถิ่นนามว่า เตห์ เป็ง ฮวท ที่ถ่ายทอดทุกกระบวนท่าวิทยายุทธแบดมินตันให้ศิษย์อย่างลีแบบไม่กั๊ก และผลักดันให้ลงแข่งขันจนชนะหลายรายการทัวร์ทั้งเล็กทั้งใหญ่ในประเทศ ก่อนจะเตะตาหัวหน้าโค้ชทีมชาติอย่าง มิสบุน ซิเด็ก ทำให้ลีได้ก้าวเข้ามาเล่นให้ทีมชาติเต็มตัวในวัย 17 ปี ด้วยสไตล์การเล่นที่เน้นความว่องไว รับและตบลูกแบบพุ่งสุดตัว แถมลูกล่อลูกชนหน้าเน็ตแพรวพราว และเกมส์รุกกดดันให้คู่ต่อสู้แพ้ภัยตัวเองอย่างช้า ๆ ทำให้ในปี 2008 ลีทะยานเข้าสู่รอบสุดท้ายในกีฬาโอลิมปิกเป็นครั้งแรกให้ประเทศ และคว้าเหรียญเงินแห่งความภาคภูมิใจ ทำให้เขาได้รับการเชิดชูเกียรติแต่งตั้งเป็น “ดาโต๊ะ” เครื่องอิสริยาภรณ์ที่มอบให้แก่บุคคลทั่วไปที่ประกอบคุณงามความดีทำคุณประโยชน์และเป็นแบบอย่างต่อประเทศชาติจากผู้ว่าการรัฐปีนัง หรือหากจะเปรียบเปรยก็คงไม่ต่างจากยศอย่าง “ท่านเซอร์” ของอังกฤษมากนัก ทั้งยังได้รับการยอมรับจากนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ในฐานะฮีโร่ของชาติอีกด้วย

“ที่หนึ่งไม่ไหว!” 19 ปีของ ลี ชอง เหว่ย นักแบดฯ กับมะเร็งที่พรากโอกาสพิชิตเหรียญทองโอลิมปิก

ลีทำผลงานได้ดีเรื่อยมาหลังจากนั้น เขาแสดงฟอร์มอย่างยอดเยี่ยมจนได้รับรางวัลผู้เล่นแห่งปีจากสหพันธ์แบดมินตันโลก (BWF) ในปี 2009-2011 ตามด้วยการเปิดตัวหนังสือ “Dare To Be Champion” อัตชีวประวัติที่เล่าเกี่ยวกับความเป็นมาและจุดเปลี่ยนในชีวิตของลี ที่วางแผงเมื่อเดือนมกราคม ปี 2012 จากนั้นปี 2013 ถือเป็นปีทองของลีเลยก็ว่าได้ เพราะเขากวาดเหรียญทองมาได้อีก 7 เหรียญจากการแข่งขันรายการต่าง ๆ และเริ่มต้นปี 2014 อย่างสวยงามจากอันดับหนึ่งใน ออล อิงแลนด์ โอเพน ทุกอย่างดูเหมือนดำเนินไปด้วยดี แต่แล้วก็มิวายมีมรสุมรุมเร้า เพราะเมื่อเดือนกันยายน ปี 2014 เขาถูกตั้งข้อสงสัยว่าใช้สารกระตุ้น ด้วยผลตรวจปัสสาวะที่พบสาร Dexamethasone ซึ่งเป็นผลทำให้ BWF แบนเขาจากการลงแข่งกว่าครึ่งปี จนลีเอ่ยปากว่า “นี่เป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่น่าเศร้าที่สุดในชีวิต” แต่ผลสุดท้าย BWF ก็ออกมาประกาศว่า ลีไม่มีเจตนาโกงการแข่งขัน และอนุญาตให้ลงแข่งต่อได้ในเดือนเมษายน ปี 2015 นิยามความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หลายคนอาจคิดว่าการที่ลีได้แชมป์แบดมินตันมาครองรายการแล้วรายการเล่า นั่นคือความสำเร็จสุด ๆ ของลีแล้ว แต่สำหรับเจ้าตัวกลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะความสำเร็จสูงสุดของอาชีพนักแบดมินตันในมุมของลีคือการคว้าแชมป์โอลิมปิก ทว่าเส้นทางก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะโอลิมปิก 2012 ซึ่งเป็นโอลิมปิกครั้งที่ 2 ของลี เขาพ่ายให้กับ หลิน ตัน นักแบดฯ ชาวจีน คู่รักคู่แค้นที่เบียดแย่งเหรียญทองโอลิมปิกไปจากเขาในปี 2008 ส่วนโอลิมปิก 2016 ลีก็ไปจนสุดแล้วหยุดที่เหรียญเงินเป็นครั้งที่ 3 โดยแพ้ให้กับ เฉิน หลง นักแบดฯ แดนมังกร ที่แม้ลีจะเคยชนะมาแล้วใน 3 ทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ทั้ง เอเชีย แชมเปียนชิพส์, ไชนา โอเพน และ มาเลเซีย โอเพน แต่พอถึงนัดชี้ชะตาความฝัน ลีกลับทำผลงานได้ไม่ถึงเป้า อย่างไรก็ตาม “เทพลี” ก็ไม่คิดย่อท้อ เขายังมีความหวังว่าจะสามารถเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของเขาให้ได้ก่อนจะไม่มีโอกาสอีกแล้วในชีวิต ผมอยากไปโอลิมปิกอีกสักครั้ง และมันจะเป็นการลงแข่งโอลิมปิกครั้งที่ 5 ของผม ยังไม่มีนักกีฬาจากมาเลเซียคนไหนเคยทำได้เลยด้วย เพราะฉะนั้นผมจึงอยากสร้างประวัติศาสตร์ มันไม่ง่ายเลยจริง ๆ ที่จะได้ไปโอลิมปิกครั้งที่ 5 นั่นแปลว่าต้องใช้เวลาทั้งหมด 20 ปีเชียวนะ” ด้วยความอดทน ทุ่มเท อุทิศตนให้กับกีฬาแบดมินตัน หวดแร็กเก็ตพิชิตมาแล้วทั้งศึกใหญ่ศึกเล็ก ลีเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาทั้งชีวิตเพื่อศึกโอลิมปิกครั้งสุดท้าย แต่แล้วเขาก็ต้องพบฝันร้ายเข้าอีกครั้ง คราวนี้ถึงขั้นทำให้เส้นทางของเขามืดดับลงเลยทีเดียว! ลีประสบปัญหาสุขภาพมาสักระยะ จึงพยายามพักฟื้นเพื่อให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงโดยไว แต่แล้ววันหนึ่งภรรยาของเขาก็ได้รับแจ้งข่าวทางโทรศัพท์ว่าอาการที่ลีเป็นอยู่นั้นร้ายแรง จนอาจมีผลกับอนาคตของนักตบขนไก่  “เธอเดินมาหาผม กอดผมไว้แล้วก็ร้องไห้ เธอบอกข่าวร้ายว่ามันคือมะเร็งโพรงจมูก กระเป๋าแบดมินตันของผมหลุดออกจากมือแล้วก็เริ่มร้องไห้ ผมทิ้งตัวลงบนโซฟา แล้วก็ได้แต่ถามว่าทำไมถึงต้องเป็นผม” นักแบดฯ มือ 1 โลกเล่าถึงช่วงเวลาในเดือนกรกฎาคม ปี 2018 แล้วบอกต่อว่า ช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดคือช่วง 3 สัปดาห์แรกที่คอของเขาทรมานจนไม่สามารถรับประทานอาหารหรือพูดได้เลย ซ้ำยังต้องพักรักษาตัวต่อเนื่อง และต้องหยุดเข้าร่วมแข่งขันในหลายรายการตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2018 จนอันดับโลกร่วงกราวมาอยู่ที่อันดับที่ 191

“ที่หนึ่งไม่ไหว!” 19 ปีของ ลี ชอง เหว่ย นักแบดฯ กับมะเร็งที่พรากโอกาสพิชิตเหรียญทองโอลิมปิก

เกือบทั้งชีวิตที่อยู่กับแบดมินตัน และ 19 ปีของการรับใช้ชาติด้วยความสามารถและพรสวรรค์ด้านกีฬา ชีวิตที่โลดแล่นอยู่บนคอร์ทก็เป็นอันต้องจบสิ้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพ พร้อมการแถลงข่าวแขวนแร็กเก็ตอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2019 ซึ่งในวันนั้นภาพของน้ำตาของราชันผู้ร่ำไห้ก็ออกอากาศไปทั่วประเทศ สร้างความเสียอกเสียดายและใจหายให้ชาวเสือเหลืองและแฟนแบดมินตันทั่วโลก แต่ลีก็ได้รับกำลังใจกลับมาอย่างล้นหลาม รวมทั้งจาก หลิน ตัน ที่โพสต์ในเว่ยป๋อส่วนตัวว่า “ลงแข่งขันอย่างเดียวดาย ไร้เพื่อนร่วมทางอีกต่อไป” พร้อมกับเพลง ‘Don’t Cry , My Friend’ อำลาคู่ปรับตลอดกาลที่เขาตั้งตารอจะดวลกันในโอลิมปิก 2020 แม้ว่า ลี ชอง เหว่ย จะพลาดโอกาสคว้าเหรียญทองจากโอลิมปิกมาประดับ “ฮอลล์ ออฟ เฟม” แต่ก็ใช่ว่าลีจะตัดสินชีวิตทั้งหมดของเขาจากเหรียญทองเหรียญเดียว ถึงจะเสียใจที่ไม่มีโอกาสทำตามความฝัน แต่เขาก็มั่นใจว่าตนเองได้ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างไปเต็มที่แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่เขาต้องกังวลอีกต่อไป “ตั้งแต่เด็ก ความฝันของผมคือการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และผมคิดว่าผมทำสำเร็จแล้ว ทั้งความรู้สึกที่ได้ยืนบนแท่น การได้เห็นธงโบกสะบัด และเสียงร้องเพลงชาติ ผมจะจดจำช่วงเวลานั้นตลอดไป ผมขอขอบคุณเพื่อน ๆ ทุกคน และขออภัยกับความผิดพลาดที่ผ่านมาในเส้นทางสายอาชีพของผม... “นี่เป็นเวลาที่ม้าแก่ตัวหนึ่งต้องพักผ่อนแล้ว ขอบคุณครับ”   ที่มา: https://www.smmsport.com/reader/news/252677 https://www.theguardian.com/sport/2014/nov/08/lee-chong-wei-badminton-world-no1-fails-doping-test http://www.badminton-information.com/lee-chong-wei.html https://www.channelnewsasia.com/news/sport/lee-chong-wei-describes-moment-he-found-out-nose-cancer-11020806 https://www.channelnewsasia.com/news/sport/lee-chong-wei-describes-moment-he-found-out-nose-cancer-11020806?cid=h3_referral_inarticlelinks_24082018_cna https://www.channelnewsasia.com/news/sport/lee-chong-wei-announces-retirement-ending-19-year-11622752 https://www.channelnewsasia.com/news/asia/lee-chong-wei-badminton-retire-sorry-malaysia-fans-olympic-gold-11624326?cid=h3_referral_inarticlelinks_24082018_cna https://en.wikipedia.org/wiki/Lee_Chong_Wei https://www.thairath.co.th/person/8403  https://bwfbadminton.com/player/50152/lee-chong-wei/ranking-history/   เรื่อง: สกีฟา วิถีกุล (The People Junior) ภาพ: https://www.facebook.com/leechongweiofficial/