เลสเตอร์ วิลเลียม พอลฟัสส์: จากคำดูถูกว่า ‘ไม้กวาดดีดได้’ สู่บิดากีตาร์ไฟฟ้า ‘เลส พอล’

เลสเตอร์ วิลเลียม พอลฟัสส์: จากคำดูถูกว่า ‘ไม้กวาดดีดได้’ สู่บิดากีตาร์ไฟฟ้า ‘เลส พอล’
แม้ ‘เลส พอล’ (Les Paul) จะโด่งดังในความทรงจำของผู้คนยุคปัจจุบันในฐานะกีตาร์ไฟฟ้าทรง solid body (ทรงตัวตัน ไม่มีรูโปร่ง) รุ่นแรก ๆ จากกิบสัน (Gibson) แบรนด์กีตาร์ที่สร้างชื่อเสียงในระดับโลกมาตั้งแต่ร้อยปีก่อนจวบจนปัจจุบัน หากอีกด้านของ ‘เลส พอล’ คือชื่อชายชาวอเมริกันผู้เป็นมากกว่าเจ้าของนามแห่งรุ่นกีตาร์ แต่เขาคือมือกีตาร์ที่แตกฉานในดนตรีแจ๊ส เจ้าของสตูดิโออัดเสียงผู้อยู่เบื้องหลังเพลงดังจากยุค 40s - 50s เพลงแล้วเพลงเล่า นอกจากนั้นเขายังเป็นนักประดิษฐ์ที่ถูกเทียบว่าคือ ‘ทอมัส เอดิสัน (Thomas Edison) พ่อมดนักประดิษฐ์แห่งวงการดนตรี’ และเป็นบุคคลเดียวที่ถูกจารึกชื่อไว้ทั้งในหอเกียรติยศร็อกแอนด์โรลล์ (Rock and Roll Hall of Fame) และหอเกียรติยศนักประดิษฐ์แห่งชาติ (National Inventors Hall of Fame) นี่คือเรื่องราวของนักดนตรีและนักประดิษฐ์กีตาร์ไฟฟ้า ผู้สร้างและพัฒนากีตาร์ทรง ‘Les Paul’ ให้ถือกำเนิดขึ้น แม้ครั้งแรกที่เขาเสนอผลงานแก่กิบสัน เขาจะโดนเยาะเย้ยจากบอร์ดนักผลิตกีตาร์ว่าเครื่องดนตรี 6 สายของเขาเหมือน ‘ไม้กวาดติดปิกอัพ’ หรือ ‘ไม้กวาดดีดได้’ ก็ตาม   เด็กชายผู้ไม่ยอมเรียนดนตรี ปี 1915 เลสเตอร์ วิลเลียม พอลฟัสส์ (Lester William Polsfuss) หรือเป็นที่รู้จักภายหลังว่า เลส พอล เกิดและเติบโตในเมืองวอเคชา ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ในรัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ครอบครัวของเขาชื่นชอบดนตรีมากพอที่จะจ้างครูสอนเปียโนให้กับลูกชายของตนตั้งแต่เด็กน้อยยังไม่สิบขวบดี แม้จะขัดกับความช่ำของทางดนตรีในอีกหลายปีถัดมา หากในเวลานั้นการพากเพียรสอนเปียโนให้กับพอลของครูคนดังกล่าวล้มเหลว พอลเป็นนักเรียนชั้นเลวเสียจนเมื่อจบคอร์ส ครูคนนั้นถึงกับเขียนจดหมายถึงแม่ของพอลว่า “ลูกชายของคุณจะไม่ยอมเรียนเปียโนแน่ ๆ ไม่มีวัน” หลังจากล้มเหลวจากการเรียนเครื่องดนตรีชิ้นแรก พอลเริ่มหัดเล่นหีบเพลงปากหรือฮาร์โมนิกา (harmonica) ด้วยตนเองตอนอายุ 9 ขวบ พร้อมกับการเริ่มเส้นทางสู่การเป็นศิลปิน พอลได้ค้นพบความน่าสนใจของการประดิษฐ์ไปควบคู่กัน ในวัยเท่านั้นพอลได้เรียนรู้ที่จะสร้างวิทยุคริสตัลด้วยตัวเอง สรรพเสียงแรก ๆ ที่พอลได้ยินจากวิทยุดังกล่าวคือกีตาร์ เขานอนฟังเสียงกีตาาร์ผ่านวิทยุอยู่ตลอดค่ำ และหลังจากรับจ้างส่งหนังสือพิมพ์ตามบ้านจนเก็บเงินได้มากพอสำหรับซื้อกีตาร์ตัวแรกและเริ่มหัดเล่นมัน ในไม่ช้าเขาก็ออกไปเล่นนอกบ้านและหาเงิน 30-35 เหรียญต่อสัปดาห์ได้ภายใต้ชื่อที่รู้จักในหมู่ผู้ฟังว่า ‘รูบาร์บ เรด’ (Rhubarb Red)   เรด นักประดิษฐ์ ความช่ำชองของรูบาร์บ เรด เพิ่มขึ้นตามเวลา ช่วงวัยรุ่นเขาฟอร์มวงดนตรีกับเพื่อนและเล่นประจำที่ร้านอาหารในหมู่บ้าน ในยุคสมัยของพอล กีตาร์ยังไม่ใช่พระเอกแห่งวงดนตรีเช่นในปัจจุบัน ด้วยสมัยนั้นยังไม่มีเทคโนโลยี ‘ไฟฟ้า’ เพิ่มเข้ามาในองค์ประกอบของตัวกีตาร์ ข้อจำกัดของเครื่องดนตรีเสียงเพราะชิ้นนี้คือในหลาย ๆ ครั้งเมื่อต้องเล่นต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก เสียงของมันมักจะเบาเกินไปและถูกกลบโดยเครื่องดนตรีชิ้นอื่น เรดหรือพอลต้องการที่จะลบข้อจำกัดนี้ เขาจึงใช้ความสนใจในการประดิษฐ์ที่ตนมีมาปรับใช้กับมัน เขาใช้โทรศัพท์เครื่องเก่าของแม่ วิทยุ และด้ามไม้กวาดมาประกอบร่างกันเป็นเครื่องขยายเสียงขนาดย่อม สิ่งประดิษฐ์ของเขาใช้ได้ดีจนกระทั่งเขาได้รับกระดาษโน้ตจากผู้ชมโซนห่างเวที ‘เรด สุ้มเสียงและฮาร์โมนิกาของคุณไม่แย่ แต่กีตาร์ของคุณไม่ผ่าน มันเสียงเบาไป’   เดอะล็อกและไม้กวาดดีดได้ หลังจากได้รับคำติจากกระดาษโน้ตปริศนา พอลก็ยิ่งคิดหนักถึงวิธีที่จะทำให้กีตาร์ของเขาเสียงใสและดังพอให้ได้ยินอย่างทั่วถึง เขาเริ่มปรับแต่งกีตาร์ครั้งแล้วครั้งเล่าโดยอ้างอิงรูปแบบจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ครั้งหนึ่งเขาใช้โทนอาร์มจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงของพ่อมาประกอบเข้ากับตัวเครื่อง (นับเป็น ‘กีตาร์ไฟฟ้า’ ตัวแรกที่เขาสร้างขึ้น) อีกครั้งเขาปรับแต่งมันโดยอิงจากการสั่นของรางรถไฟตอนที่รถไฟวิ่งผ่าน หากเสียงของมันก็ยังไม่เป็นไปตามที่พอลต้องการ  ความพยายามของเขาล่วงเลยมาจนถึงปี 1941 ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนคนหนึ่งที่ทำงานในโรงงานผลิตกีตาร์ พอลได้สร้างผลงานชิ้นเอกที่เป็นต้นแบบของ ‘Les Paul’ ขึ้นด้วยเวลาสั้น ๆ ภายในโรงงานผลิตกีตาร์ยี่ห้ออีพีโฟน (Epiphone) พอลนำไม้สน 4 ชิ้นมาประกอบกัน พร้อมด้วยปิกอัพแบบโฮมเมด สายและคอจากกีตาร์อีพีโฟนรุ่นบรอดเวย์ เขาเชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกัน และคราวนี้มันให้เสียงแบบที่เขาต้องการอย่างพอดิบพอดี ด้วยความยินดีอย่างยิ่งตามประสานักประดิษฐ์ พอลเรียกผลงานชิ้นสำคัญของเขาว่า ‘เดอะล็อก’ (the Log) เพราะหน้าตาของมันที่เหมือนท่อนซุง และบอกเพื่อนของเขาว่า  “ดูนะ ฉันจะออกไปซ่าด้วยท่อนซุงนี่” แม้พอลจะภาคภูมิใจในผลงานของตนเพียงใด แต่เมื่อเขานำ ‘เดอะล็อก’ ไปเล่นในไนต์คลับ ผลตอบรับที่ผู้ชมมีต่อกีตาร์ทรงท่อนซุงกลับไม่เป็นอย่างที่เขาคิด หลายคนมองเครื่องดนตรี 6 สายของเขาอย่างประหลาดใจ และบางคนก็ถึงกับหัวเราะเยาะอย่างเปิดเผย “ผมได้รู้ในวันนั้นเองว่า ผู้คนไม่ได้ฟังดนตรีด้วยหู แต่พวกเขาเสพดนตรีด้วยสายตา” เมื่อผู้ฟังไม่ชอบใจในรูปร่างของเดอะล็อก เขาจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมันเสียใหม่ พอลเลื่อยเครื่องดนตรีชิ้นน้้นเป็นสองท่อน และประกอบอีกครั้ง โดยเสก ‘ปีก’ ให้มันเพื่อให้เดอะล็อกดูเหมือนกีตาร์ขึ้นมาอีกหน่อย เขาทดลองนำไปเล่นใหม่ในไนต์คลับเช่นเดิม คราวนี้ผู้ชมทุกคนต่างประทับใจกับทั้งตัวกีตาร์และเสียงที่ได้รับจากมัน ‘เดอะล็อกติดปีก’ ของพอลมีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์แห่งกีตาร์ ในฐานะต้นแบบของ ‘Gibson Les Paul’ แต่แม้ว่ามันจะถือกำเนิดขึ้นก่อนการเปิดตัวของ ‘Fender Broadcaster’ ถึง 7 ปีด้วยกัน หาก ‘Les Paul’ กลับเปิดตัวช้ากว่าแบรนด์คู่แข่งถึง 4 ปี เพราะการปฏิเสธถึงสองครั้งจากสองแบรนด์ ครั้งแรกที่พอลรู้ว่าเดอะล็อกสามารถใช้งานได้จริง เพื่อตอบแทนสำหรับคอกีตาร์และสถานที่ที่เขาแอบเข้าไปใช้งานในครั้งก่อน พอลเต็มใจอย่างยิ่งที่จะนำเสนอมันให้กับบริษัทอีพีโฟน หากพวกเขากลับไม่ไยดีเจ้ากีตาร์ทรง solid body ตัวนี้ พอลจึงเสนอมันให้กับบริษัทถัดมาอย่างกิบสันเมื่อราว ๆ ปี 1945-1946 คราวนี้ไม่เพียงแต่ถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย ใครบางคนในบอร์ดผู้ผลิตกีตาร์กลับเยาะเย้ยเดอะล็อกให้เจ้าของมันได้ยินเสียงดังลั่นว่า “เหมือนไม้กวาดติดปิกอัพเลยว่ะ” อีกด้วย   Gibson Les Paul คำเยาะเย้ยที่ว่าทำให้พอลตัดสินใจพับโครงการขายเดอะล็อกให้บริษัทกีตาร์เก็บไป พอลวางมือจากการประดิษฐ์กีตาร์ (ชั่วคราว) และหันไปให้ความสนใจกับการทำสตูดิโออัดเสียงขึ้นในโรงรถที่บ้าน เริ่มจาก ‘It’s Been a Long, Long Time’ และตามมาด้วยเพลงอื่น ๆ อีกมากมายทั้งในแขนงแจ๊สและป็อป พอลเป็นเจ้าของสตูดิโอผู้คิดค้นเทคนิคแห่งการอัดเสียงใหม่ ๆ ในยุคนั้นหลายต่อหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการอัดเสียงหลายแทร็ก การประดิษฐ์เครื่องอัดเทปที่อัดได้ถึง 8 แทร็ก และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในห้องอัดอีกหลายชิ้น พอลให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ที่ใช้อัดเสียงพอ ๆ กับเครื่องดนตรี ร่วมไปกับการทำเพลงฮิตให้คนอื่น พอลเริ่มอัดเพลงของตัวเองร่วมกับ ‘แมรี ฟอร์ด’ (Mary Ford) ผู้เป็นภรรยา และปล่อย ‘How High The Moon’, ‘Lover’, ‘Nola’ ออกมาให้ผู้คนได้ฟัง ชีวิตของพอลกำลังรุ่งโรจน์ ในปี 1951 ที่พนักงานจากกิบสันติดต่อมาอีกครั้ง หลังจากกีตาร์ไฟฟ้ารุ่น ‘Broadcaster’ ของคู่แข่งอย่างเฟนเดอร์ (Fender) ได้วางขายและมียอดซื้อถล่มทลายในปี 1948 กิบสันที่เข้าตาจนเพราะไม่รู้จะหาไม้เด็ดจากไหนมาสู้กระแส Broadcaster ก็ได้ฤกษ์ตัดสินใจถึงความเป็นไปได้ของ ‘ไม้กวาดติดปิกอัพ’ เสียใหม่ พ่วงด้วยการตามหาตัวพอลที่ค่อนข้างจะชีพจรลงเท้าอีกหลายปี และการตกลงเรื่องสัญญาอีกพักใหญ่ ปี 1952 ‘Gibson Les Paul’ ก็ได้ฤกษ์จัดจำหน่าย และกลายเป็นเครื่องดนตรีชิ้นโปรดของผู้คนมาจนถึงปัจจุบัน   นักดนตรีนิ้วพิการ ตลอดชีวิตของเลส พอล เขาดีดและเกากีตาร์อยู่เสมอ เสียงเพลงคือความสุขของเขาเช่นเดียวกับการได้ประดับนิ้วเข้ากับสายทั้งหก กดและดีดมันเพื่อมอบความเพลิดเพลินให้ผู้คน พอลรักการเล่นดนตรีแม้ว่าเขาจะเคยประสบอุบัติเหตุที่ต้องผ่าตัดครั้งใหญ่ ทำให้บางนิ้วของมือทั้งสองข้างเป็นอัมพาตและไม่สามารถขยับได้ เขาก็ยังเล่นกีตาร์ต่อไปด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีวางมือและใช้ประโยชน์จากนิ้วที่ยังดีอยู่แทน “ผมต้องหาวิธีใหม่เพื่อเล่นกีตาร์ แต่ผมคิดว่านั่นคือข้อได้เปรียบนะ เหมือนเกมลับสมองน่ะ มันทำให้ผมได้ใช้หัวคิดมากขึ้น” พอลเล่นกีตาร์จวบจนเดือนท้าย ๆ ของชีวิต ก่อนที่เขาจะจากโลกใบนี้ไปด้วยอาการแทรกซ้อนจากโรคปอดบวมเมื่อปี 2009 ด้วยวัย 94 ปี ทิ้งไว้เพียงเรื่องราวของ ‘พ่อมดนักประดิษฐ์แห่งวงการดนตรี’ และการเปล่งสำเนียงคลาสสิกตามแบบฉบับกิบสันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของกีตาร์ ‘Les Paul’ ที่ถูกยกขึ้นสะพายราวอาวุธคู่กายโดยนักดนตรีทั่วโลก “ผมไม่ได้ตั้งใจจะเป็นอย่างเอดิสัน (พ่อมดนักประดิษฐ์) หรอก” คือคำที่พอลเคยกล่าวในปี 1991 “ผมแค่พยายามสร้างบางสิ่งเพราะว่าผมไม่มี และก็ไม่มีใครมี ผมเลยไม่มีทางเลือกนอกจากทำมันขึ้นมาเอง”   ที่มา: https://www.npr.org/2015/06/09/413178072/the-man-before-the-guitar-remembering-les-paul-at-100 https://www.nytimes.com/2009/08/14/arts/music/14paul.html https://kids.kiddle.co/Les_Paul https://www.rockhall.com/inductees/les-paul https://guitar.com/guides/essential-guide/the-oral-history-of-the-les-paul/ https://www.encyclopedia.com/people/literature-and-arts/music-popular-and-jazz-biographies/les-paul https://www.allmusic.com/artist/les-paul-mn0000818559/biography