เลสรา มาร์ติน: จากเด็กสลัมไม่รู้หนังสือสู่แสงสว่างผู้ปลดปล่อยรูบิน คาร์เตอร์ จากการจองจำกว่า 19 ปี

เลสรา มาร์ติน: จากเด็กสลัมไม่รู้หนังสือสู่แสงสว่างผู้ปลดปล่อยรูบิน คาร์เตอร์ จากการจองจำกว่า 19 ปี
แม้ว่าเพลง ‘เฮอร์ริเคน’ ของ บ๊อบ ดีแลน จะดังสนั่นลั่นสหรัฐอเมริกา แม้ว่านักมวยเฮฟวี่เวทระดับโลกอย่างมูฮัมหมัด อาลี (Muhammad Ali) และคู่ปรับอย่าง โจ เฟรเซียร์ (Joe Frazier) ที่ขึ้นชกกันอย่างดุเดือดเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า จะยืนประท้วงอยู่หน้าเรือนจำเทรนตันด้วยความสามัคคี แต่ความหวังของ ‘รูบิน คาร์เตอร์’ ในการได้ความยุติธรรมที่ถูกพรากไปคืนมายังคงริบหรี่ การไต่สวนครั้งใหม่ในปี 1976 ตัดสินว่ารูบินบริสุทธิ์เนื่องจากได้รับทราบข้อมูลใหม่ว่าประจักษ์พยานที่เป็นหลักฐานสำคัญอย่าง ‘อัลเฟรด เบลโล’ ในการตัดสินคดี ถอนคำให้การที่เคยให้ไว้เมื่อปี 1967 ว่าเห็นรูบิน คาร์เตอร์ในคืนวันเกิดเหตุ “ถึงศาลจะยังตัดสินว่าผมผิดอยู่ เราก็ต้องสู้ต่อไป มันไม่มีเรื่องที่เราทำไม่ได้หรอก มีแต่เรื่องที่ต้องทำได้ และหนทางก็อยู่ข้างหน้าเรานี่เอง เหลือแค่เราเชื่อมั่นและเดินหน้าต่อไป” รูบินกล่าวในการตอบคำถามเรื่องความคืบหน้าคดีหลังจากที่ขึ้นเวทีกับบ๊อบ ดีแลน เมื่อถูกปล่อยตัวในปี 1976 แต่ความยุติธรรมครั้งนี้ยังคงไม่จีรัง ปลายปีเดียวกับที่รูบินถูกปล่อยตัว การไต่สวนครั้งที่สองก็เริ่มขึ้น อัยการทีมใหม่ขุดเอาเรื่องเดิมนั่นก็คือทฤษฎีสีผิว (Racial Revenge Theory) มาโจมตีรูบิน กล่าวหาว่าแรงจูงใจของรูบินในการก่อเหตุในคืนนั้นก็เพื่อแก้แค้นให้เจ้าของโรงเตี๊ยมผิวดำที่ถูกฆาตกรรมไม่กี่คืนก่อนหน้าเหตุการณ์ที่บาร์จะเกิดขึ้น มากไปกว่านั้นบุคคลที่เคยถอนคำให้การอย่าง อัลเฟรด เบลโล ก็กลับลำด้วยการปฏิเสธการถอนคำให้การนั้นอีก (Recant His Recantation) แล้วยืนยันแบบเดิมว่าเขาเห็นรูบินและเพื่อนในคืนวันนั้น และวันนี้เองที่อิสรภาพและความยุติธรรมของชายผิวดำคนหนึ่งถูกพรากไปอีกครั้ง เขาต้องรออีกเกือบ 10 ปี กว่าแสงสว่างแห่งความถูกต้องจะสาดมาหาเขาอีกครั้ง (อ่านเรื่องราวเหตุการณ์ของรูบิน คาร์เตอร์ และเหตุการณ์ก่อนหน้าได้ที่บทความ “บทเพลง Hurricane ของบ๊อบ ดีแลน: แรงพิโรธต่อความอยุติธรรมจากการที่ชายผู้หนึ่งติดคุกฟรี 19 ปีเพียงเพราะเขา ‘ผิวดำ’” https://thepeople.co/bob-dylan-hurricane/ )   แสงสว่างที่กำเนิดจากความมืด ในขณะที่รูบิน คาร์เตอร์ถูกความอยุติธรรมพรากอิสรภาพไปจากชีวิตเขาอีกครั้ง ‘เลสรา มาร์ติน’ (Lesra Martin) ก็กำลังเติบโตขึ้นในย่านที่ปกคลุมไปด้วยความยากจน ยาเสพติด และความรุนแรง จากจุดเริ่มต้น ครอบครัวของเลสราเป็นครอบครัวชนชั้นกลางที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ขัดสนนัก แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด พ่อของเขาล้มป่วย บวกกับปัญหาการติดสุราของทั้งพ่อและแม่ และบ้านที่มอดมลายหายไปจากเหตุการณ์ไฟไหม้ชั่วข้ามคืน ทำให้สถานการณ์ทางบ้านของเขามีปัญหาและจำต้องย้ายจากละแวกบ้านที่อยู่สุขสบายมาอยู่ย่านที่อันตรายอย่างถนนบุชวิค (Bushwick Street) เศษขยะปลิวว่อน หอพักถูกทิ้งร้าง เศษซากรถขึ้นสนิม และเสียงปืนถูกลั่นไก สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่คุณจะเห็นและได้ยินเมื่อมองออกไปนอกหน้าต่างของบ้านในละแวกบุชวิค ชีวิตของเลสราและครอบครัวต้องเปลี่ยนไปตลอดกาลเมื่อเขาก้าวขาออกจากบ้านที่สุขสบายในควีนส์มาสู่ย่านที่แม้แต่จะเดินไปโรงเรียนก็ต้องคอยหมอบหลังซากยางเก่า ๆ เพราะเสียงกระสุนปืนที่ดังเป็นเรื่องปกติ ด้วยฐานะทางบ้านที่เปลี่ยนไป และการจะมีอาหารมากพอที่จะทำให้ทั้งครอบครัวอิ่มท้องก็เป็นเรื่องยาก ทำให้เลสราต้องเริ่มทำงานพิเศษที่ร้านขายของชำ ในคราวแรกเขาถูกเจ้าของร้านไล่ แต่เขาก็คงยืนหยัดที่จะกลับไปขอทำงานจนเจ้าของร้านยินยอม ในขณะเดียวกันพี่น้องของเขาค่อย ๆ ผันตัวเข้าสู่ชีวิตแก๊งอันธพาลและการค้ายาเสพติด ที่แย่ไปกว่านั้น เลสรายังถูกพี่ชายแท้ ๆ ของตนกับสมาชิกแก๊งอันธพาลรังแก จนเมื่ออายุ 13 ปี เขาถึงขั้นที่ต้องเหน็บปืน (ที่ไม่ได้บรรจุกระสุน) ไว้ในกางเกงทุก ๆ ครั้งที่เขาต้องเดินทางผ่านพวกอันธพาลเพื่อที่จะเอาไว้ขู่พวกเขาให้อยู่ห่างจากตน ดูเหมือนสภาพสังคมที่เลสราอยู่นั้นกดดันให้เขาผันตัวเองเข้าสู่ด้านมืด แต่เขายังคงตั้งใจทำงานและเรียนไปพร้อม ๆ กัน แต่ดูเหมือนว่าอย่างหลังเป็นไปได้ไม่สวยนัก เพราะนอกจากการที่เลสรามีภาระหน้าที่ที่จะต้องดูแลหาเลี้ยงครอบครัวและต้องเรียนไปพร้อม ๆ กันแล้ว สภาพแวดล้อมของโรงเรียนเองก็ไม่ได้พัฒนาเด็กไปในทางที่มีคุณภาพเลย เด็กนักเรียนสามารถนั่งเล่นไพ่กันหลังห้องได้โดยมีครูนั่งอ่านหนังสืออย่างนิ่งเฉย แถมข้อสอบก็ไร้เกณฑ์วัดผลว่าเด็กมีศักยภาพจริง ๆ ดังนั้นถึงแม้เขาจะอยู่ในระดับชั้น ม.5 แต่ความสามารถในการอ่านยังคงอยู่ในระดับเดียวกับเด็กระดับชั้น ป.2  ด้วยความมุ่งมั่นพยายามของเลสรา ทำให้วันหนึ่งมีคนเห็นแสงสว่างในตัวเขาท่ามกลางความมืดหม่นในสังคมที่เขาอาศัยอยู่   ชาวแคนาดา ระบบคอมมูน และชีวิตที่เปลี่ยนไป ทุก ๆ วันในการใช้ชีวิตที่ย่านบุชวิค สิ่งที่ต้องแลกมาในชีวิตของเลสราคือโอกาสในการมีอนาคตที่มีคุณภาพ และนับวันที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้ ทางเลือกในเส้นทางของเด็กชายผิวดำคนนี้ก็เหลือเพียงแค่ ยาเสพติด เรือนจำ และอาชญากรรม แต่ชะตาชีวิตของเขากำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล วันหนึ่งในขณะที่เลสรากำลังทำงานพิเศษช่วงฤดูร้อนที่ศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมในบรุกลิน (Brooklyn) เขาก็ได้พบกับนักธุรกิจชาวแคนาดา 2 คนซึ่งมีนามว่า ‘เทอร์รี่ สวินตัน’ (Terry Swinton) และ ‘แซม เชย์ตัน (Sam Chaiton)  ความพิเศษอยู่ตรงที่ว่านักธุรกิจทั้งสองเป็นกลุ่มนักศึกษา 2 คนจาก 8 คนที่รวมตัวกันอยู่แบบ ‘ระบบคอมมูน’ มากว่า 20 ปี ทั้ง 8 คนจะอยู่ในบ้านเดียวกัน และทรัพยากรทุกอย่างจะถูกแบ่งกันอย่างเท่าเทียมโดยที่ทุกคนช่วยกันทำงานเพื่อส่วนรวม นี่ดูจะเหมือนกับแนวคิดในอุดมคติของคาร์ล มาร์กซ แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาสามารถคงระบบนี้ไว้ได้คือธุรกิจนำเข้าผ้าบาติกจากมาเลเซียที่สามารถทำกำไรให้คอมมูนของชาวแคนาดากลุ่มนี้ได้  เมื่อแซมและเทอร์รี่เดินทางไปที่ศูนย์วิจัย ทั้งคู่ได้พบและพูดคุยกับเลสรา และทั้งสองก็เห็นศักยภาพในตัวเขาที่สามารถพัฒนาไปได้ แต่ต้องมาถูกจำกัดด้วยสังคมที่เขาอาศัยอยู่ ทั้งคู่รู้สึกเข้ากับเลสราอย่างมาก จึงชวนเด็กชายผิวดำผู้คิดว่านิวยอร์กคือประเทศที่เขาอาศัยอยู่ ได้ลองไปเปิดโลกโทรอนโต ประเทศแคนาดาดู จากถนนที่มีแต่ซากขยะและรถเก่าขึ้นสนิม เลสรามีโอกาสเห็นบ้านเมืองที่กำแพงสะอาดไร้ลายกราฟฟิตี ถนนที่เรียบไร้ขยะ และต้นไม้ที่ถูกเล็มอย่างสวยงาม หลังจากที่เลสราได้ไปสัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่เปรียบเสมือนอยู่บนโลกคนละใบกับบ้านของเขา เขารู้สึกถึงความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแท้จริง ในฝั่งของแซมและเทอร์รี่เองก็รู้สึกผูกพันกับเด็กคนนี้ แถมยังรู้สึกเสียดายที่คนคนหนึ่งต้องทิ้งศักยภาพตัวเองไปอย่างเสียเปล่าเพียงเพราะสังคมที่เขาอยู่มันเลวร้าย ทั้งสองคนจึงนำเรื่องนี้ไปคุยกับสมาชิกที่เหลือว่าจะรับเลสราคนนี้อยู่ด้วยกัน และสนับสนุนให้เขาได้มีโอกาสอย่างที่เขาควรจะได้ดีไหม? แม้จะเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่ต้องถกเถียงกันอยู่นาน เพราะการรับเลี้ยงเลสราก็เปรียบเสมือนการพรากลูกคนหนึ่งมาจากพ่อแม่ หนำซ้ำลูกคนนั้นยังเป็นเสาหลักของบ้านอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การที่จะปล่อยเด็กที่มีศักยภาพคนหนึ่งให้สูญเสียอนาคตไปเพราะปัจจัยรอบข้างนั้นน่าเสียดาย ทั้ง 8 คนจึงตกลงว่าจะลองส่ง ‘เจมส์ แมคเร’ (James McRae) ชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่ทำงานอยู่ที่ศูนย์วิจัยที่เลสราทำงานอยู่ให้ลองไปคุยกับครอบครัวของเด็กคนนี้ดู “ฉันไม่สามารถให้คำตอบได้จริง ๆ คุณจะมาขอให้ฉันยกลูกฉันให้คุณได้อย่างไร” ‘อัลมา’ แม่ของเลสราตอบด้วยนัยน์ตาอันแสนเจ็บปวด แต่ลึกลงไปเธอก็รู้ดีว่าอะไรคือตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับลูกชายเธอ แต่การจะตอบตกลงกับการยกลูกชายตนเองให้คนอื่นมันเจ็บปวดเกินกว่าจะเอ่ยปากออกมาได้ ในเมื่ออัลมาไม่สามารถตัดสินใจได้ หน้าที่การตัดสินใจจึงตกลงมาอยู่ที่ ‘เอิร์ล’ พ่อของเลสรา ‘ถ้าลูกอยากไป ก็ไปเถอะ’ เอิร์ลกล่าว เขาเชื่อว่าอย่างไรก็ตามตัวเลือกนี้ก็คงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการอยู่ในละแวกที่มีเสียงปืนดังทุกวันอย่างบุชวิคแน่ ๆ แม้เลสราได้รับอนุญาตให้ไป แต่เจมส์ก็ยืนยันกับทั้งสองว่าเลสราจะไม่ถูกพรากไปจากครอบครัวอย่างแน่นอน เขาเพียงอยากสนับสนุนให้เลสรามีอนาคตและการศึกษาที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ พอปิดเทอมเขาก็จะได้กลับมาบ้านอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ ชาวคอมมูนแคนาดาจึงได้สมาชิกเพิ่มอีกหนึ่งคน   การเริ่มต้นใหม่และหนังสือ ‘ยกที่สิบหก’ “เขาไม่มีความคาดหวังในตัวเอง ไม่มีความคาดหวังในคนรู้จัก ครอบครัว หรือเพื่อน เขาไม่มีความฝันด้วยซ้ำ สิ่งนี้มันสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่าเขาโตมาในสภาพแวดล้อมแบบไหน” เมื่อย้ายมาอาศัยที่โทรอนโต เลสราก็ได้รับการใส่ใจในด้านต่าง ๆ เหมือนที่เด็กคนหนึ่งควรจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นในด้านสุขภาพ การเป็นอยู่ หรือโดยเฉพาะการศึกษา แซมและเทอร์รี่ไม่ได้ช่วยเด็กหนุ่มคนนี้แค่การส่งเขาเรียนต่อ แต่เขายังสอนเด็กคนนี้ให้อ่านหนังสืออีกด้วย แต่ติดปัญหาอยู่ตรงที่เลสรายังมีความเชื่อว่าตัวเองโง่และไม่มีวันพัฒนาตัวเองได้ ซึ่งมันทำให้เขากลัวที่จะเปิดหนังสือแล้วพยายามอ่านมัน ความเชื่อเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่สมัยอยู่ในย่านบุชวิค ดังนั้นหน้าที่ของแซมและเทอร์รี่คือการปลดล็อกเลสราจากความคิดเหล่านี้ พวกเขาสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ที่เหมาะแก่การเรียนรู้ให้แก่เลสรา เวลาอ่านหนังสือพิมพ์เขาจะอ่านออกเสียงเพื่อให้เด็กหนุ่มสามารถได้ยินและกล้าที่จะลองอ่านมันออกมา เวลาสมาชิกคอมมูนหารือกันเรื่องธุรกิจ พวกเขาก็มักจะถามถึงความเห็นของเลสราเสมอ นอกจากนั้นพวกเขาก็จะพยายามหาแหล่งความรู้ต่าง ๆ มาให้เลสรา โดยเฉพาะหนังสือประเภทต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้เด็กชายผู้ถมตัวเองด้วยความเชื่อในแง่ลบว่าตัวเองเป็นคนโง่ที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ ก็กลายเป็นคนที่สนใจอ่านหนังสือมากขึ้น วันหนึ่ง ณ ร้านหนังสือมือสองที่เต็มไปด้วยความรู้ที่น่าสนใจในราคาย่อมเยา สายตาของเลสราก็กวาดไปเห็นหนังสือปกดำตัวอักษรสีเหลือง-แดงที่เขียนว่า ‘The Sixteenth Round: From Number 1 Contender to Number 45472’ หนังสือที่ รูบิน คาร์เตอร์ ลักลอบเขียนจากในเรือนจำ “ในขณะที่ผมยังมีความคิดว่าตัวเองโง่ ตัวเองไม่สามารถสำเร็จได้ แต่กับรูบิน ภายใต้สถานการณ์อย่างนั้นเขายังยืนหยัดที่จะสู้เพื่อความถูกต้อง นั่นทำให้ผมรู้สึกว่าถ้าเขายังทำได้ ผมก็ต้องทำได้สิ” ด้วยแรงบันดาลใจอันเต็มเปี่ยมจากนักมวยผู้ถูกจองจำในคุก หลังจากอ่านหนังสือเสร็จ เลสราจึงเขียนจดหมายไปหารูบิน คาร์เตอร์ว่าเขาได้อ่านหนังสือแล้ว และอยากจะบอกว่ามีคนอีกหลายคนยังสนใจและอยากจะช่วยคุณอยู่ รอหน่อยนะ และผู้แต่งหนังสือเล่มนั้นก็เขียนตอบเขา   ปฏิบัติการข้ามรั้วช่วยเฮอร์ริเคน “นายคือเลสราสินะ” นักมวยผู้โชคร้ายกล่าวหลังจากเด็กหนุ่มผู้เขียนจดหมายหาเขาหลายฉบับก้าวขาเข้ามาในเรือนจำเทรนตัน (Trenton State Prison) เพื่อคุยกับเขาต่อหน้า ทั้งสองคุยหัวเราะกันอย่างถูกคอ แม้ช่วงแรกเลสราจะรู้สึกหวาดกลัว แต่รูบินก็สามารถทำให้เขารู้สึกปลอดภัยได้ ก่อนทั้งสองจะจากกัน มีนักโทษคนหนึ่งเดินมาข้างหลังรูบิน “คุณคาร์เตอร์ คุณอยากให้ผมถ่ายรูปคู่คุณกับลูกคุณหน่อยไหมล่ะ?” ทั้งสองตอบตกลงและยิ้มให้กล้องโดยไม่ได้บอกให้นักโทษรู้ว่าทั้งสองไม่ใช่พ่อลูกกัน ต่อมารูบินได้ติดต่อและพบปะกับเด็กหนุ่มและชาวแคนาดาที่พยายามจะช่วยเขาในการต่อสู้คดีอยู่เป็นประจำเดือนละครั้ง ทั้ง 3 คนถึงขั้นตัดสินใจเช่าอะพาร์ตเมนต์มาอยู่ใกล้กับเรือนจำที่รูบินประจำอยู่เพื่อความสะดวกในการเข้าเยี่ยมและสืบค้นข้อมูลในการไขคดี “เมื่อความอบอุ่น ความดีงาม ความปราดเปรื่อง และความเข้าใจของเขาเดินทางมาถึง มันสามารถทลายกำแพงเรือนจำ และมันสามารถทะลุผ่านมาถึงหัวใจที่หนาวเหน็บของผม” นอกจาก เลสรา แซม และเทอร์รี่แล้วก็ยังมีทนายอาชญากรรมแนวหน้าของนิวยอร์กและผู้เชี่ยวกฎหมายรัฐธรรมนูญมาช่วยสู้คดีให้รูบิน คาร์เตอร์แบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แซมและเทอร์รี่เองก็ทุ่มสุดตัวในการหาเอกสารและคำให้การเก่ามาประกอบกันเพื่อหาหลักฐานมาพิสูจน์ในคดีที่มีอายุกว่า 15 ปีมาแล้วว่ารูบินเป็นผู้บริสุทธิ์ แผนผังเมืองแพทเทอร์สัน (สถานที่เกิดเหตุ) ประกอบเข้ากับคำให้การของผู้เกี่ยวข้องเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของรูบิน    ก้าวสุดท้ายแห่งศรัทธา เมื่อหลักฐานและผู้สนับสนุนความยุติธรรมยืนอยู่เคียงข้างเขาอย่างเหนียวแน่น ก็ถึงเวลาที่นักมวยผิวดำผู้ต่อสู้ในมวยยกที่สิบหกกับระบบความยุติธรรมมากว่า 19 ปี จะปล่อยฮุคซ้ายด้วยแรงเฮือกสุดท้ายของเขา รูบิน คาร์เตอร์ตัดสินใจที่จะไม่ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐนิวเจอร์ซีย์ (New Jersey State Court) แต่ยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐบาลกลางแทน เมื่อแรงศรัทธาของรูบิน คาร์เตอร์ ผสานเข้ากับความตั้งใจของเลสราและผู้ช่วยเหลือทุกคน ศาลรัฐบาลกลางได้ตัดสินว่าการตัดสินคดีของรูบิน คาร์เตอร์และจอห์น อาร์ติส ถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ (Constitutional Violation) อัยการรัฐนิวเจอร์ซีย์ตัดสินคดีโดยยึดเอาชาติพันธุ์เหนือเหตุผล และมีการปกปิดข้อมูลมากกว่าการเปิดเผย อย่างไรก็ตาม อัยการศาลรัฐนิวเจอร์ซีย์ก็ยังดูถูกการตัดสินนี้ว่าเป็นความเห็นของคนไม่กี่คน ดังนั้นเขาจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แต่ก็ถูกปฏิเสธ การไล่ล่าเอาผิดเพื่อจับนักมวยผิวดำคนนี้จึงจบลง “ผมถูกจับเข้าไปตอนอายุ 29 แล้วผมก็กลับออกมาตอนอายุ 49 พร้อมกับความว่างเปล่า แต่อย่างน้อยผมมีเพื่อนที่ดี ผมมีความดีงามที่ล้อมรอบผม ผมมีอิสรภาพที่หายจากผมไปกว่า 20 ปี” กว่า 19 ปีที่รูบิน เฮอร์ริเคน คาร์เตอร์ ต้องทนทุกข์ทรมานในเรือนจำโดยที่มือเขาไม่ได้แม้แต่เปื้อนเลือดหรือมีเขม่าดินปืนติดอยู่ที่เสื้อผ้าจากที่เกิดเหตุเลย ช่วงชีวิตและโอกาสของนักมวยดาวรุ่งคนนี้ที่เสียไป เขาไม่ได้แม้แต่เงินชดเชยหรือคำขอโทษจากรัฐนิวเจอร์ซีย์เลยแม้แต่คำเดียว ในขณะเดียวกัน เลสรา มาร์ตินก็เรียนจบปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมด้านมานุษยวิทยา และเขาก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะเรียนต่อในด้านสังคมศาสตร์และกฎหมาย อีกทั้งเลสราเอง จากเด็กไร้อนาคตที่ทางเลือกในชีวิตมีไม่มากนัก ไม่เป็นติดคุก ติดยา ก็ตาย ชีวิตกลับพลิกผันโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีครอบครัว มีการงานที่มั่นคง และมีอนาคตที่สวยงามเพราะความช่วยเหลือของชาวแคนาดาผู้เห็นคุณค่าในเด็กคนนั้น  ส่วนรูบินก็ย้ายไปอยู่กับแซม เทอร์รี่ และสมาชิกคอมมูนที่เหลือในออนตาริโอ ประเทศแคนาดา และจัดตั้งองค์กรช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกตัดสินคดีอย่างไม่เป็นธรรม เรื่องราวการช่วยเหลือที่น่าทึ่งครั้งนี้ถูกบันทึกโดยแซม เชย์ตันและเทอร์รี่ สวินตัน ออกมาในหนังสือชื่อ ‘Lazarus and the Hurricane’ นอกจากนั้นเหตุการณ์ชีวิตของเฮอร์ริเคนครั้งนี้ยังถูกนำมาสร้างเป็นหนังชื่อ ‘The Hurricane’ ในปี 1999 อีกด้วย ในตอนแรก ดูเหมือนว่าอคติ คำโกหก และการใส่ร้ายสามารถสาดสีใส่ความบริสุทธิ์และพรากเอาความยุติธรรมออกจากชีวิตรูบิน คาร์เตอร์ไปอย่างน่าหดหู่ใจ แต่ด้วยความหวังอันแข็งแกร่งจากหัวใจนักสู้ แสงสว่างแห่งความถูกต้องของเลสรา มาร์ติน และชาวแคนาดาก็สาดส่องผ่านห้องขังที่มืดมิดเพื่อกอบกู้ชีวิตของนักมวยผู้โชคร้าย ท้ายที่สุดแสงสว่างแห่งความหวังก็สามารถชุบชีวิตรูบิน คาร์เตอร์และความยุติธรรมที่ตายจากเขาไปกว่า 19 ปี    เรื่อง: รัฐฐกรณ์ ศิริฤกษ์ ที่มา:  https://www.bbc.com/sport/boxing/46962505 https://www.youtube.com/watch?v=bkOTvXK0tok http://lesra.com/the-journey http://www.mrsteelsclass.com/eng10-2/lesra/Journey%20of%20Lesra%20Martin%20Article.htm https://www.nytimes.com/2014/04/21/sports/rubin-hurricane-carter-fearsome-boxer-dies-at-76.html Rolling Thunder Revue: A Bob Dylan Story by Martin Scorsese (2019) ที่มาภาพ: Bettmann / Contributor