ความรักร่วม 20 ปีของ หน่อง รุ่งทิวา กับคู่รักเพศหญิง สู่ธุรกิจเพื่อ LGBTQIAN+

ความรักร่วม 20 ปีของ หน่อง รุ่งทิวา กับคู่รักเพศหญิง สู่ธุรกิจเพื่อ LGBTQIAN+
เส้นทางชีวิตของคู่รักเพศหญิงที่คบหากันมายาวนานเกือบ 20 ปี เคลื่อนไหวและร่วมกิจกรรมทางสังคมเพื่อความฝันของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทย มาถึงจุดที่ลงมือทำธุรกิจ เปิดโอกาสและเป็นทางเลือกให้คนที่พบข้อจำกัดทางโครงสร้างซึ่งส่งผลต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในยุคนี้ ผู้มีความหลากหลายทางเพศออกมาเคลื่อนไหวเดินขบวนและแสดงออกได้อย่างกว้างขวาง กล่าวได้ว่า บริบทของยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเทียบกับหลายสิบปีก่อน ผู้คนส่วนใหญ่รับรู้และเริ่มเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศไปมาก ไม่เพียงแค่สภาพบรรยากาศที่คนทั่วไปสัมผัสได้ แต่ประสบการณ์ของคู่รักเพศหญิงที่คบหากันมายาวนานร่วม 18 ปีก็บอกเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า ประสบการณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นกับพวกเธอในอดีต ทุกวันนี้การแสดงออกของคนรอบข้างแตกต่างจากเดิม แต่กว่าที่จะมาถึงวันนี้ได้ กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศผ่านอุปสรรคมามากมาย

หน่อง รุ่งทิวา และคนรัก

ย้อนกลับไปในอดีต คุณหน่อง – รุ่งทิวา และคู่ชีวิตของเธอที่เป็นเพศหญิง เคยผ่านประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึก ‘แปลกแยก’ จากกลุ่มคนทั่วไปมาแล้ว และในการให้สัมภาษณ์กับ The People คู่ชีวิตของคุณหน่อง - รุ่งทิวา เลือกไม่เปิดเผยตัวตนเพื่อเลี่ยงผลกระทบที่จะมาจากคนรอบข้างส่วนน้อยที่ยังไม่สามารถยอมรับความแตกต่างของเธอได้ ผลกระทบที่ส่งผลต่อคู่คนรักเพศเดียวกันไม่ใช่แค่มาจากคนรอบข้าง แต่ยังรวมถึงจากต้นเหตุซึ่งมีที่มาจากข้อจำกัดทางกฎหมาย นำมาสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง คุณหน่อง และคู่ชีวิต เดินทางไปจดทะเบียนที่สำนักงานเขตแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แต่พวกเธอไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้จนกลายเป็นข่าวโด่งดังเมื่อเกือบสิบปีก่อน จากการเคลื่อนไหวในวันนั้น มาจนถึงวันที่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และแนวคิดสมรสเท่าเทียมถูกขับเคลื่อนจนมาถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2565 กระทั่งช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ ‘รับหลักการ’ ทั้งร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม (ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ) ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล และร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ทั้งสองฉบับในวาระแรกของกระบวนการพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่กินเวลายาวนาน แม้จะต้องจับตาการพิจารณาและลงมติในขั้นตอนวาระที่ 2 และ 3 ในอนาคต แต่จากสถานการณ์ล่าสุดที่สภาฯ ‘รับหลักการ’ ร่างแก้กฎหมายร่างต่าง ๆ แล้ว ถือได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีและสะท้อนให้เห็นความคืบหน้าของกระบวนการเคลื่อนไหวที่มีมายาวนานหลายสิบปี

ประสบการณ์ที่ผ่านมา

ระยะเวลา 18 ปีที่คุณหน่อง - รุ่งทิวา คบหากับคู่ชีวิตมา ฝั่งคุณหน่องเล่าว่า เธอโชคดีที่ผู้ปกครองเข้าใจและรับเรื่องนี้ได้มาตั้งแต่เด็ก และยังเชื่อว่าพ่อแม่ที่เข้าใจสิ่งที่ลูกเป็นคือเรื่องสำคัญ แรงสนับสนุนและคำชี้แนะในการใช้ชีวิตสามารถช่วยให้ลูกใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างราบรื่น แม้จะโชคดีที่คนรอบข้างเข้าใจเธอ แต่เมื่อมาใช้ชีวิตร่วมกับผู้หญิงที่รู้ใจ พวกเธอกลับพบข้อจำกัดซึ่งสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมทางโครงสร้าง “ข้อแรกเลยเรื่องของกรมธรรม์ประกันชีวิต คือตัวเราสองคนทำงานด้วยกัน แล้วพอเราทำประกัน เขาไม่ให้เราใส่ชื่อผู้รับผลประโยชน์เป็นแฟนเรา ซึ่งพี่คิดว่ามันไม่ถูกต้อง ทำงานด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ใช้สมองด้วยกัน เก็บหอมรอมริบด้วยกัน แต่ว่าผลประโยชน์ ถ้าเราตายไป กลายเป็นอีกคนหนึ่งได้ เพราะว่าเราเป็นคู่แบบนี้ อันนี้ข้อนี้พี่รู้สึกแย่ อีกเรื่องหนึ่งคือ ตอนนั้นแม่พี่ป่วยหนักมาก จะต้องเซ็นผ่าตัด ตัวพี่ทำงานอยู่ต่างจังหวัด คู่ชีวิตของพี่ไม่สามารถเซ็นได้เพราะว่าเป็นคู่แบบนี้ ถ้าวันนั้นแม่พี่เป็นอะไรไป พี่จะรู้สึกผิดมาก ๆ เลย เราก็เลยรู้สึกว่าข้อนี้เราต้องเรียกร้องแล้ว แล้วก็สมัยก่อน พี่สองคนไม่มีบ้านอยู่ เราต้องอยู่ในชุมชนที่เป็นแฟลต เราก็คิดกันเสมอว่า เราอยากจะมีบ้านแบบคนอื่นบ้าง พอเราไปกู้ธนาคาร ธนาคารก็จะปฏิเสธเพราะว่าเราเป็นคู่แบบนี้ แต่ถ้าเป็นสามีภรรยาที่จดทะเบียนได้ถูกต้องตามกฎหมาย ธนาคารสมัยนั้นจะไม่ปฏิเสธ พี่ก็เลยตั้งปฏิญาณว่าถ้าวันหนึ่งเรามีความสามารถในด้านนี้ แล้วช่วยคนที่เป็นคู่อย่างเราได้ พี่จะพร้อมเต็มที่เลย” ปัจจุบันมีหลายธนาคารที่เปิดรับให้คู่ชีวิตที่เป็นคนเพศเดียวกันสามารถกู้ซื้อบ้านได้แล้ว แต่หากย้อนกลับไปในเวลานั้น ความทุกข์ใจที่ไม่สามารถเป็นเจ้าของที่พักพิงอันเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตได้คืออีกหนึ่งปมที่ทำให้คุณหน่อง และคู่ชีวิต ต้องออกมาเคลื่อนไหวทางสังคม เรียกร้องความเปลี่ยนแปลง “ปี 2553...เราออกมาเรียกร้องสิทธิ แล้วก็อยากให้ทุกคนโดยเฉพาะสื่อ แล้วก็ทางรัฐบาลช่วยสนับสนุน ทีนี้พอเราเรียกร้องสิทธิ อันนี้มาทางสมาคมฟ้าสีรุ้ง แล้วก็กลุ่มคนที่เป็น LGBTQIAN+ เขาออกมาช่วยกันอย่างเต็มที่ กลุ่ม ของเรา สมาคมฟ้าสีรุ้งของเรานำโดยคุณฟ้า ทุกคนออกมาช่วยเหลือกัน แต่แล้วทุกอย่างต้องหยุดชะงัก กำลังไปได้สวยแล้วมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีเรื่องปัจจัยสถานการณ์การเมืองเข้ามา” นับตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 8 ปีที่การพิจารณากฎหมายชะงักไปจนกระทั่งในปี 2564-2565 เริ่มมีการเคลื่อนไหวอีกครั้งนำมาสู่วาระที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ) และเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 สภาลงมติ ‘รับหลักการ’ ร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์และร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะนำไปสู่ขั้นตอนพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป เวลาผ่านมาหลายปี คุณหน่อง – รุ่งทิวา ไม่เพียงแค่หาลู่ทางทำธุรกิจหาเลี้ยงชีพตัวเองแล้ว ธุรกิจที่คุณหน่อง ดำเนินการยังมาจากแนวคิดเรื่องมอบโอกาสให้กับคู่รักที่พบข้อจำกัดเช่นเดียวกับเธอในอดีต ด้วยธุรกิจเกี่ยวข้องกับบ้านมือสอง ประสานกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียง พร้อมที่จะให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกู้ร่วมได้ “หลักของงานของพี่กับคู่ของพี่คือเป็นบริษัทประเมิน เวลาที่คนจะยื่นกู้ธนาคาร ธนาคารจะมีการประเมินว่าทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเท่าไหร่ อันนี้คืองานของพวกเราที่จะตีราคาออกมาว่าทรัพย์ตัวนี้กี่ล้าน แล้วคุณกู้ได้เท่าไหร่ก็จะส่งไปทางสินเชื่อ นี่คืองานของเรา ส่วนต่อมา เรามีรับงานรีโนเวทบ้าน เป็นงานรีโนเวทบ้านมือสองที่ซื้อมาจากสถาบันการเงิน ผู้ร่วมทุนของพี่เขาซื้อมา แล้วก็มาให้ทางเราจัดทีมช่างแล้วก็บริหารการรีโนเวทเป็นรูปธรรม ระหว่างที่เราจัดการสร้างทีมช่าง ทีมก่อสร้าง จาก 1 ทีมเป็น 2 ทีม จนเดี๋ยวนี้มี 13 ทีม จาก 4-5 คน เดี๋ยวนี้มีร้อยกว่าคน”

โจทย์ชีวิต สู่ธุรกิจของตัวเองเพื่อชีวิตอื่นที่พบโจทย์เดียวกัน

ขณะที่ทำงานด้านรีโนเวท คุณหน่อง - รุ่งทิวา ยังคงนึกถึงความทุกข์เมื่อครั้งไม่สามารถกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านได้ จึงนำมาสู่แนวคิดขยายไปสู่การขายบ้านด้วย เพื่อจะได้ช่วยกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศให้มีบ้านเป็นของตัวเองจนสามารถเจรจาตกลงกับผู้ร่วมทุน ดีลกับสถาบันการเงินที่รับเรื่องให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถกู้ได้ “ใครที่กำลังคิดไม่ตกจะได้ไม่ผิดหวังเหมือนปมที่คู่ของพี่เคยเจอ เราจะเอาความทุกข์ของเราตรงนี้มาเคลียร์ออก ให้ทุกคู่ที่มีอย่างเราประสบความสำเร็จ แล้วก็มีบ้านอยู่เป็นของตัวเองได้แบบรวดเร็วแล้วก็เต็มที่” คุณหน่อง กล่าวถึงแนวคิดหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ “คือกลุ่มผู้มีความหลากกหลายทางเพศคือมนุษย์เหมือนพวกเรานี่แหละ อาจมีศักยภาพเต็มที่เลยด้วยก็ได้ พี่คิดว่าถ้าเรื่องราวของพี่ในวันนี้ออกสู่สายตาทุกคนแล้ว ฟีดแบ็กที่กลับมา มุมมองของผู้บริหาร หรือว่าเจ้าของธุรกิจที่ทำธุรกิจแล้วตัวเองเป็นแบบนี้ น่าจะเกิดประกายแล้วว่า ไม่เห็นต้องกลัวอะไร ไม่เห็นต้องติดอะไร แล้วก็พร้อมยื่นมือที่จะมาช่วยกลุ่ม LGBTQIAN+ ด้วยกัน พี่ว่าน่าจะมีอีกเยอะ แล้วความสำคัญที่สุดก็คือ ถ้าเรื่องราวนี้ไปถึงผู้ใหญ่ทางบ้านเมืองได้รับฟังได้เห็น ก็น่าจะได้เปิดโอกาสให้มี พ.ร.บ.คู่ชีวิต เมื่อไหร่ที่มี พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีกฎหมายรองรับแล้ว เราจะมีสิทธิเหมือนทุกคนบนโลกใบนี้เลย ขาดแค่ตัวนี้ตัวเดียวเองคือการยืนยัน อย่างน้อยถ้า พ.ร.บ.คู่ชีวิตผ่าน พี่ว่าครอบครัวไม่อายใครแล้วที่มีลูกเป็นแบบนี้ มันคือเส้นบาง ๆ จริง ๆ ที่ผู้ใหญ่บ้านเมืองของเราต้องปลดเส้นนี้ออก” ในวันนี้ สิ่งที่คู่ของคุณหน่อง - รุ่งทิวา ริเริ่มสร้างขึ้นกำลังเติบโต เช่นเดียวกับ ‘บุตร’ แท้ ๆ ที่พวกเธอดูแลมาตั้งแต่เด็ก เด็กสาวที่ได้คู่ของคุณหน่อง - รุ่งทิวา ดูแล เธอมีชื่อว่า โอโซน ปัจจุบันเรียนจบด้านการเงินระดับปริญญาตรีแล้วและยังคอยสนับสนุนช่วยเหลือทำงานในธุรกิจของคุณหน่อง – รุ่งทิวา โอโซน เล่าประสบการณ์ในฐานะของคนรุ่นใหม่ว่า เธอผ่านการศึกษาในโรงเรียนหญิงล้วนมาก่อน เพื่อนที่รู้จักล้วนเข้าใจ และบางคนก็คบหากัน เรียกได้ว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยไม่มีปัญหาใด ๆ อีกแล้ว ขณะที่การเติบโตท่ามกลางผู้ปกครองที่เป็นคู่รักซึ่งทั้งคู่มีเพศเดียวกันก็ไม่ได้ส่งผลกระทบ ไม่มีเหตุการณ์เชิงลบใด ๆ เกิดขึ้นกับโอโซน กล่าวได้ว่า โดยรวมแล้ว ผู้มีความหลากหลายทางเพศในวันนี้ผ่านช่วงที่กรอบทัศนคติทางสังคมมากีดกันพวกเขา สังคมเปิดกว้างมากขึ้น ผู้พบเจอเหตุการณ์ที่กระทบต่อร่างกายและจิตใจของพวกเขาลดสัดส่วนลงอย่างต่อเนื่อง ตามความเห็นของคุณหน่องแล้ว ข้อจำกัดสำคัญคือเรื่องกฎหมายที่ยังไม่รองรับสำหรับการกระทำบางอย่าง “จุดอ่อนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศคือเราไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะฉะนั้น เวลาเราไปทำอะไรที่มันต้องใช้เรื่องการทำนิติกรรม การที่เราต้องใช้เอกสารที่มันเกี่ยวข้องทางด้านกฎหมาย สิ่งนี้เราเลยทำไม่ได้ แต่ถามว่าพฤตินัยการใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ มันก็เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 10 ปีก่อน การยอมรับของสังคมมันก็เริ่มยอมรับขึ้น มันเหลือแค่ตัวกฎหมายนี่แหละ ที่จะทำให้กลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น เพราะว่าไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. ฉบับไหนก็ตาม ถ้าเราได้สิทธิตรงนี้ อย่างน้อยทำประกันชีวิตก็ง่ายขึ้น การกู้บ้านก็ง่ายขึ้น” เช่นเดียวกับความคิดเห็นของคู่ชีวิตของคุณหน่อง ซึ่งมองว่า ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายฉบับใดที่สามารถรองรับได้ อย่างน้อยก็ควรเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น “ถ้าคนที่กำลังจะแต่งงาน เขายังไม่ได้แต่งงาน เขายังไม่ได้จดทะเบียนเลย แต่เขาสามารถซื้อบ้านคู่กันได้ แต่กลุ่มเราใช้ชีวิตกันมาตั้งกี่ปี ทำไมซื้อบ้านคู่กันไม่ได้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่กำลังจะแต่งงานกำลังจะมีชีวิตคู่ คือแค่จุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ตรงนี้ในด้านกฎหมาย ด้านเอกสาร ด้านที่เขาไปทำนิติกรรม เพราะฉะนั้น จะเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะเป็น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะเป็นกฎหมายรูปแบบไหนก็ได้ที่จะมารองรับกลุ่มแบบพวกเรา เพื่อให้การใช้ชีวิตที่มันจะไปทำนิติกรรมมันง่ายขึ้น ไม่ต้องมาหาวิธีเลี่ยง ต้องอะไรอย่างนี้” ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวเพื่อความเปลี่ยนแปลงในไทยที่ผ่านมา มีร่างกฎหมายหลากหลายฉบับที่ถูกนำเสนอจากกลุ่มต่าง ๆ แน่นอนว่า เนื้อหาในแต่ละฉบับมีบางส่วนที่คล้ายกัน และมีบางส่วนที่แตกต่างกัน ซึ่งในส่วนที่แตกต่างกันนี้เองนำมาสู่การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นไปจนถึงความเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันร่างที่แต่ละฝ่ายคิดว่าเหมาะสม ท่ามกลางข้อถกเถียงเหล่านี้ ประเด็นสำคัญที่มักถูกหยิบยกมาพูดถึงเสมอคือความแตกต่างระหว่างร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต (ซึ่งมีทั้งฉบับที่เสนอโดยครม. และพรรคประชาธิปัตย์) กับร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม หรือร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล ความแตกต่างที่เป็นประเด็นหลักคือคำที่ใช้ระบุในการจดทะเบียนสมรส โดยกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ ฉบับปัจจุบันระบุว่าเป็นเพศชาย-หญิง ขณะที่ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดยปชป. และ ร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ระบุว่าเป็น ‘บุคคล-บุคคล’ ส่วนร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิตฉบับเสนอโดยครม. ระบุให้บุคคลสองคนเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด ประเด็นสำคัญอีกประการคือ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมป.พ.พ. เสนอแก้ไขคำว่า ‘สามี-ภริยา’ ที่มีอยู่หลายแห่งในป.พ.พ. ให้เป็นคำว่า ‘คู่สมรส’ ซึ่งเป็นคำที่ไม่จำกัดกรอบทางเพศ ส่วนร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตที่เสนอโดยครม. และปชป. ส่วนสถานะในทางกฎหมาย ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมป.พ.พ. ยังให้ใช้คำว่า ‘คู่สมรส’ เช่นเดียวกับกฎหมาย ป.พ.ป. ในปัจจุบัน ขณะที่ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ระบุให้ใช้คำว่า ‘คู่ชีวิต’

ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

สำหรับคู่ของคุณหน่อง – รุ่งทิวา ทุกวันนี้พวกเธอใช้ชีวิตโดยสังคมยอมรับในบทบาทด้านการงานและการใช้ชีวิต แตกต่างจากสภาพในอดีตแล้ว ข้อสังเกตอย่างหนึ่งจากพวกเธอที่น่าสนใจคือ แม้คนจะยอมรับแล้ว แต่ความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศสำหรับคนบางกลุ่มแล้ว หากไม่เกิดขึ้นกับคนใกล้ชิด อาจยากจะเข้าใจถึงปัญหาที่ซับซ้อน “เขายอมรับได้ เพราะว่าการที่เขาเห็น แล้วก็เขาสัมพันธ์ทุกวัน แต่ถามว่าปัญหาที่เกิดกับกลุ่มเรา ถ้าเขาไม่มีลูกไม่มีหลาน ไม่มีคนใกล้ชิดที่เป็นแบบนี้ เขาไม่มีทางเข้าใจในปัญหาในจุด ๆ นั้น ถ้าเขาไม่มีลูกไม่มีหลานทำประกันชีวิตเอาให้คู่ชีวิตไม่ได้ ต้องย้อนกลับไปให้สายเลือดที่เกี่ยวข้อง ถ้าไม่ใช่คนใกล้ชิดไม่มีทางเข้าใจ ไม่เจอกับตัวจะไม่เข้าใจปัญหา” ประเด็นสำคัญของการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมโดยผู้มีความหลากหลายทางเพศเต็มไปความซับซ้อน เต็มไปด้วยแง่มุมหลากหลายมิติ ดังที่กล่าวแล้วว่า เส้นทางที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย กุญแจหลักที่สำคัญที่สุด อย่างน้อยแล้วเกิดขึ้นจากฐานของความเข้าใจ หากมี ‘ความเข้าใจ’ เชื่อว่าก้าวต่อไปจะตามมา และอาจนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงได้ไม่มากก็น้อย