ไลบร้า โดโก คลังอาวุธของเรื่อง Saint Seiya

ไลบร้า โดโก คลังอาวุธของเรื่อง Saint Seiya
Saint Seiya เป็นหนึ่งในการ์ตูนโด่งดังขวัญใจชาวไทย ที่มีตัวละครเด่น ๆ อย่าง แอนโดรเมด้า ชุน (Andromeda Shun) เวอร์โก้ ชากะ (Virgo Shaka) และที่ขาดไม่ได้คือ ไลบร้า โดโก (Libra Dohko) ในฐานะคลังอาวุธของเรื่อง ท่านผู้เฒ่าโดโก (童虎 แปลว่า “เสือน้อย”) ที่เป็นอาจารย์ของชิริวนั้น มีความลึกลับมากกว่าเซนต์คนอื่นในเรื่อง ถ้าใครได้ชมภาคหลักทั้ง 3 ภาค (ภาคปราสาท 12 ราศี, ภาคโพไซดอน, ภาคฮาเดส) จะสังเกตได้ว่ามีฉากที่โดโกใส่ชุดคลอธน้อยมากกกก ผู้อ่านก็ยังนึกสงสัยว่าผู้เฒ่าตัวนิดเดียวจะใส่ชุดคลอธเข้าไปได้ยังไงกัน ในภาค 12 ราศีไม่มีฉากใส่ชุดเลย, ภาคโพไซดอนก็ไม่มีฉากใส่ชุด, มีเพียงภาคฮาเดสที่มีฉากโดโกแปลงร่างกลับเป็นหนุ่มแล้วใส่ชุดคลอธสู้แค่ไม่กี่ตอน เพื่อตอบข้อสงสัยของผู้อ่านว่าใส่ชุดยังไง [caption id="attachment_25559" align="aligncenter" width="439"] ไลบร้า โดโก คลังอาวุธของเรื่อง Saint Seiya (ภาพ https://www.sohu.com/a/256923526_100143784)[/caption] คุรุมะดะ มะซะมิ (車田正美) ผู้ประพันธ์เรื่องนี้ไม่ได้บอกไว้ว่าทำไม แต่จากเส้นเรื่องแล้ว เดาว่าแต่เดิมน่าจะวางตัวโดโกไว้เป็นผู้ชี้แนะยุวชนรุ่นหลังมากกว่า ชุดไลบร้าเลยไม่ได้ทำหน้าที่ชุดคลอธให้โดโกสักเท่าไร แต่ทำหน้าที่เป็น “อุปกรณ์เสริม” จึงมีฟังก์ชันของชุดที่ต่างไปจากชุดคลอธอื่นในเรื่อง ในยุคที่ Saint Seiya ยังมีเพียง 3 ภาคหลักอยู่ เวลากล่าวถึงไลบร้าจึงทำให้ผู้อ่านนึกถึงชุดคลอธ มากกว่านึกถึงโดโกในฐานะเป็นเซนต์แห่งไลบร้า คำอธิบายในเรื่องนี้กล่าวว่า อาเธน่าเกลียดการใช้อาวุธ เหล่าเซนต์จึงนิยมใช้มือและเท้าในการต่อสู้กัน แต่มีข้อยกเว้นคือ ถ้าอาเธน่าหรือเซนต์แห่งไลบร้าเองให้อนุญาต ก็สามารถให้เซนต์นำอาวุธของไลบร้าไปใช้ได้ ซึ่งหากเซนต์ที่ใช้มีพลังคอสโม่มหาศาลมากพอ อาวุธของไลบร้าก็จะมีอานุภาพถึงขั้นทำลายดวงดาวได้เลย เซนต์แห่งไลบร้าจึงต้องมีวุฒิภาวะมากกว่าโกลด์เซนต์คนอื่นในการมองคน และตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้ใครใช้อาวุธหรือไม่ และแน่นอน อาวุธของไลบร้าจึงมีทั้งหมด 12 ชิ้น (มี 6 ประเภท ประเภทละ 2 ชิ้น คือมาเป็นคู่ทั้งหมด 6 คู่) พอดีกับโกลด์เซนต์จำนวน 12 คนเลย ไลบร้า โดโก คลังอาวุธของเรื่อง Saint Seiya เคยได้กล่าวถึงความน่าสนใจของการ์ตูนญี่ปุ่นว่ามีการผสมอารยธรรมตะวันตกเข้ากับของตะวันออกในชีวประวัติของ เทะสึกะ โอะซะมุ เรื่อง Saint Seiya ก็เช่นกัน ที่มีการผสมผสานความเชื่อและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของตะวันตกเข้ากับของตะวันออกไว้อย่างแนบเนียน อาวุธของไลบร้าก็เลยต้องมีอาวุธของโลกตะวันออกผสมอยู่ด้วย 3 ประเภท และอาวุธที่หลายประเทศใช้กันเป็นสากลอีก 3 ประเภท ดาบ (Sword) หรือ 剣 อันนี้เป็นอาวุธสากลที่ใช้กันทั่วไป มีบทบาทครั้งแรกตอนที่ชิริวใช้ผ่าโลงน้ำแข็งเพื่อช่วยเฮียวงะในภาค 12 ราศี และมีบทบาทอีกครั้งคือชีริวใช้ดาบนี้ทำลายเสาของมหาสมุทรอินเดีย (インド洋) หลังเอาชนะ คริสซาออร์ กฤษณะ (Chrysaor Krishna) ในภาคโพไซดอน (หมายเหตุ – การแบ่งมหาสมุทรในเรื่องเซนต์เซย่ามี 7 แห่ง ซึ่งจะต่างไปจากการแบ่งมหาสมุทรในโลกแห่งความเป็นจริงที่มีเพียง 5 แห่ง) โล่ (Shield) หรือ 円盾 ก็เป็นอาวุธสากลเช่นกัน มีบทบาทตอนที่เซย่าใช้โล่แทนอาวุธขว้างเพื่อทำลายเสาของมหาสมุทรแปซิฟิคเหนือ (北太平洋) หลังเอาชนะซีฮอร์ส ไบอัน (Sea Horse Baian) และ อิคคิใช้โล่ทำลายเสาของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ (北大西洋) หลังเอาชนะ ซีดราก้อน คาน่อน (Sea Dragon Kanon) อีกทั้งยังมีบทบาทตอนที่โล่พุ่งไปปกป้องชีริวตอนที่โพไซดอนสะท้อนการโจมตีกลับมา ทวน (Spear) หรือ 槍 เป็นอาวุธสากลเช่นกัน ทวนในเรื่องนี้มีลักษณะเป็นตรีศูลคือเป็นสามง่ามที่ปลาย อิคคิใช้ทวนนี้ทำลายเสาของมหาสมุทรแอนตาร์กติกา (南氷洋) หลังโค่นลิมนาเดส คาสะ (Lyumnades Caça) กระบองสามท่อน (Triple-Rod) หรือ 三節棍 อาวุธชนิดนี้มีความเป็นเอเชียสูงมาก คือมีต้นกำเนิดจากจีนโบราณ เป็นรูปแบบย่อยของอาวุธประเภทกระบองต่าง ๆ ของจีน มีตั้งแต่กระบองสามท่อนไปจนถึงกระบองเก้าท่อนก็มี (แต่เป็นคนละประเภทกับกระบองสองท่อนที่จะกล่าวถึงในข้อ 5) ในเรื่อง Saint Seiya ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าใช้ทำลายเสาไหน เพราะเสามหาสมุทรแอตแลนติกใต้ (南大西洋) ที่ไซเรน โซเลนต์ (Siren Sorrento) คุ้มครองอยู่ ไม่ได้มีฉากว่าโดนอาวุธอะไรทำลาย มีเพียงเสียงสนั่นดังมาถึงพวกเซย่า, ชิริว, และเฮียวงะ เท่านั้นว่าเสาทลายแล้ว (เดาว่าน่าจะเป็นกระบองสามท่อน เพราะเสาอื่นถูกอาวุธอย่างอื่นทำลายอย่างละ 1 ครั้งเพื่อโชว์อาวุธ ยกเว้นโล่ที่ได้ใช้กับ 2 เสา ดังนั้นเสามหาสมุทรแอตแลนติกใต้จึงน่าจะถูกทำลายด้วยกระบองสามท่อนนี้) กระบองสองท่อน (Nunchaku) หรือ 双節混 อาวุธชนิดนี้ก็มีความเป็นเอเชียสูงมาก คนจำนวนมากมักเข้าใจผิดว่าอาวุธชนิดนี้มาจากจีน แต่ที่จริงแล้วกระบองสองท่อนมีต้นกำเนิดจากราชอาณาจักรริวกิว (琉球王国) ซึ่งก็คือจังหวัดโอะกินะวะของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน ในสมัยก่อนริวกิวมีเอกราชและมีกษัตริย์ปกครองตัวเอง เพียงแต่ก็เป็นรัฐบรรณาการของจีน ภายหลังถึงถูกญี่ปุ่นผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น ทั้งจีนและญี่ปุ่นจึงต่างก็พูดว่าอาวุธชนิดนี้เป็นของชาติตัวเอง อาวุธชนิดนี้มีการเผยแพร่ไปทั้งที่จีน (วิชา Kung-Fu), ญี่ปุ่น (วิชา Karate), และฟิลิปปินส์ (วิชา Tabak-Toyok) ซึ่ง บรู๊ซ ลี เองก็เคยได้เรียนวิชากระบองสองท่อนหลากหลายแนวทาง จากอาจารย์ชาวอเมริกันที่มีเชื้อสายฟิลิปปินส์ด้วย และด้วยชื่อเสียงของ บรู๊ซ ลี จึงทำให้ทั่วโลกรู้จักอาวุธชนิดนี้ แต่เดิมกระบองสองท่อนนี้เกิดจากการประยุกต์เหล็กขวางปากม้าและบังเหียนม้ามาเป็นอาวุธ ในเรื่อง Saint Seiya ชุนเป็นคนใช้กระบองสองท่อนทำลายเสามหาสมุทรแปซิฟิกใต้ (南太平洋) หลังจากเอาชนะสคิวล่า อิโอ (Scylla Io) ไม้ศอก (Tonfa) หรือ トンファー อาวุธชนิดนี้ก็มีต้นกำเนิดจากราชอาณาจักรริวกิวเช่นกัน เกิดจากการประยุกต์ด้ามจับของโม่หินโบราณมาเป็นอาวุธ ในมวยไทยเองก็มีไม้ศอกลักษณะคล้ายกัน แต่ของมวยไทยจะมีด้ามจับ 2 ด้าม คือด้ามนึงไว้จับ อีกด้ามไว้ป้องกันนิ้วมือ และไม้ศอกของไทยจะใช้เชือกผูกติดแน่นไว้กับแขนเพราะใช้เสริมแม่ไม้มวยไทยมากกว่าใช้เป็นอาวุธโดยตรง (ดูเรื่ององค์บากเป็นตัวอย่าง) ในขณะที่ไม้ศอกของริวกิวจะมีแค่ด้ามเดียวและไม่ผูกเชือกกับแขนเพราะจะใช้หมุน, เหวี่ยง, ควงเป็นอาวุธแบบกังฟูหรือคาราเต้มากกว่า ที่น่าสนใจคือในโลกตะวันตกเองอย่างเช่นในอเมริกาและยุโรปหลายแห่ง ก็มีการใช้ไม้ศอกแบบริวกิวมาประยุกต์เป็นกระบองตำรวจที่เรียกว่า Side Handle Baton อีกด้วย จัดเป็นอาวุธเอเชียที่แพร่ไปทั่วโลกอย่างแท้จริง ในเรื่อง Saint Seiya นั้น เฮียวงะเป็นคนใช้ไม้ศอกทำลายเสามหาสมุทรอาร์กติก (北氷洋) หลังจากเอาชนะคราเก้น ไอแซ็ค (Kraken Isaak) อย่างไรก็ตาม อาวุธของไลบร้าไม่สามารถทำลายเสาเมนเบรดวินเนอร์ (Main Breadwinner) ในภาคโพไซดอน และยังไม่สามารถทำลายกำแพงวิปโยคในภาคฮาเดสได้ ในที่สุดอาวุธเหล่านี้จึงทำหน้าที่เป็นเพียง “อุปกรณ์เสริม” ของเรื่องเท่านั้น ต้องรอเหล่าเซนต์มาใช้คอสโม่ทำลายกันอยู่ดี [caption id="attachment_25556" align="aligncenter" width="1280"] ไลบร้า โดโก คลังอาวุธของเรื่อง Saint Seiya (ภาพ https://en.bandainamcoent.eu/news/saint-seiya-cosmo-fantasy-descends-heaven-mobile-platforms)[/caption] ความสนุกอีกแบบของ Saint Seiya คือการดูและวิเคราะห์อาวุธหรือวิทยายุทธของตัวละครแต่ละตัว ว่าคุรุมะดะนั้นขอยืมอะไรจากโลกแห่งความจริงไปผสมกับจินตนาการบ้าง ผสมตะวันออกและตะวันตกอย่างไรบ้า’ ตัวอย่างเช่น นอกจากโกลด์เซนต์ 3 คนที่เป็นคนเอเชียแต่กำเนิดคือ มูเป็นคนทิเบต, ชากะเป็นคนอินเดีย, โดโกเป็นคนจีน โกลด์เซนต์ที่เหลือแม้จะไม่ได้เป็นชาวเอเชีย แต่กลับมีคาแรคเตอร์เป็นเอเชียอย่างน่าประหลาด เช่น อัลเดบารัน ที่เป็นคนบราซิล กลับใช้วิชาเกรตฮอร์นโดยมีพื้นฐานจากวิชา “อิไอ-บัตโตจุตซึ (居合抜刀術)” ของญี่ปุ่น ที่เป็นวิชาซ่อนดาบในฝักแล้วชักดาบออกมาฆ่าศัตรูภายในพริบตา (เหมือนที่ “ซามูไรพเนจร” ใช้ จนได้ฉายาว่า “บัตโตไซ” ที่แปลว่าชักดาบฆ่าคนได้อย่างหมดจดสง่างาม) เดธมาส์ก ที่เป็นชาวอิตาลี กลับมีวิชาส่งคนไปปรโลก (黄泉比良坂) ซึ่งเป็นปรโลกตามความเชื่อญี่ปุ่น, ซากะ เป็นชาวกรีก แต่กลับมีพลังคอสโม่ของหยิน-หยาง (陰陽) ผสมกัน (ชิริวพูดคำว่าหยิน-หยางออกมาเลยในเนื้อเรื่องตอนที่ผ่านปราสาทเจมินี่) หรือแม้แต่ แอนโดรเมด้า ชุน ก็ใช้โซ่ตามแนวคิดของวิชาโบราณของริวกิวอีกนั่นแหละ เพราะโซ่เนบิวล่าเชนนั้นมีที่มาจากอาวุธริวกิวที่ชื่อว่า “ซุรุจิน (スルチン)” ที่เป็นอาวุธสองปลายผูกไว้กับโซ่ โดยที่ด้ามข้างหนึ่งไว้ถือกับตัว และด้ามอีกข้างหนึ่งไว้ใช้จู่โจมศัตรู นอกจากนี้แนวคิดเรื่องพลังคอสโม่ (小宇宙) ก็เป็นแนวคิดหลักของวิทยายุทธที่ใช้ลมปราณเต๋าของจีน ที่เด่น ๆ คือมวยไท้เก๊กของบู๊ตึ๊ง เป็นต้น การเสพสื่อบันเทิงให้สนุก จึงไม่เพียงหยุดแค่ความบันเทิง แต่ควรคิดต่อไป แม้ว่าผู้แต่งเรื่องอาจจะไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะถ้าผู้เสพสื่อไม่คิดต่อ ไม่ต่อยอดการจินตนาการ ก็อาจจะพลาดโอกาสดื่มด่ำกับคุณค่าใหม่ ๆ ของสื่อบันเทิงนั้นไปอย่างน่าเสียดาย