15 มี.ค. 2564 | 15:22 น.
เชียงรายแล้วไปไหน? ขึ้นดอยสูงสูดอากาศเย็น ๆ เดินเล่นในดงชาสีเขียวสุดตา ช้อปปิ้งตลาดชายแดนแม่สาย ขับรถสบาย ๆ ไป Check-in ที่สามเหลี่ยมทองคำ ชมความงามวัดร่องขุ่นของอาจารย์ เฉลิมชัย ก่อนวนไปบ้านดำ อาจารย์ ถวัลย์ ดัชนี แล้วลอยฟ้าไปกับพี่บอลลูนยักษ์ในงานเทศกาลบอลลูนที่ใหญ่สุดของประเทศ นอกจากที่ท่องเที่ยวสวย ๆ แล้วอีกเรื่องที่หลายคนอาจยังไม่ค่อยรู้คือ เมืองนี้เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ เนื่องจากประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่าพันปี ประกอบกับภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงทอดตัวพาดผ่านหลายประเทศ ทำให้ชาติพันธุ์ในเชียงรายมีทั้ง คนเมืองลานนา, ชาวไทใหญ่, อาข่า หรือ อีก้อ, ปะกาเกอญอ, ลาหู่, ลีซอ, ม้ง, ไทยเขิน, ไปจนถึงชาวจีนยูนนาน และ ชาวอีสานบ้านเฮา The People เลยชวนเรียนรู้วัฒนธรรมความหลากหลายของเชียงรายผ่านความอร่อยของอาหารรสเลิศอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชาติพันธ์ุ โดยได้ AVIS พาตะลุยเลาะริมแม่น้ำโขง แวะพักสามเหลี่ยมทองคำ วนไปแม่สาย แล้วขึ้นดอยแม่สลอง เที่ยวกันให้ทั่วเจียงฮาย แบบสบาย ๆ ไม่ต้องหวั่นเส้นทางคดเคี้ยว และภูเขาสูงชันกันเลย ชาวไทใหญ่ เป็นชาติพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากเมืองสิบสองปันนา หรือ เชียงตุง แล้วกระจายตัวเข้ามาตั้งรกรากในจังหวัดเชียงราย ถ้าพูดถึงอาหารไทใหญ่แน่นอนว่าต้องมีส่วนประกอบของถั่วเน่า ที่ผ่านการหมักให้มีรสชาติเค็มอ่อนกลมกล่อม ใช้เป็นเครื่องปรุงรสหลักของอาหารไทใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นข้าวแรมฟืน ที่เอาข้าวเจ้ามาโม่ละเอียดแล้วกวนกับน้ำปูนใสทิ้งข้ามคืนจนแข็งตัวเป็นวุ้น นำมาประกอบอาหารหลากหลาย แล้วยังมีข้าวซอยน้อย หรือ พิซซ่าไทยใหญ่ ที่เอาแป้งข้าวเจ้าต้มในน้ำเดือดทั้งถาด ปรุงรสตามความชอบ แล้วปิดฝารอสุก ไว้กินกับน้ำจิ้มถั่วสุดเข้มข้น แป๊ะจ่อ หรือถั่วทอดกรอบ ๆ น้ำหนังผิงไฟที่อร่อยไม่แพ้กัน อาหารอาข่า ชนเผ่าที่บรรพบุรุษพื้นเพเดิม อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ก่อนจะอพยพเข้ามาอาศัยในเชียงราย พร้อมด้วยวัฒนธรรมอาหารอันเป็นเอกลักษณ์ เมนูพิเศษของชาวอาข่าคือเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะแพะภูเขาที่นิยมกินรับปีใหม่ ตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาว่าเป็นยาบำรุงร่างกาย สามารถนำมาทำเป็นลาบดิบแพะ หรือจะปรุงสุกเป็นลาบคั่ว ที่หนักแน่นด้วยเครื่องเทศอย่างเปลือกต้นมะกอกที่ช่วยเสริมรสและปรุงกลิ่น นอกจากนี้ยังมีเมนูหลากหลายจากผักธรรมชาติ และสมุนไพรหลากหลายที่ชาวอาข่าใช้เป็นอาหารประจำวัน เดิมดอยแม่สลองเป็นที่อยู่ชนเผ่าอาข่า จนกระทั่งนายพลต้วน ซี เหวิน นำทหารจีนคณะชาติกองพล 93 อพยพมาอาศัยอยู่ แน่นอนว่าขึ้นชื่อว่าคนจีนเรื่องกินต้องมาเป็นอันดับต้น ๆ พวกเขาเลยนำวัฒนธรรมอาหารแบบยูนนานติดตัวมาด้วย ทุกวันนี้อาหารจีนยูนนานแล้วกลายเป็นหนึ่งในอาหารขึ้นชื่อของดอยแม่สลอง ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่ยูนนาน ไข่ม้วนยูนนาน เห็ดหอมซีอิ๊ว สุกี้หม้อไฟยูนนาน ที่นำไก่ดำมาตุ๋นน้ำซุปสุดอร่อย ซึ่งต้องสั่งล่วงหน้ากว่า 3 ชั่วโมง และที่ขาดไม่ได้เลยคือขาหมูยูนนานสุดนุ่มลิ้นที่กินพร้อมหมั่นโถวร้อน ๆ ให้ความอบอุ่นท่ามกลางอากาศหนาว ๆ ได้เป็นอย่างดี จริงอย่างที่เขาว่าทุกที่มีคนอีสาน และที่ไหนมีคนอีสานที่นั่นก็จะเต็มไปด้วยความสนุกสนาน และอาหารสุดแซบ เหมือนที่หมู่บ้านท่าขันทอง หมู่บ้านเล็ก ๆ ริมแม่น้ำโขงที่ชาวอีสานพากันอพยพมาตั้งถิ่นฐานกันเหมือนหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะติดใจในธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณนี้ ซึ่งพวกเขาได้นำเอาวัฒนธรรมอาหารอีสานมาประยุกต์เข้ากับวัตถุดิบพื้นเมือง จนเกิดเป็นอีสานฟิวชันในแบบอีสานลานนา ที่ใครได้ชิมต้องร้องออกมาว่า แซบหลายลำขนาดเด้อ