รู้จัก ‘อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี’ ฉากของแบบเรียนและหนังเรื่อง ‘มานี มานะ The Movie’

รู้จัก ‘อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี’ ฉากของแบบเรียนและหนังเรื่อง ‘มานี มานะ The Movie’

เปิดเส้นทางประวัติศาสตร์อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี ดินแดนที่เป็นมากกว่าฉากในแบบเรียน ‘มานี มานะ’ แต่ยังเป็นประตูสู่อีสานที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงยุคพัฒนาประเทศ

KEY

POINTS

  • ‘ช่องเขาพังเหย’ เส้นทางการค้าโบราณที่เชื่อมภาคกลางสู่อีสานและล้านช้าง มีปราสาทปรางค์นางผมหอมเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์
  • พบจารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ หลักฐานสำคัญสมัยอยุธยาที่แสดงถึงเส้นทางเดินทัพไปตีเมืองพิมายและพนมรุ้ง
  • เป็นพื้นที่รอยต่อวัฒนธรรมไทย - ลาว โดยเฉพาะในยุคพัฒนานิคมสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีการอพยพของชาวอีสานเข้ามาตั้งถิ่นฐาน
  • กลายเป็น ‘ประตูสู่อีสาน’ อย่างสมบูรณ์ในยุคปราบคอมมิวนิสต์ ด้วยการสร้างอุโมงค์เขาพังเหยเชื่อมเส้นทางรถไฟสู่ภาคอีสาน

ลำสนธิ & ลพบุรีที่ออกจะไกลปืนเที่ยง

ถึงแม้จะเป็นปัญหาว่า ‘อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ’ ผู้แต่งแบบเรียนภาษาไทย ‘มานี มานะ’ อาจไม่ใช่คนเกิดที่ลพบุรี เกิดที่มหาสารคาม แต่ทว่าลพบุรีที่หนังเรื่อง ‘มานี มานะ The movie’ จะนำเสนอนั้น ก็มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นลพบุรีที่อำเภอลำสนธิ ซึ่งไม่ใช่ลพบุรีอย่างที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี 

ไม่ใช่ลพบุรีที่จะมีภาพเป็น ‘มหาพิภพวานร’ ไม่ใช่ลพบุรีในฐานะ ‘เมืองพระนารายณ์’ ไม่ใช่ลพบุรีแบบพระปรางค์สามยอด, ศาลพระกาฬ, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ, บ้านวิไชยเยนทร์, วัดสันเปาโล, พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์, พระที่นั่งไกรสรสีหราช (พระที่นั่งเย็น) ฯลฯ (ทุกสิ่งสรรพที่มีในอำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี)  

ลำสนธิเป็นลพบุรีที่ออกจะไกลปืนเที่ยง ชนิดที่อยู่พ้นหลังเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ไปอีกพอสมควรเลย ใครที่ขับรถไปย่านนี้ครั้งแรกเมื่อผ่านสระบุรีไปแล้วเข้าเขตอำเภอศรีเทพ แต่ก่อนจะถึงเมืองโบราณศรีเทพ เลี้ยวขวาจากแยกท่าหลวงไป อาจจะงงนิด ๆ ว่าทำไมลพบุรีช่างกว้างใหญ่ไพศาล ขับรถมาเป็นชั่วโมงแล้วก็ยังไม่พ้นเขตจังหวัดนี้สักที อารมณ์ประมาณเหมือนขับลงใต้แล้ว รู้สึกว่าเมื่อไหร่จะพ้นเขตประจวบคีรีขันธ์เข้าเขตชุมพรเสียที หรืออารมณ์แบบขึ้นเหนือเลยตากไปแล้ว เข้าเขตเถิน ก็แบบเอ๊ะเมื่อไหร่จะถึงลำปางซะทีนะ อะไรประมาณนั้น

ลำสนธิ ‘แดนลับแลของลพบุรี’ ข้อมูลจากประวัติมหาดไทย

อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอและจังหวัดข้างเคียง ดังต่อไปนี้: 

ทิศเหนือ, ติดต่อกับอำเภอวิเชียรบุรี (จังหวัดเพชรบูรณ์) อำเภอภักดีชุมพล และอำเภอเทพสถิต (จังหวัดชัยภูมิ) 

ทิศตะวันออก, ติดต่อกับอำเภอเทพสถิต (จังหวัดชัยภูมิ) อำเภอเทพารักษ์ และอำเภอด่านขุนทด (จังหวัดนครราชสีมา) 

ทิศใต้, ติดต่อกับอำเภอสีคิ้ว (จังหวัดนครราชสีมา) อำเภอมวกเหล็ก (จังหวัดสระบุรี) และอำเภอท่าหลวง (จังหวัดลพบุรี) 

ทิศตะวันตก, ติดต่อกับอำเภอชัยบาดาล (จังหวัดลพบุรี) และอำเภอศรีเทพ (จังหวัดเพชรบูรณ์) 

จากประวัติการก่อตั้งเป็นอำเภอ พบว่าพื้นที่ของอำเภอลำสนธิเดิมเป็น ‘ตำบลลำสนธิ’ อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2529 นายนิยม วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี ได้ยื่นเรื่องราวต่อราชการ ขอให้ตั้งกิ่งอำเภอขึ้นที่ตำบลลำสนธิ โดยเสนอให้รวมท้องที่ตำบลเขารวก ตำบลกุดตาเพชร ตำบลหนองรี ตำบลซับสมบูรณ์ เพื่อรวมขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ 

อีก 1 ปีต่อมา พ.ศ. 2530 หลังจากศึกษาความเป็นไปได้แล้ว กรมการปกครองได้พิจารณาดำเนินการจัดตั้งเป็น ‘กิ่งอำเภอลำสนธิ’ ขึ้นกับท้องที่อำเภอชัยบาดาล ซึ่งกรมการปกครองได้บรรจุเข้าแผนการจัดตั้งกิ่งอำเภอและอำเภอระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2530 - 2534) เพื่อดำเนินการจัดตั้งเป็น ‘อำเภอลำสนธิ’ ต่อไป เมื่อมีความพร้อม 

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2532 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยให้แยกตำบลลำสนธิ ตำบลซับสมบูรณ์ ตำบลหนองรี ตำบลกุดตาเพชร และตำบลเขารวก ออกจากการปกครองของอำเภอชัยบาดาล รวมมาขึ้นกับกิ่งอำเภอลำสนธิ และในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2537 มีประกาศกระทรวงมหาดไทยให้แยกบางหมู่บ้านออกมาจากการปกครองของตำบลซับสมบูรณ์ รวมตั้งเป็นตำบลเขาน้อย

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาฯ ยกฐานะขึ้นเป็น ‘อำเภอลำสนธิ’ จนถึงปัจจุบัน

นั่นหมายความว่า ช่วงพ.ศ.2521 - 2537 ซึ่งเป็นช่วงที่แบบเรียนภาษาไทย มานี มานะ ปิติ ชูใจ ผลงานการประพันธ์ของอาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ นั้น เป็นช่วงที่ยังไม่มี ‘อำเภอลำสนธิ’ บริเวณดังกล่าวนี้เวลานั้นยังขึ้นกับอำเภอชัยบาดาลและต่อมาเป็น ‘กิ่งอำเภอลำสนธิ’ จนถึงปลายปีพ.ศ.2539 ถึงได้มีอำเภอลำสนธิ เป็นอำเภอน้องใหม่ของจังหวัดลพบุรี 

ถึงจะเป็นอำเภอน้องใหม่ แต่เป็นย่านประวัติศาสตร์เก่าแก่ - ยุคใหม่  

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นอำเภอที่เพิ่งตั้งใหม่ เช่นเดียวกับหลายเขตย่านที่ก่อนจะตั้งเป็นอำเภอ หรือเป็นจังหวัด ก็เป็นย่านที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาย้อนหลังกลับไปหลายร้อยปี บางแห่งนับพันปี 

จังหวัดสระแก้วที่เพิ่งก่อตั้งเป็นจังหวัดเมื่อพ.ศ.2536 แต่ทว่าก็มีประวัติศาสตร์ย้อนหลังกลับไปจนถึงยุคก่อนสุโขทัย ก่อนกรุงศรีอยุธยา และก่อนเขมรพระนครเสียอีก ดังมีร่องรอยปราสาทเก่าอยู่หลายแห่ง กรมศิลปากรเคยสำรวจไว้พบว่ามีอยู่ 40 แห่ง แห่งที่เป็นที่รู้จักกันดีก็เช่น ปราสาทสด๊กก๊อกธม ปราสาทเขาน้อยสีชมพู ปราสาทเขาโล้น เป็นต้น 

อำเภอศรีมโหสถ แต่ก่อนไม่มี มีแต่ ‘อำเภอโคกปีบ’ มีนักเลงเจ้าพ่อดังกระฉ่อนแต่ก่อน ก็มี ‘แดง โคกปีบ’ อดเป็น ‘แดง ศรีมโหสถ’ เพราะยังไม่มีอำเภอศรีมโหสถ อำเภอนี้เพิ่งตั้งก็จริง แต่ก็ดังที่ทราบกันดีว่า อำเภอนี้เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณในตำนาน เดิมเมืองนี้มีสองชื่อคือ ‘เมืองพระรถ’ กับ ‘เมืองศรีมโหสถ’ เมื่อจะตั้งเป็นอำเภอ มีผู้รู้ชี้แนะทางการว่า ‘เมืองพระรถ’ เป็นชื่อซ้ำกับอีกเมืองที่ตั้งอยู่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ก็เลยเลือกใช้ ‘ศรีมโหสถ’ เป็นชื่ออำเภอ 

ทั้งสองชื่อ (เมืองพระรถกับเมืองศรีมโหสถ) มาจากตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวในย่าน ถ้าลาวมหาวงศ์ (มาจากนครพนม) จะนิยมเล่าตำนานเมืองพระรถ แต่ถ้าเป็นลาวพวน (มาจากแขวงเซียงขวง สปป.ลาว) จะนิยมเล่าเรื่องศรีมโหสถ กว่าจะค้นพบจารึกบนตะเกียงโบราณที่มีชื่อ ‘อวัธยปุระ’ กับ ‘สังโวก’ ชื่อศรีมโหสถก็เป็นที่ฮอตฮิตและรู้จักกันดีอยู่แล้ว ‘อวัธยปุระ’ กับ ‘สังโวก’ เป็นชื่อลิเกไป คนไม่ฮิต 

ความหมายของคำว่า ‘ลำสนธิ’ 

คำว่า ‘ลำสนธิ’ ท่านได้มาแต่ใดมา ไม่เป็นที่ปรากฏ เอาคำนี้ไปเสิร์ชกูเกิลก็จะได้แต่ ‘ลำสนธิโมเดล’ ไม่เกี่ยว ครั้นไปเปิดพจนานุกรม ราชบัณฑิตท่านก็ให้ความหมายไว้แค่ว่า ‘ชื่ออำเภอหนึ่งในจังหวัดลพบุรี’ ก็จะแบบ ความหมายแบบนั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งพวกป้า ๆ ลุง ๆ ที่เป็นราชบัณฑิต ใครก็รู้ 

คำว่า ‘ลำ’ ที่ใช้เป็นชื่อบ้านนามเมืองนี้พบมากในภาคอีสาน เป็นคำเรียกแม่น้ำลำคลอง เช่น มี ‘ลำมูน’ ที่หมายถึง ‘แม่น้ำมูน’ (ใครเขาพาเขียนว่า ‘แม่น้ำมูล’ ผิดแล้ว เอกสารโบราณแต่ไหนแต่ไร ท่านเขียน ‘มูน’ คำนี้มีที่มาจาก ‘มูนมัง’ ที่แปลว่ามรดก และมีปราชญ์ลาวเอาไปผูกเข้ากับตำนานอุรังคธาตุ อ้างอิงว่ามาจาก ‘ทนมูนนาค’ (ทะ-นะ-มูน-นาก) คือพระยานาคผู้มุดดินหนีมาจากหนองแส เกิดเป็นแม่น้ำสายนี้) ‘ลำซี’ ที่หมายถึงแม่น้ำซี (คำนี้ก็ผิดอีก ไทยพาเขียน ‘แม่น้ำชี’ มาจนทุกวันนี้) ในเขตบุรีรัมย์มี ‘ลำนางรอง’ ในเขตนครราชสีมามี ‘ลำตะคลอง’ และอีกสารพัด ‘ลำ’ ลองเปิดหนังสือภูมิศาสตร์อีสานดูก็จะเห็นอีกไม่รู้กี่สิบลำ 

คำว่า ‘สนธิ’ (ที่ไม่ได้หมายถึงผู้นำขบวนการพันธมิตรเสื้อเหลือง) แปลว่า ผนวก, รวม, บรรจบ, พบ ดังนั้นคำว่า ‘ลำสนธิ’ ก็หมายถึงแพรกน้ำหรือจุดบรรจบกันของลำน้ำ ซึ่งลำน้ำสำคัญในย่านอำเภอลำสนธินี้อยู่ในบริเวณที่เป็นลำห้วยสาขาของแม่น้ำป่าสัก ลำน้ำที่เรียกว่า ‘ลำสนธิ’ ก็ไหลไปลงแม่น้ำป่าสัก 

คำว่า ‘สนธิ’ ถ้าภาษาเหนือ จะตรงกับคำว่า ‘สบ’ เช่น มีคำว่า ‘สบเมย’ หมายถึงจุดบรรจบกันของแม่น้ำเมย คำว่า ‘สบ’ หรือ ‘สนธิ’ มีความหมายว่าเป็นจุดตั้งต้นด้วย  

เหตุที่คำเรียกแม่น้ำลำคลองของชาวอีสาน มาเป็นคำเรียกแม่น้ำลำคลองในเขตจังหวัดลพบุรีด้วยนั้น ก็เพราะลพบุรีเป็นถิ่นที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเข้ามาตั้งรกรากอยู่อาศัยกันตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์แล้ว อีกทั้งคนในแถบอำเภอลำสนธิยังติดต่อกับชาวอีสานมาก และมีชาวอีสานอพยพมาตั้งถิ่นฐานในรุ่นหลังอีกก็มาก  

ความสำคัญของ ‘ช่องเขาพังเหย’

นอกจากแม่น้ำ ฝั่งทางทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งของ ‘เขาพังเหย’ ที่ซึ่งอากาศดีพอ ๆ กัน หรือใกล้เคียงกับเขาค้อ เพราะเป็นแนวเขาเดียวกัน เป็นเขตกั้นระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน (ที่จังหวัดชัยภูมิและนครราชสีมา) 

‘เขาพังเหย’ เป็นหลักหมาย (Landmark) สำคัญมาแต่โบราณกาล เพราะมีช่องเขาที่ผู้คนในอดีตสามารถเดินทางข้ามแดนไปมาระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน หรือก็คือแดนแคว้นลวปุระ (ลพบุรี) ศรีเทพ (ในเขตเพชรบูรณ์) กับวิมายปุระ (พิมาย จ.นครราชสีมา)   

‘ช่องเขาพังเหย’ เป็นเส้นทางสำคัญที่ช้างม้า วัวควาย ผู้คน จากเมืองศรีเทพและลพบุรี เดินทางผ่านไปยังพิมาย พนมรุ้ง และเมืองพระนครของกัมพูชา จากพิมายเดินขึ้นเหนือไปก็ไปถึงเมืองเวียงจันในอาณาจักรล้านช้าง 

ในทางกลับกัน ‘ช่องเขาพังเหย’ ก็เป็นจุดผ่านแดนที่กองคาราวานสินค้าจากล้านช้าง กัมพูชา และบ้านเมืองในอีสาน สามารถเดินทางผ่านไปติดต่อกับบ้านเมืองในแถบภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง อาทิ นอกจากลพบุรีกับศรีเทพและเพชรบูรณ์แล้ว ก็สามารถผ่านไปติดต่อกับพิษณุโลกและสุโขทัย ตลอดจนกรุงศรีอยุธยาได้อีกด้วย      

ปรางค์นางผมหอม 

ความเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณที่เป็นเห็นได้ชัดเจนที่สุดในย่านลำสนธิ เห็นจะได้แก่การมีปราสาทเนื่องในวัฒนธรรมแบบพราหมณ์เขมรตั้งอยู่ที่บ้านหนองผักบุ้ง ตำบลหนองรี อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี 

บริเวณที่ตั้งของปราสาทนี้อยู่ในเส้นทางโบราณผ่านแดนของเขาพังเหย เมืองใหญ่สำคัญที่อยู่ใกล้และร่วมวัฒนธรรมกันอยู่ที่เมืองโบราณศรีเทพ ในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนเมืองลพบุรี อยู่ห่างออกไปไกลจากที่ตั้งปราสาทนี้เป็นอันมาก 

แท้ที่จริงแล้ว ปราสาทนางผมหอมในอดีตถือเป็นส่วนหนึ่งของด่านขนอนหลวงเมืองศรีเทพ มากกว่าจะเกี่ยวข้องกับเมืองลพบุรี แต่เพราะการกำหนดเขตแดนจังหวัดในชั้นหลัง ได้นำเอาบริเวณนี้ไปขึ้นกับจังหวัดลพบุรี เลยทำให้จังหวัดเพชรบูรณ์เสียดอนแดนลำสนธิให้แก่จังหวัดลพบุรีไป (ขำ ๆ นะครับ) 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญตรงนี้ก็คือ ปราสาทปรางค์นางผมหอมนี้จริง ๆ แล้ว ควรถือเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกศรีเทพ 

เพราะจะเข้าใจความรุ่งเรืองทางการค้าและสถาปัตยกรรมภายในเมืองโบราณศรีเทพไม่ได้เลย ถ้าปราศจากการเข้าใจความสำคัญของจุดผ่านแดนอย่าง ‘ช่องเขาพังเหย’ กับ ปราสาทที่เรียกว่า ‘ปรางค์นางผมหอม’ 

ปราสาทปรางค์นางผมหอม มีอายุตกถึงราวพุทธศตวรรษที่ 16 สร้างมาก่อนยุคสมัยการสร้างปราสาทนครวัดที่กัมพูชา (สร้างกลางพุทธศตวรรษที่ 17 ในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2) 

เดิมปราสาทหลังนี้มีชื่อเรียกว่าอะไร ไม่เป็นที่ปรากฏ ชื่อ ‘ปรางค์นางผมหอม’ นั้นสืบเนื่องจากอิทธิพลของตำนานเรื่องเล่าของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวในย่าน ‘นางผมหอม’ ที่ว่านี้ในตำนานมีอยู่ 2 นางคือ 

(1) ว่าคือนางราชเทวี มเหสีของพระยาโคตรบอง 
(2) ว่าคือนางอรพิม มเหสีของท้าวปาจิตต์ 

ทั้งสองนางนี้คือ ‘วีรสตรีทางวัฒนธรรม’ ของคนลาวมาแต่โบราณ นางผมหอมเป็นเรื่องเล่าทั่วไป พบที่เมืองพิมาย จ.นครราชสีมา, เมืองนางรอง จ.บุรีรัมย์ และที่ฮอตฮิตมากจนกระทั่งเป็นตำนานที่มาหนึ่งของชื่อจังหวัดเลยทีเดียวก็คือที่ศรีสะเกษ คำว่า ‘ศรีสะเกษ’ ก็มาจากตำนานเรื่องนางผมหอม หรือนางสระผม แน่นอนว่าคำว่า ‘ศรีสะเกษ’ ยังอาจมีที่มาจากตำนานและเรื่องเล่าอื่น ๆ อีกมาก  

ถ้าสังเกตภาพเก่าจะเห็นว่า สาวลาวนิยมไว้ผมยาว มีวิธีการในรักษาเส้นผมให้ยาวสลวยสวยเกร๋มาช้านาน ในขณะที่สาวสยาม ถูกทางการบังคับให้ต้องกร้อนผม ไว้ผมสั้น และไม่ค่อยมีวิธีการรักษาเส้นผม ในอดีตสาวลาวจึงสวยกว่าสาวไทย เป็นที่ต้องตาต้องใจแก่ชนชั้นนำชาย 

เมื่อถูกกวาดต้อนครัวเข้ามาสยามเป็นอันมากหลังศึกเจ้าอะนุวงในสมัยรัชกาลที่ 3 บันทึกของต่างชาติและพื้นเมืองระบุตรงกันหมด ว่าสาวลาวสวยกว่าสาวไทย กระทั่งบ้านเรือนขุนนางผู้ใหญ่ตลอดจนในรั้ววัง เต็มไปด้วยเมียลาวและเจ้าจอมลาว 

สิ่งที่เป็นอัตลักษณ์โดดเด่น ย่อมมีเรื่องเล่าที่มาพิสดาร สิ่งนี้เองเป็นที่มาของการแต่งตำนานหรือเล่าเรื่องนางผมหอมในกลุ่มชาติพันธุ์ลาว เป็นความรู้สึกภาคภูมิใจลึก ๆ ว่า พวกตนมีอารธรรมสูงกว่าคนที่มีอำนาจและกวาดต้อนพวกตนมาอย่างคนไทยสยาม     

จารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ 

นอกจากปราสาทนางผมหอมแล้ว สิ่งสำคัญที่สัมพันธ์กับ ‘ช่องเขาพังเหย’ ยังได้แก่ ‘จารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ’ เป็นของดีที่เชิดหน้าชูตาชาวอำเภอลำสนธิ เพราะเป็นจารึกสำคัญสำหรับประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยาตอนต้น อายุตกถึงพุทธศตวรรษที่ 20 

เมื่อพูดถึงศิลาจารึก เรามักจะนึกถึงศิลาจารึกสุโขทัย (ใช่ไหมครับ) แต่ที่จริง เมื่อนับดูแล้วจะพบว่า สมัยอยุธยามีการสร้างจารึกเอาไว้มากกว่าสุโขทัยเสียอีก และเข้าใจว่าเทคนิควิธีการทำจารึกก็มีแปลกพิสดาร สะท้อนความชำนิชำนาญและเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยไฮเทคกว่าคนยุคสุโขทัยไปอีก 

‘จารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ’ พบที่บริเวณเขาน้อยฝั่งตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา แต่ได้ย้ายมาประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านฉางประชานิมิต ตำบลเขาน้อย อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี ที่จริงก็เป็นละแวกย่านเดียวกัน เพียงแต่ถูกแบ่งเป็นคนละเขตจังหวัดกันในปัจจุบันเท่านั้น 

จารึกหลักนี้เล่าเรื่องการยกทัพไปตีเมืองพิมายกับ ‘วนำรุง’ (พนมรุ้ง) โดยผู้นำทัพคือขุนศรีไชยราชมงคลเทพ ขุนศึกคู่พระทัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ศึกครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ที่จะพิชิตอาณาจักรเมืองพระนครธมของกัมพูชา เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 20 และในศึกครั้งนี้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ทรงประสบความสำเร็จ สามารถตีเมืองนครธมแตกและกวาดต้อนช้างม้าผู้คนและทรัพย์สินสิ่งของมายังกรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก 

ความสำคัญของจารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ ยังได้แก่การเป็นหลักฐานยืนยันถึงเส้นทางเดินทัพโบราณ จากอยุธยาไปอีสานใต้และเขมรพระนคร ตามลำดับ กล่าวคือเป็นเส้นทางแบบ ‘อยุธยา – ลพบุรี - เขาพังเหย (ลำสนธิ) – เขาน้อย – ด่านขุนทด – พิมาย – พนมรุ้ง – อุดรมีชัย – กำปงธม - เมืองพระนคร’ เส้นทางนี้ยังคงใช้อยู่สืบมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 24 มาเลิกใช้กันจริง ๆ ก็เมื่อเกิดเทคโนโลยีการคมนาคมใหม่อย่างการรถไฟ เป็นต้น  

จารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพนับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญประเภทที่เป็นศิลาจารึกสมัยอยุธยา แต่ยังเป็นที่รู้จักกันในวงแคบ เฉพาะนักศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดี แถมทางวัดยังจัดเอาไปอยู่ในกุฏิสมเด็จโต (สมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี) ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ในอนาคตถ้าบริเวณนี้จะมีความสำคัญและเป็นหมุดหมายของการท่องเที่ยวขึ้นมา ก็ควรจัดแยกต่างหาก 

ไม่ใช่ว่าจะมีกุฏิสมเด็จโตไม่ได้ มีได้ แต่ก็ไม่ควรให้บดบังหลักฐานสำคัญที่หาดูไม่ยากยิ่งอย่างศิลาจารึกสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) พระมหากษัตริย์องค์เดียวกับผู้พิชิตอาณาจักรเมืองพระนครของกัมพูชา ผู้สร้างวัดราชบูรณะ (ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาปัจจุบัน) และเป็นกษัตริย์เจ้าของเครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะที่จัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีผู้คนแห่ไปชมกันวันละเป็นหมื่นอัพ 

แต่ทั้งนี้เบื้องหลังของความสำเร็จในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) มาจากการที่ราชวงศ์สุพรรณภูมิสามารถยึดกุมเส้นทางลุ่มแม่น้ำป่าสัก - ล้านช้างได้มาตั้งแต่ก่อนหน้ารัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เครื่องทองจากกรุปรางค์วัดราชบูรณะนั้นก็คาดกันว่าเป็นทองที่ได้มาจากล้านช้างผ่านเส้นทางดังกล่าวนี้ และทองจากล้านช้างที่ได้ผ่านเส้นทางการค้าดังกล่าวนี้ก็ถูกแปรเปลี่ยนเป็นความมั่งคั่งรุ่งเรืองหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310      

ยุค ‘ความไข้เมืองเพชรบูรณ์’ (สมัยรัชกาลที่ 5) ถึง ‘พัฒนานิคม’ (สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม)  

นอกจากยุคร่วมสมัยเมืองมรดกโลกอย่างศรีเทพและยุคอยุธยาแล้ว ในสมัยรัตนโกสินทร์ บริเวณนี้ก็มีความสำคัญ แตกต่างจากที่อื่น ๆ ตรงที่สมัยรัชกาลที่ 5 - 7 ยังไม่พบเรื่องราวอย่างใด นอกไปกว่าที่เป็นบริเวณรกร้างและเขตป่าเขา ผู้คนอยู่อาศัยอย่างเบาบาง เกิดมีชื่อเสียงเป็นแดนเถื่อนชุกชุมไปด้วยโจรผู้ร้ายและอาชญกรรม 

เนื่องจากการเปลี่ยนเส้นทางคมนาคมจากการที่มีเทคโนโลยีใหม่อย่างรถไฟ ทำให้การเดินทางสู่อีสานและล้านช้าง สามารถเดินทางผ่านเขาใหญ่ดงพญาไฟได้สะดวกรวดเร็วขึ้น การเดินเรือจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาไปกัมพูชาและเวียดนามก็สะดวกกว่าในอดีต อีกทั้งยังมีเส้นทางบกและทางรถไฟที่สามารถเดินทางจากปราจีนบุรีที่อรัญประเทศเข้าสู่เมืองพระตะบองและพนมเปญได้สะดวก ไม่ต้องอ้อมโค้งไกลไปผ่านเส้นทางแม่น้ำป่าสัก – เขาพังเหย - อีสานใต้ เหมือนอย่างในอดีต 

บริเวณลำสนธิ เข้าใจว่าเหตุที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง ยังเกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่เกิดเป็นที่เล่าลือกันว่าเป็นเขตป่าอันตราย โดยเป็นส่วนหนึ่งของย่านกล่าวขานในเรื่องนี้ที่ว่าด้วย ‘ความไข้เมืองเพชรบูรณ์’ เจ้านายและขุนนางไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างใด 

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เกิดขึ้นเมื่อหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 รัฐบาลคณะราษฎรสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายพัฒนานิคม แจกที่ดิน และแผนการสร้างเมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา 

บริเวณที่อนุญาตให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกิน สามารถเข้ามาหักร้างถางพงสร้างบ้านแปงเมืองใหม่ได้นั้น นอกจากบริเวณที่เป็นอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีแล้ว จากย่านพัฒนานิคมและพุทธบาท ยังมีคนจำนวนมาก เข้ามาบุกเบิกที่ดินในบริเวณย่านที่เป็นอำเภอลำสนธิในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจากภาคอีสาน  

แผนการใหญ่ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างการสร้างเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงนั้น ถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ระหว่างนั้นการเตรียมการต่าง ๆ เพื่อย้ายเมืองหลวงที่เกิดขึ้นจริง ก็นับว่าสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงทั้งต่อคนในลุ่มแม่น้ำป่าสักและรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเอง 

อย่างที่บอกไว้แล้วว่า การสร้างเพชรบูรณ์เพื่อเป็นเมืองหลวงใหม่ ก่อให้เกิดการย้ายศูนย์กลางอำนาจครั้งใหญ่ หน่วยงานราชการส่วนกลางได้ย้ายมาที่เพชรบูรณ์เป็นบางส่วนแล้วด้วยซ้ำ ในส่วนของการสร้างระบบพื้นฐานที่จำเป็นแก่เพชรบูรณ์ในฐานะเมืองหลวง ได้มีการเกณฑ์คนจากอีสานเข้ามาทำงานใช้แรงงานเป็นอันมาก 

ความทุกข์ยากลำบากของแรงงานอีสาน สร้างความไม่พอใจให้แก่ สส. และรัฐมนตรีจากอีสาน นำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อแพ้โหวตในสภา ก็เป็นจุดจบของรัฐบาล ป.1 (พ.ศ.2481-2487) จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กว่าที่จะเข้ามาได้อีกครั้งก็ต้องรอจนเกิดการรัฐประหารเมื่อพ.ศ.2490 

การสร้างเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงเลยเหลือไว้เพียงอนุสรณ์สถานความทรงจำในตัวเมืองเพชรบูรณ์ ที่เหลือนอกนั้นก็คือคนอีสานที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่และกลายมาเป็นคนเพชรบูรณ์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนก็เป็นคนลพบุรีในแถบลำสนธิ ลำนารายณ์ ชัยบาดาล และอีกส่วนอยู่ที่ย่านอำเภอพุทธบาท จังหวัดสระบุรี 

แม้แต่คนศรีเทพก็ไม่ใช่คนศรีเทพโบราณ ส่วนใหญ่เป็นคนอีสานที่เริ่มเข้ามากันในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ด้วย วัฒนธรรมลาวอีสานกลายเป็นวัฒนธรรมหลักของพื้นที่มาตั้งแต่นั้นจนทุกวันนี้  

รถไฟจะไปโคราช ตดดังป๊าด ถึง ‘อุโมงค์เขาพังเหย’

เดิมบริเวณนี้เป็นย่านสำหรับการเดินทางทางบกและทางน้ำ (แม่น้ำป่าสัก) แต่ต่อมาในทศวรรษ 2510 ช่วงที่มีปัญหาภัยคอมมิวนิสต์ในภาคอีสาน รัฐบาลจอมพลถนอม กิติขจร ภายใต้คำชี้แนะและสนับสนุนด้านงบประมาณการพัฒนาจากสหรัฐอเมริกา 

ยุคการพัฒนาเพื่อปราบคอมมิวนิสต์นี้เองได้มีการสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน ผ่านบริเวณลำสนธิขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยการสร้างทางรถไฟ และอุโมงค์สำคัญที่เป็น 1 ใน 8 อุโมงค์รถไฟในประเทศไทย คือ ‘อุโมงค์เขาพังเหย’ ทำให้เส้นทางโบราณกับการคมนาคมสมัยใหม่มาบรรจบกันอีกครั้ง 

ด้วยเหตุนี้จึงมีสมญาว่า ‘ลำสนธิประตูสู่อีสาน’ ควบคู่กับคำขวัญที่ว่า “น้ำตกวังแสนดีชื่นบาน ตระหง่านปรางค์นางผมหอม  แวดล้อมด้วยภูผา สมบูรณ์ป่าซับลังกา  สายธาราลำสนธิ” 

‘อุโมงค์เขาพังเหย’ เป็นอุโมงค์ทางรถไฟลอดบนเส้นทางรถไฟสายลำนารายณ์ (อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี) - เขาพังเหย (อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี) - บัวใหญ่ (อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา) มีความยาวกว่า 166 กิโลเมตร เริ่มเปิดเดินรถเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2510 (สมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิติขจร) 

‘อุโมงค์เขาพังเหย’ เป็นอุโมงค์ทางรถไฟลอด 1 ใน 8 แห่งของประเทศไทย และเป็นอุโมงค์ทางรถไฟลอดเพียงแห่งเดียวของเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองรี อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี อยู่ระหว่างสถานีรถไฟโคกคลี กับสถานีรถไฟช่องสำราญ บริเวณกิโลเมตรที่ 248.800 - 249.031 ห่างจากกรุงเทพประมาณ 248 กิโลเมตร 

โดยผ่านสถานีอยุธยา และอุโมงค์เขาพังเหยไปออกสถานีบัวใหญ่ที่นครราชสีมา  ปัจจุบันเส้นทางนี้เปิดเชื่อมต่อจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ยาวไปจนถึงสถานีหนองคายและสถานีคำสะหวาด (เวียงจัน สปป.ลาว) 

นอกจากจะเป็น ‘ประตูสู่อีสาน’ แล้ว ปัจจุบันยังเป็นเส้นทางสู่ล้านช้าง สปป.ลาว แทบจะเป็นเส้นเดียวกับเส้นทางโบราณที่คนอยุธยาใช้ติดต่อกับอาณาจักรล้านช้างในอดีต

การตัดถนนจากสระบุรีที่อำเภอเสาไห้ไปยังตัวเมืองเพชรบูรณ์ ยังทำให้เกิดเส้นทางคมนาคมที่คนในลุ่มแม่น้ำป่าสัก สามารถเข้าเมืองกรุงที่กรุงเทพฯ ได้สะดวกขึ้นกว่าแต่ก่อนอีกด้วย   

ลาวในแบบเรียนภาษาไทย

แม้ว่าจะห่างไกลกันอยู่ ระหว่างลำสนธิกับมหาสารคาม แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้บรรยากาศในแบบเรียนภาษาไทย มานี มานะ ไม่ได้ต่างกันเท่าไรนัก ก็คือว่าทั้งสองต่างก็เป็นแหล่งวัฒนธรรมที่กลุ่มชาติพันธุ์ลาวตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยมาช้านานด้วยกัน 

สิ่งเดียวที่ดูเหมือนจะแสดงอัตลักษณ์ความเป็นลพบุรี โดยผู้ที่แสดงออกในเรื่องนี้มาก ไม่ใช่ ‘มานี’ ผู้เลี้ยง ‘เจ้าโต’ (จะเป็นโกลเด้นหรือหมาไทยพันธุ์ธรรมดาก็ตาม) ไม่ใช่ ‘ปิติ’ กับ ‘เจ้าแก่’ (ในลุคแบบปู่คลิ้น อีสต์วูด) ไม่ใช่ ‘ชูใจ’ กับ ‘สีเทา’ (แมววิเชียรมาศ) หากแต่เป็น ‘วีระ’ กับ ‘เจ้าจ๋อ’ เพราะลพบุรีได้ชื่อเป็น ‘เมืองลิง’ มาตั้งแต่ก่อนจะมีแบบเรียนภาษาไทยนี้เสียอีก 

ที่เหลือนอกนั้น บรรยากาศท้องทุ่ง คันนา ป่าเขา มีฉากเป็นภูเขาให้เห็นตลอด มีอุโมงค์ มีโบราณสถาน มีเรื่องคนหาหน่อไม้ หาของป่า มีเกษตรอำเภอ มีครูสาวเป็นผู้มีอิทธิพลต่อเด็ก ๆ และต่อชุมชนในท้องถิ่น ทั้งหมดนี้มันก็ฉากบรรยากาศ ‘บ้านเฮา’ ดี ๆ นั่นแหล่ะ 

อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ ไม่ใช่คนแรกที่เอาบรรยากาศแบบบ้านนอกลาว ๆ ไปใส่ไว้ในแบบเรียน เพียงแต่ก่อนหน้านี้ความเป็นไทยแท้ ๆ มักจะถูกรันวงการด้วยลูกจีนหลานมอญ อย่าง ‘หลวงวิจิตรวาทการ’ ต้นตำรับไทยแท้อพยพมาจากน่านเจ้า ก็เป็นลูกจีนมีชื่อจีนว่า ‘นายกิมเหลียง’ ด้วยซ้ำไป  

แบบเรียนภาษาไทยของอาจารย์รัชนีถูกเรียกลำลองว่า ‘แบบเรียนรุ่น Gen-X’ เป็นรุ่นหลังป่าแตก บรรยากาศสังคมแบบที่ปรากฏในวรรณกรรมเพื่อชีวิต - เพื่อประชาชน ยังไม่มลายหายไปจากพื้นที่สาธารณะ การมีตัวละครเอกในแบบเรียนเป็นคนธรรมดา เลี้ยงสัตว์ อยู่กับท้องไร่ท้องนา เข้าถึงคนได้มากกว่าตัวละครที่เป็นลิเกชนชั้นสูง 

หัวใจหลักของวรรณกรรมแนว ‘เพื่อชีวิต – เพื่อประชาชน’ อาจจะมีนิยามและตีความได้หลากหลาย แต่ท้ายที่สุดแล้ว หัวใจหลักที่บ่งบอกว่าวรรณกรรมชิ้นไหนสามารถจะเข้าเกณฑ์ ‘เพื่อชีวิต – เพื่อประชาชน’ ได้นั้นอยู่ที่ (1) มีลักษณะ Realistic (สัจนิยม) (2) ตัวละครเป็นคนธรรมดาสามัญชนและเรื่องราวก็ธรรมดาสามัญที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน   

จากเกณฑ์ข้างต้น วรรณกรรมแบบเรียนชิ้นนี้เข้าเกณฑ์ไปแบบเต็ม ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องแขวนป้าย ‘เพื่อชีวิต – เพื่อประชาชน’ เป็น ‘เพื่อชีวิต – เพื่อประชาชน’ โดยเนื้อหานั่นเอง (สามารถอ่านต้นฉบับแบบเรียนนี้ได้จากลิงก์นี้ https://drive.google.com/drive/folders/0B_dx3cf4F2pkdkNkOVdMdmRLems?resourcekey=0-yejuVcujQIB3plG_RLC1PQ ปล. ขอขอบคุณเพจโรงเรียนตะเคียนงาม จ.ระยอง ที่เผยแพร่ลิงก์ดังกล่าวนี้ไว้ ณ ที่นี้ด้วย)  

กล่าวโดยสรุป ภายใต้บรรยากาศของช่วงทศวรรษ 2520 มีช่องว่างพอสมควรที่คนอย่างอาจารย์รัชนีหรือใครต่อใคร สามารถนำเอาวิถีชีวิตคนบ้านเฮาไปแทรกปนอยู่ในเรื่องไทยแท้ ๆ ได้แบบเนียน ๆ เรื่องมันเลยคลาสสิคและอยู่ในความทรงจำของผู้คน เพราะเราได้มีโอกาสได้เห็นคนแบบมานี มานะ ปิติ ชูใจ อยู่ในชีวิตจริงมาจนถึงทุกวันนี้   

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์
ภาพ: Teaser มานี มานะ The movie

อ้างอิง:
     กำพล จำปาพันธ์. ““ทองอยุธยา” มาจากไหน?” เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม (Silpa-mag.com) เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 https://www.silpa-mag.com/history/article_115306 
     กำพล จำปาพันธ์. “จาก “ลูกหลานหนุมาน” ถึง “ลูกศิษย์เจ้าพ่อพระกาฬ” : ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของ “ลิง” ในชุมชนเมืองลพบุรี” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 41 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2563), หน้า 112-137. 
     กำพล จำปาพันธ์. “ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรมของเมืองลพบุรี ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา” มติชนอเคเดมี (www.matichonacademy.com) เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 1 เมษายน 2563 https://www.matichonacademy.com/tour-story 
     กำพล จำปาพันธ์. “ลพบุรีจะกลายเป็น ‘พิภพวานร’ หรือไม่?” The People.co เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 https://www.thepeople.co/social/the-never-die/53094  
     คณะกรรมการประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดลพบุรี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากรและกระทรวงศึกษาธิการ, 2542. 
     ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. นิทานโบราณคดี. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2534. 
     วรรณา นาวิกมูล (บก.). สรรพศาสตร์ สรรพศิลป์ ถิ่นลพบุรี. ลพบุรี: คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี, 2559. 
ศานติ ภักดีคำ. ยุทธมรรคา: เส้นทางเดินทัพไทย-เขมร. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557.  
     สารานุกรมเสรี (Wikipedia). “อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี” (แหล่งข้อมูลออนไลน์)  https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B4 (สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568). 
    สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี. “ประวัติความเป็นมาของอำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี” (แหล่งข้อมูลออนไลน์) https://district.cdd.go.th/lamsonti/about-us/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2/ (สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568).