มองอับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 16 ผ่านภาพยนตร์ Lincoln(2012)

มองอับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 16 ผ่านภาพยนตร์ Lincoln(2012)
“รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน จะไม่มีวันสาบสูญไปจากโลกนี้”...อับราฮัม ลินคอล์น (1809-1865) ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ อเมริกาคนที่ 16 แม้ว่าในกระแสการประท้วงเรียกร้องสิทธิ์คนผิวดำ Black Lives Matter ในช่วงเดือนมิถุนายน 2020 จะตั้งคำถามกับอับราฮัม ลินคอล์นในประเด็นการเลิกทาสในอดีต ระดับที่ต้องการทำลายรูปปั้นของลินคอล์น เพราะรูปปั้นทาสที่อยู่คู่กับรูปปั้นของเขานั้นดูต่ำต้อยไป และรูปปั้นดังกล่าว จัดสร้างขึ้นด้วยเงินภาษีของอัฟริกันอเมริกันผู้เคยได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาส(www.washingtonpost.com) แต่ประวัติศาสตร์กระแสหลักที่รับรู้กันก็คือ อับราฮัม ลินคอล์น คือ ผู้ประกาศคำประกาศเลิกทาสที่สหรัฐอเมริกา… . วันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 2013 ประธานาธิบดีคนที่ 44 ของประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาอย่าง บารัก โอบาม่า ได้เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐอเมริกาในรอบที่ 2 นี่อาจจะเป็นหมุดหมายที่สำคัญว่า อเมริกันชนส่วนใหญ่ ได้ยอมรับสิทธิของคนอัฟริกันอเมริกันในเชิงการเมืองถึงระดับที่ยอมรับให้เป็นผู้นำในการใช้อำนาจบริหาร ณ “ดินแดนแห่งเสรีภาพ(?)” แห่งนี้ แต่ต้องไม่ลืมว่า จนถึงทุกวันนี้ ที่สังคมอเมริกันก็ยังมีการเหยียดผิวและการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันอยู่ เมื่อย้อนกลับไปประมาณ 150 ปีที่แล้ว ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1863 สหรัฐอเมริกาเพิ่งจะมีการประกาศเลิกทาส ท่ามกลางกองเลือดในสงครามกลางเมือง… จากวันนั้น ในสังคมอเมริกันที่พยายามประคับประคองหลักการ “เสรีภาพและความเสมอภาค” ถูกทางบ้าง ผิดทางบ้าง เพื่อให้ประชาธิปไตยให้เดินไปข้างหน้าต่อไปเรื่อย ๆ และบุคคลหนึ่งที่คนอเมริกันจะลืมไม่ได้ นั่นคือ ผู้ประกาศคำประกาศเลิกทาสในครั้งนั้น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อเมริกาคนที่ 16…อับราฮัม ลินคอล์น ชายรูปร่างสูงโปร่ง มีหนวดเคราอันเป็นเอกลักษณ์ ผู้เดินทางจากท้องไร่ท้องนา สู่การเป็นทนายความ และได้ก้าวมาสู่เวทีทางการเมืองจนกลายเป็นผู้นำสหรัฐฯ ผู้นี้ ชีวิตของเขาได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อมากมาย และเรื่องราวของอับราฮัม ลินคอล์น ได้ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง Lincoln(ค.ศ. 2012) มองอับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 16 ผ่านภาพยนตร์ Lincoln(2012) ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้หยิบยกเนื้อหามาจากส่วนหนึ่งของหนังสือที่มีชื่อว่า Team of Rivals : The Political Genius of Abraham Lincoln ผลงานเขียนของดอริส กูดวิน มาตีความโดยผู้กำกับรุ่นใหญ่อย่างสตีเฟ่น สปีลเบิร์ก แถมยังได้ดาราใหญ่ผู้ถนัดการแสดงแบบ Method Acting(การตีความดำดิ่งเข้าไปในจิตใจของตัวละคร) อย่าง เดเนียล เดย์-ลูอิส (ซึ่งเคยได้รับรางวัลออสการ์นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง There Will Be Blood, My Left Foot และได้อีกรางวัลจาก Lincoln) มารับบทเป็นประธานาธิบดีผู้ปรากฏอยู่ในธนบัตร 5 เหรียญสหรัฐฯ อีกต่างหาก เสริมให้ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าดูยิ่งขึ้น Lincoln ได้พูดถึงประวัติชีวิตของอับราฮัม ลินคอล์น ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายก่อนที่เขาจะถูกสังหารในโรงละคร อันเป็นช่วงที่สำคัญช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาเพราะเป็นช่วงที่สงครามกลางเมืองอเมริกายืดเยื้อมาสู่ปีที่ 4 สงครามครั้งนี้เป็นการรบกันระหว่างกลุ่มมลรัฐที่สนับสนุนรัฐบาลในการต่อต้านการขยายระบบทาส กับกลุ่มมลรัฐทางฝั่งใต้ที่ยังเห็นด้วยกับการมีระบบทาสจึงประกาศแยกตัวจากสหรัฐอเมริกาแล้วตั้งตัวเป็นสมาพันธรัฐ  สิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์ Lincoln มิใช่ความตื่นตาในฉากสงคราม แม้ว่าช่วงเริ่มต้นภาพยนตร์จะปรากฏฉากเหล่านี้ก็ตาม แต่ในภาพยนตร์กลับเต็มไปด้วยความดุเด็ดเผ็ดมันในการปะทะคารมกันในสภาคองเกรส ในความพยายามที่จะยุติสงครามกลางเมือง และการถกเถียงที่จะผลักดัน/ต่อต้าน “ร่างบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13” ที่เนื้อหาคือการประกาศห้ามมีทาสตลอดไป ประธานาธิบดีลินคอล์น ซึ่งมีอำนาจด้านการบริหาร แม้ว่าจะไม่สามารถเข้าประชุมในสภาคองเกรสได้ แต่ก็พยายามกดดันให้ฝั่งคองเกรส ยอมรับร่างบทบัญญัตินี้ อันเป็นความฝันของลินคอล์นเองที่อยากเห็นแผ่นดินอเมริกาไร้ทาส ด้วยพลังการแสดงของเดเนียล เดย์-ลูอิส แม้ว่าบุคลิกของลินคอล์นจะค่อนข้างเต็มไปด้วยท่าทีที่นิ่ง สุขุม การแสดงในแบบ “น้อยได้มาก”(Less is More) ของเขา ซึ่งแม้จะไม่ได้ออกแอ็คชันหวือหวามากมาย แต่กลับทำให้คนดูรู้สึกว่าเขาจับตัวละครตัวนี้ได้อยู่หมัด ไม่ว่าจะเป็นฉากที่เขาทะเลาะกับภรรยาและลูกชาย, ฉากที่ประธานาธิบดีผู้นี้นั่งเงียบ ๆ อยู่ที่มุมห้อง หรือแม้ว่าจะไม่ปรากฏตัวอยู่ในฉากสำคัญ ๆ อย่างฉากการสาดเสียงสาดคารมใส่กันของผู้แทนฯในสภาคองเกรส หรือฉากท้าย ๆ อย่างฉากที่ลูกชายคนเล็กนั่งดูละครเวที แต่เรากลับรับรู้ได้ถึงออร่าและตัวตนของลินคอล์นที่กดดันถาโถมเข้ามาในฉากเหล่านี้  ภาพยนตร์เรื่องนี้ เข้าฉายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2012 ในสมัยบารัก โอบามา ทำให้ภาพยนตร์ได้รับการพูดถึงในวงกว้างเพราะรับพลังความรู้สึกร่วมกันในช่วงเวลาที่มีการผลักแคมเปญการเลือกตั้งประธานาธิบดี สิ่งที่ชี้ชวนให้เห็นผ่านภาพยนตร์ Lincoln ก็คือ การปลูกต้นไม้แห่ง “เสรีภาพและความเท่าเทียม” บนสนามหญ้าที่มีชื่อว่า “ประชาธิปไตย” ให้เกิดขึ้นในสังคมการเมืองของตน  พอได้เริ่มต้นปลูกแล้ว จะผิดจะถูกยังไง ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ก็ช่วยกันประคับประคอง ตัดเสริมแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย บำรุงกันไปให้รากฐานมันค่อย ๆ แข็งแรง ผ่านไปหลายร้อยปีเราจะเห็นความเติบโตของต้นไม้มั่นคงของต้นไม้ต้นนี้ ดังเช่นที่ภาพยนตร์ Lincoln ชี้ชวนให้เห็น ภาพ: เดเนียล เดย์-ลูอิส จากภาพยนตร์ Lincoln