โลกิ: ทำไมจึงกลายเป็นคาแรกเตอร์สีสันของโลกมาร์เวล แบบ ‘ถึงร้ายก็ยังรัก’

โลกิ: ทำไมจึงกลายเป็นคาแรกเตอร์สีสันของโลกมาร์เวล แบบ ‘ถึงร้ายก็ยังรัก’
บรรดาตัวละครและปรากฏการณ์มากมายที่เกิดขึ้นกับจักรวาลมาร์เวล สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ทำไมตัวละครอย่าง ‘โลกิ’ ถึงได้รับกระแสนิยมมากมาย ถูกสร้างเป็นซีรีส์มาร์เวลลำดับแรก ๆ ของ Disney+ ทั้งที่มีเนื้อเรื่องอื่นอีกมากมาย จะเป็นเพราะกระแสความนิยมบ่งชี้ว่า กลุ่มแฟนจำนวนมหาศาลชื่นชอบตัวละครนี้ที่รับบทโดย ทอม ฮิดเดิลสตัน อย่างเดียวหรือเปล่า? หรือมีอะไรมากกว่านั้นหรือไม่? อย่างไร? “...ลักษณะพื้นฐานของโลกิ ที่เป็นคนเปลี่ยนใจง่าย นั่นทำให้คุณไม่สามารถรู้ว่าในจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล (Marvel Cinematic Universe - MCU) เขาคือฮีโร่ หรือวายร้าย หรือ anti-hero…”  คำให้สัมภาษณ์ของทอม ฮิดเดิลสตัน ข้างต้นนี้อธิบายตัวละครที่เขารับบทให้คนทั่วไปได้เห็นภาพชัดเจน โลกิ คือ ‘คาแรกเตอร์’ ที่น่าค้นหามากกว่าจะเป็นตัวละครที่ถูกจัดประเภทแบ่งแยกแบบง่ายดายด้วยคำเหล่านี้ ประโยคนี้ยังเน้นย้ำให้เห็นถึงเสน่ห์สำคัญของ ‘โลกิ’ ฉบับทอม ฮิดเดิลสตัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปรากฏการณ์พิเศษแบบที่ไม่ค่อยพบเห็นในโลกแผ่นฟิล์มเกิดขึ้น ‘โลกิ’ ทั้งฉบับคอมิกและภาพยนตร์ของมาร์เวล ดัดแปลงมาจากเทพนอร์สในตำนานโดยใช้ชื่อเดียวกัน เมื่อเป็นตัวละครในจักรวาลมาร์เวล โลกิในฉบับหน้าจอกลับเป็นมากกว่าตัวละคร ‘คู่ปรับ’ ที่พยายามทำลาย ‘ตัวเอก’ เพื่อสนองความต้องการของตัวเอง มีองค์ประกอบหลายอย่างที่กลับหล่อหลอมให้โลกิฉบับ MCU ออกมามีเอกลักษณ์พิเศษแบบที่พอจะเรียกได้ว่า ‘ทั้งรักทั้งชัง’ หรือจะเป็น ‘ร้ายแต่ก็รักนะ’ ก็ว่าได้ โดยพื้นฐานแล้ว โลกิฉบับมาร์เวลเป็นลูกบุญธรรมของโอดิน ถูกชาวแอสการ์ดนำมาเลี้ยงและเติบโตขึ้นในแอสการ์ด (ชื่อเดียวกับอาณาจักรในตำนานนอร์ส) ใกล้ชิดและถูกนับเป็นพี่น้องกับธอร์ เทพแห่งสายฟ้าของแอสการ์ดตัวเอกของเรื่อง ‘Thor’ ด้วยพื้นเพเบื้องลึกที่ต่างจากชาวแอสการ์ด พละกำลัง ความสามารถจึงแตกต่างจากคนใกล้ชิด เช่นเดียวกับการยอมรับในหมู่คนรอบข้าง ความรู้สึกของเขาผสมปนเประหว่างความทะเยอทะยานเพื่อ(พิสูจน์)ตัวเอง กับความผูกพันกับคนรอบข้าง ด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ซ้อนทับกันหลายชั้นนี้เอง ไม่แปลกเลยที่จะทำให้ตัวละครนี้มีมิติทับซ้อนกันหลายชั้นได้ บางครั้งจะทำเพื่อความต้องการของตัวเองแบบวายร้าย แต่ก็ไปไม่สุด เพราะอีกด้านหนึ่งก็ยังคงผูกพันกับคนรอบข้างอย่างพ่อ-แม่ (บุญธรรม) พี่น้อง ทอมให้สัมภาษณ์เองว่า ตัวละครของโลกิที่ปรากฏในจักรวาล MCU มีกราฟพัฒนาการที่สะเทือนอารมณ์ จากเริ่มต้นเป็นคนรักพี่น้อง แต่ลึก ๆ ก็อิจฉาปนน้อยอกน้อยใจที่คนรอบข้างโดยเฉพาะพ่อ (บุญธรรม) มองไปที่ธอร์มากกว่าเขา ก่อนจะพัฒนาไปเป็นพฤติกรรมปรปักษ์ แล้วกลายเป็น ‘วายร้าย’ ที่โดดเดี่ยวและสับสนในตัวเอง และจาก ‘วายร้าย’ ที่ล้มเหลว โลกิยังกลับเข้ามามีความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องและตัดสินใจแบบเด็ดเดี่ยวเพื่อคนรอบข้างได้อีกครั้ง ซึ่งกราฟพัฒนาการตัวละครลักษณะรูปโค้ง (arc - การเปลี่ยนแปลงของตัวละครจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง หากพล็อตเป็นกราฟ หลายกรณีมักนิยมออกแบบเป็นกราฟที่ค่อยๆ โค้งขึ้น เริ่มจากจุดต่ำ ไต่ระดับขึ้นไปถึงจุดพีก และคลี่คลายลง) นี้เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ‘โลกิ’ มีเสน่ห์ดึงดูดกลุ่มแฟนมาติดตามอย่างเหนียวแน่น โลกิ: ทำไมจึงกลายเป็นคาแรกเตอร์สีสันของโลกมาร์เวล แบบ ‘ถึงร้ายก็ยังรัก’ เรื่องสำคัญอีกอย่างคือต้องชมว่า นอกเหนือจากรูปลักษณ์และเสน่ห์ภายนอกของหนุ่มทอมที่ออกมาเป็น ‘โลกิ’ แบบ ‘ร้ายแต่ก็ยังรัก’ ได้อย่างสมบูรณ์ การถ่ายทอดของทอม ฮิดเดิลสตัน ภายใต้การปลุกปั้นของเคนเน็ธ บรานาห์ ผู้กำกับภาพยนตร์ธอร์ (Thor, 2001) ผู้เชื่อมั่นให้เขารับบท ‘โลกิ’ (แทนบท ‘ธอร์’ ที่ทอมมาแคสต์ในตอนแรก) เล่นกับชั้นของอารมณ์และความรู้สึกของโลกิแบบพอเหมาะพอดี ไม่มากเกินจนแย่งซีนตัวนำเรื่อง และไม่น้อยเกินจนรู้สึกว่าภูมิหลังของโลกิที่มีหลายด้านหลายชั้นจมหายไปกับเนื้อเรื่องจนทำให้ผู้ชมอินร่วมไปกับเส้นทางของโลกิด้วย บางครั้งเราก็แช่งให้แผนร้ายของโลกิล้มเหลว บางครั้งก็หมั่นไส้ในความทะเยอทะยานแบบมั่นหน้า แต่บางครั้งก็เชียร์ให้เขารอดเมื่อเห็นโลกิตัดสินใจแบบที่ตรงข้ามกับลักษณะ ‘วายร้าย’ เพราะเขายังหลงเหลือความผูกพันกับคนรอบข้าง และบางครั้งก็เห็นใจในชะตากรรมของเขา แม้ว่าโลกิจะมีทางเลือกให้เดินหลายทางก็ตาม สิ่งที่ทอมยกตัวอย่างให้เห็นความหลากหลายของโลกิ ได้แบบเห็นภาพอีกอย่างคือ ‘โลโก้’ ของตัวซีรีส์ มันถูกออกแบบให้มีหลายฟอนต์ผสมปนเปหลายรูปแบบในคำเดียว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ลักษณะตัวตนของ ‘โลกิ’ ยังไม่สามารถถูกวางในกรอบแบบชัดเจนได้ ยังไม่แน่ชัด และพร้อมลื่นไหลไปมา (ณ ตอนนี้) ปฏิเสธได้ยากว่าเสน่ห์ของมิติที่ซ้อนกันหลากหลายนี้กลมกล่อมขึ้นด้วยการผสมอารมณ์ ‘ตลกขบขัน’ แทรกเข้าไปในแต่ละจุด จี้ไปที่ปมเรื่องความแตกต่างด้านพละกำลังที่ทำให้เขาเป็นกระสอบทราย หรือความสัมพันธ์กับธอร์ พี่น้องที่มีความทรงจำครั้งหลังด้วยกัน มุกตลกแต่ละตับที่วางให้โลกิถ่ายทอดออกมาผ่านการแสดงของทอม ฮิดเดิลสตัน ล้วนทำออกมาได้สมกับคำ ‘น่ารักน่าชัง’ ไม่เพียงแค่ ‘น่ารักน่าชัง’ ในบทโลกิเท่านั้น แฟน ๆ ที่ติดใจบทนี้เมื่อได้ลองติดตามทอม ฮิดเดิลสตัน นอกจอ หลายคนน่าจะยิ่งหลงพ่อหนุ่มรายนี้มากยิ่งขึ้นเพราะชีวิตจริงของทอม การปรากฏตัวในงานหรือหน้าสื่อต่าง ๆ เขามีบุคลิก ‘ขี้เล่น’ คล้ายกับตัวละคร ‘โลกิ’ ที่มาร์เวลอิงมาจากตำนานนอร์สอยู่บ้าง ภาพความ ‘ขี้เล่น’ ในชีวิตจริงของทอมที่ดูจะกระชากใจแฟน ๆ มอบรอยยิ้มให้กับผู้คนมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ น่าจะมีลีลาการเต้นแบบต่าง ๆ จากเต้นเบา ๆ จนถึงเต้นสุดเหวี่ยงที่เรียกเสียงกรี๊ดได้ หรือจะเป็นทักษะ ‘ขี้เล่น’ อย่างการ ‘เลียนเสียง’ เพื่อนร่วมวงการหลายราย ต้องบอกว่าทำได้สมกับเป็น ‘นักแสดงมืออาชีพ’ จริง ๆ ‘โลกิ’ กับ ‘ทอม ฮิดเดิลสตัน’ ย่อมเป็นคนละคนกัน จนเมื่อเกิด MCU ขึ้นมา คงจะพอกล่าวได้ว่า ส่วนผสมระหว่างภูมิหลังของตัวละครที่ทับซ้อนหลายชั้น หลอมรวมเข้ากับบุคลิกภาพแบบ ‘ทอม ฮิดเดิลสตัน’ หนุ่มขี้เล่น มาดเท่ มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แฝงเสน่ห์แบบน่าค้นหา ส่วนผสมที่ส่งเสริมกันออกมาเป็นผลลัพธ์ที่กลมกล่อมยากจะหาใครมาแทนได้ ดังนั้น คงไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่ตัวละครอย่าง ‘โลกิ’ แบบฉบับทอม ฮิดเดิลสตัน จะมีซีรีส์ของตัวเองให้แฟน ๆ ได้ลุ้นติดตามเขากันให้เต็มอิ่ม แน่นอนว่าแฟนๆ ล้วนคาดหวังให้ผู้สร้างผลิตผลงานออกมาได้ตรงใจ สะใจ และสมใจสาวก ‘โลกิ’ ทั้งในครั้งนี้และครั้งต่อไปในอนาคตด้วย ลุ้นและเป็นกำลังใจให้นะ ‘โลกิ’   เรื่อง: สุทธิชัย แก้วดีกิจ