สวง ทรัพย์สำรวย: ล้อต๊อก กับเสียงหัวเราะสั่นคลอนเผด็จการ

สวง ทรัพย์สำรวย: ล้อต๊อก กับเสียงหัวเราะสั่นคลอนเผด็จการ
การเมืองอันแสนร้อนรุ่มที่อำนาจการปกครองอยู่ภายใต้เผด็จการนั้นดูจะไปกันไม่ได้กับตลกและอารมณ์ขัน ที่นอกจากจะไม่ได้ช่วยลดทอนอำนาจที่ไม่ได้มาอย่างชอบธรรมแล้ว อารมณ์ขันอาจจะกลายเป็นอาชญากรรมทันทีหากเล่นแล้วไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ ในประวัติศาสตร์มีไม่กี่ครั้งที่อารมณ์ขันจะกล้าลองดีท้าทายอำนาจเผด็จการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็น่าจะเป็น ชาร์ลี แชปลิน กับการรับบทเป็นจอมเผด็จการในหนัง The Great Dictator ในปี 1940 ซึ่งดูเพียงแว้บเดียวก็รู้ว่าตั้งใจจะล้อเลียนฮิตเลอร์ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ ชาช่า บารอน โคเฮน ที่รับบทเป็นเผด็จการสายฮาในหนัง The Dictator (2012) กระทั่งหนังที่เล่าเรื่องช่วงชีวิตสุดท้ายของฮิตเลอร์ในหนังเรื่อง Downfall (2004) ที่ถูกนำมาทำซับนรกจนกลายเป็นมีมตลกที่ยังมีคนใช้ล้อเลียนสถานการณ์ต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบัน ลองหันกลับมามองเมืองไทยแม้ยุคปัจจุบัน แม้การเมืองในบางมิติไม่อาจแตะต้องได้ หากแต่อดีตกลับมีตลกคนหนึ่งที่สามารถใช้เสียงหัวเราะฉีกยิ้มเผด็จการได้ คนคนนั้นคือตำนานแห่งตลกไทย ที่มีนามว่า "ล้อต๊อก" นั่นเอง หากเอ่ยชื่อนี้กับเด็กในวัย 20 ปีลงมา อาจจะไม่รู้จักผู้ชายคนนี้ แต่ถ้าอายุ 25 ขึ้นไป ทุกคนต่างรู้จักในฐานะผู้สร้างเสียงหัวเราะมาอย่างยาวนาน ล้อต๊อก หรือ สวง ทรัพย์สำรวย เด็กหนุ่มผู้สนใจในด้านการร้องรำทำเพลง จนเมื่ออยู่ในยุคสงครามอินโดจีน สวง รับใช้ประเทศชาติในฐานะพลปืนกล แม้สถานการณ์ในสนามรบจะตึงเครียดเพียงใด แต่ด้วยความสามารถทางการร้องรำทำเพลง สวง ไม่เคยทำให้กองพันเครียดเลยสักครั้ง เขายังคงสร้างเสียงหัวเราะไม่หยุดหย่อน จนหมอกควันแห่งสงครามสิ้นสุด นายทหารมากมายรอดชีวิตกลับสู่มาตุภูมิในฐานะวีรบุรุษสงคราม บ้างได้เลื่อนขั้นรับยศมากมาย มีเพียงสวงที่เลือกที่จะหันหลังให้กับทหาร เพราะแสงสว่างแห่งวงการบันเทิงทำให้เขาเลือกที่จะไปยังจุดนั้น เขาเริ่มต้นจากการเป็นตลกจำอวดหน้าม่านตามโรงหนังต่าง ๆ ร่วมกับ ดอกดิน กัญญามาลย์ ในยุคที่หนังฝรั่งถูกกีดกันจากชาติญี่ปุ่น แต่เขาก็ใช้วิกฤตนั่นสร้างตัวตนและเสียงหัวเราะ รวมไปถึงการรับแสดงหนังในฐานะตัวประกอบและตัวตลกจนได้รับชื่อว่า "ล้อต๊อก" จากชื่อในคาแรคเตอร์เสี่ยล้อต๊อกจากหนัง ใกล้เกลือกินเกลือ ในปี 2495 วงการบันเทิงหลังสิ้นสุดสงครามเหมือนต้องการเสียงหัวเราะ ล้อต๊อก จึงเป็นสิ่งที่คนดูโหยหาในยามนั้น ล้อต๊อกค่อย ๆ สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการรวมตัวทีมตลกกับดอกดิน และ สมพงษ์ พงษ์มิตร แสดงนำในหนังชุดสามเกลอ ไม่ว่าจะเป็น สามเกลอถ่ายหนัง (2495) สามเกลอเจอจานผี (2496) ชื่อเสียงของล้อต๊อกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยมา ด้วยใบหน้าที่มีคาแรคเตอร์ มุกตลกอันคมคาย ไปจนถึงการเล่นมุกหน้าตาย ล้อต๊อกทำให้คนดูได้หัวเราะตลอดทั้งหนังรัก หนังโศก หรือหนังบู๊ ผู้สร้างหนังมักจะใช้บริการดาวตลกคนนี้ เขาจึงไม่ต่างกับผงชูรสที่ปรุงกับอาหารประเภทไหนก็เอร็ดอร่อย ชื่อหนังในยุคทองของหนังไทยที่คลาสสิกตั้งแต่ แม่นาคพระโขนง (2502) เงิน เงิน เงิน (2508) มนต์รักลูกทุ่ง (2513) ล้วนแล้วแต่มีชื่อของล้อต๊อกปรากฏอยู่ในนั้น จนชื่อ “ต๊อกบูม” เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสฟีเวอร์และการเดินสายแสดงหนังที่คิวยาวเหยียดไม่แตกต่างกับพระเอกนางเอกอย่าง มิตร-เพชรา เลย ในปี 2512 ล้อต๊อก เปิดเป็นบริษัทสร้างหนังในชื่อ ต๊อกบูมภาพยนตร์ โดยทำหนังเรื่อง ลูกเขย (2512) เป็นเรื่องแรก แต่ผลตอบรับกลับไม่เป็นดังคาด รวมไปถึงชีวิตที่หลงระเริงกับชื่อเสียงและแสงสี กราฟชีวิตของล้อต๊อกค่อย ๆ ตกฮวบตามกระแสการมาของหนังยุคใหม่ กว่าชื่อเสียงของเขาจะกลับมาก็ตอนที่เขาแสดงในหนังแดร๊กคูล่าต๊อก (2522) ที่นำคาแรคเตอร์ผีดูดเลือดของฝรั่งมาประยุกต์แบบไทย ๆ จนทำรายได้อย่างงดงาม และในปีเดียวกัน ล้อต๊อก ก็เปลือยชีวิตตกต่ำของตัวเองในหนัง ตลกร้องไห้ (2522) ยิ่งช่วยตอกย้ำมิติการแสดงที่มีมากกว่าบทตลกเพียงอย่างเดียว และหนังหลวงตา (2523) ก็คือสุดยอดแห่งบทบาทการแสดงของเขาที่วางความขำเดินขนานไปกับบทบาทดรามาได้อย่างลงตัว จนคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม รางวัลตุ๊กตาทอง และเขาก็นำประสบการณ์การอยู่ในค่ายทหารนำมาสร้างเป็นหนังตระกูลทหารเกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น ทหารเกณฑ์ 1,2 (2523) และ ทหารเรือมาแล้ว (2524) จนเป็นพิมพ์เขียวให้หนังตระกูลทหารเกณฑ์ในกาลต่อมา ล้อต๊อกในยุคทศวรรษที่ 20 หลังจากผ่านร้อนหนาวมากมาย เขาตั้งใจจะพักผ่อนใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในบั้นปลาย แต่ด้วยความกตัญญูของเหล่าตลกคาเฟ่ที่ได้ผู้ชายคนนี้เป็นแรงบันดาลใจ เด๋อ ดอกสะเดา จึงชวนล้อต๊อก (ที่ลูกศิษย์ลูกหาเริ่มเรียกเขาว่า “ป๋าต๊อก”) มาเล่นตลกในยุคตลกคาเฟ่รุ่งเรือง พร้อมทั้งข่าวการคบกับภรรยาที่เด็กกว่า จนสุดท้ายในชีวิตบั้นปลายเขาได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติในปี 2538 และสิ้นสุดอายุขัยในปี 2545 ทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้าด้วยผลงานภาพยนตร์ละครมากมายในฐานะ ตลกอัจฉริยะ 4 แผ่นดิน ย้อนกลับไปยังช่วงที่ล้อต๊อกยังเป็นพลทหารสวงผู้ร่ำรวยอารมณ์ขัน จนเป็นที่ถูกใจเหล่าทหารยศใหญ่โดยเฉพาะ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เอ็นดูพลทหารสวงเป็นพิเศษถึงกับเปิดโอกาสให้สวงเลือกยศได้ตามสบาย นายสวงได้แต่หัวเราะแหะ ๆ ขอกลับไปคิด จนเช้าวันต่อมานายสวงมาพร้อมกับชุดทหารเต็มยศ แต่แกกลับขอเพียงแค่สิบเอก จอมพลสฤษดิ์ก็แปลกใจว่าทำไมแกเลือกยศต่ำต้อยนักทั้ง ๆ ที่สามารถเป็นได้ถึงนายร้อย ทหารสวงตอบกลับมาว่า แง่งนายสิบใหญ่ดี ใส่ที่ไหนยังไงก็เห็น แต่นายร้อยเห็นแค่ดาวดวงนิดเดียว ความตลกหน้าตายของแกสร้างเสียงหัวเราะคำโตให้กับเสือยิ้มยากอย่างจอมพลสฤษดิ์ และท้ายที่สุดแกก็ได้เป็นเพียงแค่สิบตรี ก่อนจะหันเหมาเป็นตลกจวบจนวาระสุดท้าย ถึงแม้จะเป็นเพียงเรื่องตลกขำขันที่กลายเป็นเรื่องเล่าที่สืบต่อมา ลองคิดเล่น ๆ ว่าถ้าวันนั้นพลทหารสวงเลือกที่จะมักใหญ่ใฝ่สูงตามจอมพล เราอาจจะไม่มีตลกที่ชื่อล้อต๊อก และแผ่นดินไทยอาจไร้อารมณ์ขันจวบจนทุกวันนี้ และในยุคที่เผด็จการขาดแคลนซึ่งวิสัยทัศน์และอารมณ์ขัน บางทีเราก็ต้องการคนแบบล้อต๊อกมาช่วยเล่นมุกตลกเพื่อสะกิดให้พวกเขามองโลกให้กว้างกว่านี้ก็เป็นได้