ลู ออตเทนส์ : ผู้คิดค้น ‘เทปคาสเซ็ตต์’ วิธีบอกรักผ่านเสียงเพลงของเด็กยุค 90s

ลู ออตเทนส์ : ผู้คิดค้น ‘เทปคาสเซ็ตต์’ วิธีบอกรักผ่านเสียงเพลงของเด็กยุค 90s
***ลู ออตเทนส์ บิดาแห่งเทปคาสเซ็ตต์ เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2021 ในวัย 94 ปี ใครหลายคนคงเคยมีประสบการณ์นั่งรอดีเจเปิดเพลงที่ชอบหน้าวิทยุ กดปุ่มเรคคอร์ดบนเครื่องเล่นเทป อัดเพลงที่รอคอยลงในตลับเทปคาสเซ็ตต์ให้เต็มทั้งหน้า A และ B จากนั้นจึงส่งต่อเพลงรักความหมายดีให้กับคนที่แอบชอบ นั่นคือวิธีบอกรักสุดคลาสสิกของเด็กยุค 90s ที่ไม่ต้องเขียนพรรณนาอะไรให้ยืดยาว และนั่นคือยุคที่ดนตรีเข้าถึงคนทั่วโลกอย่างแพร่หลาย เพราะเทปคาสเซ็ตต์ (Cassette Tape) ได้นำเสียงเพลงจากนักร้องดังแห่งยุคเข้ามาอยู่ในตลับเทปอันเล็กพกพาสะดวก ส่วนในวันนี้ เทปคาสเซ็ตต์ไม่ได้เป็นเพียงอุปกรณ์บันทึกเพลง แต่กลับกลายเป็นบันทึกความทรงจำอันทรงคุณค่า ไม่ว่าเทปตลับแรกของคุณจะเป็นเพลงมนต์รักลูกทุ่ง ก๊อต จักรพันธ์ นัท มีเรีย โมเดิร์นด็อก ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง หรือจะเป็นเอลวิส เพรสลีย์ หรือวงแอ็บบา ทั้งหมดล้วนเป็นผลผลิตจากการคิดค้นของ ‘ลู ออตเทนส์’ (Lou Ottens) วิศวกรชาวดัตช์ที่เพิ่งจากโลกไปเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยวัย 94 ปี เขาคือผู้พลิกโฉมหน้าเครื่องบันทึกเทปขนาดเท่าก้อนแบตเตอรี่รถยนต์ให้กลายเป็นเทปคาสเซ็ตต์ไซส์เท่ากระเป๋าเสื้อ ด้วยความมุ่งหวังให้คนทั่วโลกเข้าถึงดนตรีได้อย่างสะดวกสบาย ในราคาที่สมเหตุสมผล ผมจะทำให้ดนตรีเป็นสิ่งที่พกพาได้ ในปี 1952 ออตเทนส์ได้เข้าทำงานที่ ‘ฟิลิปส์’ (Philips) บริษัทผลิตเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติดัตช์ ก่อนจะย้ายไปประจำที่โรงงานในเมืองฮัสเซิลต์ ประเทศเบลเยียม กระทั่งปี 1960 ออตเทนส์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ และได้ปล่อยเครื่องบันทึกเทปแบบพกพา ‘Philips EL 3585’ ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรก แต่ถึงแม้ขนาดของมันจะใหญ่เทอะทะ และมีน้ำหนักมากถึง 3.7 กิโลกรัม Philips EL 3585 ก็ยังทำยอดขายได้มากกว่า 1 ล้านเครื่อง จากความสำเร็จครั้งนั้น ออตเทนส์และทีมงานชาวเบลเยียมไม่ได้หยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์ของพวกเขา แต่กลับมุ่งมั่นที่จะทำให้เครื่องบันทึกเทปขนาดยักษ์และราคาแพง กลายเป็นอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กเท่ากระเป๋าเสื้อ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยแซ็ค เทย์เลอร์ (Zack Taylor) ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Cassette: A Documentary Mixtape’ กล่าวว่า ออตเทนส์มีความตั้งใจที่จะทำให้ดนตรีเป็นสิ่งที่สามารถพกพาและเข้าถึงทุกคนได้ ถึงแม้ขณะนั้นตัวเขาเองจะยังไม่รู้ว่า สิ่งประดิษฐ์นั้นคืออะไร แต่ก็ขอให้มันเป็นสิ่งที่ใช้งานได้ง่าย และทุกคนมีกำลังพอซื้อ กระทั่งเดือนสิงหาคม ปี 1963 ออตเทนส์และทีมงานได้เปิดตัวเทปคาสเซ็ตต์เป็นครั้งแรกที่งานแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ‘Berlin Radio’ โดยรูปแบบของตลับเทปได้รับการพัฒนามาจากแผ่นไม้ขนาดเท่ากระเป๋าเสื้อที่ออตเทนส์ตัดออกมาเป็นตัวอย่าง บริษัทฟิลิปส์จึงขายสินค้าภายใต้สโลแกน ‘เล็กกว่าซองบุหรี่’ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบันทึกเสียงครั้งใหญ่ให้มาอยู่ในอุปกรณ์ชิ้นเล็กกว่าฝ่ามือ และด้วยความนิยมที่พรั่งพรูจากขนาดเทปที่เล็กและราคาที่จับต้องได้ บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง ‘โซนี่’ (Sony) จึงได้มีการผลิตสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกับเทปคาสเซ็ตต์ขึ้น แต่ด้วยปณิธานของออตเทนส์ที่ต้องการให้ผู้คนทั่วโลกได้เข้าถึงเสียงดนตรีผ่านเทปคาสเซ็ตต์อย่างแท้จริง เขาจึงเข้าเจรจากับบริษัทฟิลิปส์ และทำข้อตกลงร่วมกับโซนี่ เพื่อให้การผลิตเทปคาสเซ็ตต์ทั่วโลกมีมาตรฐานเดียวกัน หลังจากนั้นยอดขายของเทปคาสเซ็ตต์ก็พุ่งทะยานไปมากกว่าหนึ่งแสนล้านตลับทั่วโลก ถึงแม้ตลอดมาออตเทนส์จะไม่เคยอวดอ้างความเป็นนักประดิษฐ์ผู้เปลี่ยนแปลงโลกแห่งดนตรีและการบันทึกเสียง แต่ความคิดสร้างสรรค์และความรักในเทคโนโลยีของเขาก็ฉายแววโดดเด่นมาตั้งแต่วัยเด็ก โดยในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเอง คือช่วงเวลาที่จุดประกายเขาเข้าสู่วงการเทคโนโลยี จากวิทยุประดิษฐ์เองสู่เทปคาสเซ็ตต์ ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังร้อนแรง กองทัพนาซีได้ปฏิบัติการปล่อยคลื่นรบกวนสัญญาณวิทยุในพื้นที่บ้านของลู ออตเทนส์ ซึ่งอยู่ประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่ด้วยความที่เขามีความสนใจในด้านเทคโนโลยีตั้งแต่ยังเด็ก ออตเทนส์ที่เข้าสู่วัยรุ่นจึงได้สร้างวิทยุขึ้นมาเอง โดยใช้เสาอากาศแบบทิศทางในการรับสัญญาณของคลื่น ‘Radio Oranje’ คลื่นวิทยุเนเธอร์แลนด์ที่ให้บริการโดยบีบีซี (BBC European Service) เพื่อฟังข่าวจากผู้นำทางการเมืองที่ถูกเนรเทศอย่างสมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาแห่งเนเธอร์แลนด์ ซึ่งลี้ภัยอยู่ในสหราชอาณาจักรขณะนั้น ภายหลังสงครามจบ ออตเทนส์ได้เข้าศึกษาต่อที่ ‘Delft University of Technology’ ในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ก่อนจะจบการศึกษาในปี 1952 และเริ่มงานกับบริษัทฟิลิปส์ในปีเดียวกัน จากความชอบในวัยเด็ก ออตเทนส์ได้แสดงให้เห็นผลของความคิดสร้างสรรค์ และความมานะบากบั่นในการสร้างความแพร่หลายให้แก่วงการดนตรี ผลผลิตอันทรงคุณค่าอย่างเทปคาสเซ็ตต์ คือสิ่งที่ลดขนาดโลกของดนตรีลงมาอยู่ในเทปขนาดจิ๋ว ทั้งยังทำให้ผู้บริโภคมิกซ์เทป (Mixtape) เพื่อสร้างเป็นเพลย์ลิสต์ส่วนตัวได้ ซึ่งในยุคนั้นต้องถือเป็นความก้าวหน้าที่ถูกใจวัยรุ่นเป็นอย่างมาก ถึงขั้นที่แซ็ค เทย์เลอร์ ผู้เคยสัมภาษณ์ออตเทนส์ในงานสารคดีเรื่องเทปคาสเซ็ตต์ยังกล่าวว่า การมิกซ์เทปนี้เองคือจุดกำเนิดของการสร้างเพลย์ลิสต์อย่างใน Spotify “หากครั้งหน้าคุณสร้างเพลย์ลิสต์สุดแจ่มไว้ใน Spotify หรือแชร์เพลงสุดเพราะให้กับเพื่อนฝูง คุณคงต้องขอบคุณลู ออตเทนส์ด้วย” จุดดิ่งของเทปคาสเซ็ตต์สู่การพุ่งทะยานของแผ่นซีดี การมิกซ์เทปกลายเป็นเทรนด์ที่แพร่หลายในหมู่เด็กยุค 90s ไม่ว่าจะอัดเพลงที่ชอบเก็บไว้ฟังเอง หรืออัดเพลงสื่อรักส่งให้คนที่ชอบ (ใครเคยอัดเพลงจากคลื่นวิทยุไว้ฟังเองหรือส่งให้เพื่อน ยกมือขึ้น) บางคนอาจจะซื้ออัลบั้มเพลงจากเทปคาสเซ็ตต์มาฟังเอง ให้คนที่รัก กับคนบางส่วนที่ยอมให้ยืมซาวด์อะเบาท์ (Soundabout) ยี่ห้อโซนี่สุดเท่ไปเดินอวดเพื่อนในโรงเรียน ซาวด์อะเบาท์ หรือที่ประเทศญี่ปุ่นเรียกว่า ‘วอล์คแมน’ (Walkman) เป็นผลผลิตจากบริษัทโซนี่ที่ตีตลาดฟิลิปส์ไปในปี 1979 เรียกว่าเทคโนโลยีชิ้นนี้ประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้บริโภคสามารถพกพาโลกแห่งเสียงเพลงติดตัวไปได้ทุกที่ทุกเวลา ขนาดออตเทนส์เองยังสารภาพว่า เขารู้สึกเสียดายที่วอล์คแมนเป็นสินค้าของโซนี่ ไม่ใช่ฟิลิปส์ แต่ขณะที่โลกหมุนไปข้างหน้า เทคโนโลยีก็ไม่อาจหยุดอยู่กับที่ ในปี 1982 ออตเทนส์ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตอุปกรณ์บันทึกเสียงรูปแบบใหม่อย่าง ‘CD’ (Compact Disc) ซึ่งตัวเขาเองกล่าวว่า “จากนี้ไปแผ่นเสียงแบบเดิมจะกลายเป็นสิ่งล้าสมัย” หลังจากนั้นยอดขายเทปคาสเซ็ตต์ก็เริ่มลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่ยอดขายซีดีพุ่งสูงเกิน 2 แสนล้านแผ่นทั่วโลก และเทคโนโลยียุคใหม่ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการเพลง กระทั่งในปัจจุบันได้ขยายแพลตฟอร์มไปสู่ออนไลน์อย่างแพร่หลาย การกลับมาของเทปคาสเซ็ตต์กับการจากไปของออตเทนส์ “เมื่อถึงเวลา มันก็ต้องไป” ออตเทนส์กล่าวกับเทย์เลอร์ว่าเขาไม่เชื่อในความเป็นนิรันดร์ ในฐานะผู้ชื่นชอบการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ออตเทนส์ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทม์ในปี 2013 ว่าเขาคาดหวังที่จะเห็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นทุกวัน แต่ภายหลังการเข้ามาครองตลาดของซีดีและแพลตฟอร์มออนไลน์ กระแสเทปคาสเซ็ตต์ก็มีโอกาสกลับมาอีกครั้งช่วงปี 2020 เมื่อศิลปินหลายคน อาทิ เลดี้ กาก้า (Lady Gaga) ออสซี ออสเบิร์น (Ozzy Osbourne) เซลีนา โกเมซ (Selena Gomez) รวมถึง เดอะ คิลเลอร์ส (Killers) ได้ปล่อยเพลงออกมาในรูปแบบของตลับเทปคาสเซ็ตต์ให้แฟนคลับได้อุดหนุน อ้างอิงจาก ‘Official Charts Company’ ของสหราชอาณาจักรพบว่า ยอดขายเทปคาสเซ็ตต์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 103% เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ส่วนยอดขายในสหรัฐอเมริกา อ้างอิงจาก ‘Nielsen music’ มีจำนวนเพิ่มขึ้น 23% ตั้งแต่ปี 2018 ภายหลังออตเทนส์เกษียณจากการทำงานที่บริษัทฟิลิปส์ในปี 1986 เขาก็ได้กลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายในบ้านเกิดอย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อมีการสอบถามเขาถึงเทรนด์การกลับมาของเทปคาสเซ็ตต์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ออตเทนส์ยังยืนยันว่า ไม่มีอะไรจะมาแทนที่ซีดีได้ เพราะคุณภาพเสียงของซีดีนั้นดีกว่าเทปคาสเซ็ตต์มาก “เทปคาสเซ็ตต์คือประวัติศาสตร์ หากมีอะไรที่ดีกว่าเทปคาสเซ็ตต์ มันก็ต้องไปต่อ” แม้วันนี้ วิศกรผู้มอบเทคโนโลยีให้กับคนทั่วโลกจะจากไปแล้ว แต่ผลผลิตอย่างเทปคาสเซ็ตต์และซีดีของเขาจะยังคงอยู่คู่ความทรงจำและโลกใบนี้ตลอดไป ขอบคุณออตเทนส์ที่ทำให้คนทั่วโลกเข้าถึงเสียงเพลงได้อย่างแพร่หลาย และทำให้ชีวิตวัยรุ่นของใครหลายคนได้มีความทรงจำอันทรงคุณค่าให้ได้ย้อนนึกถึง เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ภาพ: Wikipedia อ้างอิง https://www.bbc.com/news/world-europe-56355444 https://www.rollingstone.com/music/music-news/lou-ottens-inventor-audio-cassette-tape-dead-obit-1139657/ https://thepoise.ng/audio-cassette-tape-inventor-lou-ottens-dies-at-94/ https://bestclassicbands.com/lou-ottens-cassette-tape-inventor-obituary-3-10-21/ https://deadline.com/2021/03/lou-ottens-dead-cassette-inventor-compact-disc-developer-1234711683/ https://www.npr.org/2021/03/10/975598869/lou-ottens-inventor-of-the-cassette-tape-has-died https://ourculturemag.com/2021/03/11/lou-ottens-inventor-of-the-audio-cassette-tape-dies-at-94/ https://www.washingtonpost.com/local/obituaries/lou-ottens-dead/2021/03/10/2acec574-81c7-11eb-ac37-4383f7709abe_story.html