หลุยส์ เบรลล์: ชายผู้จุดไฟในโลกอันมืดมิดของผู้พิการทางสายตาด้วยอักษรเบรลล์

หลุยส์ เบรลล์: ชายผู้จุดไฟในโลกอันมืดมิดของผู้พิการทางสายตาด้วยอักษรเบรลล์
“เราไม่ได้ต้องการความสงสารและการย้ำเตือนว่าเราอ่อนแอ แต่เราต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และ ‘การสื่อสาร’ คือหนทางที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้” - หลุยส์ เบรลล์ , 1841 หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille) คือนักดนตรีและครูสอนหนังสือชาวฝรั่งเศส ผู้คิดค้นอักษรเบรลล์สำหรับคนตาบอด ซึ่งทำให้ผู้พิการทางสายตานับล้านเข้าถึงการอ่านและเขียนได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น แต่เบื้องหลังการคิดค้นอักษรเบรลล์จนได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลกนั้น เรียกว่าใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตของเขาเลยก็ว่าได้   เมื่อโลกการมองเห็นมืดสนิท ย้อนกลับไปในปีค.ศ. 1809 หลุยส์ เบรลล์ ลืมตาดูโลกครั้งแรกในเมืองเล็ก ๆ ของประเทศฝรั่งเศส ด้วยสุขภาพแข็งแรงและสายตามองเห็นได้ตามปกติ บิดาของเขาเป็นช่างทำอานม้าและช่างฝีมือทำเครื่องหนัง วันหนึ่งขณะที่เด็กชายเบรลล์ในวัย 3 ขวบ พยายามเจาะรูหนังด้วยเหล็กปลายแหลมเหมือนที่พ่อทำในห้องทำงาน แต่โชคร้ายที่ปลายเหล็กอันคมกริบนั้นได้พุ่งตรงมายังดวงตาของเด็กน้อย ทำให้ตาข้างหนึ่งอักเสบก่อนจะลุกลามไปอีกข้าง และแล้วโลกการมองเห็นของหลุยส์ เบรลล์ก็มืดสนิทไปในวัยเพียง 5 ขวบ แม้ประสาทสัมผัสทางตาจะถูกปิดกั้น แต่ความใฝ่รู้ของเด็กชายเบรลล์ยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เมื่อหลุยส์ เบรลล์ได้รับทุนเข้าศึกษาต่อที่ The Royal Institution for Blind Youth โรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งแรกของโลก ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศฝรั่งเศส แม้จะเป็นโรงเรียนสอนคนตาบอดโดยเฉพาะ แต่การเรียนการสอนในยุคนั้น ยังไม่สามารถปลดล็อกข้อจำกัดเรื่องการอ่านและเขียนได้อย่างเต็มที่ เพราะรูปแบบของตัวอักษรในหนังสือมีขนาดใหญ่และนูนขึ้นมาจากกระดาษ เด็ก ๆ จึงต้องใช้มือสัมผัสและคาดเดาทีละตัวอักษรซึ่งใช้เวลานาน อีกทั้งตัวอักษรขนาดใหญ่ทำให้หนังสือแต่ละเล่มมีน้ำหนักมาก และผลิตขึ้นมาเพียงไม่กี่สิบเล่มเท่านั้น หลุยส์ เบรลล์ และเด็กคนอื่น ๆ ในโรงเรียน จึงต้องใช้เวลาในการอ่านหนังสือนานกว่าเด็กทั่วไปและมีนักเรียนตาบอดเพียงไม่กี่คนที่เชี่ยวชาญเทคนิคการอ่านรูปแบบนี้ ส่วนเรื่องการเขียน นอกจากจะต้องจดจำรูปร่างของตัวอักษรให้ได้แล้ว พวกเขายังไม่สามารถมองเห็นตัวอักษรที่เขียนลงไปได้ ทำให้หลุยส์ เบรลล์พยายามคิดหาวิธีสร้างตัวอักษรที่เอื้อต่อการเรียนรู้และการสื่อสารของผู้พิการทางสายตามากขึ้น   จากอักษรลับของทหารสู่การคิดค้นอักษรเบรลล์ ในปีค.ศ. 1821 กัปตัน Charles Barbier นายทหารเกษียณอายุจากกองทัพของนโปเลียน ได้เดินทางมาเยี่ยมเยือนโรงเรียนคนตาบอดที่หลุยส์ เบรลล์เรียนอยู่ และได้เล่าถึง 'Night Writing' รหัสลับที่กัปตัน Charles Barbier ใช้สื่อสารกับนายทหารคนอื่น ๆ ในที่มืด ซึ่งรหัสลับนี้ ผู้เขียนจะใช้วิธีการจุดและขีดลงบนกระดาษแผ่นหนา ส่วนผู้อ่านจะใช้นิ้วสัมผัสเพื่อถอดรหัสนี้ออกมาโดยไม่ใช้แสงไฟ  เรื่องราว Night Writing ของกัปตัน Charles Barbier ช่วยจุดประกายให้หลุยส์ เบรลล์คิดค้นวิธีสร้างตัวอักษรรูปแบบใหม่ และลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปีค.ศ. 1824 เด็กชายหลุยส์ เบรลล์วัย 15 ปี ได้จุดไฟในโลกอันมืดมิดของผู้พิการทางสายตาขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเบรลล์ได้ลองปรับรหัสอักษรจากการใช้จุด 12 จุดต่อกันแบบทหาร ให้เหลือเพียง 6 จุดเพื่อแทนตัวอักษรต่าง ๆ ซึ่งสามารถย่นระยะเวลาการอ่านและง่ายต่อการเขียนมากยิ่งขึ้น  แม้ระบบอักษรนี้จะได้รับความนิยมในหมู่นักเรียนพิการทางสายตา แต่ครูและผู้คนบางกลุ่มในยุคนั้นยังไม่ได้ยอมรับการใช้อักษรเบรลล์อย่างเป็นทางการ แม้แต่โรงเรียนของหลุยส์ เบรลล์เองก็ไม่ได้บรรจุระบบอักษรนี้ในหลักสูตร ทำให้เด็ก ๆ ต้องเรียนอักษรเบรลล์ด้วยตัวเองตามลำพัง    เปิดประตูความรู้ให้กับผู้ที่มองไม่เห็น หลุยส์ เบรลล์ เติบโตขึ้นเป็นนักดนตรีที่โบสถ์ ควบคู่ไปกับการสอนหนังสือที่โรงเรียนแห่งเดิม แต่เขาไม่เคยทิ้งความฝันที่อยากทำให้ผู้พิการทางสายตาอ่านและเขียนได้ทัดเทียมกับคนทั่วไป หลุยส์ เบรลล์จึงพัฒนาระบบอักษรของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งการแปลงตัวอักษรจากข้อความในหนังสือ สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ และสัญลักษณ์สำหรับนักดนตรีตาบอด ให้สามารถอ่านโน้ตและเขียนเพลงได้  จนกระทั่งปีค.ศ. 1834 หลุยส์ได้นำระบบอักษรของเขาไปเผยแพร่อีกครั้งในนิทรรศการอุตสาหกรรม (Exhibition of Industry) ที่จัดขึ้นในปารีส แต่กลับต้องเผชิญกับความผิดหวังซ้ำสอง เมื่่อกษัตริย์ฝรั่งเศสไม่ได้นำอักษรเบรลล์ไปใช้กับผู้พิการทางสายตา แต่ชีวิตที่เปี่ยมด้วยความหวังของเขา ได้ผลักให้หลุยส์ เบรลล์พยายามต่อไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต  สองปีหลังหลุยส์ เบรลล์สิ้นลมหายใจ ความพยายามของเขาก็ผลิดอกออกผล เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสได้นำระบบอักษรนี้มาใช้อย่างเป็นทางการ โดยใช้ชื่อว่า อักษรเบรลล์ ตามนามสกุลของหลุยส์ เบรลล์ และในปีค.ศ. 1878 World Congress for the Blind ได้ลงมติให้อักษรเบรลล์เป็นระบบการอ่านและการเขียนที่ใช้สำหรับคนตาบอดทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน แม้ตอนนี้จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกมารองรับการอ่านและการเขียนสำหรับผู้พิการทางสายตามากขึ้น และมีผลการสำรวจในสหรัฐอเมริกาที่พบว่ามีคนตาบอดแค่ 10 เปอร์เซ็นเท่านั้นที่สามารถอ่านอักษรเบรลล์ได้ดี แต่ตลอด 200 ปีที่ผ่านมานับว่า หลุยส์ เบรลล์ เป็นนักคิดค้นผู้ไม่ละความพยายาม และเป็นคนแรก ๆ ที่สามารถเปิดประตูให้ผู้พิการทางสายตาได้เข้าถึงความรู้ในแง่การอ่านและการเขียนได้อย่างเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น   เรื่อง : ธัญญารัตน์  โคตรวันทา  ขอบคุณข้อมูลจาก