หลุยส์ มิเชล: ครูและนักปฏิวัติแห่งปารีสผู้อุทิศตนเพื่อความเท่าเทียม

หลุยส์ มิเชล: ครูและนักปฏิวัติแห่งปารีสผู้อุทิศตนเพื่อความเท่าเทียม

“ความตายของเราจะปลดปล่อยปารีส”

– หลุยส์ มิเชล

หน้าที่ของครูคืออะไร ? แล้วครูในวัยเด็กของหลายคนสอนอะไรที่ทำให้จำจนถึงวันนี้ ? บางคนอาจจดจำครูที่คอยตรวจระเบียบเสื้อผ้าทรงผมทุกอาทิตย์ หรือจำครูที่เคยฟาดเราจนปวดก้นได้แม่น หรือหลายคนอาจจำครูที่คอยดูแลเด็ก ๆ เป็นอย่างดีได้ขึ้นใจ จำผู้มอบความรู้จนเรากลายเป็นเราแบบทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่มักมองว่าครูไม่ค่อยมีบทบาทออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ทั้งที่จริงแล้วอาชีพนี้ถือว่ามีบทบาทมากทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังเช่นครูคนหนึ่งในฝรั่งเศสช่วงปี 1870 เธอมีบทบาททางสังคมมากเสียจนชาวปารีสต่างต้องรู้จักชื่อของ หลุยส์ มิเชล (Louise Michel) คุณครูที่ยึดมั่นในหลักการและจรรยาบรรณของตัวเองจนถูกเรียกว่า “French grande dame of anarchy” หรือ “ราชินีแห่งอนาธิปไตยของฝรั่งเศส” หลุยส์ มิเชล เกิดเมื่อปี 1830 เธอใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ในชนบทห่างไกลจากปารีส ทว่าเติบโตมากับแนวคิดเสรีนิยมซึ่งถือว่าหาได้ยาก เพราะส่วนใหญ่สุภาพสตรีหัวก้าวหน้ามักอยู่ในเมือง แต่หลุยส์ มิเชล กลับมองเห็นความสวยงามของเสรีนิยมมาตั้งแต่เด็ก เติบโตมากับสังคมที่ค่อนข้างเปิดกว้าง เลือกเข้ารับการฝึกอบรมวิชาชีพครูเพื่อสอนหนังสือให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้าน หลุยส์ มิเชล: ครูและนักปฏิวัติแห่งปารีสผู้อุทิศตนเพื่อความเท่าเทียม ในปี 1865 มิเชลย้ายมาใช้ชีวิต ณ กรุงปารีส เธอพบเจอกับคนชนชั้นล่างของสังคม พบคนไร้บ้าน พูดคุยกับโสเภณี เป็นเพื่อนกับกวี รับฟังมุมมองหลากหลาย มิเชลสามารถทำงานเก็บเงินเปิดโรงเรียนขนาดเล็กสอนหนังสือระดับประถมศึกษาที่ใคร ๆ ต่างรู้กันว่าสถาบันของเธอมอบการเรียนการสอนแบบหัวก้าวหน้าให้กับนักเรียน บางบ้านอาจไม่อยากส่งลูกหลานมาเรียนกับมิเชลเพราะมองว่าผู้หญิงคนนี้หัวใหม่จนแปลก มีแนวคิดก้าวร้าวเกินไป แต่หลายครอบครัวมองว่าการเรียนการสอนของมิเชลกระตุ้นให้เด็ก ๆ เริ่มคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่แค่ป้อนข้อมูลให้ท่องจำแล้วจบไป อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจต่อตัวครูคนนี้คือเธอเป็นเพื่อนกับ วิกเตอร์ อูโก (Victor Hugo) ผู้เป็นทั้งกวีชื่อดัง นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน และรัฐบุรุษที่มีผลงานวรรณกรรมระดับตำนานเรื่อง ‘เหยื่ออธรรม’ หรือ ‘Les Miserables’ เธอจะนำผลงานของอูโกมาใช้ในห้องเรียน สอนให้เด็ก ๆ รู้จักวัฒนธรรมยุคโรแมนติกที่ต่อต้านแนวคิดสังคมนิยมและการเมืองแบบเก่า หลังว่างเว้นจากงานสอน มิเชลมักไปพบปะกับกลุ่มเพื่อนหัวใหม่อุดมการณ์เดียวกัน เธอกับเพื่อนผู้หญิงหลายคนรวมตัวจัดตั้งกลุ่มเฟมินิสต์แห่งฝรั่งเศสชื่อว่า ‘สมาคมเรียกร้องสิทธิพลเมืองสตรี’ (Society for the Demand of Civil Rights for Women) ในปี 1869 สมาชิกของสมาคมมาจากหลากหลายอาชีพ ครู แม่บ้าน นักข่าว นักเขียน และไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้นที่จะเป็นเฟมินิสต์ได้ เพราะสมาชิกทุกคนทุกเพศคือคนที่อยากเห็นความเท่าเทียม และอยากให้เด็กผู้หญิงในฝรั่งเศสมีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น หลุยส์ มิเชล: ครูและนักปฏิวัติแห่งปารีสผู้อุทิศตนเพื่อความเท่าเทียม

“เราอยู่ในสถานที่ที่ความเป็นมนุษย์เพศหญิงไม่เคยถูกร้องขอใด ๆ

แต่ถูกยึดครองได้ทันที”

สมาคมเรียกร้องสิทธิพลเมืองสตรีมีความใกล้ชิดกับกลุ่มสหภาพแรงงานฝรั่งเศสและนักข่าว พวกเขามีความคิดเห็นใกล้เคียงกันคืออยากให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น ค่าแรงที่ยุติธรรม เด็ก ๆ มีการศึกษาที่ได้มาตรฐาน มิเชลทำงานสอนควบคู่กับความพยายามขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า จุดเปลี่ยนอย่างหนึ่งของชีวิตเธอส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะนักข่าวหนุ่มนามว่า วิกเตอร์ นัวร์ (Victor Noir) ที่ถูกเจ้าชายผู้เป็นหลานของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ยิงตาย อันที่จริงเจ้าชายส่งจดหมายท้าดวลปืนตัวต่อตัวกับเจ้าของสำนักพิมพ์ La Marseillaise ที่นัวร์ทำงานอยู่ เนื่องจากไม่พอใจคอลัมน์ข่าวที่วิจารณ์ต้นตระกูลของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ประมุขแห่งรัฐคนปัจจุบัน ทางเจ้าของสำนักพิมพ์ยอมรับคำท้า แต่ส่งลูกน้องอย่างนัวร์กับเพื่อนนักข่าวอีกคนไปแทน ซึ่งการส่งลูกน้องมาแทนทำให้เจ้าชายโกรธหนักกว่าเก่า เขาตบหน้านักข่าวอีกคนและชักปืนขึ้นมายิงนัวร์ตายคาที่ แถมเจ้าชายยังไม่ถูกดำเนินคดีใด ๆ อีก ข่าวการตายที่ไร้ความยุติธรรมสร้างความโกรธแค้นให้ประชาชน คนเริ่มมองว่าครอบครัวของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เหลิงในอำนาจมากเกินไปเสียแล้ว การมีอยู่ของชนชั้นสูงพวกนี้ไม่ได้ทำให้ประเทศดีขึ้น ซ้ำยังแย่ลงกว่าเก่าเพราะเขาจะยิงใครตายก็ได้ การตายของนัวร์คือเชื้อเพลิงชั้นดีที่ทำให้ชนชั้นกลางชาวปารีสลุกขึ้นต่อต้านจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 รวมถึงมิเชลที่ไปร่วมงานศพของนัวร์ เธอรู้สึกว่าตัวเองต้องทำอะไรมากขึ้นกว่านี้เพื่อให้ฝรั่งเศสเกิดการเปลี่ยนแปลง หลุยส์ มิเชล: ครูและนักปฏิวัติแห่งปารีสผู้อุทิศตนเพื่อความเท่าเทียม นอกจากกรณีของนักข่าวมัวร์ ประชาชนชาวฝรั่งเศสต่างแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลและชนชั้นสูงอยู่ก่อนแล้ว หลังจากที่จักรพรรดินโปเลี่ยนที่ 3 ประกาศทำสงครามกับปรัสเซีย (ที่ปัจจุบันแตกแขนงออกเป็นหลายประเทศ เช่น เยอรมนี โปแลนด์ เบลเยียม) ในปี 1870 โดยไม่ดูเลยว่าประเทศพร้อมเข้าสู่สงครามหรือไม่ ผลของการพาประเทศเข้าสู่สงครามคือความยากจนอดอยาก ชาวบ้านต้องหนีตายเพราะกองกำลังของปรัสเซียบุกโจมตี สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แถมปารีสยังถูกกองทัพปรัสเซียล้อมอยู่นานเกือบ 4 เดือน ผลของการทำสงครามโดยขาดวิจารณญาณของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ทำให้ทั้งชนชั้นกลาง ชาวบ้าน ชนชั้นแรงงานพากันหยุดงานประท้วงรัฐบาล เรียกร้องการปกครองแบบสาธารณรัฐแบบประชาธิปไตย ที่อำนาจปกครองจะไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนเพียงกลุ่มเดียว พร้อมกับตั้งกองกำลังขึ้นมาเองโดยใช้ชื่อว่า ‘กองกำลังพิทักษ์ชาติ’ เพื่อปกป้องชีวิต ศักดิ์ศรี และทรัพย์สิน แม้ว่าพวกเขาจะไม่ใช่ทหารที่ชำนาญการต่อสู้ก็ตาม กลุ่มผู้ประท้วงเขียนข้อเรียกร้องให้ปารีสมีระบอบการปกครองที่มีเสถียรภาพ ให้ประชาชนมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ผู้แทนเข้าไปทำงาน นอกจากศึกภายนอก รัฐบาลต้องรับมือกับศึกภายในเพราะประชาชนต่างโกรธแค้นกับสิ่งที่กลุ่มผู้นำตัดสินใจทำโดยพลการ   การปิดล้อมปารีสเริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 1870 ครูมิเชลเข้าร่วมกองกำลังพิทักษ์ชาติด้วยเช่นกัน แถมเธอยังถูกประกาศต่อหน้าทุกคนว่าได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในหัวหน้าคณะกรรมการเฝ้าระวังแห่งมงมาร์ต (ชื่อเมืองที่เป็นฐานที่มั่นของคอมมูน) เธอกลายเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญต่อการปฏิวัติฝรั่งเศสช่วง คอมมูนปารีส (La Commune de Paris) ที่ทำให้เกิดการล่มสลายของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2 เข้าสู่การปกครองแบบสาธารณรัฐที่ 3 หลุยส์ มิเชล: ครูและนักปฏิวัติแห่งปารีสผู้อุทิศตนเพื่อความเท่าเทียม ในเดือนเมษายนปี 1871 ครูสาวที่สอนหนังสือเด็ก ๆ มาทั้งชีวิตตัดสินใจจับอาวุธวิ่งเข้าสู่พื้นที่สีแดง ต่อสู้กับกองกำลังของรัฐบาลฝรั่งเศสพร้อมกับดูแลหน่วยพยาบาลประชาชน เมื่อได้ปะทะกับกองกำลังของรัฐบาลจริง ๆ สัมผัสความรุนแรง เลือด และความเจ็บปวด มิเชลกลับมาเขียนบันทึกใคร่ครวญถึงสิ่งที่เธอเจอมา ส่วนหนึ่งของไดอารี่เขียนไว้ว่า หรือว่าฉันจะกลายเป็นพวกป่าเถื่อนที่ชอบใช้ความรุนแรงไปแล้ว แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ฉันทำคือความทุ่มเทที่มีให้กับการปฏิวัติ สังคมของเราต้องเปลี่ยน ความตายของเราจะปลดปล่อยปารีส’ ท่าทีที่แข็งกร้าวค่อนข้างไปทางหัวรุนแรงถูกมองออกเป็นสองมุม บางคนมองว่าเธอเป็นผู้ก่อการร้าย ชอบใช้ความรุนแรงเพราะเคยเสนอให้คอมมูนลอบสังหารผู้นำฝรั่งเศส อาดอลฟ์ ตีแยร์ (Adolphe Thiers) แต่อีกฝั่งโต้กลับมาว่าเธอเป็นแค่นักปฏิวัติเท่านั้น สิ่งที่มิเชลแสดงเจตจำนงมาตลอดคือการให้ทุกคนเลิกปฏิบัติกับผู้หญิงคล้ายกับว่าพวกเธอโง่ มีหน้าที่แค่อยู่บ้าน หรือเป็นแค่เครื่องประดับในงานสังคมของผู้ชาย เพราะมนุษย์ทุกคนทั้งชายหญิงควรเท่ากันไม่ใช่ว่าใครอยู่เหนือกว่าใคร มิเชลเคยเถียงกับสมาชิกคอมมูนชายต่อหน้าผู้คนจำนวนมากเมื่อผู้หญิงที่มาช่วยงานพยาบาลถูกพูดจาดูถูกเพราะเป็นโสเภณี ครูมิเชลจึงออกมาด่าผู้ชายที่ทำตัวแย่ ๆ ว่า คุณไม่มีสิทธิ์ทำกับเธอแบบนั้น ในที่สุดคอมมูนปารีสของชนชั้นแรงงานกลายเป็นรัฐบาลชั่วคราว ทว่าพวกเขากลับพลาดพลั้งเมื่อฝั่งกระฎุมพีที่เคยมีอำนาจสามารถจัดตั้งกองกำลังไล่ปราบปรามคอมมูนปารีสอย่างรุนแรง ว่ากันว่ามิเชลเป็นผู้ยืนหยัดคนสุดท้าย ณ สุสานมงมาร์ต (Montmartre) ในเดือนธันวาคม 1871 ก่อนสมาชิกคอมมูนทั้งหมดจะถูกจับ มิเชลถูกตั้งข้อหาพยายามล้มล้างรัฐบาล สนับสนุนให้ประชาชนติดอาวุธ ใช้ความรุนแรง และสวมเครื่องแบบทหารโดยไม่ได้รับอนุญาต ถึงจะโดนตั้งข้อหาหนักหลายกระทง เธอได้ประกาศกร้าวสาบานจะไม่ละทิ้งคอมมูนและกล่าวต่อศาลว่า “ถ้าคุณไม่ได้เป็นคนขี้ขลาด ก็จงฆ่าฉันให้ตายเสีย!” หลุยส์ มิเชล: ครูและนักปฏิวัติแห่งปารีสผู้อุทิศตนเพื่อความเท่าเทียม หลุยส์ มิเชล ถูกตัดสินโทษจำคุกเพื่อรอการเนรเทศ เธอต้องใช้ชีวิตอยู่ในคุกราว 20 เดือน ขณะที่ติดคุกสื่อฝรั่งเศสหลายสำนักต่างพูดถึงเรื่องราวและวีรกรรมของครูประถมคนนี้ จนทำให้นอกจากสมาชิกคอมมูนกับกลุ่มเพื่อนที่รู้จักเธออยู่แล้ว ประชาชนชาวฝรั่งเศสอีกมากต่างมีโอกาสได้อ่านและได้ฟังเรื่องราวของเธอมากขึ้น และแล้ววันรับคำพิพากษาก็มาถึง วันที่ 8 สิงหาคม 1873 มิเชลถูกนำตัวลงเรือเวอร์จิเนียเพื่อเนรเทศไปยังนิวแคลิโดเนีย (New Caledonia) จังหวัดโพ้นทะเลของฝรั่งเศสที่เดินทางกว่า 4 เดือนจึงจะถึง อยู่บนผืนแผ่นดินอันห่างไกลแห่งนั้นนาน 7 ปี เมื่อไปถึงช่วงแรกชื่อเสียงของเธอก็ถูกพูดถึงอีกครั้ง มิเชลปฏิเสธเจ้าหน้าที่ที่จะให้ไปอยู่ในโซนผู้หญิง เพราะเธอยังคงยืนยันคำเดิม ไม่ว่าหญิงหรือชายทุกคนล้วนเท่ากัน นอกจากนี้มิเชลยังทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนเด็ก ๆ ชนพื้นเมือง มอบความรู้ที่ติดตัวเธอมาด้วยกับนักโทษคนอื่น ๆ แถมยังแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมความรู้กับชนพื้นเมืองโดยไม่ขัดเขิน ทางด้านฝรั่งเศสได้ประกาศนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองทั้งหมดในปี 1880 มิเชลกับคนอื่น ๆ ที่นิวแคลิโดเนียได้กลับบ้านอีกครั้ง ถึงอย่างนั้นชีวิตในถิ่นทุรกันดารหรือความเจ็บช้ำที่ต้องติดคุกไม่ทำให้เธอเปลี่ยนไป วันที่ 21 พฤศจิกายน 1881 มิเชลขึ้นกล่าวสุนทรพจน์เรื่องความเท่าเทียมต่อหน้าสาธารณชนฝรั่งเศสอีกครั้ง จากนั้นเดินทางไปทั่วยุโรปเพื่อพบปะกับกลุ่มอนาธิปไตย ไปร่วมประท้วงกับเหล่าแรงงานด้วยการชูธงสีดำ (ที่เธอกล่าวว่าสีดำถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความหิวโหย) และถูกจับอีกครั้งด้วยข้อหากล่าวสุนทรพจน์ยุยงให้เกิดความแตกแยกในสังคม แต่ถูกปล่อยตัวภายหลังเพราะเธอก็มีเพื่อนที่มีเส้นสายในรัฐบาลเช่นกัน หลุยส์ มิเชล: ครูและนักปฏิวัติแห่งปารีสผู้อุทิศตนเพื่อความเท่าเทียม แม้เธอจะเป็นครูประถม ทว่านักการเมืองที่มีอุดมการณ์ตรงกันข้ามกับมิเชลอยากจัดการเธอให้พ้นทาง ช่วงปี 1889-1890 มีข่าวลือหนาหูว่าเธอจะถูกยัดข้อหาบางอย่าง จากนั้นค่อยจับไปขังไว้ในโรงพยาบาลบ้า ประกอบกับมิเชลคบหากับเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งที่กล้าแต่งตัวแบบผู้ชาย (สมัยนั้นไม่มีผู้หญิงคนไหนคิดทำ) เธออาจถูกยัดข้อหาว่าเป็นเลสเบี้ยน ข่าวลือที่ว่านี้มีแววเกิดขึ้นจริงเมื่อไหร่ก็ได้ มิเชลจึงต้องลี้ภัยไปอยู่อังกฤษในปี 1890 ใช้ชีวิตอยู่ในลอนดอนนาน 5 ปี ถึงค่อยกลับมายังฝรั่งเศสอีกครั้ง เมื่อกลับมาแผ่นดินเกิดเธอยังคงต่อสู้เหมือนเดิม ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ สอนหนังสือ เข้าร่วมประท้วงใน เหตุการณ์เดรย์ฟัส (Dreyfus) ปี 1898 จนถูกจับอีกครั้ง ถูกปล่อยตัว ถูกจับและได้รับการประกันตัวอีกรอบ จากนั้นถูกจับพร้อมโทษจำคุก 6 ปี แต่ถูกปล่อยตัวก่อนกำหนดเพราะเพื่อนใช้เส้นสายช่วยให้เธอออกมาดูใจแม่ที่ป่วยหนัก หลังจากงานศพของแม่ มิเชลก็ยังเข้า ๆ ออก ๆ คุกหลายครั้ง ชีวิตของเธอพบเจอกับคุกบ่อยเสียจนหลายคนบอกว่าให้ยอมแพ้กับอุดมการณ์แล้วไปใช้ชีวิตสงบ ๆ เสียจะดีกว่า นอกจากงานสอนที่ทำคู่กับการพยายามเปลี่ยนแปลงสังคม มิเชลเขียนหนังสือหลายเล่มโดยเฉพาะเล่มที่ชื่อว่า “ความจน” (La misere) เนื้อหาเล่าถึงวิกฤตทางสังคมและเศรษฐกิจย่านชานเมืองที่มักถูกมองข้าม กลายเป็นงานวรรณกรรมการเมืองมีชื่อชิ้นหนึ่งของฝรั่งเศส รวมถึงใช้เวลาว่างเขียนนิทานสำหรับเด็ก และบทกวีที่เล่าถึงชีวิตที่เต็มไปด้วยบาดแผลจากการต่อสู้   หลุยส์ มิเชล: ครูและนักปฏิวัติแห่งปารีสผู้อุทิศตนเพื่อความเท่าเทียม ระหว่างเดินสายขึ้นปราศรัยเกี่ยวกับความเท่าเทียมทั่วฝรั่งเศส วันที่ 10 มกราคม 1905 หลุยส์ มิเชล เสียชีวิตในเมืองมาร์แซย์ (Marseille) ด้วยวัย 74 ปี เหล่ามิตรสหายจัดงานศพเล็ก ๆ ให้เธอ ทว่าเมื่อประชาชนฝรั่งเศสทราบข่าวการจากไปของครูมิเชล คนมากหน้าหลายตากว่า 120,000 คน เดินทางมาร่วมงานศพของหญิงชราผู้ต่อสู้อย่างเหน็ดเหนื่อย พวกเขาไม่เคยพบเจอกับผู้หญิงที่สามารถสร้างความประทับใจให้ผู้คนด้วยคำพูด และส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้มากขนาดนี้กันบ่อย ๆ ภายหลังชื่อของเธอถูกนำไปตั้งชื่อโรงเรียนหลายแห่งในฝรั่งเศส เดือนพฤษภาคมปี 1946 รัฐบาลประกาศเปลี่ยนชื่อสถานีรถไฟใต้ดินวัลลิเยร์ (Vallier) เป็น หลุยส์ มิเชล (Louise Michel) ต่อมาในปี 1975 เธอได้รับการยกย่องให้เป็น ‘วีรสตรีแห่งคอมมูน’ (Heroine of the Commune) มีป้ายประกาศเกียรติคุณอยู่ตรงประตูมหาวิหารซาเคร (Sacre-Coeur) เพื่อไม่ให้ชาวฝรั่งเศสลืมสิ่งที่เธอเคยทำไว้ รวมถึงให้ผู้มาเยือนจากต่างแดนรับรู้ถึงเรื่องราวของคุณครูผู้หวังเปลี่ยนแปลงสังคม หลุยส์ มิเชล: ครูและนักปฏิวัติแห่งปารีสผู้อุทิศตนเพื่อความเท่าเทียม หลุมศพของมิเชลถูกฝังอยู่ ณ สุสานของเมืองลูวาลัว เปแรต์ (Levallois-Perret) ย่านชานเมืองของปารีส สุสานที่เงียบสงบแห่งนี้จะเป็นที่พำนักแห่งสุดท้ายของหญิงสาวที่เป็นแทบทุกอย่าง ทั้งครูประถมที่พยายามสอนให้เด็ก ๆ ได้มีความคิดเป็นของตัวเอง นักปฏิวัติพลัดถิ่น และนักต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมที่ใช้ทั้งชีวิตสู้เพื่ออุดมการณ์ของตัวเอง   ที่มา https://peoplepill.com/people/louise-michel/ https://disciplineandanarchy.wordpress.com/2010/09/13/portrait-louise-michel-1830-1905/ http://anarchism.pageabode.com/anarcho/Louise-Michel https://www.universalfreemasonry.org/en/freemason-quotes/louise-michel https://todon.nl/@anarchistquotes/102250237684873137   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์