ชาร์ลี บราวน์ : loser ผู้น่ารัก เด็กชายผู้โอบกอดความพ่ายแพ้ แต่ไม่เคยท้อถอย

ชาร์ลี บราวน์ : loser ผู้น่ารัก เด็กชายผู้โอบกอดความพ่ายแพ้ แต่ไม่เคยท้อถอย
แม้แต่ความกังวลของฉัน ก็ยังมีความกังวลของตัวมันเอง
ช่วงปี 1950s อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคบุกเบิกของ ‘การ์ตูนช่อง’ ในอเมริกาเลยก็ว่าได้ เพราะมีคาแรคเตอร์การ์ตูนมากมายที่ถูกสร้างขึ้นและยังไม่หายไปไหน แต่หนึ่งในคาแรคเตอร์น่าสนใจที่ยังคงถูกยกมาพูดถึงคือ 2 เจ้านายและสุนัขจากการ์ตูน 3 ช่องเรื่อง Peanuts ‘ชาร์ลี บราวน์’ (Charlie Brown) และ ‘สนูปี’ (Snoopy) คนไทยหลายคนอาจรู้จักมักคุ้นกับสนูปี เจ้าหมาบีเกิลสีขาวกับบุคลิกซุกซนช่างฝัน ที่มักปรากฏตัวตามป้ายโฆษณาหรือสินค้าสำหรับเด็ก ทว่าน้อยคนนักที่จะรู้จัก ชาร์ลี บราวน์ เด็กชายขี้แพ้ ผู้เป็นเจ้าของสนูปี คาร์แรคเตอร์ที่แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 70 ปี ตัวตนเขาก็ยังคงน่าประทับใจมาจนถึงปัจจุบัน ชาร์ลี บราวน์ หรือ ชัค เด็กชายอายุ 8 ขวบ ปรากฏตัวใน Peanuts การ์ตูน 3 ช่องของหนังสือพิมพ์รายวันในอเมริกา มาตั้งแต่ปี 1950s คาแรคเตอร์ของเขาและเพื่อน ๆ คือผลงานการออกแบบของ ชาร์ลส์ เอ็ม ชูลซ์ (Charles M. Schulz) นักวาดการ์ตูนชื่อดัง ที่ออกแบบตัวละครเหล่านี้จากคนรอบตัวในชีวิตของเขาเอง ตัวเอกของ Peanuts อย่าง ชาร์ลี บราวน์ อาจเรียกว่าเป็นต้นแบบตัวละครลูเซอร์ (​loser) ในโลกการ์ตูนอเมริกันเลยก็ว่าได้ เพราะในยุคสมัยที่มีตัวการ์ตูนฮีโรสุดหวือหวาอย่าง ซูเปอร์แมน ถือกำเนิด คงไม่มีใครคิดว่าตัวละครอ่อนแออย่าง ชาร์ลี บราวน์ จะ ‘เกิด’ แถมยังโด่งดังสวนกระแสนิยมเดิม ๆ ขึ้นมาได้ เพราะความขี้แพ้ ขี้อาย และไม่เคยทำอะไรสำเร็จอย่างนั้นหรือ? เคยรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งอะไรสักอย่างบ้างไหม เรียนไม่ดี กีฬาไม่เด่น ไม่มีอารมณ์ขัน แถมเพื่อน ๆ ยังชอบแกล้งให้เราอับอายอีก วัยเด็กของบางคนอาจจะหอมหวาน แต่สำหรับบางคนกลับขมขื่นจนเหลือเชื่อ นั่นล่ะ ชีวิตของ ชาร์ลี บราวน์ ชาร์ลี บราวน์ : loser ผู้น่ารัก เด็กชายผู้โอบกอดความพ่ายแพ้ แต่ไม่เคยท้อถอย เขาเป็นเด็กเรียนไม่เก่ง เป็นกัปตันทีมเบสบอลแต่ไม่เคยแข่งชนะ เตะฟุตบอลไม่เคยโดนลูก ตามไม่ทันมุกตลกของเพื่อน ๆ จนถูกแกล้งเสมอ ชาร์ลี บราวน์เป็นแค่เพียงเด็กเด๋อ ๆ ขี้อาย ๆ ที่มักจะฝังตัวอยู่แถวมุมห้อง หลบเลี่ยงการตอบคำถามเพราะรู้ว่าตัวเองไม่ค่อยฉลาด ขนาดในชั้นเรียนมี ‘สาวผมแดง’ (little red-haired girl) ย้ายเข้ามาใหม่ ทั้งที่เขาปิ๊งเธอในทันทีทันใด แต่ชาร์ลี บราวน์ก็ไม่เคยมีความกล้าไปชวนเธอคุยเลยสักครั้ง (เขาถึงได้เอาแต่เรียกเธอว่าสาวผมแดงอยู่นั่น) หนึ่งในองค์ประกอบของมุกตลกที่มักจะถูกนำมาเล่นซ้ำบ่อย ๆ คือ ‘การเล่นว่าว’ เพราะชาร์ลี บราวน์หลงใหลการเล่นว่าวมาก แต่เพราะเขาไม่เคยประสบความสำเร็จในการพาว่าวบินไปได้สูงกว่าต้นไม้แถวบ้านเลย เราจึงได้เห็นชาร์ลีเล่นมุก ‘ต้นกินว่าว’ (เปรียบเทียบว่า ต้นไม้คอยจะไล่กินว่าวของเขา จนชาร์ลีล่นว่าวไม่เคยสำเร็จ) ติดต่อกันมาหลายทศวรรษ ชาร์ลี บราวน์ : loser ผู้น่ารัก เด็กชายผู้โอบกอดความพ่ายแพ้ แต่ไม่เคยท้อถอย ไหนจะมุกตลกเกี่ยวกับลูกฟุตบอล ที่เขามักจะถูก ‘ลูซี’ เพื่อนสาวในแก๊งหลอกให้วิ่งไปเตะ แต่สุดท้ายยกลูกหนี จนชาร์ลีต้องเตะฝุ่นเตะลมอยู่เสมออีก เพราะชาร์ลีหลงกลลูซีที่บอกว่า “ครั้งนี้ลูกไม่หนีแน่ ๆ” ทุกครั้งไป ผู้อ่านจึงไม่เคยเห็นเท้าของเขาเตะโดนฟุตบอลลูกไหนเลย “…หากทุกการแข่งขันมีผู้ชนะ ก็หมายความว่าต้องมีผู้แพ้ และชาร์ลี บราวน์ ก็คือ ผู้แพ้ เช่นเดียวกับเราทุกคน” โจนาธาน ฟรานเซน นักเขียนชาวอเมริกันกล่าว แต่เพราะชาร์ลี บราวน์มักจะหลงกลมุกหลอกลวงง่าย ๆ ของลูซี (บางทีเธอก็เรียกเขาว่า เจ้าทึ่ม) เราจึงได้เห็นเขาวิ่งสุดแรงเกิดเพื่อเตะลูกบอลลูกนั้น เช่นเดียวกับการที่ชาร์ลีไม่เคยเล่นว่าวได้สำเร็จ เราจึงได้เห็นเขาเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งไป เพราะชาร์ลี บราวน์ช่างแสนขี้ขลาด ไม่ยอมเดินไปทักสาวผมแดงสักที เราจึงได้เห็นเขาพยายามรวบรวมความกล้าเพื่อเข้าหาเธออยู่เสมอ ดังนั้น แม้คนจะพูดว่าเขาช่างเหมาะที่จะเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ความล้มเหลว’ มากเพียงใด ในขณะเดียวกัน เขาก็เป็นสัญลักษณ์ของ ‘ความพยายาม’ ด้วย ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี ที่การ์ตูนเรื่องนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน (ไม่นับรวมฉบับภาพยนตร์ที่ถูกสร้างในปี 2015) เพราะชาร์ลี บราวน์ไม่เคยประสบความสำเร็จ เราจึงเห็นเขาพยายามลงมือทำ ผิดพลาด ล้มแล้วลุกขึ้นใหม่เป็นพันเป็นหมื่นครั้ง (สถิติการ์ตูนช่องของ Peanuts คือ 17,897 ตอน) และไม่ว่าจะแพ้สักกี่ครั้ง ชาร์ลี บราวน์ กลับไม่เคยล้มเลิกสิ่งที่เขาตั้งใจ ผิดพลาดก็เริ่มใหม่ ทำไปเรื่อย ๆ แม้ผู้วาดการ์ตูนอย่าง ชาร์ลส์ เอ็ม ชูลซ์ จะไม่เคยมอบความสำเร็จแก่เขาสักครั้งเลย ชาร์ลี บราวน์ : loser ผู้น่ารัก เด็กชายผู้โอบกอดความพ่ายแพ้ แต่ไม่เคยท้อถอย เช่นเดียวกับเราทุกคนที่ต้องเคยพ่ายแพ้ต่อการแข่งขันบางอย่าง จะแข่งกับผู้อื่น แข่งกับเวลา แข่งกับตัวเอง ชาร์ลี บราวน์ เป็นสัญลักษณ์ของ ‘ผู้แพ้’ ที่ไม่จำนนต่อความล้มเหลว เขาวิ่งสุดแรงเกิดเพื่อไปเตะฟุตบอลของลูซี เพราะคิดว่า “หากครั้งนี้เธอไม่ยกบอลออก แล้วเขาไม่เตะมันสุดแรง บอลจะต้องไม่ลอยไปไกลแน่” มันเป็นการตัดสินใจบนความเสี่ยงที่เขายอมแลกในทุก ๆ ครั้ง และแม้ครั้งนี้ลูซีจะยกบอลหนีอีก ครั้งหน้าอาจจะต่างออกไปก็ได้ ชาร์ลี บราวน์มีวลีเด็ดที่มักถูกนำมาพูดถึงอย่าง “แม้แต่ความกังวลของฉัน ก็ยังมีความกังวลของตัวมันเอง” เพื่อตอกย้ำว่าเขาเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง และกังวลกับทุกอย่างรอบตัวเอามาก ๆ แต่ความกังวลเหล่านี้ ก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่พอจะทำให้เขาเลิกพยายามกับสิ่งตรงหน้า เขาไม่เคยอับอายที่จะต้องเริ่มต้นใหม่ ไม่ว่าจะกับอะไรก็ตาม จะเป็นว่าวตัวนั้น ฟุตบอลลูกนั้น หรือแม้แต่การคุยกับสาวผมแดง ชาร์ลี บราวน์มีความหวังอยู่เสมอว่าสักวันมันต้องสำเร็จ ต้องมีสักวันล่ะน่า...      
ที่มา