ประชาชนกรุงลูอันดา อยู่ในเมืองที่ค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก ด้วยค่าแรงวันละ 2 ดอลลาร์

ประชาชนกรุงลูอันดา อยู่ในเมืองที่ค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก ด้วยค่าแรงวันละ 2 ดอลลาร์
แองโกลาในอดีตเคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสมาอย่างยาวนาน และนานกว่าประเทศส่วนใหญ่ที่มักจะได้อิสรภาพหลังสงครามโลกครั้งที่  2 จบลงได้ไม่นาน แต่กว่าแองโกลาจะหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมได้ก็ปาเข้าไปทศวรรษที่ 70s และก็ไม่ได้จากไปแบบดี ๆ เปลี่ยนผ่านอำนาจสู่รัฐบาลใหม่อย่างราบรื่น เพราะโปรตุเกสถอยทัพออกไปแบบเสียมิได้ พวกเขาสู้รบกับฝ่ายปลดแอกที่มีหลายก๊กจนเหนื่อยล้า แล้วก็ล่าถอยไป ปล่อยให้ฝ่ายปลดแอกสู้รบกันต่อ กว่าประเทศจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ (หมายถึง เมื่อสงครามกลางเมืองยุติลง) ก็ล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว ถึงวันนี้ประชาชนชาวแองโกลาส่วนใหญ่ยังดำรงชีพด้วยความยากลำบาก แค่การมีน้ำสะอาดใช้ยังเป็นเรื่องไกลตัว เพราะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่งจะเริ่มต้นได้ไม่นาน และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ยังก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างสุดโต่ง จนทำให้กรุงลูอันดา เมืองหลวงของประเทศ กลายเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกหลายสมัย ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของชาวแองโกลายังต่ำเพียง 2 ดอลลาร์ต่อวันเท่านั้น (ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของแองโกลาอยู่ที่ราวเดือนละ 52.6 ดอลลาร์ - ANGOP) มันอาจจะฟังดูเหลือเชื่อ (และเชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อ "ลูอันดา" มาก่อนด้วยซ้ำ) แต่มันก็สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติอย่างแองโกลา หลังมีการค้นพบแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ นานาประเทศก็พากันเข้ามาลงทุน ทำให้เศรษฐกิจของแองโกลาขยายตัวสูงเกิน 10 เปอร์เซ็นต์หลายปีติดต่อกัน จากการพึ่งพาสินค้าส่งออกเพียงชนิดเดียวนั่นก็คือ "น้ำมัน" (แองโกลาคือผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ติดอันดับ 10 ประเทศแรกของโลก)  และการค้าน้ำมันเพียงอย่างเดียวก็เป็นต้นตอที่ทำให้กรุงลูอันดากลายเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก (หลายสมัย) แต่ประชาชนยังยากจนอยู่เหมือนเดิม สาเหตุก็เพราะรายได้ที่เกิดขึ้นจากการค้าทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำมัน แทบมิได้กระจายไปถึงประชาชน เพราะเงินสัมปทานก็เข้ามือเครือข่ายนักการเมืองเป็นหลัก และบริษัทค้าน้ำมันล้วนนำเข้าแรงงานต่างชาติเข้ามาโดยจูงใจด้วยค่าแรงที่สูงลิบ  ประกอบกับการที่แองโกลายังอยู่ในช่วงการก่อร่างสร้างตัวใหม่ หลังเผชิญปัญหาสงครามกลางเมืองมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวการทำมาหากิน การประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรม ล้วนหยุดชะงัก จากที่เคยมีข้าวปลาอาหารเพียงพอเลี้ยงคนในประเทศ ปัจจุบันแองโกลาต้องนำเข้าอาหารเพื่อเลี้ยงประชาชนเป็นส่วนมาก จึงทำให้ค่าครองชีพในเมืองใหญ่ถีบตัวสูงขึ้นไปอีก ในปี 2010 ลูอันดาจึงก้าวขึ้นมาเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพที่สูงที่สุดในโลก สูงยิ่งกว่ากรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ขณะที่ประชาชนท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังยากจน และยังครองตำแหน่งอันดับหนึ่งมาอีกหลายสมัย โดยครั้งสุดท้ายที่ลูอันดาครองอันดับ 1 ก็คือเมื่อปี 2017 แม้ว่าค่าเงินท้องถิ่นจะอ่อนลงมากตามสภาพเศรษฐกิจที่เข้าขั้นถดถอย หลังน้ำมันสินค้าส่งออกหลักของประเทศประสบปัญหาราคาตกต่ำในตลาดโลก  ถ้าถามว่าแพงแค่ไหน หากเทียบกับเมืองอื่น ๆ ? ข้อมูลในปี 2015 ของ Financial Times ระบุว่า ค่าเช่าอพาร์ตเมนต์  2 ห้องนอนในลูอันดาสูงถึง 6,800 ดอลลาร์ หรือกว่า 209,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ฮ่องกงเมืองที่แพงเป็นอันดับ 2 ณ เวลานั้น ค่าเช่าอพาร์ตเมนต์  2 ห้องนอนอยู่ที่เดือนละ 6,576 ดอลลาร์ หรือราว 202,000 บาท  แต่ทั้งนี้ การจัดอันดับค่าครองชีพดังกล่าว (โดย Mercer) ไม่ได้สำรวจจาก "คนท้องถิ่น" หากเป็นการสำรวจค่าครองชีพเฉพาะจากคนต่างชาติที่เข้าไปทำงานในเมืองนั้น ๆ สำหรับคนท้องถิ่นที่ส่วนใหญ่อาศัยในชุมชนแออัดและไม่มีโอกาสได้อาศัยในอพาร์ตเมนต์  2 ห้องนอนในกรุงลูอันดาก็คงไม่ต้องจ่ายมากเท่าชาวต่างชาติที่แม้จะได้ค่าจ้างสูง แต่หลายคนก็ตกใจไม่น้อยกับค่าใช้จ่ายที่พวกเขาต้องเจอ "ลูอันดาเป็นเมืองที่แพงที่สุดที่ผมเคยเจออย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นด้วยค่าเช่า ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง" เจมส์ ไวลด์ (James Wilde) ลูกจ้างบริษัทโทรคมนาคมจากเยอรมนี กล่าวกับ BBC โดยบอกต่อไปว่า ค่าเช่าห้องที่นี่แพงกว่ากรุงมอสโควเกือบสามเท่า แถมเงินที่เขาจ่ายก็ไม่ได้แปรผันตรงกับคุณภาพที่ได้รับ "ตอนแรกที่ผมมาที่นี่ ผมจำได้เลยตอนไปซื้อของเข้าครัว และได้ไปร้านขายของชำครั้งแรก ผมต้องจ่ายถึง 800 ดอลลาร์ โดยที่ของยังไม่เต็มรถด้วยซ้ำ ผมแทบไม่อยากเชื่อ" ไวลด์กล่าว "และสิ่งที่น่าผิดหวังที่สุดก็คือ ผมไม่คิดว่าของที่ได้มันคุ้มกับเงินที่จ่าย ไม่ว่าจะในเชิงคุณภาพหรือการบริการ แต่ก็นั่นแหละ เงินเดือนผมถูกปรับให้เข้ากับสภาพความเป็นอยู่ที่นี่ มันก็ยังคุ้มที่จะทำงานในลูอันดา และผมคิดว่าคนต่างชาติส่วนใหญ่ก็คงเป็นแบบเดียวกัน" แต่ความแพงของลูอันดาก็ค่อย ๆ ลดลงตามสภาพเศรษฐกิจ หลังเจอกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอยสามปีติดนับตั้งแต่ปี 2016 (-2.58, -0.147 และ -2.133 ตามลำดับ - World Bank) ค่าครองชีพของลูอันดาก็ถูกลงมาก เนื่องจากบริษัทต่างชาติพากันล่าถอย แรงงานต่างชาติค่าจ้างสูงก็หายไป ดีมานด์ในตลาดจึงลดลงไปมาก ในขณะที่ซัพพลายที่ถูกเร่งผลิตในช่วงที่ตลาดกำลังบูมก็กลายเป็นของล้นตลาด ตึกสูงที่สร้างไม่เสร็จถูกทิ้งร้าง เช่นเดียวกับที่พักอาศัยที่สร้างเสร็จแล้วกลับหาคนซื้อไม่ได้ ในปี 2019 กรุงลูอันดาจึงตกอันดับจากดัชนีค่าครองชีพของ Mercer ไปไกล คือจากอันดับ 6 ในปี 2018 ไปอยู่ที่ 26 ของโลก (แต่ก็ยังสูงกว่า กรุงเทพฯ ไทเป หรือชิคาโก) ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่า ชาวลูอันดาท้องถิ่นจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มันเพียงแสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อที่หายไปพร้อมกับทุนต่างชาติที่มาแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรของแองโกลาแล้วก็จากไป ขณะที่คนท้องถิ่นแทบไม่ได้รับอานิสงส์จากความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของแองโกลาที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เลย  จะยกเว้นก็แต่เครือข่ายและครอบครัวของอดีตประธานาธิบดี โจเซ เอดูอาร์โด ดอส ซานโตส ผู้ครองอำนาจนานเกือบสี่ทศวรรษ และลูก ๆ ของเขาก็กลายเป็นคนรวยติดระดับโลก แต่ลูกชายกำลังถูกสอบสวนในคดีทุจริต - DW)