หลวงพ่อคูณช่วยคุ้ม...ช่วยคุ้ม...อุ้มเอาไปแช่น้ำมนต์ (ครูบาหลวงตาคูณ)

หลวงพ่อคูณช่วยคุ้ม...ช่วยคุ้ม...อุ้มเอาไปแช่น้ำมนต์ (ครูบาหลวงตาคูณ)

หลวงพ่อคูณช่วยคุ้ม...ช่วยคุ้ม...อุ้มเอาไปแช่น้ำมนต์ (ครูบาหลวงตาคูณ)

ข่าวการเคลื่อนสรีระสังขารหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ไปประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล 7 วันที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนจะทำพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 29 มกราคม 2562 ควบคู่กับข่าวการกำหนดวันเลือกตั้งที่ออกมาไล่เลี่ยกัน ทำให้เพลง “หลวงพ่อคูณ” ซึ่งเป็นเพลงดังเพลงหนึ่งของวงคาราบาว (ซึ่ง แอ๊ด คาราบาว นักร้องนำของวง ก็เป็นศิษย์หลวงพ่อคูณด้วยเช่นกัน) ดังขึ้นมาในความคิดทันที หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ หรือ พระเทพวิทยาคม ผู้ได้รับฉายาว่า “เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด” เป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังรูปสำคัญของประเทศไทย ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา มีภาพลักษณ์ที่เรามักจะคุ้นเคยกันคือ หลวงตาที่นิยมนั่งยองๆ หลวงตาที่ถือไม้กระบองเคาะหัวให้พรเหล่าลูกศิษย์ลูกหาที่พากันมาจากทั่วทุกสารทิศทั้งในประเทศและนอกประเทศ ซึ่งไม่ว่าจะชาวบ้าน พ่อค้าแม่ขาย นักธุรกิจ ฯลฯ หลวงพ่อคูณก็ถือไม้กระบองเคาะหัวให้พรทุกคนอย่างถ้วนทั่ว ขาดไม่ได้คือ “นักการเมือง” จำนวนมาก ไม่ว่าจะในพื้นที่โคราช อีสาน หรือพื้นที่อื่นๆ ที่หลั่งไหลเข้าไปกราบไหว้ขอพร จนวงคาราบาวนำไปประพันธ์เป็นบทเพลงที่ชื่อว่า “หลวงพ่อคูณ” เพลงหลวงพ่อคูณ เป็นหนึ่งใน 11 เพลงในอัลบั้ม “รุ่นคนสร้างชาติ” ซึ่งเป็นอัลบั้มชุดที่ 14 ของวงคาราบาว และถือเป็นอัลบั้มชุดแรกที่ออกในนามบริษัทวอร์นเนอร์มิวสิคไทยแลนด์ เพลงนี้ประพันธ์โดย กัญญาณัฐ ปุญยวัฒนานนท์, พยัพ คำพันธุ์ และ ยืนยง โอภากุล หรือ “แอ๊ด คาราบาว” วางจำหน่ายในรูปแบบซีดีและเทปคาสเซ็ท ในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2537 เพลงหลวงพ่อคูณถือเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมที่สุดในอัลบั้มชุดนี้ เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ถือเป็นเพลงที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะด้วยจังหวะที่คึกคัก ที่มักจะได้ยินทุกครั้งในวงดนตรีแนวลูกทุ่งในงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน หรืองานเลี้ยงสังสรรค์กันทั้งบ้านนอกและในกรุง ไม่ว่าจะด้วยเนื้อเพลงที่เสียดสีนักการเมือง รวมถึงเนื้อเพลงที่สะท้อนภาพความเชื่อ วิถีชีวิต การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ รวมถึงวัฒนธรรมการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี ในแง่ความเชื่อและวิถีชีวิต หลังทศวรรษ 2530 ระบบเศรษฐกิจใหม่ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5-6 เน้นให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรม ส่งผลให้สังคมไทยเข้าสู่ยุคทุนนิยมมากขึ้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีคิดของผู้คนในสังคมไทย ทำให้ผู้คนดำเนินชีวิตไปในทางบริโภคนิยมมากขึ้น ผู้คนต่างแข่งขันเพื่อช่วงชิงโอกาสในการทำธุรกิจ เกิดสภาวะความไม่มั่นคงในรูปแบบใหม่ขึ้นในวิถีชีวิตของคนในสังคม ที่แตกต่างไปจากสังคมเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม แม้สังคมไทยและวิถีชีวิตของผู้คนจะเปลี่ยนไป แต่โลกทัศน์ทางศาสนาและความเชื่อต่างๆ ยังคงฝังรากลึกผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตของผู้คนอย่างปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นการต่อสู้แข่งขันเพื่อจะดำเนินชีวิตไปในสังคมโลกสมัยใหม่ จึงไม่ใช่การต่อสู้แข่งขันที่ใช้เพียงความสามารถที่เกิดจากการเรียนรู้ หรือในทางธุรกิจของแต่ละบุคคลเท่านั้น ศาสนา ความเชื่อ ยังคงมีอำนาจในการเติมเต็ม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับการต่อสู้แข่งขันด้วย ช่วงเวลาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาหลังการเสร็จสิ้นสภาวะสงคราม ไม่ว่าจะสงครามโลกครั้งที่ 2 ลากยาวมาถึงสงครามเย็น จนมาถึงยุคที่สนามการสู้รบถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นสนามการค้า ในเชิงวัฒนธรรมการเปลี่ยนสภาวะสังคมเช่นนี้ส่งผลต่อสภาวะความไม่มั่นคงของคนเช่นกัน วัตถุมงคลหรือเกจิที่เน้นวิทยาอาคมในแง่ “เข้ม ข่าม ขลัง” หรือ “อยู่คงกระพัน” พลังอำนาจของวัตถุมงคลและเกจิที่เน้นวิทยาอาคมในแง่ “เมตตามหานิยม” “ความร่ำรวย” รวมถึงโชคลาภ ความมั่งคั่งสมบูรณ์ในทางธุรกิจการค้า จึงเป็นสิ่งที่หลายคนมองหา ภาพลักษณ์เกจิเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่สามารถตอบสนองความคาดหวัง ความต้องการ ของผู้คนในสังคมที่เพิ่งจะเกิดการเปลี่ยนผ่านได้เป็นอย่างดี และหลวงพ่อคูณ วัตถุมงคล และพรของหลวงพ่อคูณ ก็สอดคล้องกับจริตความต้องการของผู้คน ดังเนื้อเพลงท่อนแรกๆ ที่ร้องว่า... “...เมตตามหามงคลแด่สาธุชน ศิษย์หลวงพ่อคูณ หลั่งไหลกันมาทำบุญ พรหลวงพ่อคูณขอให้รวย ให้รวย รับแจกวัตถุมงคล ปะพรมน้ำมนต์สาธุชนพระช่วย เดินสายปลอดภัยไปได้สวย ค้าขายร่ำรวยดังถูกหวยเบอร์ใหญ่...” นอกจากหลวงพ่อคูณจะมีบทบาทสำคัญต่อผู้คนในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ก็ยังมีบทบาทต่อผู้คนในทางการเมืองด้วยไม่แพ้กัน เช่นเมื่อครั้งหลังเหตุการณ์พฤษภาเลือด หรือ “พฤษภาทมิฬ” พ.ศ.2535 มีการจัดเลือกตั้งทั่วไป 2535/2 ขึ้น ในช่วงรณรงค์หาเสียงได้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งเข้าไปกราบขอพรหลวงพ่อคูณ ขอให้ท่านพูดเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เกิดเป็นป้ายขนาดใหญ่ที่ติดคำพูดของหลวงพ่อไว้เตือนใจคนไทยว่า... ...ใครให้เงินมึงรับไว้ไม่บาป มึงคนมีบุญเขาเอามาให้ถึงบ้านมึงจะได้ซื้อหอม น้ำตาล น้ำปลา ให้ลูกเมียมึงกิน มึงชอบใครมึงก็ลงคนนั้น กูว่าคนแจกเป็นคนไม่ดี ถ้าคนดีเขาก็ไม่แจก เกิดเป็นคน เลิกกินยาโง่เสียเถิด...”   กลุ่มนักการเมืองชั้นนำของประเทศก็เข้ากราบไหว้เลื่อมใสศรัทธาต่อหลวงพ่อคูณมากมายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ, ชวน หลีกภัย, บรรหาร ศิลปอาชา, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) รวมถึงเหล่า ส.ส. อีกมากหน้าหลายตา ในแง่วัฒนธรรมการเมืองไทย แน่นอนว่านอกจากเรื่องขอพรหลวงพ่อรูปต่างๆ เพื่อเพิ่มความมั่นใจในประสิทธิผลในการต่อสู้แข่งขันช่วงชิงคะแนนเสียงให้กับตนเองแล้ว การเข้ามาเป็นลูกศิษย์ของพระเกจิดัง ก็ถือเป็นการใช้พระเกจิที่เป็นที่นิยมของคนจำนวนมากเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเป็นฐานเสียงคะแนนให้กับตนเองได้ด้วยเช่นกัน ส่วนพระเกจิบางรูปก็ใช้เหล่านักการเมือง ผู้นำประเทศเป็นเครื่องมือในการสร้างบารมีให้กับตนเองด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นในแง่นี้ถือได้ว่า วิน-วิน อย่างไรก็ตามเนื้อร้องท่อนท้ายๆ ของเพลงหลวงพ่อคูณ มีการเสียดสีนักการเมืองไว้อย่างแสบๆ คันๆ ด้วย จากท่อนที่ว่า... “...ชั่วดีอยู่ในกะโหลก มาเขกโป๊กๆ จำไว้ให้ดี เข้ามาพวกรัฐมนตรี ส.ส. ตัวดีกูจะให้พร ไปนั่งอยู่ในสภาอย่าให้เขาด่าจงพึงสังวร แขวนพระเป็นอุทาหรณ์ ประชาชนเดือดร้อนเขาจึงเดินขบวน อนิจจังวัฏสังขาราลาภยศ ศรัทธา ย่อมมีผันผวน การเมืองย่อมมีตีรวน อย่ารวมหัวตีตรวนแหกตาประชาชน หลวงพ่อท่านเบื่อจะตายสร้างรุ่นสุดท้ายรุ่นแช่น้ำมนต์ จะให้ขลังมีประสิทธิผลต้องเตะตูดทีละคนไล่เสนียดจัญไร...” ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหลวงพ่อคูณถือเป็นพระเกจิชื่อดัง ที่เติบโตมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนในยุคสมัยใหม่ ไม่ว่าจะชื่อของท่าน พระเครื่อง เครื่องราง พรของหลวงพ่อคูณ ต่างสอดคล้องสอดรับกับวิถีชีวิตของผู้คนในยุคสมัยได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน บทบาททางการเมืองของหลวงพ่อคูณก็ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจ หากหันกลับมามองและเทียบบทบาทพระสงฆ์ ณ ตอนนี้ กับการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ (อีกครั้ง) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 เรากลับไม่เห็นบทบาทของพระสงฆ์เกจิในสังคมไทยรูปใดเลย ที่จะเน้นให้การสนับสนุนการเลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมาเช่นหลวงพ่อคูณ ไม่ว่าจะหลวงปู่ หลวงพ่อ ครูบา พระมหา ท่านนั่นท่านนี้ อะไรต่อมีอะไรมากมาย แม้จะมีบทบาทสำคัญต่อกลุ่มคนและนักการเมืองไม่ได้ต่างไปจากหลวงพ่อคูณ แต่กลับไม่เห็นบทบาทในการสนับสนุนการเลือกตั้งตามหลักการประชาธิปไตยเลย เว้นแต่กรณีครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร ที่ท่านได้กล่าวเพียงสั้นๆ ครั้งเมื่อเหตุการณ์ถ้ำหลวง-หมูป่าว่า “...ขอให้เมืองไทยมีเลือกตั้งโดยเร็ว....” เพียงแค่นั้น แต่เรากลับมาเห็นพระหลายคนออกมาเป็นกลุ่ม รณรงค์ต่อต้าน คัดค้านการจัดการเลือกตั้ง โดยเกาะเกี่ยวห้อยโหนสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อยื้ออำนาจรัฐเผด็จการและทำลายหลักการประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรตั้งคำถามว่า “...ทำไม ทำไม...”   อ้างอิง ฉลอง สุนทราวาณิชย์, นวัตกรรมพระเครื่องไทย: ก่อนจะเป็นอุตสาหกรรมพระเครื่อง เมื่อพระเครื่องก้าวขึ้นมาเป็น “สุดยอด” เครื่องรางของไทย, เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการเรื่อง “โลกของอิสลามและมุสลิมในอุษาคเนย์, โรงแรมทวินโลตัส นครศรีธรรมราช, 28-29 พฤศจิกายน 2551. นิธิ เอียวศรีวงศ์ (พิมพ์ครั้งที่ 2), โขน,คาราบาว,น้ำเน่าและหนังไทย ว่าด้วยเพลง, ภาษา และนานามหรสพ, กรุงเทพ: มติชน, 2557. “ศึกษาพระคนบ้านบ้าน” กับการเมืองไทย , ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/647426 Apinaya Feungfusakul. “Buddhist Reform Movement in Contemporary Thai Urban Context: Thammakai and Santi Asok.” Ph.D diss of Social Science, University of Bielefeld.1992   เรื่อง : ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว ภาพ : ด้วยความเอื้อเฟื้อจากศูนย์ภาพเนชั่น