แอล. แอล. ซาเมนฮอฟ ผู้สร้าง เอสเปรันโต หวังใช้เป็นภาษากลางของโลก

แอล. แอล. ซาเมนฮอฟ ผู้สร้าง เอสเปรันโต หวังใช้เป็นภาษากลางของโลก

ผู้สร้าง เอสเปรันโต หวังใช้เป็นภาษากลางของโลก

เราไม่ได้ไร้เดียงสาเหมือนอย่างที่คนอื่นคิด เราไม่ได้เชื่อว่าความเป็นกลางจะเปลี่ยนคนเป็นเทวดา เรารู้ดีว่าคนเลวยังไงก็เลวอยู่อย่างนั้น แต่เราเชื่อว่าการสื่อสารและความสัมพันธ์ที่อยู่บนความเป็นกลางอย่างน้อยก็จะช่วยป้องกันความโหดร้ายทารุณและอาชญากรรมรวมหมู่ซึ่งมิได้เกิดจากเจตนาอันชั่วร้าย แต่มาจากความเข้าใจผิดและความคาดหวังที่ผิดจากความจริง" ลูโดวิโก ลาซาโล ซาเมนฮอฟ (Ludoviko Lazaro Zamenhof) ผู้ประดิษฐ์ภาษา "เอสเปรันโต (Esperanto) กล่าวต่อที่ประชุมสภาเอสเปรันโตโลกครั้งที่ 2 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 1906 ซาเมนฮอฟ เกิดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 1859 ที่เบียวิสตอค (Białystok) ของโปแลนด์ ซึ่งสมัยนั้นยังอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิรัสเซีย เขาใช้ชีวิตท่ามกลางความขัดแย้งทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่เป็นพรมแดนรอยต่อระหว่างโปแลนด์กับรัสเซีย โดยเขาเป็นชาวยิว เกิดในโปแลนด์ มีภาษารัสเซียเป็นภาษาแม่ (ก่อนที่จะเรียนรู้ภาษาอื่น ๆ อีกนับสิบภาษา) และมีพ่อซึ่งเป็นครูสอนภาษาที่ยืนข้างระบอบซาร์และอยากเห็นลูกกลมกลืนไปกับสังคมรัสเซีย ในขณะที่กำลังเกิดกระแสต่อต้านการปกครองของรัสเซียในโปแลนด์ (PAU) เมื่อเข้าเรียนในชั้นมัธยมหลังย้ายมาอยู่ในวอร์ซอ เขาก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้านภาษา และเขาก็ชื่นชอบกับการอ่านทั้งบทกลอนและนิยายต่าง ๆ และยังเริ่มแต่งนิยายด้วยตนเอง ปูมหลังของซาเมนฮอฟหล่อหลอมให้เขาอยากเห็นความสมัครสมานปรองดองของคนต่างวัฒนธรรม เขาเลือกที่จะรณรงค์ส่งเสริมการยอมรับความแตกต่าง และการอยู่ร่วมกันผ่านการใช้ภาษานานาชาติ ซึ่งเขาเชื่อว่าเมื่อมนุษย์ไร้กำแพงทางด้านภาษา หรือศาสนาแล้วก็น่าจะลดความขัดแย้งและการเกิดสงครามขึ้นได้ เขาจึงพยายามหาทางพัฒนาภาษาใหม่ที่เข้าใจและเรียนรู้ได้ง่ายขึ้นมาตั้งแต่ยังเรียนอยู่มัธยม ต่อมาในปี 1879 ซาเมนฮอฟได้เดินทางไปเรียนต่อด้านการแพทย์ที่กรุงมอสโคว ซึ่งในเวลานั้นได้เกิดกระแสต่อต้านยิวอย่างเข้มข้นขึ้นในรัสเซีย อีกราวสองปีให้หลังเขาได้เดินทางกลับวอร์ซอเนื่องจากสภาพเงื่อนไขทางการเงินของครอบครัวในขณะนั้น เขาจึงศึกษาต่อที่เมืองหลวงของโปแลนด์จนจบเฉพาะทางด้านจักษุวิทยา ซึ่งแม้จะหันมาเอาดีด้านการแพทย์แล้ว แต่เขาก็ไม่ทิ้งความฝันที่จะพัฒนาภาษาในอุดมคติ เขาลองผิดลองทุกอยู่นาน ค่อย ๆ รวบรวมองค์ความรู้ประมวลขึ้นเป็นหนังสืออธิบายหลักการภาษาของเขาออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี 1887 ซึ่งเขาเพิ่งมีอายุได้ 28 ปี ตอนนั้นเขาเลือกที่จะใช้นามปากกาว่า Doktoro Esperanto ซึ่งแปลว่า "หมอผู้มีความหวัง" และเอสเปรันโตก็กลายมาเป็นชื่อเรียกภาษาที่เข้าพัฒนาขึ้น เอสเปรันโตเป็นภาษาที่ดัดแปลงมาจากภาษาที่มีรากอยู่ในภาษาตระกูลโรมานซ์ซึ่งแพร่หลายอยู่ในยุโรป ผู้ที่ใช้ภาษาตระกูลโรมานซ์อยู่แล้วเช่น ภาษาฝรั่งเศส อิตาลี สเปน โปรตุเกส หรือโรมาเนีย ก็จะสามารถเข้าใจเอสเปรันโตได้ง่าย คำศัพท์ที่ใช้จะมีการสะกดตรงเสียงเสมอ มีตัวสะกดลงท้ายที่จะบอกหน้าที่ของคำในโครงสร้างประโยคว่าทำหน้าที่เป็นนาม ศัพนาม หรือกริยา คำนามที่ใช้จะไม่มีการแยกเพศ คำกริยาก็จะมีแค่รูปเดียวไม่แปลงตามกาลเวลา หรือประธานในประโยคเหมือนในภาษาอังกฤษ เช่น havas ที่แปลว่า "มี" ถ้าจะพูดว่า "ฉันมี, คุณมี, เธอมี, พวกเขามี" ในภาษาเอสเปรันโตก็จะพูดว่า "mi havas, vi havas, ŝi havas, ili havas" เป็นต้น ว่ากันว่า เอสเปรันโตนับเป็นภาษาประดิษฐ์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก มีผู้ใช้ภาษานี้อยู่ราว 100,000 คน สมาคมเอสเปรันโตสากลซึ่งตั้งขึ้นในปี 1908 มี 83 ประเทศเป็นสมาชิก สมาคมภาษาเอสเปรันโตระดับชาติอยู่ 50 สมาคม และสมาคมวิชาชีพระดับนานาชาติที่ใช้ภาษาเอสเปรันโตมีอยู่ 22 สมาคม (Britannica) ขณะที่บทวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งใน The Economist มองว่า เอสเปรันโตยากที่จะเป็นภาษากลางของมนุษย์ได้อย่างที่ซาเมนฮอฟตั้งหวัง เพราะคนที่เรียนภาษาที่สองหรือภาษาที่สามมักจะต้องมีแรงผลักดันอะไรบางอย่าง เช่น โอกาสในการทำงาน หรือเพื่อเรียนรู้ เข้าถึงวัฒนธรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อาหาร ประเพณี สถานที่ และประวัติศาสตร์ ความสนใจในภาษาอื่นจึงมาจากปัจจัยแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับภาษานั้นเป็นสำคัญ มากกว่าเพราะความสนใจในตัวภาษาโดยตรง ดังนั้น แม้เอสเปรันโตจะเรียนรู้ได้ง่าย แต่ถ้าเรียนไปแล้วใช้ประโยชน์ได้น้อยก็ยากจะจูงใจให้คนหันมาใช้กันเยอะ ๆ อย่างไรก็ดี เอสเปรันโตยังเป็นภาษาที่ใหม่มากเพิ่งเป็นที่รู้จักของสาธารณะเพียงราว 130 ปี และแม้จะถูกปรามาส (เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน นักภาษาและนักประพันธ์ผู้แต่งเรื่อง The Lord of the Rings มองว่ามันเป็นภาษาที่ตายเสียยิ่งกว่าภาษาโบราณที่ไม่มีใครใช้ เพราะไม่มีนักประพันธ์คนใดใช้มันแต่งตำนานใด ๆ เลย) แต่ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามสานต่อเจตนารมณ์ของซาเมนฮอฟต่อไปอย่างแข็งขัน ซึ่งในอนาคตหากคนเริ่มรู้ว่าการใช้ภาษาที่เป็นกลางทั้งด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม และศาสนาเป็นสิ่งสำคัญ เอสเปรันโตก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะได้รับความสนใจมากขึ้นก็ได้