ลักซ์ นารายัน : บทเรียนจากข่าวคนตาย 2,000 ชิ้น

ลักซ์ นารายัน : บทเรียนจากข่าวคนตาย 2,000 ชิ้น
ตายแบบไหนถึงจะดี? ตายแบบไหนถึงจะเป็นที่จดจำ? คำถามเหล่านี้ ผุดขึ้นในหัวของ ลักซ์ นารายัน (Lux Narayan) หัวเรือใหญ่ของ Unmetric Inc. บริษัทที่มีชื่อเสียงด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและเก็บสถิติบนโลกออนไลน์ ในวันที่เขาทราบข่าวว่า โจเซฟ เคลเลอร์ นักคณิตศาสตร์คนโปรด เสียชีวิตลงแล้ว “ก่อนหน้านี้ผมเป็นแฟนคลับของโจเซฟ เคลเลอร์ ชายที่ตั้งคำถามว่า ทำไมเวลาวิ่ง ผมหางม้าของผู้หญิงข้างหน้าถึงแกว่งจากซ้ายไปขวา และเขาก็ดันหาทางเข้าใจเหตุและผลของเรื่องนั้นได้ด้วย” นารายัน เริ่มกล่าวบนเวที TED Talk เพราะเคลเลอร์เป็นชายขี้สงสัย เขามักจะตั้งคำถามที่คนอื่นมองว่า แล้วจะอยากรู้ไปทำไม อย่าง ทำไมน้ำถึงหยดออกจากกา? ทำไมไส้เดือนเลื้อยคดเคี้ยว? นารายันในฐานะนักวิเคราะห์ข้อมูลจึงรู้สึกสนุกกับการติดตามเรื่องราวความขี้สงสัยและการหาคำตอบของชายคนนี้ แต่เพราะวันหนึ่ง จู่ ๆ ข่าวของโจเซฟ เคลเลอร์ก็เงียบไป นารายันที่สงสัยว่าเคลเลอร์หายไปไหน ก็ได้คำตอบจากข่าวมรณกรรม บนหนังสือพิมพ์ The New York Times ที่เขาเปิดไปเจอในตอนเช้า “นิวยอร์กไทมส์ตีพิมพ์เรื่องราวของเขาถึงครึ่งหน้า ซึ่งถ้าชอบอ่านหนังสือพิมพ์คุณคงรู้ว่า นั่นมันคือพื้นที่ข่าวที่มีค่ามาก สำหรับหนังสือพิมพ์ที่ประสบความสำเร็จ” ข่าวมรณกรรม (obituaries) ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าพูดถึงเรื่องราวของคนตาย แต่ถ้านั่นคือทั้งหมดที่มันทำได้ เราคงได้อ่านข้อความไว้อาลัยเพียงไม่กี่บรรทัด แต่ทำไมมันจึงถูกให้คุณค่า ทำไมจึงถูกให้ความสำคัญ นารายันที่เริ่มสนใจอ่านเนื้อหาในเซคชั่นนี้ จึงเริ่มต้นหาคำตอบ “เคยมีคนบอกผมว่า ‘ถ้าคุณอยากเรียนรู้เกี่ยวกับความล้มเหลว จงอ่านหนังสือพิมพ์หน้าแรก แต่ถ้าอยากเรียนรู้เกี่ยวกับความสำเร็จ จงอ่านหน้าสุดท้าย’” เขาบอกว่า ถ้าลองสังเกตดี ๆ ข่าวร้าย ข่าวน่าใจหาย เรื่องราวความผิดพลาดของคนอื่น มักจะถูกตีพิมพ์ในหน้าแรก แต่ข่าวที่พูดถึงเรื่องราวดี ๆ ความสำเร็จ รวมถึงหมวดข่าวมรณกรรม มักจะอยู่หน้าหลัง ๆ “งานประจำของผมคือการบริหารบริษัทที่พยากรณ์อนาคต โดยใช้ข้อมูลจากอดีต เหมือนกับการมองกระจกหลัง ตอนนั้นผมก็เริ่มคิดว่า ถ้าเราลองมองกระจกหลังไปที่ข่าวมรณกรรมบ้างล่ะ มันจะมีวิธีที่ทำให้มีข่าวมรณกรรมของคุณบนหนังสือพิมพ์ แม้ว่าคุณจะไม่ได้อยู่อ่านมันหรือไม่” และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้เช้าวันใหม่อันสดใสของ ลักซ์ นารายัน เริ่มต้นด้วยกาแฟ ไข่ข้น และคำถามที่ว่า “วันนี้มีใครตายบ้าง?” เขาเริ่มอ่านเรื่องราวสดุดีชีวิตของคนตาย ข่าวในหมวดมรณกรรม บนหน้าสุดท้ายของหนังสือพิมพ์ The New York Times ตลอดระยะเวลา 20 เดือน ตั้งแต่ปี 2015-2016 รวม ๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 2,000 ข่าว แล้วดูว่าเรื่องราวของพวกเขาสอนอะไรเราบ้าง “อย่างแรก เราดูที่ถ้อยคำก่อน พาดหัวข่าวมรณกรรมส่วนใหญ่จะใช้คำฟุ่มเฟือยน้อยมาก นี่คือข่าวของ ลี กวน ยู ผู้ยิ่งใหญ่ หากคุณเอาส่วนต้นที่เป็นชื่อ และส่วนท้ายที่เป็นอายุออกไป ก็จะเหลือให้เห็นเพียง ‘บิดาแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์’ เพียงแค่นี้ก็น่าทึ่งแล้ว พาดหัวข่าวมรณกรรมส่วนใหญ่ จะใช้คำบรรยายไม่กี่คำนี่ล่ะ บอกเล่าความสำเร็จในชีวิตของคนคนหนึ่ง” ต่อไปมาดูเรื่อง อาชีพ นารายันนำเนื้อหาในข่าวมรณกรรมกว่า 2,000 ชิ้น มาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม โดยให้มันตัดคำฟุ่มเฟือยอย่าง "the" "and” หรือคำที่ไม่ได้ส่งผลต่อความหมายออก และเหลือไว้เพียงแค่คำที่สำคัญ ผลลัพธ์ที่ได้คือ 40% ของคำที่พบเป็นคำศัพท์เชิงศิลปะ อย่างละคร ภาพยนตร์ การเต้น หรือดนตรี ซึ่งก็หมายความว่าอาชีพที่ได้รับการสดุดีลงหนังสือพิมพ์ มักเป็นคนจากสายงานศิลปินมากกว่าอาชีพอื่น ส่วนอายุ เขาพบว่าค่าเฉลี่ยของอายุที่คนมักประสบความสำเร็จ สามารถคิดค้น สร้างสรรค์ หรือทำอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอันได้ มักเป็นวัย 37 ปี นั่นหมายความว่าเด็ก ๆ ที่กำลังเร่งรีบอยู่ในตอนนี้ อาจต้องอดใจรอกันเสียหน่อย เพราะความสำเร็จนั้นต้องใช้เวลา แต่แน่นอนว่าในประเด็นเกี่ยวกับอายุ ยังต้องพิจารณาอิงกับสายอาชีพด้วย หากคุณเป็นนักกีฬาชื่อดัง คุณก็อาจขึ้นถึงจุดสูงสุดในอาชีพในช่วงอายุ 20 ปี แต่หากคุณอยู่ในสายอาชีพนักการเมืองในตอนนี้ กว่าจะสร้างผลงานดี ๆ หรือผลักดันกฎหมายที่น่ายกย่องออกมาได้ ค่าเฉลี่ยบอกว่าคุณอาจต้องรอถึงอายุกลาง 40 และหากคุณกำลังสงสัยว่า แล้วคนอื่นล่ะ? คนธรรมดา ๆ ที่ไม่ได้มีชื่อเสียง ไม่ได้ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ จะไม่มีโอกาสได้รับการสดุดีจากหนังสือพิมพ์ชื่อดังเลยหรือ? ข้อนี้นารายันเองก็ตั้งข้อสงสัยรวมถึงหาคำตอบมาให้เราแล้ว นารายันนำข้อมูลในย่อหน้าแรกของข่าวมรณกรรม 2,000 ชิ้นมาแยกวิเคราะห์ โดยแบ่งข้อมูลเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มคนดัง เช่น ซาลา ฮาดิด, มูฮัมหมัด อาลี หรือนักร้องอย่าง ปริ๊นซ์ เหล่านี้ก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่โด่งดังและประสบความสำเร็จ แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนไม่ดัง อย่างเช่น จอยซ์ลิน คูเปอร์, บาทหลวงริค เคอร์รี หรือ ลอร์น่า เคลลี น้อยคนนักที่จะรู้จักชื่อเหล่านี้ แต่พวกเขาเองก็เป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จเพราะทำเรื่องยิ่งใหญ่ “ข้อมูลที่ได้จะบอกอะไรกับเรา คำแรกที่สะดุดตาผมเลยนะ ‘จอห์น’ (John) สำหรับคนชื่อนี้ ขอบคุณพ่อแม่คุณเสียนะครับคุณคงได้เห็นชื่อตัวเองบ่อยเลย และคำที่สอง ‘ช่วยเหลือ’ (help)” “เราค้นพบว่า เหล่าบุคคลที่ใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่าจนน่าสรรเสริญ คนที่ต่อให้ตัวพวกเขาตาย แต่ก็ยังทิ้งมรดกที่ไม่มีวันตายไว้ โด่งดังมีชื่อเสียงหรือไม่ พวกเขาได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และทิ้งร่องรอยเชิงบวกไว้ในช่วงชีวิต พวกเขาช่วยเหลือคนอื่น” ดังรายชื่อที่เขายกมา จอยซ์ลิน คูเปอร์ คือนักการเมืองหญิงผิวดำคนแรก ที่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสภาคองเกรส ซึ่งนับเป็นอีกก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ในเวทีการเมืองของเหล่าคนดำ บาทหลวงริค เคอร์รี่ ผู้เกิดมาพิการไร้แขนข้างขวา แต่ก็ยังมอบโอกาสให้เหล่าทหารผ่านศึกและคนพิการได้มีอาชีพทำในโรงละครที่เขาก่อตั้งขึ้น ด้านลอร์นา เคลลี นักจัดประมูลหญิงคนแรก ที่หันหลังให้กับ Sotheby's บริษัทจัดการประมูลที่เก่าแก่ที่สุดของอังกฤษ เธอหันมาใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองจัดงานประมูลการกุศลเพื่อช่วยเหลือคนยากจนกระทั่งเสียชีวิต บุคคลเหล่านี้หากไม่ได้อยู่ในแวดวงสังคมเดียวกัน ย่อมไม่มีใครรู้จักหน้าตาของพวกเขาเลย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการกระทำของพวกเขาไม่สมควรได้รับการสรรเสริญ และนั่นก็คือสิ่งที่หนังสือพิมพ์ The New York Times มองเห็นตลอดมา นารายันฝากคำถามไปถึงทุกคนว่า “คุณเคยได้ใช้ความสามารถของตัวเองช่วยเหลือคนอื่นบ้างหรือเปล่า" เพราะบทเรียนที่เขาได้รับจากการอ่านเรื่องราวชีวิตคนกว่า 2,000 คนตลอดมานี้ คือ ถ้าเราช่วยเหลือผู้อื่น เราก็อาจได้เป็นคนมีชื่อเสียงก่อนตาย และถ้าโลกนี้มีแต่คนที่อยากมีชื่อเสียงก่อนตาย มันก็คงหมายถึงโลกที่น่าอยู่กว่านี้ไม่น้อยเลย   ที่มา https://www.youtube.com/watch?v=JlbwchclCBo https://www.funeralguide.co.uk/blog/life-lesson-obituaries https://myzenpath.com/work-l…/learning-from-2000-obituaries/ https://www.frazerconsultants.com/…/what-are+obituaries-for/