ไมก์ วิกิง - ตามหา 'ลุกกะ' (Lykke) ความสุขแบบเดนมาร์กที่เกิดขึ้นได้ทั่วโลก

ไมก์ วิกิง - ตามหา 'ลุกกะ' (Lykke) ความสุขแบบเดนมาร์กที่เกิดขึ้นได้ทั่วโลก
“เบื้องหลังความสุขของมนุษย์คืออะไร?” “ทำไมความสุขของบางสังคมจึงมากกว่าสังคมอื่น ๆ?”
เหล่านี้คือคำถามที่ทำให้ ‘ไมก์ วิกิง’ (Meik Wiking) ลาออกจากงานประจำมาตั้งสถาบันวิจัยความสุข (Happiness Research Institute) ในโคเปนเฮเกน โดยการวิจัยนี้จะวัดผลความสุขจากการประเมินภาพรวมว่าคนคนนั้นมีความพึงพอใจกับชีวิตมากน้อยแค่ไหน  หลังคลุกคลีกับการวิจัยความสุขอยู่พักใหญ่ ไมก์ได้รวบรวมข้อมูลแล้วถ่ายทอดเรื่องราวออกมาผ่านตัวหนังสือ หนึ่งในนั้นคือ ‘ลุกกะ : วิถีความสุขจากทุกมุมโลก’ โดยคำว่า ‘ลุกกะ’ (Lykke) เป็นภาษาเดนมาร์ก แปลว่า ความสุข  ไมก์เชื่อว่าความสุขสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนาหรือภาคพื้นทวีป เขาจึงออกตามหา ‘จุดร่วม’ ของสิ่งที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกมีความสุข โดยศึกษาจากปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขทั้ง 6 ด้านจากรายงานความสุขโลก (World Happiness Report) ได้แก่ ความเป็นชุมชน เงิน สุขภาพ ความไว้เนื้อเชื่อใจ เสรีภาพ และน้ำใจ  เรื่องราวต่อไปนี้ คือสิ่งที่เราค้นพบหลังออกเดินทางสำรวจความสุขไปกับตัวหนังสือของไมก์ วิกิง ในหนังสือเล่มนี้   ความสุขจากคนรอบข้าง ตามรายงานความสุขโลก เมื่อพิจารณาปัจจัยทั้ง 6 อย่างข้างต้นจะเห็นว่ามี 3 ปัจจัย คือ ความเป็นชุมชน ความไว้เนื้อเชื่อใจ และความมีน้ำใจ เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้คนและความสัมพันธ์อย่างชัดเจน  ชาวดัตช์จะมีสุภาษิตว่า “เพื่อนบ้านที่ดีนั้น ยอดเยี่ยมกว่ามิตรสหายที่อยู่ไกลกัน” แถมยังมีงานเฉลิมฉลองวันเพื่อนบ้านแห่งชาติทุกวันที่ 26 พฤษภาคมของทุกปี นั่นเป็นเพราะพวกเขามองว่าความเป็นชุมชนหรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทำให้คนรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย เพราะในวันที่ยากลำบาก พวกเขาจะไม่อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มีคนที่สามารถพึ่งพาได้เสมอ นั่นทำให้ความสุขของพวกเขาเพิ่มขึ้นไปด้วย นอกจากความเป็นชุมชนแล้ว สภาพแวดล้อมที่ผู้คน ‘ไว้เนื้อเชื่อใจกัน’ ก็ส่งผลต่อความสุขเช่นเดียวกัน เคยมีงานวิจัยในประเทศฟินแลนด์ที่พบว่า หากทำกระเป๋าสตางค์หล่นหาย โอกาสที่จะได้รับคืนพร้อมเงินในกระเป๋าสูงถึง 92% ซึ่งฟินแลนด์นับเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุขในโลกในปี 2020 (และอีกหลายปีก่อนหน้า) สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเมื่อคนเราไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทำให้ไม่ต้องวิตกกังวลหรือระแวดระวังคนรอบข้างอยู่ตลอดเวลา โดยรากฐานสำคัญที่ทำให้เกิดความไว้ใจกันในสังคม คือสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน ดังนั้นสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำหรือลำดับชนชั้นจึงมักจะมีความสุขน้อยลงไปด้วย เพราะสภาพแวดล้อมแบบนี้จะกระตุ้นให้เกิดการเปรียบเทียบ การแข่งขัน และความรู้สึกไม่ไว้วางใจกันนั่นเอง นอกจากความเป็นอันหนึ่งอันเดียว และไว้เนื้อเชื่อใจกันแล้ว อีกปัจจัยสำคัญคือ ‘น้ำใจ’ หรือการแบ่งปัน  มีงานวิจัยของสหรัฐอเมริกาที่พบว่าสมองส่วนนิวเคลียสแอคคัมเบนส์ (nucleus accumbens) ที่ชื่อว่าเป็นศูนย์ควบคุมการให้รางวัลซึ่งถูกกระตุ้นเมื่อร่างกายได้รับอาหารหรือมีเพศสัมพันธ์ จะมีชีวิตชีวาเมื่อผู้เข้าร่วมวิจัยนึกถึงการบริจาคหรือการกุศล อีกนัยหนึ่งอาจหมายถึงมนุษย์มักจะรู้สึกดี เมื่อได้ทำอะไรบางอย่างที่ช่วยให้เผ่าพันธุ์ของตัวเองอยู่รอด การแบ่งปันจึงเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความสุขให้กับผู้คนได้นั่นเอง จะเห็นได้ว่า แม้ความสุขจะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างก็มีผลต่อความสุขที่เกิดขึ้นอยู่ไม่น้อย เช่นเดียวกับที่อริสโตเติลเคยกล่าวไว้ว่า ‘มนุษย์เป็นสัตว์สังคม’    ความสัมพันธ์อันซับซ้อนของ 'เงิน' กับ 'ความสุข' นอกจากความสุขจะสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อีกข้อถกเถียงที่ได้ยินอยู่บ่อยครั้งคือ เงินซื้อความสุขได้หรือไม่ ?  ไมก์ วิกิง อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างความสุขกับเงินว่าเป็นเรื่องซับซ้อน (It’s complicated.) แม้เงินจะทำให้เรามีกินมีใช้ แต่ใช่ว่าความสุขทุกอย่างจะต้องใช้เงินซื้อ เพราะเคยมีเคสของมิเชลล์ แม็กกาห์ที่ใช้เงินเฉพาะปัจจัยสี่และบิลรายเดือนที่จำเป็นต้องจ่าย นอกเหนือจากนั้นเธอจะไม่ใช้แม้แต่บาทเดียว หนึ่งปีผ่านไป วิธีสุดโต่งนี้ทำให้เธอพบว่ามีความสุขมากมายที่ไม่ต้องใช้เงินซื้อ  นอกจากนี้ ‘ความร่ำรวย’ ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสุขที่เพิ่มขึ้นเสมอไป อย่างประเทศเกาหลีใต้ซึ่งก้าวผ่านสถานะประเทศยากจนที่สุดแห่งหนึ่งขึ้นมาสู่ประเทศร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ยังติดอันดับ 55 ในรายงานความสุขโลกประจำปี 2017 และมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในกลุ่มประเทศโออีซีดี นอกจากนี้ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่มีจีดีพีต่อหัว สูงกว่าประเทศอย่างเดนมาร์ก ฟินแลนด์ สวีเดน แต่กลับมีระดับความสุขที่ต่ำกว่าประเทศเหล่านี้ ซึ่งไมก์กล่าวว่า “สหรัฐอเมริกาพัฒนาความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสะสมความร่ำรวย ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ความสุขของประชาชนกลับไม่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด สาเหตุหนึ่งคือความไม่เท่าเทียม ถ้าประเทศร่ำรวยขึ้นอีกเท่าตัว แต่ 90% ของความร่ำรวยนั้นกลับตกอยู่ในมือของประชาชนเพียง 10% ที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ นั่นไม่ใช่ความเติบโตหรอกครับ เป็นความโลภต่างหาก” ไมก์อธิบายว่า เงินเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่ความสุขจะเกิดขึ้นในประเทศที่รู้จักเปลี่ยน ‘ความมั่งคั่ง’ ให้เป็น ‘ความอยู่ดีมีสุข’ ด้วย เรียกง่าย ๆ ว่า ‘จำนวนเงิน’ ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญมากเท่า ‘วิธีการใช้เงิน’ ตั้งแต่การบริหารจัดการภาษีประชาชนไปจนถึงการใช้เงินซื้อความสุขในระดับปัจเจก  เมื่อพูดถึงวิธีการใช้เงินเพื่อซื้อความสุข ก็มีงานวิจัยที่พบว่า หากนึกถึงการซื้อประสบการณ์หรือความทรงจำ ผู้คนส่วนใหญ่จะอารมณ์ดีกว่าและรู้สึกคุ้มค่ากว่าการซื้อสิ่งของที่จับต้องได้ หรืออีกงานวิจัยที่ผู้คนยินดีจะจ่ายเงินกับสิ่งที่ต้อง ‘วาดหวัง’ และ ‘เฝ้ารอ’ มากกว่าการจ่ายแล้วได้ทันที เช่นเดียวกับเวลาที่เราซื้อตั๋วคอนเสิร์ตแล้วมีความสุขกับการตั้งตารอให้ถึงวัน หรือการเฝ้ารอกล่องพัสดุจากบุรุษไปรษณีย์เมื่อสั่งของออนไลน์ นอกจากประเด็น ‘เงินซื้อความสุขได้หรือไม่’ ยังมีงานวิจัยที่พบอีกว่า ‘ความสุขสามารถซื้อเงินได้เช่นกัน’ โดยระดับความสุขในวัยเด็กสามารถพยากรณ์รายได้ในเวลาต่อมา กล่าวคือเด็กที่มีความสุขมากกว่ามีแนวโน้มจะหาเงินได้เยอะกว่าเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น โดยงานวิจัยนี้ได้ศึกษากลุ่มพี่น้องที่มาจากครอบครัวเดียวกัน จึงสามารถตัดปัจจัยการเลี้ยงดูและพื้นฐานครอบครัวที่แตกต่างกันได้ นับว่าเป็นอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน    รัฐบาลบริหารความสุข จากรายงานความสุขโลก ‘สุขภาพ’ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขของผู้คน แม้จะฟังดูเหมือนเรื่องส่วนบุคคลที่เราสามารถกินอาหาร ออกกำลังกาย ดูแลตัวเองให้ดีได้ แต่อีกด้านหนึ่งการบริหารงานของรัฐก็ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนเช่นเดียวกัน ลองนึกภาพประเทศที่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลที่ไม่ต้องกังวลว่าป่วยแล้วจะพึ่งพาใคร จะต้องใช้จ่ายมากมายเท่าไร กับอีกประเทศหนึ่งที่บางคนไม่กล้าไปหาหมอเพียงเพราะกลัวว่าจะต้องใช้เงินจำนวนมากหรือกระทบต่อลูกหลานที่ต้องเลี้ยงดู การมีสวัสดิการพื้นฐานที่ดีจึงช่วยให้ความกังวลใจในเรื่องเหล่านี้ลดน้อยลงไปด้วย  นอกจากด้านการแพทย์แล้ว การจัดสรรพื้นที่สาธารณะ และระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ยังเป็นอำนาจและหน้าที่ของรัฐ แต่กลับส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน “ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ใช่ที่ที่คนจนมีรถขับ แต่เป็นที่ที่คนรวยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เป็นที่ที่คนรวยเดินเท้าและปั่นจักรยานต่างหากล่ะครับ เราควรสร้างเมืองที่คนรวยและคนจนมาพบกันอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะในสวนสาธารณะ บนทางเท้า หรือในระบบขนส่งมวลชน” นี่คือคำพูดของ กีเยร์โม เปญาโลซา อดีตเทศมนตรีจากประเทศโคลอมเบีย ซึ่งไมก์พบระหว่างการประชุมในกรุุงกัวลาลัมเปอร์ แน่นอนว่าไมก์เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะพื้นที่สาธารณะเปรียบเสมือนเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำและชนชั้นในสังคม เช่น สวนสาธารณะที่เราไม่ต้องเข้าไปในฐานะพนักงาน-ลูกค้า เจ้านาย-ลูกน้อง แต่สามารถใช้พื้นที่นั้นออกกำลังกาย หรือพักผ่อนหย่อนใจได้ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งซึ่งเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ และอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นตัวกระตุ้นการแข่งขันและความรู้สึกไม่ไว้วางใจกัน ซึ่งฉกฉวยความสุขของผู้คนในสังคมนั้นให้ลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ  อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน คือชาวเดนมาร์กจำนวนมากเลือกใช้จักรยานเป็นพาหนะสัญจรไปมา ใช่ว่ามาจากความรักสุขภาพส่วนบุคคล แต่ไมก์กล่าวว่าเป็นเพราะที่นี่ออกแบบมาให้การใช้จักรยานเป็นเรื่องที่สะดวกสบายมากกว่า ผลพลอยได้จึงเป็นสุขภาพจากการขยับร่างกายและสูดอากาศที่มลพิษน้อยกว่าเมืองที่อัดแน่นไปด้วยฝุ่นควันจากรถยนต์   เสรีภาพด้านเวลาที่มักถูกมองข้าม รายงานความสุขโลกในปี 2012 ระบุว่า “ไม่มีใครมีความสุขได้อย่างแท้จริง หากไม่รู้สึกว่าได้เลือกเส้นทางชีวิตของตนเอง” เสรีภาพจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ส่งผลต่อความสุขของผู้คน ซึ่งมีทั้งเสรีภาพการพูด การแสดงออก การชุมนุมและอีกหลาย ๆ ด้าน แต่สิ่งที่เราอยากชวนมองเป็นพิเศษคือ ‘เสรีภาพด้านเวลา’ โดยเฉพาะเรื่องการเดินทางที่เป็นอุปสรรคและส่งผลต่อความสุขอย่างไม่น่าเชื่อ แดเนียล คาห์เนแมน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยารางวัลโนเบล ได้ให้ผู้คนตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับกิจกรรมประจำวันกับความรู้สึกระหว่างทำกิจกรรมเหล่านั้น ซึ่งพบว่าผู้หญิงอเมริกัน 909 คน จัดให้ ‘การเดินทางไปทำงานตอนเช้า’ เป็นช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดของวัน ตามมาด้วยช่วงเวลาทำงาน และการเดินทางกลับบ้าน ที่น่าเศร้าคือในหนังสือของไมก์ยังกล่าวอีกว่า  “การเดินทางระหว่างบ้านกับที่ทำงานที่ยาวนานที่สุดเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ซึ่งผู้คนใช้เวลาเดินทางไปและกลับจากทำงานเฉลี่ยวันละสองชั่วโมง” ความสำคัญของการเดินทาง ทำให้บางประเทศมีนโยบายรองรับเรื่องนี้ ครั้งหนึ่งในรัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา มีโครงการที่มอบเงินรางวัลสูงถึง 3,000 ดอลลาร์สำหรับคนที่ย้ายมาอยู่ในระยะ 8 กิโลเมตรจากที่ทำงาน เพื่ออุดหนุนค่าใช้จ่ายของที่อยู่ใหม่ ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการใช้เวลาเดินทางไปทำงานน้อยลง บางคนถึงกับเปลี่ยนมาเดินแทนการขับรถเลยทีเดียว ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนตกตะกอนจากเรื่องราวการตามหากุญแจไขประตูสู่ความสุข ไมก์ วิกิง ซึ่งอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความอยู่ดีมีสุขของผู้คนอีกมากมาย แต่เรื่องราวทั้งหมดได้สะท้อนให้เห็นว่าความสุขเริ่มต้นได้ที่ตัวเราก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าความสุขจะอยู่ที่ ‘ใจ’ เสมอไป เพราะตราบใดที่เรายังแวดล้อมไปด้วยผู้คน ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมมนุษย์ ‘ความสุข’ อาจไม่ใช่เรื่องของเราเพียงคนเดียว   ที่มา หนังสือ ลุกกะ: วิถีความสุขจากทุกมุมโลก สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป (เขียนโดย Meik Wiking แปลโดย ลลิตา ผลผลา) https://worldhappiness.report/ed/2021/happiness-trust-and-deaths-under-covid-19/    ที่มาภาพ https://www.instagram.com/meikwiking/?hl=en