มาดาม ซี.เจ.วอล์คเกอร์ จากทาส สู่ 'เศรษฐินีผิวสี' คนแรกของอเมริกา

มาดาม ซี.เจ.วอล์คเกอร์ จากทาส สู่ 'เศรษฐินีผิวสี' คนแรกของอเมริกา
“ฉันเป็นผู้หญิงที่มาจากไร่ฝ้ายทางใต้ ก่อนจะเลื่อนตำแหน่งมาทำงานซักรีด ฉันเลื่อนตำแหน่งอีกครั้งมาเป็นคนครัว ก่อนจะเริ่มสร้างธุรกิจของตัวเอง ฉันสร้างโรงงานนั่นด้วยตัวของฉันเองค่ะ” ซาราห์ บรีดเลิฟ (Sarah Breedlove) กล่าวในงานชุมนุมนักธุรกิจผิวสี ที่สหภาพธุรกิจแห่งชาตินิโกร (National Negro Business League) การเป็นคนผิวดำในอเมริกานั้นยากแค่ไหน ย้อนกลับไปเกือบ 200 ปีก่อน อาจต้องคูณเข้าไปอีกหลายเท่า เรื่องราวของ มาดาม ซี.เจ.วอล์คเกอร์ (Madam C.J. Walker) เศรษฐินีผิวสีคนแรกของอเมริกา อาจไม่ได้ต่างจากเส้นทางแห่งความสำเร็จของนักธุรกิจที่สร้างตัวเองในปัจจุบันนัก แต่เมื่อลองพิจารณาจากบริบทเวลาและสังคมอเมริกาในตอนนั้น ก็จะพบว่าเส้นทางของเธอยากลำบากกว่าที่เห็นมากทีเดียว เหมือนนิยายที่เล่าถึงเด็กยากจน ที่เกิดมาโดยมีพ่อแม่เป็นทาส ปี 1867 ที่เมืองเดลต้า รัฐลุยเซียนา ซาราห์ บรีดเลิฟเกิดมาในครอบครัวที่มีพี่น้องถึง 6 คน เพราะเป็นน้องสาวคนสุดท้องที่เกิดหลังจากที่อเมริกาเพิ่งมีการประกาศเลิกทาส เธอจึงถือเป็นสมาชิกครอบครัวคนแรกที่เกิดมาพร้อมกับสถานะอิสระ แต่แม้จะมีสถานะอิสระ ก็ไม่ได้หมายถึงความเป็นอยู่ที่ดี ครอบครัวบรีดเลิฟมีฐานะยากจน พวกเขามีชีวิตอยู่ด้วยการเป็นทาสมาตลอดหลายปี หลังจากได้รับการปลดปล่อยก็หาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างทำไร่ฝ้าย แบ่งปันผลประโยชน์กับเจ้าของที่ดินซึ่งเคยเป็นเจ้านายของพวกเขาต่อ โชคร้ายที่ทำอยู่ได้ไม่กี่ปี ทั้งสองก็เสียชีวิตตามกันไปเพราะอหิวาตกโรค ซาราห์จึงกลายเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เพราะไม่มีใครดูแล พี่สาวคนโตซึ่งแต่งงานออกไปจึงรับซาราห์ไปอยู่ด้วยที่เมืองวิกส์เบิร์ก รัฐมิสซิสซิปปี แต่ฐานะครอบครัวของเธอเองก็ไม่ได้ดี ซาราห์จึงจำเป็นต้องเริ่มทำงานหาเลี้ยงตัวเองมาตั้งแต่ตอนนั้น เธอเริ่มต้นรับจ้างทำความสะอาด และซักรีดเสื้อผ้าให้ครอบครัวคนผิวขาว ก่อนจะแต่งงานครั้งแรกตอนอายุ 14 เมื่อลูกสาวคนแรกและคนเดียวของเธอเกิดมาตอนซาราห์อายุ 17 ปี สามีคนแรกของเธอก็เสียชีวิต ซาราห์ตัดสินใจหอบลูกไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ซึ่งมีเหล่าพี่ชายของเธออาศัยอยู่ เธอแต่งงานใหม่กับผู้ชายอีกคนที่นี่อาจเพราะเวลานั้นเมืองเซนต์หลุยส์มีคนผิวสีอยู่เป็นจำนวนมาก การเหยียดสีผิวจึงถือว่าเบาบางกว่าที่อื่น ที่เมืองนี้คนผิวดำสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ ซาราห์เริ่มต้นเข้าไปทำงานเป็นพนักงานสระผมในร้านพี่ชาย และพบว่าลูกค้าหลายคนมีปัญหาหนังศีรษะที่คล้าย ๆ กันอยู่ ตอนนั้นคุณภาพสุขอนามัยของคนดำค่อนข้างจะต่ำ ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่หนาว ชาวบ้านที่อาศัยในชนบทจึงไม่ค่อยได้ ‘อาบน้ำ’ กันนัก การสระผมยิ่งไม่ต้องพูดถึง มันจึงเป็นสาเหตุที่ผู้คนส่วนใหญ่มีปัญหารังแคและผมร่วง ซาราห์เองก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอผมร่วงจนต้องสวมผ้าคลุมเอาไว้ตลอด ความสัมพันธ์กับสามีใหม่ก็ดูเหมือนจะไปไม่รอดเพราะเหตุนี้ ด้วยความอับอาย ซาราห์จึงพยายามสรรหาวิธีรักษาโรคผมร่วงไปทั่ว ตอนนั้นมีครีมบำรุงผมยี่ห้อ Annie Turnbo Malone ขายอยู่ในท้องตลาด แต่ซาราห์ลองซื้อมาใช้และพบว่ามันไม่ได้ช่วยเธอได้มากนัก เธอจึงตัดสินใจปรับปรุงส่วนผสมของครีมด้วยตัวเอง หลังจากทดลองหลาย ๆ ครั้ง เธอก็พบกับส่วนผสมลับที่ช่วยรักษาอาการผมร่วงของเธอได้ ซาราห์คิดว่าถ้ามันช่วยเธอได้ มันก็มีคุณภาพมากพอจะทำขายต่อ (ส่วนผสมดังกล่าวมีทั้ง กรดซัลเฟอร์ และคำแนะนำที่ว่า ควรสระผมให้บ่อยขึ้น) [caption id="attachment_23782" align="aligncenter" width="640"] มาดาม ซี.เจ.วอล์คเกอร์ จากทาส สู่ 'เศรษฐินีผิวสี' คนแรกของอเมริกา ซาราห์ บรีดเลิฟ[/caption] เธอแต่งงานใหม่กับชายที่ชื่อ ชาร์ล โจเซฟ วอล์คเกอร์ (Charles Joseph Walker) ซาราห์จึงตัดสินใจตั้งชื่อแบรนด์เป็น Mrs.C.J. Walker (มิสซิสซี.เจ. วอล์คเกอร์) ลงไปตามชื่อสามี เพราะคิดว่ามันดูน่าเชื่อถือกว่าชื่อของตัวเธอเองซึ่งเป็นผู้หญิง แต่ ณ เวลานั้น ถ้าเป็นเรื่องของเครื่องสำอาง ใคร ๆ ต่างก็ไว้ใจผลิตภัณฑ์จากฝรั่งเศส ภายหลังซาราห์จึงเปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น Madam C.J. Walker (มาดาม ซี.เจ. วอล์คเกอร์) หรือชื่อเต็มหลังเปิดธุรกิจขายสินค้าทางไปรษณีย์ Madam C.J. Walker Manufacturing Company เพื่อให้ฟังดูเป็นแบรนด์ฝรั่งเศส เธอเริ่มขายผลิตภัณฑ์ตัวแรกในชื่อ “Madam C.J. Walker’s Wonderful Hair Grower” เพราะซาราห์ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานในโบสถ์ เธอจึงมีโอกาสกระจายข้อมูลของสินค้าไปได้เป็นวงกว้าง ตอนนั้นทั้งตัวเธอเองและสามีก็ยังตระเวนไปเคาะประตูขายผลิตภัณฑ์ตามบ้าน เพื่อบรรยายสรรพคุณและแสดงตัวอย่างความสำเร็จบนศีรษะของตัวเอง ธุรกิจของซาราห์ไปได้สวยขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับความสัมพันธ์กับสามีที่ดิ่งลงเหว ช่วงเวลาที่เธอกำลังยุ่งอยู่กับการทำงาน สามีของซาราห์หันไปมีผู้หญิงอื่น ซาราห์ตัดสินใจฟ้องหย่าในปี 1912 และคิดจะดำเนินธุรกิจต่อด้วยตัวเอง แต่เพราะชื่อเสียงของแบรนด์เริ่มไปไกลจนใครก็เริ่มจะหามาลองแล้ว เธอจึงตัดสินใจใช้ชื่อเดิมเพื่อทำธุรกิจต่อ (มาดาม ซี.เจ.วอล์คเกอร์ กลายเป็นชื่อที่ผู้คนใช้เรียกเธอมาตั้งแต่ตอนนั้น) เพราะเริ่มต้นสร้างจากความเข้าใจในปัญหาหนังศีรษะของคนผิวสี คุณภาพผลิตภัณฑ์ของเธอจึงได้รับการบอกต่อในแง่ดีและยิ่งเป็นที่นิยมในวงกว้าง ซาราห์ก้าวไปอีกขั้นด้วยการสร้างสัมพันธไมตรีกับ บรู้กเกอร์ ที. วอชิงตัน ผู้นำคนผิวสีที่มีชื่อเสียงที่สุด เมื่อเขาทราบเรื่องราวของเธอ ก็ยิ่งให้การสนับสนุนเธออย่างเต็มที่ เพื่อให้เธอเป็นตัวอย่างที่ดีกับคนผิวดำที่กำลังต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อความสำเร็จ หลังจากซาราห์ออกเดินสายเปิดสัมมนาแนะนำความงามให้กับคนอเมริกันผิวดำทั่วประเทศ ในปี 1910 เธอก็หันมาเปิดโรงเรียนเสริมความงามและมีตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ตอนนั้นเพราะไม่มีการศึกษา นอกจากการทำงานบ้านแล้ว ผู้หญิงผิวสีในอเมริกาจึงไม่สามารถทำงานอย่างอื่นได้ ซาราห์ถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ทำให้เหล่าผู้หญิงผิวสีในอเมริกามีรายได้และมีอาชีพอื่นทำ นอกจากงานแม่บ้านหรือแม่ครัว “ฉันแทบจะไม่เคยได้รับโอกาสอะไรเลยในชีวิต ฉันจึงต้องสร้างชีวิต และโอกาสของตัวเอง” ซาราห์กล่าวในบทสัมภาษณ์ของเอลิเลีย บันเดิลส์ (A'Lelia Bundles) นักข่าวผู้มีศักดิ์เป็นหลานสาวของเธอเอง “ในเมื่อฉันทำได้ ผู้หญิงนิโกรทุกคนก็ต้องทำได้ อย่าเอาแต่นั่งเฉย ๆ แล้วรอให้โอกาสมันเดินมาหา เธอต้องลุกขึ้นมาสร้างมันด้วยตัวเอง” ซาราห์เริ่มขยายธุรกิจออกไปยังต่างประเทศแถบทะเลแคริบเบียน อย่างเฮติ จาเมกา คอสตาริกา และคิวบา จนรายได้พุ่งสูงขึ้นไปแตะหลักล้านเหรียญสหรัฐ ผู้คนในอเมริกาจึงรู้จักเธอในฐานะ มาดาม ซี.เจ.วอล์คเกอร์ ผู้บุกเบิกธุรกิจความงามสำหรับคนดำ และเธอก็ยิ่งตอกย้ำแนวคิดนั้น ด้วยการขายผลิตภัณฑ์ที่มีภาพ ‘ใบหน้า’ ของตัวเองแปะอยู่บนฝาตลับ หลานของซาราห์บอกว่า มันเหมือนเป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงออกว่านี่จะเป็นความงามในแบบที่เธอเชิดชู ในช่วงเวลาที่สื่อทุกแขนงของอเมริกายังมี ‘ความงามของคนขาว’ ปกครองอยู่ทั่วประเทศ ซาราห์และลูกสาวยังให้การสนับสนุนองค์กรการกุศลเพื่อคนดำหลายแห่งของอินเดียนา โดยมากจะเป็นองค์กรเกี่ยวกับศาสนาที่สนับสนุนด้านการศึกษาแก่เด็ก ๆ พวกเธอยังบริจาคเงินจำนวนมากเพื่อสนับสนุนเหล่านักดนตรี นักร้องโอเปรา รวมถึงศิลปินผิวสีคนอื่น ๆ ซาราห์ บรีดเลิฟ วัย 51 ปี เสียชีวิตด้วยโรคความดันโลหิตสูงในปี 1919 ตอนนั้นเธอมีพนักงานขายอยู่ในองค์กรราว 20,000 คน และมีอสังหาริมทรัพย์มากมายในรัฐต่าง ๆ นับเป็นเศรษฐินีผิวสีที่มีความมั่งคั่งสูงที่สุดคนหนึ่งในประเทศ แต่ก่อนสิ้นชีวิต ซาราห์ยังอุทิศทรัพย์สิน 2 ใน 3 ของเธอบริจาคให้องค์กรการกุศลและชุมชนผิวสีหลายแห่ง เพื่อมอบโอกาสให้คนที่ประสบกับความยากลำบากอย่างที่เธอเคยเป็น   ที่มา https://www.biography.com/inventor/madam-cj-walker https://www.bbc.com/news/business-52130592 https://www.oprahmag.com/entertainment/tv-movies/a31484263/madam-cj-walker-facts/ https://indianahistory.org/education/educator-resources/famous-hoosiers/madam-c-j-walker/ https://www.pbs.org/wnet/african-americans-many-rivers-to-cross/history/100-amazing-facts/madam-walker-the-first-black-american-woman-to-be-a-self-made-millionaire/ https://www.archbridgeinstitute.org/2017/10/31/madam-c-j-walker-the-ultimate-self-made-woman/