มาดามทุสโซ ผู้อ้างว่าถูกบังคับให้ปั้นหัวนักโทษโดนประหารด้วยกิโยตีน

มาดามทุสโซ ผู้อ้างว่าถูกบังคับให้ปั้นหัวนักโทษโดนประหารด้วยกิโยตีน
การปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย การ "ประหาร" ต่อหน้าสาธารณะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชินตา ตั้งแต่ผู้นำระบอบเก่าทั้งกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 และราชินีมารี อ็องตัวแน็ต ไปจนถึงบุคคลใด ๆ ที่ต่อต้านการปฏิวัติ มีผู้ต้องสงสัยอย่างน้อย 300,000 คนถูกจับ และตัวเลขอย่างเป็นทางการของผู้ที่ถูกประหารก็มีมากถึง 17,000 ราย  ช่วงเวลาดังกล่าวถูกเรียกว่าเป็น "สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว" (ภาษาอังกฤษเรียกว่า Reign of Terror) ซึ่ง "มาดามทุสโซ" (Madame Tussaud's) นักปั้นหุ่นขี้ผึ้งชื่อดังก็มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานี้  มาดามทุสโซ “อ้าง” ว่าเธอก็ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของคณะปฏิวัติและเกือบถูกประหาร เมื่อรอดมาได้ยังถูกบังคับให้ต้องปั้นหุ่นขี้ผึ้งของทั้งฮีโรของคณะปฏิวัติ และศีรษะของนักโทษที่ถูกตัดมาสด ๆ ด้วยเครื่องประหารกิโยตีน ซึ่งจำนวนมากเป็นเพื่อนหรือคนรู้จักของเธอเอง หลายคนอาจจะเข้าใจว่า พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซ คือพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งแห่งแรกของโลก แต่จริง ๆ แล้วธุรกิจจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งมีมานาน และธุรกิจจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งของเธอก็เป็นสิ่งที่เธอรับมรดกต่อมาอีกที  ประวัติของมาดามทุสโซโดยส่วนใหญ่มาจากบันทึกความทรงจำของเธอ (Madame Tussaud's Memoirs and reminiscences of France, forming an abridged history of the French Revolution) ที่เธอให้ ฟรานซิส เออร์เว (Francis Hervé) เพื่อนสนิทช่วยเขียนให้ในปี 1838 (เธอเสียชีวิตในปี 1850)  ตามข้อมูลจากบันทึกข้างต้น มาดามทุสโซเล่าว่า พ่อของเธอชื่อ โจเซฟ กรอโซลตซ์ (Joseph Grosholtz) เป็นทหารผ่านศึกในสงคราม 7 ปี เขาเสียชีวิตก่อนที่เธอจะเกิดในปี 1760 ในเมืองเบิร์น ของสวิตเซอร์แลนด์ เธออยู่กับแม่จนอายุได้ 6 ขวบ จากนั้นแม่ก็ได้ไปทำงานเป็นแม่บ้านให้กับ ฟิลิปป์ เคอร์เทียส (Philippe Curtius) ซึ่งเธอบอกว่าเป็นลุงของเธอเอง  เคอร์เทียสเป็นหมอที่เน้นศึกษาเรื่องกายวิภาคศาสตร์ผ่านการทำหุ่นขี้ผึ้ง จนตอนหลังหันมาเอาดีด้านการทำหุ่นขี้ผึ้งเป็นหลัก เขามีชื่อเสียงค่อนข้างมากในเมืองเบิร์น จนเจ้าชายจากฝรั่งเศสมาเห็นผลงานจึงชวนเขาไปเปิดกิจการจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งในปารีส โดยให้สัญญาว่าเขาจะมีผู้ให้การอุปการะมากมายยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ เคอร์เทียสจึงย้ายถิ่นฐานไปปักหลักอยู่ที่ปารีส และภายหลังจึงได้พามาดามทุสโซ (ซึ่งตอนนั้นยังเป็นเพียงเด็กหญิง มารี กรอโซลตซ์ แต่จะขอเรียกว่า มาดามทุสโซ ไปจนตลอดเรื่องเพื่อไม่ให้เป็นการสับสน) และแม่ไปอยู่ด้วยกันที่เมืองหลวงของฝรั่งเศส ลุงของมาดามทุสโซมีลูกค้าเป็นคนดังแห่งยุคมากมาย เช่น วอลแตร์, รุสโซ ไปจนถึงเบนจามิน แฟรงคลิน และเขาก็ถ่ายทอดความรู้ให้กับหลานสาวที่ภายหลังเขารับเป็นลูกบุญธรรมอย่างเต็มที่ มาดามทุสโซเองก็มีพรสวรรค์สร้างชื่อตั้งแต่เธอยังเป็นวัยรุ่น และได้รับการเรียกตัวให้ไปเป็นครูสอนวิชาปั้นหุ่นขี้ผึ้งให้กับเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ น้องสาวของกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ในพระราชวังแวร์ซาย แม้ว่าลุงของมาดามทุสโซจะมีความใกล้ชิดกับฝ่ายปฏิวัติ แต่การที่มาดามทุสโซมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนในวัง เมื่อเกิดการปฏิวัติล้มล้างระบอบเดิม มาดามทุสโซจึงถูกมองว่าเป็นพวกกษัตริย์นิยมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ลุงของเธอจึงขอตัวเธอออกจากวังในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน แต่ระหว่างที่ลุงของเธอไปเป็นล่ามให้กับกองทัพในรัฐบาลคณะปฏิวัติที่แนวหน้า เธอกับแม่ก็ถูกจับกุมไปขังรวมกับผู้ฝักใฝ่ระบอบเก่า (ทำให้เธอได้รู้จักกับ โฌเซฟีน เดอ โบอาร์แน [Joséphine de Beauharnais] ซึ่งตอนหลังได้กลายเป็นจักรพรรดินีในจักรพรรดินโปเลียน) ก่อนได้รับการปล่อยตัว และถูกใช้งานให้เป็นช่างปั้นหุ่นขี้ผึ้งให้กับรัฐบาล  โดยเฉพาะการปั้นหัวของนักโทษประหาร (death mask) ซึ่งมาดามทุสโซจะได้รับหัวของนักโทษที่เพิ่งถูกตัดหัวสด ๆ ด้วยกิโยตีนมาใช้เป็นแบบในการหล่อหัวขี้ผึ้งโดยตรง หน้าที่อันน่าสยดสยองเมื่อหลายคนที่เธอต้องปั้นหัวขี้ผึ้งให้ เป็นคนที่เธอรู้จักหรือเพื่อนตั้งแต่สมัยอยู่ในวัง หรือระหว่างที่ถูกคุมขัง  ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์และราชินีที่ถูกโค่นล้ม และมือสังหารอย่าง ชาร์ล็อต กอร์แด (Charlotte Corday) หญิงสาวที่เธอชื่นชมทั้งในความงาม ความกล้าหาญและมุ่งมั่นที่จะทำเพื่ออุดมการณ์ เธอทำทีมาขอความช่วยเหลือจาก ฌ็อง-ปอล มารา (Jean-Paul Marat) แกนนำฌากอแบ็ง (กุล่มการเมืองที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการปฏิวัติฝรั่งเศส) สายลามงตาญ (กลุ่มซ้ายจัดที่ต้องการกำจัดระบอบกษัตริย์แบบถอนรากถอนโคน) ก่อนที่จะฆ่าเขาขณะแช่น้ำยารักษาอาการอักเสบจากโรคผิวหนังติดเชื้อ ซึ่งมาดามทุสโซอ้างว่า เธอต้องเป็นผู้ทำหุ่นขี้ผึ้งให้กับทั้งมารา และหัวของกอร์แด  หลังจากเคอร์เทียสเสียชีวิตลงในปี 1794 มาดามทุสโซจึงได้รับมรดกจากกองทรัพย์สินทั้งหมดของเขารวมถึงหุ่นขี้ผึ้งทั้งหมด ไม่นานจากนั้นเธอก็แต่งงานกับวิศวกรไม่เอาถ่านที่ชื่อ ฟร็องซัว ทุสโซ (François Tussaud) ซึ่งทำให้เธอได้ชื่อว่าเป็นมาดามทุสโซ  ชีวิตคู่ของมาดามไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ฝรั่งเศสต้องเผชิญกับทั้งสงครามภายนอกและภายใน ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ ธุรกิจจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งซึ่งเป็นความบันเทิงที่สำคัญรองจากปากท้องจึงตกต่ำอย่างรุนแรง มาดามทุสโซที่เป็นผู้นำครอบครัวจึงตัดสินใจเดินทางข้ามช่องแคบไปหากินที่ฝั่งอังกฤษโดยพาลูกชายคนโตติดตัวไปด้วย ระหว่างนั้นฟร็องซัวสามีก็แอบขายหุ่นขี้ผึ้งกิน เธอจึงตัดสินใจแยกทางกับสามีโดยถาวร และลูกชายคนรองเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นก็ตามเธอไปใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษด้วย หลังจากตระเวนจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งไปทั่วเกาะอังกฤษ เธอก็มาจัดแสดงที่ถนนเบเคอร์ (เส้นเดียวกับบ้านของเชอร์ล็อก โฮมส์) ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมากทำให้เธอตัดสินใจลงหลักปักฐานอยู่ที่นี่ และจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซแห่งแรกขึ้น (ตอนนี้ย้ายออกจากถนนเบเคอร์แล้วแต่ก็ห่างออกไปไม่ไกล)  ในบั้นปลายชีวิต งานของเธอได้รับความสนใจอย่างสูงจากทั้งชนชั้นกระฎุมพีและชนชั้นสูง แม้กระทั่งควีนวิกตอเรียก็ยังให้ความสนใจและอนุญาตให้สร้างหุ่นขี้ผึ้งของพระองค์ขึ้น ความนิยมในพิพิธภัณฑ์ของมาดามจึงยิ่งสร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก แม้เธอจะได้จากไปแล้ว แต่พิพิธภัณฑ์ของเธอก็ยังเป็นที่นิยมเรื่อยมา จนมีสถานะเป็นยี่ห้อระดับโลก ที่ใครหากได้มาลอนดอนล้วนต้องมาเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ของเธอสักครั้ง (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็เคยเสด็จฯ มาเช่นกัน)   อย่างไรก็ดี บันทึกความทรงจำของเธอถูกมองว่าเป็นสื่อประชาสัมพันธ์มากกว่าบันทึกข้อเท็จจริง เพราะข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานแน่ชัดหลายจุดขัดกับคำกล่าวอ้างของเธอเอง ตั้งแต่บ้านเกิดของเธอที่บอกว่าเกิดที่เบิร์น ในสวิตเซอร์แลนด์ ความจริงกลับเป็นสทราซบูร์ (Strasbourg) ในฝรั่งเศสนั่นเอง และปีเกิดก็เป็นปี 1761 ไม่ใช่ 1760 ซึ่งสารคดีชุด Madame Tussaud: A Legend in Wax ของบีบีซีชี้ว่า เธอทำเช่นนั้นเพื่อปกปิดรากเหง้าที่แท้จริง เนื่องจากตระกูลฝั่งพ่อของเธอในสทารซบูร์เป็นตระกูลเพชฌฆาตที่สืบทอดกันรุ่นสู่รุ่น แม้แต่ลูกสาวก็ต้องแต่งงานกับชายจากตระกูลเพชฌฆาตด้วยกัน และเคอร์เทียสที่บอกว่าเป็นลุงของเธอนั้นก็มิได้มีสัมพันธ์ทางสายเลือดโดยตรง หากเป็นพี่เขยของแม่ ข้อที่เธออ้างว่าได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังแวร์ซายในฐานะครูสอนปั้นหุ่นขี้ผึ้งให้น้องสาวของกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 เช่นเดียวกับข้ออ้างที่ว่า เธอปั้นหัวขี้ผึ้งของนักโทษประหารที่ถูกตัดหัวด้วยกิโยตีน และคนเหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นคนรู้จักของเธอ ผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้ต่างเห็นว่าล้วนแต่เป็นไปได้ยาก สิ่งที่เธอทำน่าจะเป็นการเจตนาทำให้ผู้อื่นรับรู้ว่า เธอเป็นเหยื่อของการปฏิวัติ และเป็นผู้ที่สร้างหุ่นหรือหัวขี้ผึ้งขึ้นจากพิมพ์ที่ถ่ายมาจากของจริงโดยตรง  มาดามทุสโซจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นนักธุรกิจที่เก่งกาจ รู้จักใช้แผนประชาสัมพันธ์ที่คนยุคนั้นตรวจสอบข้ออ้างของเธอได้ยาก และด้วยความที่บั้นปลายชีวิตของเธอเป็นระยะเวลาที่การประหารชีวิตในที่สาธารณะไม่เป็นที่พบเห็นอีกต่อไป เรื่องราวการปฏิวัติฝรั่งเศส และภาพของการประหารชีวิตอันโหดเหี้ยม จึงพบเห็นได้แต่ใน “Chamber of Horrors” (ห้องแห่งความสยดสยอง) ที่พิพิธภัณฑ์ของเธอเท่านั้น