แมเดอลีน อัลไบรท์: จากผู้ลี้ภัยฮิตเลอร์ - สตาลิน สู่สตรีผู้ทรงอิทธิพลของโลก

แมเดอลีน อัลไบรท์: จากผู้ลี้ภัยฮิตเลอร์ - สตาลิน สู่สตรีผู้ทรงอิทธิพลของโลก
หากอังกฤษมีมาร์กาเรต แทตเชอร์ เป็น ‘หญิงเหล็ก’ และอังเกลา แมร์เคิล คือ ‘แม่’ ของชาวเยอรมัน ตำแหน่ง ‘วันเดอร์วูแมน’ ของอเมริกาคงต้องยกให้ แมเดอลีน อัลไบรท์ (Madeleine Albright) ลูกผู้ลี้ภัยสงครามผู้เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในสหรัฐฯ นางอัลไบรท์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอเมริกาในยุคหลังสงครามเย็นสิ้นสุดหมาด ๆ ซึ่งสหรัฐฯ กลายเป็นชาติมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก เธอกลายเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เป็นเจ้ากระทรวงการทูตสหรัฐฯ และนับเป็นสตรีผู้มีอำนาจสูงสุดของแดนพญาอินทรี และอาจรวมถึงของโลกในเวลานั้น ความสามารถพิเศษของนางอัลไบรท์คือพูดได้ 5 ภาษา และมีความรู้ความเชี่ยวชาญที่มาจากประสบการณ์ตรง เธอเกิดในครอบครัวนักการทูตที่ปิดบังชาติกำเนิดและเร่ร่อนหนีตายจากภัยคุกคามของนาซีและคอมมิวนิสต์ ก่อนมาปักหลักในอเมริกาและกลายเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลของโลก แมเดอลีน อัลไบรท์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในวัย 84 ปี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2022 เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับการจากไปของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหญิงคนแรกของอเมริกา เราจะพาไปย้อนดูเส้นทางชีวิตของเธอกันว่าเป็นมาอย่างไร   ปิดบังอัตลักษณ์หลบเลี่ยงนาซี แมเดอลีน อัลไบรท์ มีชื่อเดิมว่า มารี จานา คอร์เบโลวา (Marie Jana Korbelova) เกิดที่กรุงปราก อดีตประเทศเชโกสโลวาเกีย เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1937 เธอเป็นพี่คนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 3 คนของครอบครัวนักการทูต โจเซฟ คอร์เบล พ่อของนางอัลไบรท์เคยทำงานให้กับประธานาธิบดีที่ขึ้นสู่อำนาจตามระบอบประชาธิปไตย 2 คนแรกของเชโกสโลวาเกีย จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ฮิตเลอร์ส่งกองทัพนาซีบุกเชโกสโลวาเกีย ทำให้ครอบครัวคอร์เบล รวมถึงหนูน้อยอัลไบรท์ต้องลี้ภัยไปอังกฤษ นอกจากลี้ภัย พ่อแม่ของเธอยังลบประวัติส่วนตัวเพื่อปิดบังเชื้อสายยิวของครอบครัว โดยหันไปเข้ารีตเป็นชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกตั้งแต่นางอัลไบรท์ยังเล็ก พวกเขาไม่เคยเปิดเผยเรื่องนี้ให้ลูก ๆ ทราบ จนกระทั่งนางอัลไบรท์เติบใหญ่ได้เป็นรัฐมนตรี หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ จึงขุดคุ้ยประวัติมาเผยแพร่ และทำให้นางอัลไบรท์รู้ว่า นอกจากเธอจะมีเชื้อสายยิว เครือญาติของเธอมากถึง 26 คน รวมทั้งปู่ย่าตายายล้วนตายจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ครอบครัวของเธออพยพกลับบ้านเกิดที่เชโกสโลวาเกีย และโจเซฟผู้พ่อถูกแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตเช็กประจำกรุงเบลเกรด ในอดีตประเทศยูโกสลาเวีย นั่นทำให้อัลไบรท์วัย 8 ขวบ ได้สัมผัสบรรยากาศการเป็นทูตครั้งแรก “ฉันเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ สวมชุดประจำชาติเช็ก เมื่อมีแขกต่างชาติมาเยือนกรุงเบลเกรด ฉันมีหน้าที่ทักทายและมอบดอกไม้ต้อนรับ” เธอเล่ารำลึกความหลัง แม้พ่อของเธอจะเป็นทูตในยูโกสลาเวีย แต่นางอัลไบรท์ไม่ได้เรียนหนังสือที่นั่น เพราะครอบครัวไม่อยากให้ซึมซับลัทธิมาร์กซ์ ที่สอนกันตามโรงเรียนในเบลเกรด พวกเขาส่งหนูน้อยอัลไบรท์ไปเรียนที่สวิตเซอร์แลนด์ และเปลี่ยนชื่อจาก มารี เป็น แมเดอลีน ที่นั่นเองทำให้เธอได้เรียนรู้ภาษาฝรั่งเศสจนแตกฉาน   หนีภัยคอมมิวนิสต์เข้าอเมริกา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดไม่นาน สงครามเย็นก็คืบคลานเข้ามา และเชโกสโลวาเกียก็เผชิญกับมรสุมทางการเมืองระลอกใหญ่อีกครั้ง ปี 1948 สหภาพโซเวียตนำโดยโจเซฟ สตาลิน พยายามแผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าไปในยุโรปตะวันออก ส่งผลให้รัฐบาลประชาธิปไตยของเชโกสโลวาเกียถูกฝ่ายคอมมิวนิสต์บุกยึดอำนาจ พ่อของนางอัลไบรท์ถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งและถูกยึดทรัพย์ ครอบครัวจึงตัดสินใจอพยพไปกรุงลอนดอน ก่อนขอลี้ภัยในสหรัฐฯ และเปลี่ยนอาชีพจากนักการทูตไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในเมืองเดนเวอร์ นางอัลไบรท์ลี้ภัยมาสหรัฐฯ ตอนอายุ 11 ปี แม้จะยังเล็ก แต่ด้วยประสบการณ์เดินทางใช้ชีวิตมาหลายประเทศ ทำให้เธอกลายเป็นเด็กที่มีความรอบรู้และสามารถพูดสื่อสารได้ถึง 5 ภาษา นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว ยังรวมถึงภาษาเช็ก โปแลนด์ ฝรั่งเศส และรัสเซีย เธอฉายแววเรียนเก่งและเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่เด็ก สมัยอยู่ไฮสคูลที่เดนเวอร์ นางอัลไบรท์เป็นผู้ก่อตั้งชมรมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นในโรงเรียน และระหว่างเรียนต่อปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ที่เวลเลสลีย์ คอลเลจ (Wellesley College) ในรัฐแมสซาชูเซตส์ เธอร่วมทำหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัย และเรียนจบออกมาด้วยรางวัลเกียรตินิยม หลังจบปริญญาตรีในปี 1959 ปีเดียวกันนั่นเอง เธอเข้าพิธีวิวาห์กับโจเซฟ เมดิลล์ แพตเตอร์สัน อัลไบรท์ ทายาทเจ้าของธุรกิจหนังสือพิมพ์นิวยอร์กเดลินิวส์ และนิวส์เดย์ ทั้งคู่พบรักกันระหว่างที่นางอัลไบรท์ไปทำงานเป็นนักศึกษาฝึกงานที่หนังสือพิมพ์ เดอะ เดนเวอร์ โพสต์ โจเซฟ และแมเดอลีน อัลไบรท์ มีลูกสาวด้วยกัน 3 คน ก่อนทั้งคู่จะตัดสินใจหย่าร้างแยกทางกันในปี 1983   จุดเริ่มต้นเส้นทางการเมือง นอกจากวุฒิปริญญาตรีจากเวลเลสลีย์ คอลเลจ สถาบันการศึกษาหญิงล้วนซึ่งฮิลลารี คลินตัน ก็เป็นศิษย์เก่าที่นั่น นางอัลไบรท์ยังเรียนต่อจนจบปริญญาโทและเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนครนิวยอร์ก มหาวิทยาลัยที่ต่อมาชักนำเธอเข้าสู่เส้นทางการเมืองแบบเต็มตัว ปี 1976 หลังจิมมี่ คาร์เตอร์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาแต่งตั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบียผู้หนึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคง อาจารย์ท่านนั้นเคยเป็นที่ปรึกษาของนางอัลไบรท์ เขารู้ดีว่าลูกศิษย์คนไหนมีความสามารถ จึงชักชวนนางอัลไบรท์เข้ามาเป็นผู้ช่วยในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประสานงานระหว่างทำเนียบขาวกับสภาคองเกรส ด้วยประสบการณ์ทางการทูตและความรู้ด้านการต่างประเทศที่สั่งสมมาแต่เด็ก นางอัลไบรท์เติบใหญ่กลายเป็นนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญคนสำคัญของพรรคเดโมแครตอย่างรวดเร็ว เธอถูกเลือกเป็นที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถึง 3 คน หนึ่งในนั้น คือ บิล คลินตัน ที่ลงแข่งขันในปี 1992 หลังคลินตันชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 42 ของสหรัฐฯ ชื่อของนางแมเดอลีน อัลไบรท์ ก็เริ่มกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เธอถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในรัฐบาลคลินตันสมัยแรก (1993 - 1997) จากนั้นเมื่อคลินตันชนะการเลือกตั้งรอบสอง นางอัลไบรท์จึงได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (1997 - 2001) “ตอนชื่อฉันโผล่ในโผรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ คุณอาจคิดว่าฉันเป็นต่างด้าว “ผู้คนพูดกันว่า ‘ชาวอาหรับจะไม่เจรจากับผู้หญิง’” นางอัลไบรท์เล่าถึงปฏิกิริยาต่อต้านที่เกิดขึ้นหลังเธอมีชื่อเป็นสตรีคนแรกที่ถูกแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ   จุดแข็ง จุดอ่อน ผลงานที่โดดเด่นของนางอัลไบรท์ในฐานะเจ้ากระทรวงการทูตในยุคที่อเมริกาครองโลก คือ การขยายจำนวนสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) เข้าไปในดินแดนอดีตสหภาพโซเวียต เป็นตัวกลางเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอล - ปาเลสไตน์ และร่วมการเจรจาหลายฝ่ายเพื่อโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์ แม้สุดท้ายจะไม่ประสบความสำเร็จ สไตล์การทูตของนางอัลไบรท์ที่หลายคนจดจำ คือ การมีความชัดเจน ตรงไปตรงมาในการพูดคุยเจรจา เธอย้ำความสำคัญของการต่อต้านเผด็จการและเผยแพร่ระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งยังสนับสนุนนโยบายแทรกแซงเพื่อยุติความขัดแย้งทั่วโลก รวมถึงการแทรกแซงด้วยกำลังทหาร ระหว่างอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  นางอัลไบรท์เคยเดินทางเยือนไทย 2 ครั้งในปี 1999 และ 2000 โดยครั้งแรกเป็นการมาชมวิถีชีวิตชาวเขาในจังหวัดเชียงใหม่ และครั้งที่สองเข้าร่วมการประชุมอาเซียนเพื่อพูดคุยนอกรอบกับรัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีเหนือ แม้จัดเป็นนักการทูตมากประสบการณ์ เธอยอมรับว่า สิ่งที่ทำให้เสียใจที่สุดในชีวิตการงาน คือ ความล้มเหลวในการผลักดันประชาคมโลกให้ช่วยกันหยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เมื่อปี 1994 หลังจากสหรัฐฯ เพิ่งถอนทหารจากโซมาเลีย เพราะเสียขวัญจากเหตุการณ์สังหารทหารอเมริกัน 18 นาย กลางกรุงโมกาดิชู ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘Black Hawk Down’ บรรดานักการทูตอเมริกันในแอฟริกายังวิจารณ์ผลงานของนางอัลไบรท์ว่ามีจุดอ่อนด้านการข่าว เพราะไม่สามารถแจ้งเตือนภัยก่อการร้ายล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุการณ์ระเบิดโจมตีสถานทูตสหรัฐฯ ในเคนยาและแทนซาเนีย เมื่อปี 1998   ชีวิตหลังเกษียณ หลังพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีในปี 2001 นางอัลไบรท์ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำธุรกิจส่วนตัว เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และเขียนหนังสือขายดีออกมาหลายเล่ม ที่โด่งดัง ได้แก่ ‘Madam Secretary: A Memoir’ (2003) และ ‘Fascism: A Warning’ (2018) นอกจากนี้เธอยังออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นระยะ โดยในปี 2008 เธอออกมาช่วยฮิลลารี คลินตัน หาเสียงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก่อนสนับสนุนให้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แต่งตั้งนางคลินตันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหญิงต่อจากเธอ และคอนโดลีซซา ไรซ์ “ในนรกมีสถานที่พิเศษสำหรับผู้หญิงที่ไม่ช่วยผู้หญิงด้วยกัน” นางอัลไบรท์พูดประโยคนี้ออกมาบนเวทีหาเสียงให้นางคลินตัน และเป็นประโยคที่ทำให้เธอถูกต่อว่าอย่างรุนแรง จนต่อมาต้องออกมาขอโทษและยอมรับว่า การลงคะแนนเลือกใครไม่จำเป็นต้องกาให้คนเพศเดียวกันเท่านั้น นางอัลไบรท์เดินสายขึ้นเวทีปาฐกถา และเป็นคอลัมนิสต์วิเคราะห์สถานการณ์โลกในปัจจุบันจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต “เธอใช้เวลาทั้งหมดพูดเรื่องยูเครนว่าต้องได้รับการปกป้องอย่างไร” บิล คลินตัน เผยถึงบทสนทนาสุดท้ายที่พูดคุยกับนางอัลไบรท์ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนเธอสิ้นใจ เจมส์ รูบิน อดีตโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยุคอัลไบรท์ พูดถึงเจ้านายเก่าว่า ประสบการณ์ส่วนตัวในการเผชิญหน้ากับระบอบเผด็จการมาตั้งแต่เด็ก มีส่วนสำคัญที่ทำให้นางอัลไบรท์เติบใหญ่เป็นนักการทูตที่มีประสิทธิภาพ เขายกตัวอย่างการตัดสินใจส่งทหารอเมริกันเข้าแทรกแซงความรุนแรงในโคโซโว ว่าเป็นการตัดสินใจที่แม่นยำและช่วยไม่ให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่นั่น เนื่องจากเวลานั้น สโลโบดัน มิโลเซวิช ผู้นำเซอร์เบียเคยฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในบอสเนียมาแล้ว และมีแนวโน้มจะก่อเหตุซ้ำที่โคโซโว การตัดสินใจอันเฉียบขาด ผนวกกับความแน่วแน่ในแนวทางการใช้อำนาจเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติและเพื่อนมนุษย์ อาจทำให้สหรัฐฯ ในยุคนางอัลไบรท์ และยุคต่อมามักถูกวิจารณ์ในเชิงลบว่าชอบทำตัวเป็น ‘ตำรวจโลก’ ทว่า สำหรับชาวอเมริกันและพันธมิตรจำนวนมาก ‘ตำรวจโลก’ อย่างนางแมเดอลีน อัลไบรท์ อาจไม่ต่างจาก ‘วันเดอร์วูแมน’ ในหนังซูเปอร์ฮีโร่ และตำนานอดีตสตรีผู้ทรงอิทธิพลของโลกคนนี้จะเป็นที่จดจำตลอดไป   ข้อมูลอ้างอิง: https://www.nytimes.com/2022/03/23/us/madeleine-albright-dead.html https://www.bbc.com/news/world-us-canada-48401172 https://www.wsj.com/articles/madeleine-albright-first-woman-to-serve-as-secretary-of-state-dies-11648061238?mod=hp_lead_pos11