แม่มณี: เบื้องหลังนางกวัก QR Code ที่เกิดจากการไปเฝ้าสังเกตแม่ค้าที่สวนจตุจักร

แม่มณี: เบื้องหลังนางกวัก QR Code ที่เกิดจากการไปเฝ้าสังเกตแม่ค้าที่สวนจตุจักร
แอปพลิเคชัน "แม่มณี" ในงานเขียนนี้ ไม่ใช่ "แชร์แม่มณี" ที่เป็นข่าว แต่เป็นความคิดทางการตลาดที่น่าเรียนรู้ของธนาคารไทยพาณิชย์ ... เมื่อ 2-3 ปีก่อนการใช้ QR Code เพื่อจับจ่ายใช้สอยผ่านทางโทรศัพท์ไม่ได้กลายเป็นเรื่องคุ้นชินในชีวิตประจำวันเท่าวันนี้ แม้ว่าจะมีการวางแผ่น QR Code ไว้ที่ร้าน หลายครั้งแม่ค้าพ่อค้าเลือกที่จะคว่ำ QR Code ลงไป ทำให้ไม่เป็นที่สังเกต จึงไม่เกิดการนำมาใช้งานจริง นี่เป็นโจทย์ที่ช่วงเวลานั้นทางธนาคารไทยพาณิชย์ พยายามขบคิดว่าจะแก้ไขอย่างไร จนความคิดนั้น ตกผลึกเป็น “แม่มณี” ขึ้นมา ... หากชำเลืองมองเข้าไปในร้านค้าทุกร้าน จุดเด่นจุดสนใจหนึ่งของร้านที่ใครเดินผ่านไปผ่านมาย่อมมองเห็นได้ชัดเจน นั่นก็คือ จุดวางนางกวัก เพื่อเรียกเงินทอง สิ่งมงคลเข้าร้าน สมัยก่อนนั้น เราจะเห็นเป็นตุ๊กตาปูนปั้นเล็ก ๆ รูปหญิงสาวในชุดไทยนั่งกวักลูกค้าเข้าร้านหลากหลายสีสัน แต่พอมาถึงตอนนี้ สิ่งที่เริ่มมองเห็นบ่อยขึ้นบนหิ้งหน้าร้านคือตุ๊กตาน่ารักในชุดไทยสีม่วงที่มีชื่อว่า “แม่มณี” วางอยู่บนจุดสะดุดตาของร้านซึ่งเป็นทั้งจุดยิง QR Code เพื่อชำระเงิน และอาจจะเป็นถึง “ของดี” ประจำร้านที่แม่ค้าพ่อค้านับถือเพื่อนำสิ่งดี ๆ มาสู่การค้าการขายของตน “แม่มณี” จึงเป็นนวัตกรรม Mobile Banking ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ที่นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาผสมผสานกับความเป็นไทย ๆ ได้อย่างลงตัว แต่เบื้องหลังการเกิดขึ้นของ “แม่มณี” ในปี 2560 มีที่มาจากทีมงานการตลาดของธนาคารไทยพาณิชย์ไปเฝ้าสังเกตแม่ค้าพ่อค้าที่สวนจตุจักร และแรงบันดาลใจการตั้งชื่อ “แม่มณี” นี้ ส่วนหนึ่งมาจาก เมนิ-ชื่อลูกสาวของธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการตลาด รักษาการ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานสื่อสารองค์กรและ CSR ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนา เธียรอัจฉริยะ เล่าถึงที่มาที่ไปของ “แม่มณี” ผ่านการทอล์คในงาน Thailand Zocial Awards 2018 โดยเริ่มจากโจทย์ตอนนั้น ที่ธนาคารเริ่มทำบริการ QR Code ในการจ่ายสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน นี่เป็นเหมือนกับการตั้งคำถามใหญ่ ๆ ว่า ธนาคารที่คนภายนอกรู้จักในมุมการทำธุรกรรมทางการเงิน จะเปลี่ยนผ่านตัวเองมาสู่โลกธุรกิจ โลกออนไลน์ในยุคใหม่ได้อย่างไร? ธนาเล่าว่า พวกเขาเริ่มต้นอย่างเรียบง่ายที่สุด คือ การสำรวจตลาด ในที่นี้คือความหมายตรงตามตัวอักษร คือไปสำรวจตลาดจริง ๆ โดยเริ่มที่ตลาดจตุจักรกันก่อน “ตอนที่เราเริ่มทำ เป็นอะไรที่น่าสนุกมาก เราเริ่มง่าย ๆ ว่าไปที่ไหนดี เราก็ไปจตุจักร จตุจักรก็เป็นแหล่งแม่ค้าอยู่แล้ว” ในตอนนั้น ทีมงานสำรวจพฤติกรรมการใช้ QR Code ของแม่ค้าพ่อค้า จนเห็นว่า แผ่น QR Code ที่อยู่ในร้าน ไม่ตอบโจทย์การใช้งาน เพราะเจ้าของร้านมักคว่ำแผ่นนี้ลง ทำให้ลูกค้าไม่เห็น ใช้งานไม่ได้ “จะพบอุปสรรคมากมาย  ในการที่ทำอะไรใหม่ ๆ มันมีทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ผู้ซื้อ ถ้าเดินไป ไม่มี QR Code ให้สแกน แป๊บเดียวก็เบื่อ ไม่อยากเล่น ไม่อยากลองของใหม่ ใช้เงินสดก็ดีอยู่แล้ว เราคิดว่าเราควรจะเริ่มที่ผู้ขายก่อน  “เราก็เลยไปลองทำกับผู้ขาย แน่นอน ผู้ขายช่วงแรกเขาเกรงใจแบงก์ เขาก็ตั้ง QR Code ให้ เราก็ดูจากสถิติ(stat) เวลาน้องมารีพอร์ตก็สงสัยว่า เอ้ย ทำไมตั้งแล้วไม่มีใครใช้ ก็เดินไปดูจริง ๆ ใช้จตุจักรเป็นสนามทดลอง แม่ค้าพอเราเดินผ่านไป เขาไม่รู้มันคืออะไร มันเกะกะร้านเขา ก็คว่ำลง” ธนามองปัญหานี้ด้วยความสนุกสนาน และคิดว่าจะแก้เกมนี้ในเชิงการตลาดอย่างไรดี เขาและทีมงานจึงปักหลักสังเกตการณ์ที่สวนจตุจักรในช่วงตลาดเปิด เสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น แล้วค้นพบเรื่องที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง “เราก็ไปตั้งแต่เช้า ไปนั่งดูเสาร์ อาทิตย์ เราก็จะเห็นพฤติกรรมแม่ค้าช่วงเช้า เขาก็จะเอาแบงก์มาปัดของ บอกว่า โชคดี ๆ เอาน้ำแดงมาวางที่นางกวัก เราสนใจตรงนี้ มันมี visibility (การมองเห็นได้) ที่น่าสนใจสูงสุดในร้าน น่าสนใจมากกว่าโปรดักต์อีก” ถึงจุดนี้ ทีมงานเริ่มคิดกันว่า เป็นไปได้ไหม ถ้าเราไม่เรียกผลิตภัณฑ์ของเราว่า QR Code เพราะพ่อค้าแม่ขายรู้สึกไม่อยากเรียกแบบนี้ แล้วเราจะเรียกสิ่งนี้ว่าอย่างไรดีให้พวกเขารู้สึกติดปาก ความคิดนี้จึงต่อยอดไปสู่การสร้างคาแรคเตอร์ที่มีชื่อว่า “แม่มณี” ซึ่งธนาบอกว่าส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจเริ่มต้นมาจากชื่อลูกสาว เมนิ และคำว่า มันนี ที่แปล ว่าเงิน “เราเลยลองทำ แม่มณี ขึ้นมา ลูกสาวผมชื่อ เมนิ เขาชอบโดนเพื่อนล้อว่า มณี คำว่ามณี ก็จะอยู่ในหัว ตอนที่ผมตั้งชื่อลูกสาวผม เมนิ ก็มาจากมันนีพอดี ก็ตั้งเป็นชื่อนี้”  พอเกิดวาบความคิดนี้โยนไปที่ทีมงาน แล้วแววตาทีมงานเป็นประกาย งานนี้จึงเห็นตรงกันว่า มาถูกทางแล้ว ... แม่มณีจึงถูกนำมาใช้งานจริงในที่สุด “ปรากฏว่าเริ่มเวิร์ค คนสนใจ เริ่มทำให้มีชีวิตขึ้น ที่น่าสนใจคือ ร้านค้าไม่คว่ำแม่มณี เพราะไม่กล้าคว่ำ เราไม่ได้บอกว่าศักดิ์สิทธิ์ เราไม่ได้ให้หลวงพ่อเจิม แต่เขาก็ตั้งไว้” จากการเป็น QR Code ในรูปแบบของแม่มณี เพื่อทำธุรกรรมการเงินทางแอปพลิเคชัน อีกบทบาทหนึ่ง แม่มณีกลายเป็นของนับถือประจำร้าน ในระดับแม้ว่าทางธนาคารไทยพาณิชย์จะแจกฟรี แต่ก็เคยมีเขาเอาไปขายถึงหน่วยละ 699 บาท แม่มณีได้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้มาสนใจใช้ QR Code มากขึ้น “จะเริ่มเห็นแม่มณี มีการใส่พาน ใส่กับของบูชา มีการไหว้กับน้ำแดง มีหนีบแบงก์ ทำให้เทคโนโลยีมีชีวิตขึ้นมา มีคนจีนมาไหว้ เปลี่ยนจากการเรียก QR Code เป็น แม่มณี” แม่มณีจึงเป็นไอเดียทางการตลาด ได้อย่างฉลาด สร้างสรรค์ และเข้ากับความเป็นไทย ๆ ได้อย่างแนบสนิท วันนี้ คุณเคยลองสแกน QR Code กับ “แม่มณี” กันหรือยัง? แล้ว “แม่มณี” ในร้านประจำของคุณนั้น ถูกประดับด้วยอะไรกันบ้าง?   ที่มา: https://www.facebook.com/WisesightGlobal/videos/1631611986919114/