มหาสิลา วีระวงศ์ ปราชญ์ลาวร้อยเอ็ด ปลุกสำนึกลาวผ่านประวัติศาสตร์   

มหาสิลา วีระวงศ์ ปราชญ์ลาวร้อยเอ็ด ปลุกสำนึกลาวผ่านประวัติศาสตร์   
"ได้อ่านหนังสือพิมพ์ลาวที่ออกในเวียงจันซึ่งกลุ่มพระจากเมืองโขงเอาไปให้อ่าน จึ่งมีความต้องการแรงกล้าที่จะได้เห็นเมืองเวียงจันที่สุด พร้อมกันนั้นก็ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งแจกในงานทอดกฐินหลวงชื่อว่า 'ปราบกบฏไอ้อนุเวียงจันท์' ในหนังสือเล่มนั้นเรียกเจ้าอนุว่า 'ไอ้อนุ' และเรียกเจ้าหญิงคำป้อง พระมเหสีว่า 'อี่คำป้อง' เมื่ออ่านตลอดเรื่องแล้วรู้สึกเจ็บปวดเป็นที่สุด จึงมีความคิดเรื่องการกู้ชาติเกิดขึ้น และแรงกล้า อย่างเคืองแค้นตั้งแต่ขณะนั้นเป็นต้นมา จึงได้ชักชวนเพื่อนนักบวชที่สอบมหาเปรียญรวมกลุ่มกันขึ้น เพื่อหาทางกู้ชาติ โดยไม่มีกองกำลังและความรู้ในด้านการเมืองแต่อย่างใด มีแต่ความคั่งแค้นแต่อย่างเดียว"  มหาสิลา วีระวงศ์ นักปราชญ์ลาวกล่าวในอัตชีวประวัติ [ชีวิตผู่ข้า (อัตชีวิตของข้าพเจ้า), ศิลปวัฒนธรรม, สิงหาคม พ.ศ. 2548] ถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นแรงผลักดันให้เขาสนใจการเมือง และหวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานภาพของประชาชนลาว มหาสิลาเกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2448 ที่บ้านหนองหมื่นถ่าน จังหวัดร้อยเอ็ด ประเทศสยาม สมัยนั้นมีผู้คนอาศัยอยู่ราว 300 ครัวเรือน ด้านตะวันออกของหมู่บ้านมีหนองขนาดใหญ่ที่มีน้ำขังตลอดปีเรียกว่า หนองหมื่นถ่าน อันเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน เขาเติบโตขึ้นมาตามวิถีชนบทที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ชีวิตคล้าย ๆ กัน ทำนา ทำไร่ เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ ทอเครื่องนุ่งห่มไว้ใช้กันเอง พออายุได้ 8 ปี มหาสิลาก็เริ่มเรียนหนังสือกับตาในเวลากลางคืน เพราะกลางวันต้องเลี้ยงสัตว์ เริ่มจากการอ่านอักษรไทน้อย จึงได้หัดอ่านหนังสือกาพย์กลอนและติดใจมาตั้งแต่เด็ก ต่อมาจึงไปเป็นเด็กวัดและบวชเณรทำให้ได้เรียนอักษรไทย อักษรขอม และอักษรธรรม แต่บวชได้เพียงไม่นานก็ต้องสึกเนื่องจากต้องไปดูแลแม่ที่เจ็บป่วย เข้า พ.ศ. 2460 มหาสิลาอายุได้ราว 12 ปี ก็ต้องเข้าเรียนตามระบบ เมื่อรัฐบาลสยามตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้น และบังคับให้เด็กต้องเข้าเรียน ก่อนที่จะบวชเณรอีกครั้ง โดยเรียนระบบสามัญเวลากลางวันและเรียนธรรมะในเวลากลางคืน เนื่องจากมีพระผู้ใหญ่แนะนำว่าเรียนทางสายปริยัติธรรมจะไปได้ไกลกว่าสายสามัญ เนื่องจากหากสอบได้มหาเปรียญ 3 ประโยคแล้วจะสามารถเรียนต่อโรงเรียนกฎหมาย และสอบเป็นผู้พิพากษาได้เลย มหาสิลาจึงมุ่งศึกษาในทางธรรม เดินทางไปศึกษาต่อที่อุบลราชธานีก่อนเข้ากรุงเทพฯ มาอยู่วัดปทุมวนาราม เข้าเรียนนักธรรมชั้นเอก และสอบได้อันดับ 1 ของรุ่น จากการสอบทั่วกรุงเทพฯ เมื่อปี 2468 และปีต่อมา เขาก็สอบได้มหาเปรียญธรรม 3 ประโยคตามปรารถนา แต่สุดท้ายมหาสิลาก็ต้องละทิ้งความตั้งใจที่จะเป็นผู้พิพากษาในรัฐบาลสยามตามที่ได้ตั้งใจไว้แต่แรกเริ่มเรียนในทางปริยัติธรรม เนื่องจากทางโรงเรียนกฎหมายเปลี่ยนระเบียบการรับนักศึกษาอยู่บ่อยครั้ง จากมหาเปรียญ 3 ประโยค ก็เปลี่ยนเป็น ุ6 ประโยค ตอนนั้นมหาสิลาก็พร้อมจะสู้ต่อ แต่แล้วก็เปลี่ยนว่าต้องมีวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 และยังต้องได้ข้าราชการชั้น “พระยา” รับรองด้วย (ระบบเด็กฝาก)  ระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นเองที่มหาสิลาได้อ่านงานประวัติศาสตร์บาดหมางของสยามส่วนกลาง (เรื่องเจ้าอนุวงศ์ที่อ้างมาข้างต้น) ทำให้มหาสิลาเกิดแนวคิดอยาก “กู้ชาติ” ขึ้นมา แต่ความรุ่มร้อนก็ค่อย ๆ บรรเทาลง เมื่อมีพระผู้ใหญ่ในอีสานที่มหาสิลาเคารพนับถืออธิบายให้เห็นว่า ตัวท่านเองก็เคยคิดเช่นนั้น แต่มัน “เป็นไปไม่ได้” ความคิดเรื่องกู้ชาติของมหาสิลาในขณะนั้นจึงต้องเก็บงำเอาไว้ก่อน จากนั้นมหาสิลาก็เดินทางกลับไปอยู่ลาว (หลังปี 2472) ทำหน้าที่เป็นครูสอนภาษาบาลี ที่โรงเรียนสอนบาลีที่เพิ่งตั้งขึ้นโดยใช้หอคำเดิมเป็นที่เล่าเรียน (ภายหลังถูกใช้เป็นสำนักงานประธานประเทศ) ช่วงระยะแรกตั้งโรงเรียนนี้ มหาสิลาได้แต่งแบบเรียนต่าง ๆ ขึ้น เช่น ไวยากรณ์บาลีทั้ง 4 ภาค, ไวยากรณ์ลาวภาคที่ 1, สามเณรศึกษา, ธรรมะภาค 1 และภาค 2, พระวินัยภาค 2 (อันเป็นหลักสูตรของสงฆ์) และได้แปลหนังสือสวดมนต์ที่พระสงฆ์ใช้สวดในเมืองเวียงจันทน์ และได้พิมพ์เป็นรูปเล่มด้วย ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น พัฒนาการด้านงานวรรณกรรมและการศึกษาของลาวได้หยุดชะงักลงเป็นระยะเวลานาน แสวง พินิต (Saveng Phinith) นักประวัติศาสตร์ลาว กล่าวว่า วรรณกรรมลาวคลาสสิกถึงจุดสูงสุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 สมัยที่ล้านช้างยังคงเป็นอิสระและรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น แต่สงครามและความขัดแย้งก็ทำให้งานด้านนี้ค่อย ๆ เสื่อมลง ยิ่งเมื่อเจ้าอนุวงศ์พ่ายให้กับกองทัพจากกรุงเทพฯ ในปี 2370 ประชากรลาวจำนวนมากถูกกวาดต้อนมายังสยาม ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของลาวก็ถูกนำพาไปด้วย ถึงยุคอาณานิคม เมื่อลาวอยู่ใต้อำนาจของฝรั่งเศสก็มิได้มีความพยายามที่จะฟื้นฟูงานด้านการศึกษาและวรรณกรรมของลาวขึ้นมาอย่างจริงจัง และคนลาวที่มีโอกาสได้ทำการศึกษาต่อในระดับสูงตามระบบตะวันตกก็มีค่อนข้างน้อย จนกระทั่งเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 งานด้านการศึกษาและวรรณกรรมของลาวจึงได้รับการสนับสนุนฟื้นฟูขึ้น เพื่อช่วยต้านอิทธิพลทางวัฒนธรรมของสยาม ในเวลาไล่เลี่ยกัน มหาสิลาได้เป็นตัวแทนของเจ้าเพชรราช เจ้าอุปราชคนสุดท้ายของลาว (และผู้นำลาวอิสระ) ในการเจรจากับทางการไทยในช่วงที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ให้กับกองทัพนาซี และไทยต้องการยึดเอาลาว เขมรคืนจากฝรั่งเศส โดยจะขอให้รักษาสถานะของลาวในฐานะประเทศในอารักขา อย่าได้ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของไทยเหมือนเช่นภาคอีสาน แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ถูกทางฝรั่งเศสตามล่า จึงต้องลี้ภัยมาฝั่งไทย เมื่อสงครามระหว่างไทยกับฝรั่งเศสจบลงด้วยการไกล่เกลี่ยของทางญี่ปุ่น มหาสิลาจึงมาทำงานที่หอสมุดแห่งชาติ ในกรุงเทพฯ กับแผนกค้นคว้าหนังสือวรรณคดีโบราณ โดยเฉพาะของลาวเวียงจันทน์และลาวเชียงใหม่ และมีส่วนกับการช่วยเคลื่อนย้ายเอกสารสำคัญเมื่อไทยต้องเข้าไปพัวพันกับสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยตรง และเป็นผู้ที่พบวรรณกรรมสำคัญของวัฒนธรรมลาวในคลังเอกสารโบราณของไทย “เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้บุกตะลุยผ่านประเทศสยาม เพื่อเข้าตีประเทศพม่าและอินเดีย ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางหอสมุดสยามเกรงว่าหากเกิดสงครามใหญ่ขึ้นหอสมุดอาจถูกทิ้งระเบิด (ของฝ่ายพันธมิตรที่ตามโจมตีญี่ปุ่น) และหนังสือเก่าแก่ที่ยังไม่ได้ค้นคว้าก็ยังมีจำนวนมาก ถ้าถูกระเบิดแล้วจะสูญหายไป ดังนั้นจึงรวบรวมหนังสือเก่าที่เป็นสมุดข่อยและใบลานบรรจุลงหีบไม้ฉำฉาได้จำนวน 300 กว่าหีบ ขนลงเรือใหญ่มอบให้ข้าพเจ้าดูแลนำไปเก็บไว้วัดอัปสรสวรรค์ จังหวัดธนบุรี  “อยู่ที่นี่เองข้าพเจ้าได้ค้นพบหนังสือผูกกาพย์กลอนเรื่องท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง, อินทิยานสอนลูก และเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ข้าพเจ้าเพิ่งได้คัดลอกเรื่องท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง และอินทิยานสอนลูกเท่านั้น สำหรับเรื่องท้าวฮุ่ง ท้าวเจืองนั้น เมื่ออ่านดูแล้วเห็นว่าเป็นวรรณคดีลาวสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง ใบลานตอนต้นๆ ของหนังสือผูกขาดหายไปสองสามใบ ซึ่งตามใบดัชนี หรือจดหมายเหตุระบุไว้ว่า ได้จากแขวงเชียงขวาง เมื่อครั้งไปปราบศึกฮ่อ (ประมาณปี 2430) ข้าพเจ้าจึงได้ชำระออกมาเป็นอักษรไทยตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2486 โดยความสนับสนุนจากสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ เพื่อแจกในงานปลงพระศพเจ้าคุณศาสนดิลกผู้เป็นอาจารย์เมื่อครั้งเล่าเรียนอยู่ที่เมืองอุบล ช่วงระยะเดียวกันนี้ ข้าพเจ้าได้ตรวจชำระหนังสือเรื่องพระเวสสันดรชาดกที่เป็นร่ายยาว และอุรังคนิทาน (นิทานพระธาตุพนม) โดยแต่งออกเป็นกลอนลำมอบให้โรงพิมพ์ ส.ธรรมภักดี พิมพ์จำหน่าย” มหาสิลากล่าว  เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง เจ้าเพชรราชได้ตั้งรัฐบาลลาวอิสระขึ้น และมหาสิลาก็ได้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการ และได้มีส่วนร่วมในการออกแบบธงชาติลาวในรัฐบาลลาวอิสระซึ่งใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน (Thailand and Indochina 1945‒1950) แต่รัฐบาลลาวอิสระตั้งอยู่ได้ไม่นานก็ถูกฝรั่งเศสกลับเข้ามายึดครองอีกรอบ มหาสิลาจึงลี้ภัยมาอยู่หนองคาย และลองเล่นการเมืองในฝั่งไทยบ้างแต่ไม่ได้รับเลือก (การเลือกตั้งปี 2489)  ต่อมาในปี 2490 ลาวได้รับอิสรภาพ มีการจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรขึ้น ขณะที่ปีต่อมา ฝั่งไทยมีการกวาดล้างนักการเมืองอีสานหัวก้าวหน้าที่มหาสิลาสนิทสนม (เตียง ศิริขันธ์, ฟอง สิทธิธรรม, ทองอิน ภูริพัฒน์ และจำลอง ดาวเรือง) มหาสิลาไหวตัวทันจึงหนีไปฝั่งลาว และหันไปทำงานกับสภาผู้แทนราษฎรลาว ก่อนได้มาทำงานด้านวรรณคดีกับกระทรวงศึกษา และเป็นเลขานุการคณะกรรมการวรรณคดีเรื่อยมา แม้จะเกษียณอายุแล้วก็ยังได้รับตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิเศษของกระทรวงศึกษาเรื่อยมา ก่อนเสียชีวิตในปี 2530 ช่วงทำงานกับกระทรวงศึกษาลาว มหาสิลาได้เขียนงานชิ้นสำคัญคือ "พงศาวดารลาว" ขึ้น เผยแพร่เมื่อปี 2500 นับเป็นงานประวัติศาสตร์ลาวโดยคนลาวชิ้นแรกซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในยุคที่ลาวเพิ่งจะตั้งต้นเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ โดยการเล่าเรื่องได้ให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่องราวการกู้เอกราชของเจ้าอนุวงศ์เป็นอย่างมาก เพื่อโต้โครงเรื่องตามสำนวนไทยที่กำหนดให้เจ้าอนุวงศ์เป็นตัวร้าย โดยยกให้พระองค์เป็นวีรบุรุษของชาวลาว เฉกเช่นเดียวกับพระนเรศวรแห่งราชอาณาจักรอยุธยา  ขณะเดียวกันวิธีการเล่าเรื่องของมหาสิลาก็ได้รับอิทธิพลการเล่าประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมที่ได้รับผ่านไทยอีกชั้นหนึ่ง ตัวเอกสารอ้างอิงที่ใช้ในการเรียบเรียงก็มาจากฝั่งไทยเป็นจำนวนมาก มีความพยายามกำหนดอัตลักษณ์ของคนลาวในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้เด่นชัด ขับเน้นความรักชาติและสามัคคีเป็นสำคัญ (แม้จะมีจุดบกพร่องและคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ซึ่งอาจเป็นด้วยข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงข้อมูล หรือด้วยกรอบความคิด หรืออุดมการณ์ทางการเมือง) ทำให้งานของมหาสิลาเป็นแรงบันดาลใจให้กับปัญญาชนรุ่นหลังในการต่อสู้กับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากภายนอก