ณฤทัย ตันสุขเกษม: อดีตไอดอลกับแคมเปญต่อต้านการมองคนเป็นวัตถุทางเพศ

ณฤทัย ตันสุขเกษม: อดีตไอดอลกับแคมเปญต่อต้านการมองคนเป็นวัตถุทางเพศ
“อิคิไกของไหมคือ การสร้างสื่อสร้างสรรค์ด้วยดนตรีและธุรกิจบันเทิงค่ะ เราอยากเอาเรื่องที่เรียนมาใช้ประโยชน์กับสังคม เราเลยหาว่าเรามีคุณค่าอะไร แล้วใครมีสิทธิ์ตัดสินคุณค่าเรา สุดท้ายคุณค่าของเราก็คือตัวเราเอง ดังนั้นอิคิไกของไหมคือ การสร้างคุณค่าให้กับตัวเองและกับสังคม" นี่คือคำอธิบายถึงคุณค่าหรือความหมายของการมีชีวิตอยู่ หรือที่เรียกว่า อิคิไก ของ ไหม-ณฤทัย ตันสุขเกษม นักศึกษาปี 3 คณะดุริยางคศาสตร์ สาขาวิชาธุรกิจดนตรีและบันเทิง มหาวิทยาลัยศิลปากร ในวัย 20 ปี ที่บอกเล่าเป้าหมายชีวิตผ่านประสบการณ์การเป็นอดีตกัปตันวงไอดอลชื่อดัง การก่อตั้งเพจ IKIGAI และจัดทำนิทรรศการ Girls, Not Objects เพื่อสื่อสารให้ผู้คนตระหนักว่า เราต่างเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำในประเด็น Sexual Objectification (การมองคนเป็นวัตถุทางเพศ) กันทั้งนั้น ย้อนไปเมื่อ 7 ปีก่อน ไหมในวัยเพียง 13 ปี มีโอกาสได้เริ่มทำตามความฝันในวัยเด็กจากความชอบด้านดนตรี กับการเป็นกัปตันไอดอลวง Siamese Kittenz วงไอดอลวงแรกของไทยในยุคบุกเบิกจากค่าย Kelba Music ที่แบกรับความหวังและความรับผิดชอบในการดูแลน้อง ๆ อีก 6 คนภายในวง ณฤทัย ตันสุขเกษม: อดีตไอดอลกับแคมเปญต่อต้านการมองคนเป็นวัตถุทางเพศ “ไหมว่ามันเป็นความฝันของเด็กหลาย ๆ คนที่อยากเป็นศิลปิน เพราะว่าสื่อมีอิทธิพลกับเรามาก พอเปิดทีวีมา เราก็เจอดารา เจอศิลปินก่อน ยิ่งเราเคยเป็นนักแสดงของโรงเรียนด้วย เลยรู้สึกว่าอันนี้คือความสุขของเรา จนมีผู้ใหญ่เขาทาบทามว่า เขากำลังจะทำวงไอดอล เราเลยตัดสินใจไม่ปรึกษาใครตอนอายุ 11 เซ็นสัญญา แล้วก็ฝึกเลย” หน้าที่ในตอนนั้นกับบทบาทหัวหน้าวงคือ การจัดตารางน้อง ๆ ทุกคน ส่งตารางซ้อมให้ครู และประสานงานกับทีม ซึ่งถือว่าไม่ง่ายสำหรับคนวัยมัธยมฯ ต้น ก่อนจะใช้เวลาฝึกฝนอีก 2 ปี เริ่มต้นจากพื้นฐานจนเดบิวต์เป็นไอดอลเต็มตัว แน่นอนว่าเบื้องหน้าสปอตไลท์บนเวที สิ่งที่แฟนคลับมองเห็นคือรอยยิ้ม แรงบันดาลใจ และการแสดงดนตรีที่สดใส ส่งมอบพลังให้ผู้ชม ทว่าข้างหลังม่านไปไม่ไกล ไหมและสมาชิกวงกลับต้องเจอความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่มาในรูปแบบของข้อความคุกคามทางเพศมากมายในเว็บไซต์แฟนคลับไอดอลใต้ดิน “เราไปเสิร์ชในอินเทอร์เน็ตเจอประเด็นพูดกับเราแบบ Sexual Harassment เต็มไปหมด ด้วยความที่เรียนโรงเรียนหญิงล้วนมาตลอด เราไม่รู้เรื่องอะไรพวกนี้เลย พอไม่เข้าใจก็ไปเสิร์ชในเน็ตเพิ่ม มันหนักกว่าเดิมอีก เพราะภาพในเน็ตมันค่อนข้างแรง เราก็แบบ เฮ้ย...มันคือเรื่องนี้เหรอ เราแค่รู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัย แต่ไม่รู้ว่ามันเรียกว่า Cyberbully หรือ Sexual Harassment เลยเลือกที่จะคุยกันในวง ไม่แสดงออกด้วยกรอบของไอดอลที่ต้องยิ้มไว้ก่อน ไม่บอกคนข้างนอก เดี๋ยวเขาจะเป็นห่วงหรือเปล่า แต่ความเป็นจริงแล้ว เรากลับมาคิดว่า คนที่เราคิดว่าเขาเป็นห่วงอาจจะเป็นคนทำเรื่องพวกนี้ด้วย ตอนนั้นมันเจ็บปวดแบบที่เด็กคนหนึ่งไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวฉัน ฉันผิดหรือ” เมื่อเวลาผ่านไปจากวันนั้น การประกาศยุบวงในปี พ.ศ. 2561 ทำให้ไหมต้องจบบทบาทการเป็นไอดอล และเริ่มก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในเวลาเดียวกัน ด้วยความตั้งใจที่อยากเรียนสายบันเทิง เธอตัดสินใจเลือกสาขาวิชาธุรกิจดนตรีและบันเทิงที่ได้เรียนรู้ทั้ง 2 ศาสตร์อย่างศิลปะดนตรีและธุรกิจไปพร้อม ๆ กัน เป็นการต่อยอดความสนใจจากประสบการณ์เดิมที่เคยผ่านมา “เราเห็นว่ามันเป็นธุรกิจมากขึ้น เมื่อก่อนตอนเป็นไอดอล เราคิดว่ามันมีแต่เรื่องความฝัน ให้เด็กได้ทำตามความฝัน ไม่สนใจเรื่องเงิน แค่ได้เป็นแรงบันดาลใจคือสมบูรณ์แล้ว แต่พอมาเรียนในธุรกิจนี้ มันเห็นภาพว่าทุกอย่างมันถูกวางแพลนมาหมดแล้ว เด็กคนนี้จะต้องมีคาแรคเตอร์แบบนี้เพื่อให้โตเป็นแบบนี้ มันคือธุรกิจ ซึ่งเป็นธุรกิจที่น่าหลงใหลมาก ไม่ใช่ความฝันแบบตอนเด็ก ๆ แล้ว” นอกจากการเห็นภาพธุรกิจของวงการไอดอลชัดขึ้นผ่านการเรียนและการวิเคราะห์แล้ว ไหมยังได้กลับมาทำงานเบื้องหลังวงไอดอล ดูแลศิลปินวงต่าง ๆ และเป็นสตาฟฟ์อยู่ในแวดวงเดิมอีกครั้ง “ได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่ ๆ น้อง ๆ ในวงการ เราค้นพบว่า เรายังอยู่ในเว็บไซต์ใต้ดินนั้นอยู่ โอ้โฮ! ครั้งแรกที่กดเข้าไปอันดับหนึ่งเลยค่ะ ตกใจมาก เพราะเราออกมาแล้วแต่ยังขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งในการพูดเรื่องพวกนี้ อ๋อ! มันเป็นเพราะว่าเรากลับเข้าไปอยู่ในวงการ ด้วยภาพลักษณ์ที่โตขึ้น เขาก็เริ่มพูดกันแรงขึ้น จนถึงจุดที่เราไม่ไหว เราเลยออกมาพูดประเด็นเรื่องนี้ให้ชัดไปเลย ไม่ใช่แค่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งมาพูดแล้วจบไป แต่ทำให้มันมีอิมแพกต์" จึงเกิดเป็นเพจ IKIGAI Music and Entertainment for Social and Environment ที่เธอได้รวมตัวกับรุ่นพี่ในศิลปากรก่อตั้งขึ้น และมองหาแนวทางในการสื่อสารประเด็นต่อต้านการปฏิบัติต่อผู้หญิงเสมือนวัตถุทางเพศ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการสื่อสารปัญหาสังคมให้ไม่น่าเบื่อและทำให้คนได้ตระหนักถึงปัญหาจริง ๆ จนเกิดเป็นนิทรรศการ ‘Girls, Not Objects’ ร่วมกับ Mu Studio ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ UN Women เปิดพื้นที่ให้ไอดอลในวงการได้พูดถึงปัญหาใต้พรมผ่านภาพถ่ายในวันที่ 16-17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 จัดขึ้น ณ Joyman Gallery ณฤทัย ตันสุขเกษม: อดีตไอดอลกับแคมเปญต่อต้านการมองคนเป็นวัตถุทางเพศ “ตอนแรกคือเราอยากสื่อสารให้คนที่กระทำกับเรา คนในเว็บไซต์นั้น เลยทำงานนี้เพื่อตอบโต้กับแฟนคลับ แต่พอทำไปเรื่อย ๆ กลายเป็นว่าการตอบโต้เริ่มกว้างขึ้น เราอยากให้สังคมตระหนักรู้เรื่องวัตถุทางเพศมากขึ้น เพราะเราไปถามไอดอล บางคนก็ไม่รู้ว่าการมองคนเป็น object คืออะไร เราเลยอยากแนะนำไอดอลให้รู้คุณค่าและสิทธิของตัวเอง และบอกแฟนคลับว่า คุณไม่ควรทำแบบนี้” แนวคิดการออกแบบถูกนำมาใช้ในนิทรรศการอย่างเต็มที่ ทั้งการใช้ Photo set ที่ล้อไปกับการขายภาพถ่ายของไอดอล การใช้สัญลักษณ์ในภาพถ่าย เช่น แจกันหรือแว่นขยาย แสดงถึงการถูกตัดสินด้วยรูปลักษณ์ภายนอกแบบ ‘พิมพ์นิยม’ รวมถึงการสร้าง Closed Group ของงานในเฟซบุ๊ก โดยให้ผู้เข้าร่วมตอบคำถามว่า คุณเคยมองคนเป็นวัตถุไหม เคยโดนมองเป็นวัตถุเองไหม และการมองคนเป็นวัตถุคืออะไรก่อนเข้าร่วมงานเพื่อสร้างการตระหนักกับประเด็นภายในงานให้คนได้ตีความของภาพด้วยตนเอง นอกจากนี้ประเด็นความย้อนแย้งของการขาย Photo set ที่นับเป็นวัตถุ เพื่อสื่อสารเรื่องการมองคนเป็นวัตถุก็เป็นจุดกระตุ้นให้ผู้ซื้อตั้งคำถามว่า ปกติแล้วคุณซื้อภาพถ่ายเพื่ออะไร ใช่การสนับสนุนศิลปินจริง ๆ หรือเปล่า “เรารู้สึกว่าศิลปะมันถ่ายทอดได้เยอะกว่าการพูดเฉย ๆ บางทีเด็กไม่ได้ต้องการการกรอกหูเหมือนแต่ก่อนแล้ว ภาพถ่ายหรืองานศิลปะทำให้เราได้คิดเอง ตระหนักเอง เหมือนการฟังเพลง มันคือการได้ตีความที่ไม่น่าเบื่อแบบเมื่อก่อน เป็นปัจจัยของพฤติกรรมคนที่ต้องรับรู้ก่อน อาจจะเป็นภาพเล็ก ๆ แต่ถ้ามันทำให้เขาสนใจได้ ยังไงเขาก็อ่านต่อ” ไหมเล่าถึงแนวคิดการสื่อสารไปถึงกลุ่มเป้าหมาย เมื่อเทคโนโลยีและโลกออนไลน์แทรกซึมสู่ทุกซอกซอยของชีวิตประจำวัน ไม่เพียงเท่านั้น เบื้องหลังงานนิทรรศการยังมีปัญหาที่ทีมต้องเจอ โดยเฉพาะการถอนตัวของไอดอล เนื่องจากทางค่ายไม่อนุญาต หรือการตัดสินใจส่วนตัว เพราะอาจกลัวผลตอบรับที่จะตามมา ทำให้ไหมต้องเผชิญความกลัวในการกลับสู่เบื้องหน้าเพื่อแสดงงานในฐานะไอดอลอีกครั้ง ไม่ใช่คนจัดงานเพียงอย่างเดียว “เรารู้สึกว่า แค่เราเอาตัวเองกลับเข้าไปในโลกนั้น มันก็มากพอแล้วค่ะ เราไม่จำเป็นต้องมีภาพในแกลเลอรีเพื่อให้คนพูดถึง มันคือความกลัว เวลาใครเริ่มพูดถึงเว็บไซต์นั้น เราตั้งใจทำรณรงค์ แต่ตอนแรก ๆ เราไม่พูดเรื่องของเราเลยนะ จนพี่ ๆ เขาให้ใจเรามาก ๆ เราเลยเริ่มพูดมากขึ้น จนเดือนท้าย ๆ ที่ศิลปินถอนตัวออกเรื่อย ๆ ไหมเลยตัดสินใจว่า งั้นไหมพูดบ้างดีกว่า" ระยะเวลา 8 ปีที่วงการไอดอลเติบโตด้วยวงใหม่ ๆ ที่ผุดขึ้นมากมาย เทียบเท่ากับเวลาที่ไหมได้เห็นภาพวงการมุมที่กว้างและชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะการเอาชนะความท้าทายและความกลัวของตัวเองทำให้ผลลัพธ์ของงานออกมาอย่างชัดเจน เรื่องเล่าอีกมุมทำให้แฟนคลับเข้าใจและร้องไห้เมื่อรับรู้สิ่งที่ไอดอลเจอ หรือไอดอลที่ได้แสดงออกในสิ่งที่ไม่เคยกล้าพูดก็ทำให้เธอได้เรียนรู้ และกล้าที่จะใช้สิทธิของตัวเองมากยิ่งขึ้นโดยไม่ปล่อยผ่านปัญหาเหมือนที่เคย ณฤทัย ตันสุขเกษม: อดีตไอดอลกับแคมเปญต่อต้านการมองคนเป็นวัตถุทางเพศ “เพราะว่าพี่ ๆ ในศิลปากรนี่แหละค่ะ ที่ทำให้ไหมกล้าลุกขึ้นมารณรงค์และพูดเรื่องนี้ พี่ศิลปากรบอกว่า ถ้าน้องไหมอยากพูดเรื่องนี้ พี่ก็จะซัพพอร์ตแล้วหาทีมมา ทำให้เรามีความสามารถในการจัดการ รวมคน 18 คนมาสัมภาษณ์ มันทำให้งานอีเวนต์นี้ออกมาได้รอบด้านมากขึ้น” เมื่อถามถึงก้าวต่อไป ไหมเล่าให้ฟังว่า IKIGAI อยากพูดถึง 17 ปัญหาสังคมที่สอดคล้องกับ SDGs (Sustainable Development Goals - เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน) ของสหประชาชาติ เพื่อยืนหยัดที่จะสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ โดยไม่จำกัดเพียงแค่เรื่องการคุกคามทางเพศอีกต่อไป และนี่คือเป้าหมายในอนาคตของเธอ “ในอนาคตไหมอยากเป็น AR (Artist Relations) หรือผู้ดูแลศิลปินค่ะ เพราะเราชอบด้านนี้ และเรารู้สึกว่าผู้จัดการศิลปินมีอิทธิพลต่อตัวศิลปินมาก และศิลปินก็ส่งผ่านไปถึงแฟนคลับ ถ้าเราดูแลศิลปินให้ดีได้ เราก็เชื่อว่ามันจะส่งผลดีต่อไปเรื่อย ๆ ทำให้แฟนคลับมองวงการนี้ในด้านดีมากขึ้น และยังอยากทำงานรณรงค์ต่อไปเรื่อย ๆ”   เรื่อง : สิทธรัตน์ วนธรรมพงศ์