มาลาลา ยูซัฟไซ: เด็กสาวมุสลิมที่เรียกร้องความเท่าเทียมจนโดนยิงศีรษะ

มาลาลา ยูซัฟไซ: เด็กสาวมุสลิมที่เรียกร้องความเท่าเทียมจนโดนยิงศีรษะ

“เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2012 ฉันถูกกลุ่มตาลีบันยิงที่ศีรษะข้างซ้าย และคิดว่ากระสุนจะทำให้พวกเราเงียบได้

แต่พวกเขาล้มเหลว เความอ่อนแอ ความกลัว ความสิ้นหวังได้ตายไปพร้อมกระสุนนัดนั้นแล้ว”

ช่วงชีวิตวัยเด็กของคนส่วนใหญ่เติบโตมากับครอบครัวที่อบอุ่น อยู่ในสภาพสังคมที่ดี วันธรรมดาไปเรียนหนังสือ กลับบ้านมาอ่านการ์ตูน ดูหนัง ใช้ชีวิตวัยเด็กเหมือนคนอื่น ๆ ทั่วไป แต่ในเวลาเดียวกัน หลายพื้นที่บนโลกยังคงมีเด็กอีกจำนวนมากที่เติบโตมาพร้อมกับความรุนแรง ถูกห้ามไม่ให้ไปโรงเรียน โดนยัดเยียดคำสอนโดยไม่ถามพวกเขาสักคำว่าจริง ๆ แล้วต้องการอะไร เหมือนกับเด็กสาวชาวปากีสถานคนหนึ่ง เธอรู้สึกไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้ใหญ่บางกลุ่มจึงลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยวิธีสันติ จนทำให้ตัวเองต้องถูกยิง มาลาลา ยูซัฟไซ (Malala Yousafzai) เป็นเด็กสาวที่เติบโตมากับครอบครัวชนชั้นกลางที่ทำธุรกิจดูแลสถานศึกษาเอกชน แรกเริ่มเด็กสาวฝันอยากเป็นหมอ แต่พอได้ฟังมุมมองของพ่อที่คลุกคลีกับเด็ก ๆ เห็นมุมมองใหม่ ๆ จากคนรุ่นเดียวกัน หลายคนไม่ได้เรียนหนังสือ เด็กบางคนถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง เด็กผู้ชายหลายคนต้องแบกรับความคาดหวังของผู้ใหญ่ ทั้งหมดมีส่วนทำให้เด็กสาวเข้าใจความคิดของวัยรุ่นในชุมชนมากขึ้น เธอจึงเริ่มออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมและการศึกษา พร้อมกับการสนับสนุนจากครอบครัว พ่อของมาลาลามองว่าลูกสาวตัวเองสามารถก้าวสู่โลกการเมืองได้ แทบทุกคืนเมื่อถึงเวลาที่ต้องเข้านอน น้องชายจะเดินเข้าห้องไป ส่วนมาลาลานั่งถกประเด็นการเมืองกับพ่อจนดึกดื่น นอกจากพ่อที่คอยสนับสนุน เธอยังรับแรงบันดาลใจจากมูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ผู้แยกดินแดนฮินดูกับมุสลิม และ เบนาซีร์ บุตโต อดีตผู้นำหญิงปากีสถานที่แลกทั้งชีวิตเพื่อหวังเปลี่ยนแปลงสังคม จนสุดท้ายบิดาโดนตัดสินประหารชีวิต ส่วนเธอถูกมือระเบิดพลีชีพสังหารระหว่างหาเสียง    มาลาลา ยูซัฟไซ: เด็กสาวมุสลิมที่เรียกร้องความเท่าเทียมจนโดนยิงศีรษะ การแสดงเจตจำนงของมาลาลาเริ่มต้นด้วยประเด็นสิทธิการศึกษา ในปี 2008 เธอกับพ่อเดินทางไปยังชมรมสื่อวิทยุท้องถิ่น ประกาศกร้าวว่า “ตาลีบันกล้าดียังไงถึงริบเอาการศึกษาขั้นพื้นฐานไปจากฉัน” ประโยคสั้น ๆ สามารถสร้างบางสิ่งให้กับสังคม เพราะใคร ๆ ต่างก็พูดถึงเรื่องของเด็กสาวที่กล้าออกมาด่าตาลีบัน ปีถัดมา มาลาลาเข้าร่วมโครงการเยาวชนปากีสถานเพื่อร่วมอภิปรายเกี่ยวกับสังคมปัจจุบัน หมั่นขึ้นเวทีปราศรัยเพื่อให้ผู้ฟังทุกคนระลึกได้ว่าชีวิตที่เป็นอยู่ไม่ใช่ชีวิตปกติสุข เราทุกคนสามารถมีชีวิตที่ดีกว่านี้ เราขาดการศึกษาที่ได้มาตรฐาน ขาดความเห็นอกเห็นใจ และขาดโอกาสได้ทำตามความต้องการของตัวเอง ชุมชนในหุบเขาสวัดของมาลาลาถูกปกครองด้วยกลุ่มตาลีบัน นำโดย มัวลานา ฟาสลูลลาห์ (Maulana Fazlullah) พวกเขาเข้าควบคุมชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างเบ็ดเสร็จ สอนกฎหมายอิสลามผ่านคลื่นวิทยุกระจายเสียงของหมู่บ้าน ระเบิดโรงเรียนหลายแห่ง แต่ละคืนวันผ่านไปพร้อมกับเสียงระเบิดและเสียงปืน หลายบ้านถูกปล้น ส่วนตำรวจที่ต่อต้านจะถูกฆ่า แล้วนำร่างมาวางไว้กลางเมืองเพื่อข่มขู่ประชาชน ช่วงต้นปี 2009 เว็บไซต์ BBC Urdu พยายามต่อต้านอำนาจตาลีบันที่ครอบงำหลายเมืองในปากีสถาน ทีมงานเลยตัดสินใจขอให้เด็ก ๆ ช่วยเขียนบล็อกเล่าเรื่องราวของตัวเองว่าแต่ละวันเป็นอย่างไรบ้าง พวกเขามีชีวิตที่ดีหรือไม่เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แม้เด็กส่วนใหญ่อยากทำ แต่ครอบครัวพวกเขาไม่อนุญาตเพราะมองว่าอันตรายเกินไป พ่อของมาลาลาถามความต้องการของลูกสาวว่าอยากทำบล็อกไหม คำตอบของเด็กสาววัย 11 ปี คือยินดีเป็นอย่างยิ่ง เธอเขียนบล็อกให้กับ BBC เล่าชีวิตของตัวเองโดยใช้นามแฝงว่า กุลมาไค (GulMakai) แบ่งปันประสบการณ์การถูกกลุ่มก่อการร้ายคุกคามทุกย่างก้าว มาลาลา ยูซัฟไซ: เด็กสาวมุสลิมที่เรียกร้องความเท่าเทียมจนโดนยิงศีรษะ บล็อกของมาลาลาเล่าถึงการกดขี่ของกลุ่มตาลีบันอย่างหมดเปลือก เด็กผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้ไปโรงเรียน ห้ามอ่านเขียนหนังสือ ห้ามไปตลาด ต้องอยู่แต่บ้าน หากแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาดจะโดนทำร้าย ห้ามโทรทัศน์ท้องถิ่นฉายการ์ตูนเพลงแบบเด็กผู้หญิง ทุกคนต้องดูและฟังสิ่งที่ตาลีบันอยากให้ดูเท่านั้น พวกเขาจำกัดสิทธิเสรีภาพของทุกคน และผู้หญิงจะโดนตีกรอบมากกว่าผู้ชายด้วยเหตุผลไร้สาระว่า “ก็เพราะว่าเป็นผู้หญิง” ความจริงอันโหดร้ายที่ถูกเล่าทิ้งไว้บนอินเทอร์เน็ต รวมถึงการออกมาสัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์และวิทยุต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายสะเทือนใจผู้ฟัง ครั้งหนึ่งเธอเคยออกมาพูดในรายการวิทยุถึงปัญหาที่คนส่วนใหญ่ภายใต้การปกครองของตาลีบัน และมีคนฟังมากกว่า 25 ล้านคน แม้ภายหลังฟาสลูลลาห์จะยอมลงนามสัญญาสันติภาพกับรัฐบาล ยอมให้เด็กผู้หญิงกลับไปโรงเรียนอีกครั้ง แต่ทุกคนในชุมชนต่างรู้ว่าความสงบสุขที่ฟาสลูลลาห์กับตาลีบันคืนมาเป็นแค่ความสงบจอมปลอมเท่านั้น บล็อกที่อัปเดตชีวิตของมาลาลาทำให้สื่อใหญ่อยากรู้จักเธอมากขึ้น The New York Times ถึงกับลงไปยังพื้นที่สีแดงเพื่อถ่ายสารคดี ช่วงนั้นกลุ่มก่อการร้ายปะทะกับกองทัพปากีสถานอีกครั้งหลังลงนามร่วมกันได้ไม่นาน ความดุเดือดท่ามกลางสมรภูมิรบของจริง ประกอบกับชีวิตของเด็กผู้หญิงที่พยายามทำทุกอย่างให้ชีวิตตัวเองและคนในชุมชนดีขึ้น ถูกตีแผ่ไปทั่วโลกจนเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง หลังการปะทะกันของกองทัพปากีสถานกับตาลีบันในชุมชนจบลงด้วยชัยชนะของรัฐบาล มาลาลากับครอบครัวอื่น ๆ ที่ต้องหนีตายและพลัดหลงกับครอบครัวได้กลับมายังบ้านหลังเก่าอีกครั้ง แม้ความสงบสุขกลับคืนสู่ชุมชน มาลาลามองว่านี่เป็นแค่ความสุขชั่วคราว เธอจะเดินหน้าเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมต่อไป จึงตัดสินใจรับตำแหน่งประธานสภาเด็กแห่งเขตสวัด (District Child Assembly Swat) เพื่อเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องสิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เยาวชนทุกคน

“ฉันมีความฝันใหม่

ฉันต้องเป็นนักการเมืองเพื่อช่วยเหลือประเทศนี้

บ้านของเรามีวิกฤตการณ์มากมาย และฉันอยากทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไปจากสังคม”

มาลาลายังคงใช้ชีวิตเหมือนเด็กผู้หญิงคนอื่น ๆ ไปโรงเรียน เล่นกับเพื่อน อยู่กับพ่อแม่ แวะเวียนไปปราศรัยตามคลื่นวิทยุ จนวันที่ 9 ตุลาคม 2012 ขณะอยู่บนรถบัสของโรงเรียน มีกลุ่มชายฉกรรจ์ติดอาวุธบุกขึ้นรถเพื่อจัดการมาลาลา เธอโดนยิงเข้าที่ศีรษะ เพื่อน ๆ หลายคนถูกยิงด้วย พวกเขาไม่สนใจว่าเป้าหมายเป็นแค่เด็ก มาลาลาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดด้วยอาการโคม่า ทีมแพทย์พยายามประคองอาการอยู่หลายวัน เด็กสาวหมดสติแถมยังอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง หลังรักษาตัวราวหนึ่งสัปดาห์จนฟื้นจากอาการโคม่า ทีมแพทย์และพ่อแม่มองว่าการไปรักษาที่ต่างประเทศจะทำให้มาลาลาฟื้นตัวเร็วขึ้น นอกจากนี้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าควรพาเธอไปให้ไกลจากตาลีบันมากที่สุด มาลาลาจึงถูกส่งตัวไปยังประเทศอังกฤษเพื่อรักษาตัว ยิ่งตาลีบันพยายามทำให้เธอเงียบ เสียงของเธอกลับดังขึ้นกว่าเก่า เรื่องราวการลอบสังหารทำให้ชื่อของ มาลาลา ยูซัฟไซ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว สื่อแทบทุกประเทศทำข่าวเด็กสาวที่โดนกลุ่มก่อการร้ายบุกยิงบนรถบัส หลายเจ้าขุดคุ้ยลึกลงไปอีกขั้น เพื่อหาเหตุผลว่าเพราะอะไรเด็กผู้หญิงคนหนึ่งถึงทำให้กลุ่มก่อการร้ายแค้นเคืองได้ขนาดนี้ มาลาลา ยูซัฟไซ: เด็กสาวมุสลิมที่เรียกร้องความเท่าเทียมจนโดนยิงศีรษะ การลอบยิงเด็กสาวอายุ 15 ปี ทำให้กลุ่มตาลีบันถูกประณามในระดับสากล กลุ่มสิทธิมนุษยชนและกลุ่มเฟมินิสต์ทั่วโลกออกมาประท้วงกลุ่มก่อการร้าย จนทำให้โฆษกตาลีบันออกมาแถลงว่าการลอบสังหารเกิดขึ้นเพราะเธอรับค่านิยมตะวันตกมากเกินไป การกระทำของเด็กผู้หญิงคนนี้จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน หลังออกมาแถลงเพื่อหวังให้สถานการณ์ดีขึ้น ผลกลับย่ำแย่กว่าเก่า กลุ่มติดอาวุธโดนสื่อกับชาวโลกประณามหนัก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรตาลีบันก็ไม่มีสิทธิยิงใคร นอกจากนี้ กลุ่มผู้นำศาสนาในปากีสถานกว่า 50 คน ยังออกมาวิจารณ์การกระทำของตาลีบันอย่างเผ็ดร้อนอีกด้วย ในเวลาไม่นาน มาลาลาสามารถฟื้นตัวจากเหตุรุนแรงที่เจอ กระสุนปืนและความรุนแรงไม่ทำให้เธอยอมแพ้หรือรู้สึกกลัว เด็กสาวยังคงเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมของทุกเพศต่อไป เรียกร้องการศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็กทุกคนในทุกพื้นที่ จนได้รับเชิญไปกล่าวสุนทรพจน์ในเวทีสหประชาชาติประจำปี 2012  

“หากฉันมีปืนอยู่ในมือ แล้วเขา (คนที่ยิงมาลาลา) อยู่ตรงหน้า ฉันก็จะไม่ยิงเขา

เพราะความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์คือสิ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากศาสนามูฮัมหมัด ผู้สอนเรื่องความเมตตา 

เช่นเดียวกับพระเยซูและพระพุทธเจ้า ฉันจะไม่ต่อต้านใคร

และมาที่นี่เพื่อหวังให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษา

ไม่เว้นแม้แต่ลูกหลานของตาลีบัน หรือกลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ”

– สุนทรพจน์ของมาลาลา ณ เวทีสมัชชาใหญ่ยูเอ็น

หลังจากชีวิตของมาลาลาผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มามากมาย กลายเป็นวัยรุ่นที่โด่งดังที่สุดในโลกประจำปี 2013 เป็นต้นแบบของคนรุ่นใหม่ที่พร้อมเปลี่ยนแปลงสังคม การกระทำของเธอกล้าหาญ ตรงไปตรงมา ทำให้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2014 มาลาลา ยูซัฟไซ วัย 17 ปี สามารถคว้ารางวัลสันติภาพร่วมกับ ไกลาศ สัตยาธี นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเด็กชาวอินเดียวัย 60 ปี ถือเป็นปีที่ได้รับความสนใจไม่น้อยเพราะมีผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาเดียวกันถึงสองคน แถมเธอยังเป็นชาวปากีสถานคนแรกที่ได้โนเบล และเป็นผู้ชนะรางวัลที่อายุน้อยที่สุด มาลาลา ยูซัฟไซ: เด็กสาวมุสลิมที่เรียกร้องความเท่าเทียมจนโดนยิงศีรษะ นอกจากรางวัลใหญ่อันทรงเกียรติอย่างโนเบลสันติภาพ มาลาลายังรับรางวัลต่าง ๆ มากมาย อาทิ รางวัลสิทธิมนุษยชนเพื่ออิสรภาพของสตรีนานาชาติ รับเหรียญแห่งเกียรติยศ ลิเบอร์ตี้ เมดัล นอกจากนี้ยังได้รับสัญชาติแคนาดา พร้อมกับขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในสภาแคนาดา กลายเป็นหนึ่งในสตรีที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลก แม้ ‘มาลาลา’ มีความหมายว่า ‘ความเศร้าโศกเสียใจ’ แต่เธอไม่เคยเสียใจหรือผิดหวังกับชีวิตของตัวเอง ยังคงต่อสู้เพื่อสิทธิของทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือเพศไหน ๆ เพราะทุกคนสมควรได้รับการศึกษาที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยไม่ต้องถูกแบ่งแยกด้วยเพศ ชาติพันธุ์ หรือศาสนา   ที่มา https://www.bbc.com/news/world-asia-23241937 https://www.britannica.com/biography/Malala-Yousafzai https://www.biography.com/activist/malala-yousafzaib https://www.nobelprize.org/prizes/peace/2014/yousafzai/facts/ https://www.malala.org/malalas-story   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์