มามี ทิล ม็อบลีย์ แม่ที่สู้เพื่อลูกผู้ถูกฆ่าอย่างทารุณเพียงเพราะ “ผิวปาก” 

มามี ทิล ม็อบลีย์ แม่ที่สู้เพื่อลูกผู้ถูกฆ่าอย่างทารุณเพียงเพราะ “ผิวปาก” 
"ฉันมองดั้งของลูก มันเหมือนถูกสับด้วยมีดอีโต้ ฉันมองที่ฟันของเขา เพราะฉันชื่นชมฟันของเขามาก ฟันของเขาสวยที่สุดเท่าที่ฉันเคยเห็น แต่ฉันเห็นฟันเหลืออยู่แค่สองซี่ ที่เหลือหายไปไหน? มันถูกทุบออกหมด เมื่อฉันมองที่หูฉันเห็นรูแถว ๆ นี้ (ชี้ไปที่ขมับ) แล้วฉันสามารถมองเห็นแสงอาทิตย์ส่องมาจากอีกข้าง ฉันได้แต่คิดว่า มันจำเป็นที่จะต้องยิงเขาด้วยเหรอ?"  มามี ทิล ม็อบลีย์ (Mamie Till Mobley) แม่ของ เอ็มเม็ตต์ ทิล (Emmett Till) เด็กวัย 14 ปี ที่ถูกลักพาตัว ทารุณกรรม และฆาตกรรมโดยคนผิวขาว กล่าวถึงสภาพศพลูกชายในการให้สัมภาษณ์ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตไม่นาน (60 Minutes เอ็มเม็ต ทิล เป็นเด็กหนุ่มขี้เล่นจากชิคาโก ปี 1955 เขาในวัย 14 ปี เดินทางไปเยี่ยมญาติที่มิสซิสซิปปี รัฐตอนใต้ที่การแบ่งแยกสีผิวยังรุนแรง แม้ว่าก่อนหน้านั้นหนึ่งปี ศาลฎีกาสหรัฐฯ จะเพิ่งมีคำพิพากษายืนยันว่า การแบ่งแยกสีผิวในโรงเรียนขัดต่อรัฐธรรมนูญ (Brown v. Board of Education of Topeka) ก่อนเดินทาง ม็อบลีย์ได้เตือนลูกชายก่อนแล้วว่า ให้ระวังเรื่องพฤติกรรมเพราะเอ็มเม็ตต์เป็นเด็กซุกซน ชอบทำตัวเป็นที่สนใจของคนรอบข้าง ซึ่งด้วยความเป็นคนดำพฤติกรรมแบบนั้นอาจทำให้คนใต้ขวาจัดรับไม่ได้ แต่เด็กก็คือเด็ก เอ็มเม็ตต์ไปถึงเมืองมันนี่ (Money) มิสซิสซิปปี วันที่ 21 สิงหาคม เขาก็เที่ยวเล่นกับลูกพี่ลูกน้องวัยไล่เลี่ยกันตามประสา แล้วในวันที่ 24 สิงหาคม พวกเขาเข้าร้านขายของชำของคนขาวเพื่อหาซื้อขนมกิน ร้านนี้เป็นของคู่สามีภรรยา รอย (Roy) และแคโรลิน ไบรอันต์ (Carolyn Bryant) ซึ่งปกติลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานผิวดำและลูกหลาน แต่ก่อนออกจากร้านเอ็มเม็ตต์ก็ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำเข้าด้วยการผิวปากใส่แม่ค้าสาวผิวขาว (แคโรลินอ้างว่า เอ็มเม็ตต์ กล่าวกับเธอว่า 'เดตกันมั้ยที่รัก?' แล้วก็จับเอวเธอและบอกกับเธอว่า เขาเคยมีอะไรกับผู้หญิงผิวขาวมาก่อน แต่ในปี 2007 เธอยอมรับว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจริง - The Guardian พฤติกรรมดังกล่าวทำให้แคโรลินไม่พอใจ เด็ก ๆ จึงรีบพากันกลับบ้านโดยไม่ได้คิดว่าจะมีปัญหาอะไรใหญ่โต แต่แล้วเช้ามืดวันที่ 28 สิงหาคม รอย ไบรอันต์ กับ เจ.ดับเบิลยู. ไมแลม น้องต่างพ่อ ก็บุกเข้าบ้านของโมเสส ไรต์ (Moses Wright) ญาติผู้ใหญ่ที่เอ็มเม็ตต์มาพักอยู่ด้วย และใช้ปืนข่มขู่ให้ส่งตัวเอ็มเม็ตต์ให้กับพวกเขา ไรต์อ้างว่า ในกลุ่มผู้ก่อเหตุมีผู้หญิงอยู่ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นแคโรลินที่มาชี้ตัวเอ็มเม็ตต์ ไรต์รีบไปแจ้งความว่า หลานตนถูกลักพาตัว ไบรอันต์ฝ่ายสามีและไมแลมถูกจับกุมในข้อหาลักพาตัว จนกระทั่งวันที่ 31 สิงหาคม มีการพบศพที่สภาพผ่านการทารุณกรรมอย่างร้ายแรงจนยากต่อการบ่งชี้อัตลักษณ์ลอยอยู่ในแม่น้ำทัลลาฮัตชี (Tallahatchie River) ซึ่งพบว่าฆาตกรพยายามอำพรางศพโดยใช้ลวดหนามพันคอผูกกับพัดลมเหล็กขนาดใหญ่ทิ้งให้จมอยู่ก้นแม่น้ำ ฝ่ายไรต์ยืนยันได้ว่าเป็นหลานของตนจากแหวนที่มีอักษรย่อของพ่อเอ็มเม็ตต์ เบื้องต้น นายอำเภอพยายามนำศพของเอ็มเม็ตต์ไปฝังและทำให้เรื่องเงียบหายไปโดยเร็วที่สุด แต่มามีไม่ยอมให้เรื่องจบลงง่าย ๆ เธอดิ้นรนนำศพลูกชายกลับมายังชิคาโก เรื่องราวการฆาตกรรมเอ็มเม็ตต์จึงกลายเป็นที่สนใจไปทั่วประเทศ และอีกหลายประเทศในฝั่งยุโรป  มามีจัดพิธีศพให้ลูกชายโดยเปิดฝาโลงไว้ตลอด เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้เห็นภาพความทารุณที่เกิดขึ้นกับลูกชาย สื่อผิวดำถ่ายภาพศพของเอ็มเม็ตต์ที่อยู่ในสภาพยับเยินไปเผยแพร่โดยไม่มีการปิดบังอำพราง ทำให้ผู้ที่พบเห็นได้แต่ตกตะลึงกับความโหดร้ายที่เกิดขึ้น แต่คดีนี้ก็เป็นเหมือนการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ ไบรอันต์กับไมแลมตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมทันที ในขณะที่ฝ่ายเหนือกดดันให้มีการลงโทษผู้กระทำความผิด ฝ่ายใต้กลับมีการเดินขบวนให้กำลังใจจำเลย แถมยังมีกลุ่มทนายความอาสามาว่าความให้แบบฟรี ๆ เมื่อรู้ว่า สองจำเลยไม่มีเงินจ้างทนายสู้คดี การรายงานข่าวท้องถิ่นยังไปเน้นย้ำรูปลักษณ์ที่ดูดีของจำเลย และชมแคโรลินว่าสวยเหมือน “มาริลิน มอนโร” แม้จะมีหลักฐานและพยานที่หนักแน่นว่า ไบรอันต์และไมแลมคือผู้กระทำความผิด มีประจักษ์พยานที่เห็นเอ็มเม็ตต์ถูกพาขึ้นรถกระบะไปยังโรงนา และได้ยินเสียงร้องและทุบตีจากโรงนาดังกล่าว และยืนยันว่า ผู้ถูกกล่าวหาเดินมาพร้อมปืนขนาด .45 เพื่อถามเขาว่า “ได้ยินเสียงอะไรมั้ย?” (ซึ่งแน่นอนว่า ณ ขณะนั้นเขาต้องบอกว่า “ไม่ได้ยิน”) แต่สุดท้าย คณะลูกขุนซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ชายผิวขาว ต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า จำเลย “บริสุทธิ์” หลังใช้เวลาหารือ 67 นาที โดยหนึ่งในลูกขุนบอกกับผู้สื่อข่าวว่า มันคงไม่นานขนาดนั้น ถ้าคณะไม่พักเบรกดื่มน้ำอัดลม และก่อนหน้าการลงมติของคณะลูกขุน ทนายจำเลยได้กล่าวคำแถลงปิดท้ายต่อคณะลูกขุนด้วยว่า ถ้าหากพวกเขาไม่ปล่อยให้สองจำเลยเป็นอิสระ "บรรพบุรุษของพวกคุณในหลุมศพคงไม่อาจรับได้ และผมเชื่อว่า เลือดแองโกล-แซกซอนในตัวพวกคุณทุกคนจะแสดงความกล้าหาญด้วยการปลดปล่อยจำเลยทั้งสองให้เป็นอิสระ" ไบรอันต์และไมแลม ซึ่งไม่ได้มีความกังวลแม้แต่น้อยในวันที่เข้าฟังคำวินิจฉัย เมื่อได้ยินผลการพิจารณาพวกเขาก็ฉลองการชนะคดีด้วยการกอดจูบภรรยาโชว์ต่อหน้าสื่อ  ที่น่าตกใจก็คือ เมื่อทั้งคู่ได้รับการคุ้มครองจากการพิจารณาคดีซ้ำ พวกเขายอมรับสารภาพกับสื่อ (Look) หลังได้ค่าตอบแทน 4,000 ดอลลาร์ว่า ทั้งคู่ฆ่าเอ็มเม็ตต์ตายจริงตามที่ถูกกล่าวหา และที่พวกเขาทำเป็นก็เพื่อเป็นการเชือดไก่ให้ลิง (คนดำ) ดู "ผมไม่ใช่พวกบูลลี่ ผมไม่เคยทำร้ายนิโกรมาก่อนในชีวิต แต่ตอนนั้นผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วล่ะที่จะต้องมีใครสักคนแสดงตัวอย่างให้เห็น...ผมพูดว่า 'ไอ้เด็กชิคาโก' กูทนไม่ไหวกับการที่พวกมึงแห่กันลงใต้มาสร้างปัญหา กูจะเอามึงเป็นตัวอย่างให้ทุกคนรู้ว่า กูกับพวกของกูมีจุดยืนยังไง" ไมแลมกล่าว คดีนี้แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในระบบยุติธรรมของสหรัฐฯ สื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างรุมประณามการพิจารณาคดีและการลงมติของคณะลูกขุน เจมส์ อีสต์แลนด์ วุฒิสมาชิกมิสซิสซิปปี จึงแก้เกมด้วยการปล่อยข่าวว่า หลุยส์ ทิล พ่อของเอ็มเม็ตต์ถูกกองทัพสหรัฐฯ สั่งประหารในอิตาลีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเขาก่อคดีข่มขืนและฆ่าหญิงท้องถิ่น เพื่อชี้นำสังคมให้เห็นว่า การฆ่าเอ็มเม็ตต์เป็นสิ่งที่สมควรแล้วเพื่อ “ตัดไฟแต่ต้นลม” (แต่เมื่อสำรวจหลักฐานและคำให้การของผู้เสียหายในคดีข่มขืนกลับพบว่า ผู้เสียหายเองยอมรับว่า เหตุเกิดในความมืดผู้ก่อเหตุปิดบังใบหน้าจนยากจะบอกได้ว่าเป็นใคร และพยานในคดีฆาตกรรมเบื้องต้นให้การว่า ผู้ก่อเหตุเป็น “คนขาว” ก่อนกลับคำให้การในภายหลัง แสดงให้เห็นว่า พ่อ-ลูก ตระกูลทิล น่าจะเป็นเหยื่อกระบวนการอยุติธรรมทั้งคู่ - The New York Times ฝ่ายม็อบลีย์ ตอนแรกที่เธอรู้ข่าวการเสียชีวิตของลูกชาย เธอรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ต้องการจะพบหน้าใคร ก่อนจะคิดได้ว่า สิ่งที่เธอจะสามารถทำได้ก็คือ เรียกร้องความเป็นธรรมคืนให้กับลูกชาย  แม้สภาพศพของลูกชายจะไม่น่าดู แต่เธอเลือกที่จะให้คนทั้งโลกได้เห็นถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้น เธอต่อสู้ให้มีการขุดศพของลูกชายเพื่อนำกลับมายังชิคาโก ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ยอมส่งโลงมาให้โดยปิดผนึกโลงด้วยหวังให้มีการฝังศพโดยทันที แต่มามีไม่ยอมทำตามประสงค์ เธอเปิดฝาโลงให้คนนับหมื่น ๆ คนที่เดินทางมาไว้อาลัยได้เห็นสภาพศพของเขา มันเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคมให้กับคนดำในยุค 1950s (ซึ่งเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของปฏิกิริยาลูกโซ่ ตามมาด้วยการนั่งในที่นั่งคนขาวบนรถประจำทางของโรซา ปาร์กส [Rosa Parks] ที่เกิดขึ้นในปลายปีเดียวกัน) “ให้โลกได้เห็นว่า ฉันเห็นอะไร” ม็อบลีย์กล่าวถึงการจัดพิธีโดยเผยให้เห็นสภาพศพของลูกชาย และยังให้ช่างภาพถ่ายภาพเพื่อนำไปเผยแพร่  "คนคงนึกภาพไม่ออกว่ามันเกิดอะไรขึ้น นอกเสียจากว่าพวกเขามีโอกาสได้เห็นผลจากการกระทำนั้น พวกเขาต้องได้เห็นในสิ่งที่ฉันเห็น คนทั้งชาติต้องเป็นประจักษ์พยาน" (The New York Times) แม้ภาพดังกล่าวจะไม่ปรากฏในสื่อกระแสหลัก แต่ก็มีนิตยสารของคนผิวดำบางฉบับนำไปเผยแพร่ ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมในกลุ่มคนดำอย่างรุนแรง มามีใช้ชีวิตที่เหลือในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกชาย เรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายจากส่วนกลางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฎกรรมแบบเดียวกัน และทำกิจกรรมต่อสู้เพื่อเด็ก ๆ ที่ยากจนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่จนถึงวันสุดท้ายในชีวิต เธอก็ไม่มีโอกาสได้เห็นการเอาผิดกับกลุ่มบุคคลที่ก่ออาชญากรรมกับลูกชายของเธอ แม้จะมีข่าวการรื้อคดีกลับขึ้นมาพิจารณาเป็นระยะเมื่อมีการพบเบาะแสใหม่ ๆ ที่ชี้ว่า ผู้ก่อเหตุอาจไม่ได้มีเพียงไบรอันต์และไมแลมเท่านั้น แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบไป ผ่านไปกว่า 65 ปี แม้สถานภาพของคนดำในสหรัฐฯจะดีขึ้น แต่ความอยุติธรรมทางสังคมต่อคนดำก็ยังคงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ คนดำยังได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของเจ้าหน้าที่บ่อยครั้ง โดยที่เจ้าหน้าที่แทบไม่ต้องรับผิด หรือรับผิดน้อยกว่าที่ควรจะเป็น การตายของทิลซึ่งเห็นได้ชัดว่า เป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชัง ก็ยังมีกลุ่มขวาจัดที่เห็นว่าเขาสมควรตายเช่นเดิม เห็นได้จากป้ายรำลึกการเสียชีวิตของเขาในมิสซิสซิปปีที่ถูกยิงจนพรุน และมีการเปลี่ยนป้ายอยู่หลายครั้ง จนล่าสุดเพิ่งมีการเปลี่ยนในปี 2019 (ป้ายที่สี่) โดยต้องหันมาใช้ป้ายเหล็กขนาดใหญ่ที่มีคุณสมบัติกันกระสุน "เรื่องราวของทิลยังไม่จบ มันยังเป็นประเด็นที่สร้างความแตกแยกมากทั้งในมิสซิสซิปปีและทั่วประเทศ" เดฟ เทล (Dave Tell) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคนซัสที่เขียนเรื่องของเอ็มเม็ตต์กล่าวกับ The New York Times