แมนฯ ยูไนเต็ด 1998/99 : ‘ทริปเปิลแชมป์’ กับหนึ่งในทีมที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร

แมนฯ ยูไนเต็ด 1998/99 : ‘ทริปเปิลแชมป์’ กับหนึ่งในทีมที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร
“I can’t believe it. I can’t believe it. Football. Bloody hell” นี่คือคำพูดของ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เฮดโค้ชของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หลังพาทีมพลิกนรกกลับมาชนะบาเยิร์น มิวนิค และกลายเป็นคำนิยามฤดูกาลสุดบ้าคลั่งของ ‘ปีศาจแดง’ ที่แม้ตอนจบคือความสำเร็จ แต่ระหว่างทางนั้นน่าสนใจไม่แพ้กัน และต่อจากนี้ไปคือทริปเปิลแชมป์ของ แมนฯ ยูไนเต็ต หนึ่งในเหตุการณ์ที่สุดยอดที่สุดในประวัติศาสตร์วงการกีฬา เท้าความไปฤดูกาลก่อนหน้านี้ 1997/98 เป็นฤดูกาลแรกในรอบ 8 ปีที่ลูกทีมของเฟอร์กูสัน ไม่มีถ้วยติดมือมาแม้แต่ถ้วยเดียว ในลีกพวกเขาจบอันดับ 2 เป็นรองอาร์เซนอล 1 คะแนน สาเหตุอาจเพราะมาจากการแขวนสตั๊ดของกัปตันทีมอย่าง เอริค คันโตนา ทำให้กุนซือชาวสกอตแลนด์เร่งเสริมทัพในช่วงต้นฤดูกาล 1998/99 อย่างหนักทั้งการดึงตัวดไวท์ ยอร์ค มาเสริมเกมรุก ส่วนเกมรับได้ยาป สตัม กับเยสเปอร์ บลอมควิสต์ เพื่อหวังที่จะให้แมนฯ​ ยูไนเต็ดกลับฝั่งมาไล่ล่าแชมป์อีกครั้ง

ต้นฤดูกาลแห่งความไม่ลงตัว

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เปิดหัวฤดูกาลได้อย่างน่าผิดหวังหลังพวกเขาแพ้อาร์เซนอลในรายการแชริตี้ ชิลด์ (คอมมูนิตี้ ชิลด์ ในปัจจุบัน) ขาดลอย 0 - 3 และจบด้วยการเก็บชัยชนะได้เพียงเกมเดียวในเดือนแรกของฤดูกาล ความไม่ลงตัวในช่วงต้นของฤดูกาลเกิดจากการลองผิดลองถูกในการจัดตัว จากแผนการเล่นของเฟอร์กูสัน เช่นการทดลองเล่นหน้าเป้าตัวเดียวในระบบ 4 - 5 - 1 หรือการปรับเปลี่ยนคู่กองหน้าไปเรื่อยระหว่างเท็ดดี เชอริงแฮม, โอเล กุนนาร์ โซลชาร์, แอนดี โคล และกองหน้าป้ายแดงอย่าง ดไวท์ ยอร์ค ในระบบ 4 - 4 - 2 เรียกได้ว่า 10 เกมแรกของฤดูกาล แมนฯ ยูไนเต็ดแทบจะปรับเปลี่ยนคู่กองหน้าทุกนัด

อาร์เซนอลคือศัตรูตัวฉกาจ

‘ปืนใหญ่’ ของอาร์แซน เวนเกอร์ คือคู่ปรับสำคัญของทั้ง ‘ปีศาจแดง’ และเฟอร์กูสัน ทั้งการเบียดแชมป์ลีกในฤดูกาลก่อน เปิดหัวเอาชนะในถ้วยการกุศลแบบขาดลอย และยังเป็นทีมเปิดซิงความพ่ายแพ้นัดแรกในลีกให้กับแมนฯ ยูไนเต็ด ในเกมลีกนัดที่ 6 ด้วยสกอร์เดิม 3 - 0 นอกจากนี้ในช่วงท้ายฤดูกาล แมนฯ ยูไนเต็ดกับอาร์เซนอล ยังได้เจอกันอีก 3 นัด แต่ทั้ง 3 นัด แมนฯ ยูไนเต็ดไม่สามารถชนะอาร์เซนอลได้เลย (นับเฉพาะ 90 นาที) เท่ากับว่า 5 นัดในฤดูกาล 1998/99 เฟอร์กูสันไม่สามารถเอาชนะเวนเกอร์ได้เลย

กรุ๊ป ออฟ เดธ ในแชมเปียนส์ลีก

หนึ่งขวากหนามที่ปีศาจแดงจะตัองเจอตั้งแต่ต้นฤดูกาลคือ ในฟุตบอลถ้วยยุโรปอย่าง ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก พวกเขาไปอยู่กรุ๊ป ออฟ เดธ ที่มีเพื่อนร่วมกลุ่มอย่าง บาเยิร์น มิวนิค, บาร์เซโลนา และบรอนด์บี้ แต่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจด้วยสถิติไม่แพ้ใครเลย (แม้ว่าจะชนะเพียง 2 นัดด้วยการถล่มบรอนด์บี้) จบด้วยอันดับ 2 ตามหลังบาเยิร์น มิวนิค และสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดขึ้นคือความเฉียบคม และความอันตรายในแผงเกมรุกของทีม หลังยิงประตูไปถึง 20 ประตู จาก 6 นัดในรอบแบ่งกลุ่ม

โคล-ยอร์ค คู่กองหน้าที่ดีที่สุดแห่งยุค

การดึงดไวท์ ยอร์ค จากแอสตัน วิลลา ในราคา 12 ล้านปอนด์ น่าจะไม่ใช่ตัวเลือกแรกของ ‘เฟอร์กี้’ ในการแก้ปัญหากองหน้าจากฤดูกาลก่อน เพราะก่อนหน้านั้นพวกเขามีข่าวกับกองหน้าระดับอย่างแพทริค ไคลเวิร์ต บวกความไม่ลงตัวในแดนหน้าช่วงต้นของฤดูกาล ทำให้ยังมีเครื่องหมายคำโต ๆ อยู่ว่ายอร์คจะเข้ามาแก้ปัญหาในแดนหน้าของทีมได้หรือไม่ หลังจากหายไปของคันโตนา ใน 10 เกมแรกของฤดูกาล แอนดี โคล และดไวท์ ยอร์ค ได้ลงสนามเป็นตัวจริงพร้อมกันเพียงนัดเดียวเท่านั้น และนัดนั้นจบด้วยผลเสมอกับเวสต์แฮมแบบไร้สกอร์ ก่อนที่ทั้งคู่จะได้ลงเป็นตัวจริงพร้อมกันอีกครั้ง (แต่ในระบบกองหน้า 3 คน) ในเกมที่ 12 ของฤดูกาลกับการเจอเซาแธมป์ตัน ทั้งคู่ซัดไปคนละหนึ่งประตู ซึ่งเป็นประตูแรกในฤดูกาลของโคล และเขายังทำแอสซิสต์แรกในฤดูกาลด้วยการส่งให้ยอร์คยิง แต่หลังจากนั้นการเขียนประวัติศาสตร์ก็เริ่มต้นขึ้น ทั้งคู่เริ่มจูนติด เข้าขากันมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นคู่กองหน้าที่ดีที่สุดคู่หนึ่งของยูไนเต็ด ของพรีเมียร์ลีก และของยุค ด้วยผลงานทำประตูให้กับทีมรวมกัน 57 ประตู 26 แอสซิสต์ ในฤดูกาลแรกที่พวกเขาเล่นด้วยกัน “ผมบอกได้ว่าสำหรับยอร์คและโคล ในฤดูกาลที่เราคว้าทริปเปิลแชมป์ พวกเขาสร้างความสุดยอดให้กับทีม ในแง่ของวิธีการที่พวกเขาเล่นร่วมกัน พวกเขาโดดเด่นที่สุดทั้งในลีกและในยุโรป” แกรี เนวิลล์

โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ ซูเปอร์ซับผู้มีโอกาสเท่ากับประตู

กองหน้าอีกหนึ่งคนที่สร้างชื่อในฤดูกาลนี้คือโอเล กุนนาร์ โซลชาร์ แม้ว่าจะเป็นฤดูกาลที่ 3 ของเจ้าตัวในสีเสื้อยูไนเต็ด แต่การลงสนามที่กองหน้าชาวนอร์เวย์มีนั้นไม่มากเท่าที่ควร ทั้งยังโดนความยอดเยี่ยมของโคล - ยอร์ค จนกระเด็นไปใช้เวลาอยู่บนม้านั่งสำรองเสียส่วนใหญ่ แต่การเป็นตัวสำรองกลับกลายเป็นอาวุธของเขา ในฐานะซูเปอร์ซับ โซลชาร์ถูกเปลี่ยนลงมาในช่วงท้ายเกม หรือช่วงที่ทีมตามหลังอยู่เสมอ และมักจบลงด้วยการที่เขาทำประตูได้ อย่างในเดือนมิถุนายน กับนอตทิงแฮม ฟอเรสต์ แม้ว่าเป็นเกมสบาย ๆ ด้วยการออกนำห่าง 4 - 1 ตั้งแต่นาทีที่ 66 แต่มหกรรมการแย่งซีนและสร้างตำนานก็เกิดขึ้นหลังจากโซลชาร์ได้โอกาสลงสนามในนาทีที่ 71 เขาใช้เวลา 9 นาทีในการยิงประตูแรกให้กับตัวเอง ประตูที่ 2 ตามมาในนาทีที่ 87 ประตูที่ 3 และ 4 ตามมาในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ โซลชาร์ใช้เวลาเพียง 14 นาทีในการยิง 4 ประตู และสร้างสถิติเป็นการเอาชนะในฐานะทีมเยือนห่างที่สุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก (ก่อนมาโดนเลสเตอร์ ซิตี้ทำลายในปี 2019) ส่วนในฤดูกาล 1998/99 โซลชาร์ลงสนาม 37 นัด มีเวลาอยู่ในสนามเฉลี่ยเพียง 18 นาทีต่อนัดเท่านั้น แต่เขายิงประตูได้ถึง 18 ประตู และทำไป 3 แอสซิสต์ ทำให้เขากลายเป็นมือปืนตัวสำรองที่ฝากความหวังเอาไว้ได้สำหรับเฟอร์กูสันในปีนั้น “สำหรับผมไม่มีหรอกการเซฟประตูที่ยอดเยี่ยม มีเพียงแต่การยิงที่ยอดแย่มากกว่า” โซลชาร์กล่าวเอาไว้ในรายการ MUTV ในปี 2018

ปาฏิหาริย์แรกจากไรอัน กิกส์

เฟอร์กี้ปรับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จนลงตัวด้วยระบบ 4 - 4 - 2 ฟอร์มการเล่นของพวกเขาก็ดีวันดีคืน หลังจากเดือนธันวาคมในลีกก็ยังไม่แพ้ใคร ส่วนแชมเปียนส์ลีก ก็ทะลุผ่านอินเตอร์ มิลาน เข้าสู่รอบรองชนะเลิศได้ แต่ในเอฟเอ คัพ หลังจากผ่านทั้งลิเวอร์พูลและเชลซี พวกเขาต้องเจอกับคู่ปรับเก่าอย่างอาร์เซนอลอีกครั้งในรอบรองชนะเลิศ ในเกมนั้นรอย คีน กัปตันทีมเป็นคนส่งบอลเข้าประตูไปแต่โดนจับล้ำหน้า (แม้ว่าภาพช้าจะโชว์ให้เห็นว่าไม่ล้ำ) ทำให้จบ 120 นาทีเสมอกันไปด้วยสกอร์ 0 - 0 ต้องไปแข่งนัดรีเพลย์ในอีก 3 วันต่อมา ในเกมนัดรีเพลย์ ยูไนเต็ดออกนำไปก่อนจากเดวิด เบ็คแฮมตั้งแต่ช่วงต้นเกม ก่อนจะมาโดนเดนนิส เบิร์กแคมป์ ตีเสมอ และดราม่าก็มาเกิดในช่วง 15 นาทีสุดท้าย รอย คีน โดนใบเหลืองที่สองไล่ออกจากสนาม ก่อนในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ฟิล เนวิลล์ทำเสียจุดโทษ เป็นเบิร์กแคมป์อาสาซัดประตูปิดกล่องจากสถิติยิงจุดโทษเข้า 100% ในสีเสื้อของปืนใหญ่ แต่ปีเตอร์ ชไมเคิล ปฏิเสธลูกยิงของเบิร์กแคมป์ไว้ได้ทำให้ ‘ปีศาจแดง’ ได้หายใจต่อในช่วงต่อเวลาพิเศษแม้ว่าจะเหลือผู้เล่น 10 คน “ผมไม่ได้ศึกษาวิธีการยิงของเขามาก่อน ที่ผมเซฟได้มาจากดวงล้วนๆ” ชไมเคิล ย้อนอดีตถึงจังหวะเซฟช่วยชีวิตปีศาจแดง และในช่วงต่อเวลา ‘พ่อมดแห่งเวลส์’ ไรอัน กิกส์ก็ได้ร่ายมนต์สร้างปาฏิหาริย์ให้กับทีมด้วยการโซโล่ลากบอลตั้งแต่ในแดนตัวเองผ่านนักเตะอาร์เซนอล 5 คน เป็นระยะทางกว่า 70 หลา เข้าไปยิงให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดออกนำ 2 - 1 กลายเป็นประตูชัยสู่รอบชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพ และกลายเป็นหนึ่งในประตูที่ดีที่สุดตลอดกาลของเอฟเอ คัพ “ใครจะไปคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดในเกมฟุตบอล คุณจะไม่สามารถลืมช่วงเวลาเหล่านี้ไปได้เลย เหล่าแฟนบอลของเรา ผู้เล่นของเราจะพูดถึงเหตุการณ์ต่อไปอีกนานหลายปี” เฮดโค้ชของยูไนเต็ด ให้สัมภาษณ์หลังเกม “ผมเอาชนะผู้เล่นของอาร์เซนอล 4 - 5 คนได้ ก่อนจะซัดบอลเสียบคาเข้าไป หลังจากนั้นผมทำท่าดีใจที่แย่ที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ผมถอดเสื้อออก และควงไปรอบ ๆ ลูก ๆ ของผมผิดหวังมาจนถึงทุกวันนี้ ผมขอว่าอย่าไปดูบนยูทูบเลย ดูแค่จังหวะยิงประตูแล้วกดหยุดซะ” ไรอัน กิกส์

ปาฏิหาริย์ที่สอง ณ อิตาลี

ในแชมเปียนส์ลีก รอบรองชนะเลิศ พวกเขายังต้องเจอยอดทีมจากอิตาลีอีกครั้งกับยูเวนตุส ที่มีผู้เล่นทั้ง อันโตนิโอ คอนเต, ดีดีเย เดช็อง, เอ็ดการ์ ดาวิดส์ และซีดาน เลกแรกที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ยูไนเต็ดได้ไรอัน กิกส์ ยิงประตูตีเสมอ 1 - 1 ในช่วงทดเจ็บนาทีที่ 2 ในนัดที่ 2 พวกเขายิ่งแย่หนักไปอีกจากการเสีย 2 ประตูรวดในช่วง 11 นาทีแรก หมายความว่าพวกเขาต้องยิง 3 ประตูในการเล่นเป็นทีมเยือนท่ามกลางแฟนบอลเกือบ 65,000 คน แน่นอนว่าส่วนใหญ่คือแฟนบอลยูเวนตุส แต่ในช่วงเวลาที่เหลืออีกเกือบ 80 นาทีอาจจะเรียกได้ว่าเป็นปาฏิหาริย์ที่สอง หรือเป็นคาแรคเตอร์ความไม่ยอมแพ้ที่อเล็กซ์ เฟอร์กูสันสร้างขึ้นมาภายในจิตใจของลูกทีม แมนฯ ยูไนเต็ด ได้คืน 2 ประตูก่อนจบครึ่งแรกจากคีนและยอร์ค ก่อนจะได้แอนดี โคลซัดประตูย้ำชัยในช่วงท้ายครึ่งหลัง พาแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทะลุเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ไปเจอกับบาเยิร์น มิวนิคอีกครั้ง และอยู่ในเส้นทางการลุ้น 3 แชมป์ แต่ความโชคร้ายคือรอย คีน และพอล สโคลส์ สองกองกลางที่เป็นหัวใจสำคัญของทีมโดนใบเหลืองในเกมนี้จนโดนโทษแบน ทำให้ในนัดชิงฯ ลงช่วยทีมไม่ได้ รอย คีน เปิดเผยว่าการไม่ได้ลงในเกมนัดชิงชนะเลิศปีนั้นเหมือนกับว่ามีกระจกมากั้นระหว่างผู้เล่นในสนามกับคุณที่นั่งอยู่ข้างสนาม

11 วันแห่งประวัติศาสตร์

ช่วงท้ายของฤดูกาล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับอาร์เซนอลขับเคี่ยวในการแย่งแชมป์พรีเมียร์ลีกอย่างสุดมัน หลังจากแมนฯ ยูไนเต็ดครองตำแหน่งจ่าฝูงมาตั้งแต่ช่วงครึ่งฤดูกาล แต่พวกเขาไปสะดุดเสมอลีดส์ ยูไนเต็ด จนโดน ‘ปืนใหญ่’ แซงนำ 2 คะแนนในช่วง 3 นัดสุดท้าย แต่อาร์เซนอลก็พลาดไปแพ้ลีดส์ในเกมรองสุดท้ายเช่นกัน ทำให้เหลือนัดสุดท้าย แมนฯ ยูไนเต็ด นำอาร์เซนอล 1 คะแนน และนัดสุดท้ายของลีกจะเตะในวันที่ 16 พฤษภาคม ต่อจากนั้นพวกเขามีนัดชิงเอฟเอ คัพ รออยู่ในวันที่ 22 พฤษภาคม และปิดท้ายฤดูกาลด้วยนัดชิงยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกในวันที่ 26 พฤษภาคม กลายเป็นช่วง 11 วันแห่งประวัติศาสตร์ของแมนฯ ยูไนเต็ด ในเกมลีกนัดสุดท้ายวันที่ 16 พฤษภาคม แม้ว่าแมนฯ ยูไนเต็ดจะถูกสเปอร์ส ออกนำไปก่อน แต่ก็กลับมายิงคืน 2 ประตูรวดคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกไปด้วยคะแนนห่างเพียง 1 คะแนน เท่ากับฤดูกาลที่แล้วที่อาร์เซนอลเบียดแย่งแชมป์ไป นัดชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพ กับนิวคาสเซิล รอย คีนถูกเปลี่ยนตัวออกตั้งแต่ 9 นาทีแรก ด้วยอาการบาดเจ็บจากการปะทะของแกรี สปีด (ก่อนหน้านั้นเขายังโดนจับเข้าคุกหลังฉลองแชมป์หนักจนลามเป็นเหตุทะเลาะวิวาท) คนที่ลงมาแทนคือเท็ดดี เชอริงแฮม และเป็นเขาเองที่ยิงประตูเบิกร่อง หลังลงมาได้เพียง 3 นาทีให้ทีมออกนำ และได้พอล สโคลส์ยิงอีกลูก พาทีมคว้าแชมป์ที่ 2 ไปแบบไม่ยากเย็นนัก ซึ่งในเกมนี้เป็นเหมือนการวอร์มก่อนภารกิจสุดท้าย กองหลังของทีมอย่างเดวิด เมย์ ที่ทั้งฤดูกาลได้ลงเพียง 9 นัด บอกกับสโคลส์หลังเกมว่า “ฉันยังไม่ทันได้เหนื่อยเลย ไม่น่าเชื่อว่านี่คือนัดชิงชนะเลิศ” ภารกิจสุดท้ายกับแชมป์ที่สำคัญที่สุดอย่างยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก เพราะเป็นถ้วยเดียวที่เฟอร์กูสันยังไม่เคยได้ รวมไปถึงครั้งสุดท้ายที่แมนฯ ยูไนเต็ดทำได้ต้องย้อนไปถึงปี 1967/68 ในขณะเดียวกันทั้งแมนฯ ยูไนเต็ด และบาเยิร์น มิวนิคต้องการแชมป์เพื่อที่จะเป็นทีมที่ 4 ประวัติศาสตร์ฟุตบอลยุโรป (ต่อจากเซลติก 1967, อาแจกซ์ 1972, พีเอสวี ไอนด์โฮเฟน 1988) และเป็นทีมแรกจาก 5 ลีกใหญ่ที่ทำทริปเปิลแชมป์ได้ นอกจากที่ทั้งสองทีมต้องการสร้างประวัติศาสตร์แบบเดียวกันแล้ว ในเกมนี้ทั้งคู่ยังขาดผู้เล่นคนสำคัญเหมือนกัน ‘เสือใต้’ จะไม่มีบิเซนเต ลิซาราซู แบ็กซ้ายแชมป์โลก กับโจวานนี เอลแบร์ ส่วนยูไนเต็ดจะไม่มีพอล สโคลส์ และกัปตันทีม รอย คีน ทำให้ปีเตอร์ ชไมเคิลก้าวขึ้นมาสวมปลอกแขนกัปตันทีมแทนในเกมนัดสุดท้ายของเจ้าตัวกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เนื่องจากขาดสองกองกลางตัวหลัก เฟอร์กูสันจำเป็นต้องเลือกใช้นิกกี บัตต์ จับคู่กับเบ็คแฮมในแดนกลาง โยกกิกส์ไปเล่นฝั่งซ้าย และส่งบลอมควิสต์เล่นปีกขวา ซึ่งเป็นชุดกองกลางที่แทบจะไม่เคยเล่นด้วยกันมาก่อน แถมสองตัวหลักยังไม่ได้เล่นในตำแหน่งที่ตัวเองถนัด

ปาฏิหาริย์สุดท้ายที่คัมป์ นู

ในช่วงก่อนเกมสุดท้ายของฤดูกาล ทุกคนเกิดความกังวล อึดอัด และพักผ่อนไม่ได้เต็มที่เพราะรู้ว่าการแข่งขันที่รออยู่คือแมตช์ที่สำคัญที่สุดในชีวิต บนรถที่เดินทางมาที่สนามเต็มไปด้วยความเงียบ ในห้องแต่งตัวมีแต่ความกดดัน ก่อนเกมเฟอร์กี้ปลุกกำลังใจลูกทีมว่า “ไม่ต้องกังวล บาเยิร์นไม่ได้เก่งเท่ากับอาร์เซนอลที่พวกแกเจอมาในลีก กับในเอฟเอ คัพหรอก บาเยิร์นต้องการแค่ยิงประตูนำให้ไว และปิดเกมให้เร็วแค่เท่านั้น” และคำเตือนของเฮดโค้ชชาวสกอตแลนด์ก็เป็นจริง ‘เสือใต้’ ออกนำตั้งแต่นาทีที่ 6 จากลูกฟรีคิกของมาริโอ บาสเลอร์ ซึ่งชไมเคิลเสียประตูจากฟรีคิกแบบเดียวเป็นลูกที่ 2 ในคัมป์ นู ฤดูกาลนี้ ก่อนหน้านี้ตลอดทั้งฤดูกาล พวกเขาถูกนำไปก่อน และกลับมาเอาชนะได้นับครั้งไม่ถ้วน รวมไปถึงเกมกับยูเวนตุส แต่ไม่ใช่กับนัดนี้ นัดชิงชนะเลิศกับบาเยิร์น มิวนิค หลังจากโดนยิงไป การเล่นพวกเขาไม่ได้ดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย อาจจะเป็นเพราะการแข่งขันที่ถี่เกินไป ความล้าสะสม หรืออาการกดดันจากเกมนัดชิงชนะเลิศท่ามกลางแฟนบอล 90,000 คน ทุกอย่างที่ยูไนเต็ดทำดูช้า ดูผิดที่ผิดทางไปเสียหมด “ตอนนี้พวกแกอยู่ห่างจากถ้วยแต่ 6 หลา ถ้าพวกแกแพ้ พวกแกก็ไม่สามารถที่จะเอื้อมมือไปจับมันได้ ดังนั้นฉันอยากให้ทุกคนคิดให้ดี ๆ ว่าตอนนี้พวกแกอยู่ใกล้กับถ้วยมาก ๆ หลาย ๆ คนอาจจะเป็นโอกาสที่ใกล้ที่สุดในชีวิต ถ้าไม่อยากรู้สึกเสียใจไปตลอดทั้งชีวิต จงอย่าคิดว่าจะแพ้ และอย่ากลับเข้ามาที่นี่อีกถ้ายังไม่ได้ทุ่มเททุกอย่างออกไป” คำพูดของอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ในช่วงพักครึ่งที่เป็นตัวปลุกกำลังใจสำคัญในการคัมแบ็กกลับมาของยูไนเต็ด เฟอร์กี้เปลี่ยนแผนการเล่นด้วยการส่งเชอริงแฮม แทนบลอมควิสต์ และปรับให้เบ็คแฮมกลับมายืนปีกขวา และกิกส์ไปเล่นปีกซ้ายตามถนัด แต่เกมก็ไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่คาดหวัง ในช่วงท้ายเกมนาทีที่ 73 - 84 ยอดทีมจากเยอรมันมีโอกาสบวกประตูเพิ่มอีก 3 - 4 ครั้ง แต่ได้ทั้งเซฟของชไมเคิล เสา และคานช่วยเอาไว้ โซลชาร์ได้รับโอกาสลงมาในนาทีที่ 81 เขาลงมาพร้อมกับความเชื่อของทุกคนในทีมว่ากองหน้ารายนี้จะลงมาสร้างความแตกต่างแบบที่เขาทำได้เสมอมาตลอดทั้งฤดูกาล และยิ่งในเกมสุดท้ายกับสเปอร์ที่ทีมตามหลังอยู่ เฟอร์กูสันบอกกับลูกทีมในช่วงพักครึ่งว่า “ไม่ต้องกังวล ถ้ายังยิงประตูไม่ได้ ฉันจะส่งโซลชาร์ลงไป” กลายเป็นผู้เสริมความมั่นใจของกองหน้ารายนี้ และโซลชาร์ก็ลงมาสร้างความแตกต่างได้ทันที 22 วินาทีแรกได้โหม่งจนเกือบเข้า และยิ่งบาเยิร์นเปลี่ยนตัวโลธาร์ มัทเธอุสออก เกมที่พวกเขาเคยเหนือกว่าแมนฯ ยูไนเต็ดตลอด 80 กว่านาทีก็หายไปเอาดื้อ ๆ และปาฏิหาริย์สุดท้ายก็ได้ถูกเขียนขึ้นในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ แมนฯ ยูไนเต็ด ได้ลูกเตะมุมถูกเปิดโดยเบ็คแฮม ชไมเคิลวิ่งขึ้นมาเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำประตู บอลจากลูกเตะมุมถูกเคลียร์ไปเข้าทางไรอัน กิกส์ ยิงสวน และเป็นตัวสำรองอย่างเชอริงแฮมเตะบอลเปลี่ยนทางเข้าไปให้ทั้งสองทีมกลับมาเสมอกันที่ 1 - 1 ให้แสงที่แทบจะดับไปแล้วของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดสว่างขึ้นมาอีกครั้ง 58 วินาทีคือช่วงระหว่างที่บอลผ่านเส้นเข้าประตูไป จนไปถึงการเริ่มเล่นใหม่ เกิดอะไรหลาย ๆ อย่างขึ้นกับนักเตะของยูไนเต็ด โซลชาร์คิดถึงการต้องเล่นต่อเวลาไปอีก 30 นาที เบ็คแฮมร้องไห้ ชไมเคิลวิ่งกลับไปที่ประตูเริ่มทำสมาธิ และคิดว่าเมื่อกี้อาจจะเป็นการโดนบอลครั้งสุดท้ายของเขาในฐานะนักเตะของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในขณะที่ทุกคนมองไปถึงช่วงต่อเวลา แต่เฟอร์กูสันกลับตะโกนบอกว่าเกมนี้ยังไม่จบ และเร่งให้ทุกคนกลับไปเริ่มใหม่ให้เร็วที่สุด หลังจากเขี่ยบอล 26 วินาที โซลชาร์เรียกเตะมุมให้กับทีมได้อีกครั้ง แต่ในการเตะมุมครั้งนี้ไม่มีผู้รักษาประตูตัวยักษ์อย่างชไมเคิลขึ้นมาเหมือนครั้งที่แล้ว เบ็คแฮมเปิดบอลเข้าไปเช่นเดิม เชอริงแฮมวิ่งคนเดียวโล่ง ๆ ไปที่เสาแรก และได้โหม่งโล่ง ๆ แต่ในครั้งนี้เขาตัดสินใจโหม่งเข้าไปหน้าประตูในกรอบ 6 หลา ลูกบอลจากการโหม่งต่อของเชอริงแฮ พุ่งเข้าไปหาโซลชาร์ เหมือนเขียนบทเอาไว้สำหรับซูเปอร์ซับ ฮีโร่ที่อยู่ถูกที่ถูกเวลาเสมอ โซลชาร์ดีดบอลด้วยขาด้วยสัญชาตญาณล้วน ๆ ส่งบอลพุ่งเข้าไปเสียบตาข่าย และนี่กลายเป็นหนึ่งในลูกยิงที่ดีที่สุดของเขา ลูกยิงที่จะถูกพูดถึงไปอีกนานแสนนานในหน้าประวัติศาสตร์ฟุตบอล ประตู 2 - 1 ของโซลชาร์กลายเป็นหนึ่งในการคัมแบ็กกลับมาเอาชนะคู่แข่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดครั้งหนึ่ง และส่งให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดคว้าทริปเปิลแชมป์ได้สำเร็จ ไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากการชูถ้วยที่ 3 ในฤดูกาลที่บาร์เซโลนา ท้องถนนของเมืองแมนเชสเตอร์ก็เต็มไปด้วยแฟนบอลมากกว่า 500,000 คนที่ออกมาฉลองแห่ถ้วยฉลองทริปเปิลแชมป์ของปีศาจแดงไปกับทีมรอบเมือง “ผมไม่อยากจะเชื่อ ไม่อยากจะเชื่อเลย ฟุตบอลแม่งโคตรสุดยอด แต่พวกเราไม่เคยคิดยอมแพ้ นั่นทำให้พวกเราชนะ ผมภูมิใจกับพวกเขา” ประโยคที่เฟอร์กูสันให้สัมภาษณ์หลังเกมที่คัมป์ นู คงเป็นประโยคที่สั้น ที่กระชับ แต่บรรยายทั้งความยอดเยี่ยมของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดตลอดทั้งฤดูกาล 1998/99 ได้ดีที่สุดประโยคหนึ่ง 4 เดือนอันแสนสาหัส และการฉลองอันบ้าคลั่งตั้งแต่ที่สเปน มาจนถึงขบวนพาเหรดแห่ถ้วยรอบเมืองของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เหล่านักฟุตบอล และทีมงานเตรียมแยกย้ายไปพักผ่อนให้เต็มที่หลังทำงานมาอย่างหนัก รวมไปถึงสตีฟ แม็คคลาเรน ผู้ช่วยของอเล็ก เฟอร์กูสัน วางแผนพักร้อนพร้อมเอาไว้เรียบร้อย ก่อนจะล่มไม่เป็นท่า เมื่อเขาได้รับสายของอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ให้เรียกทีมงานทุกคนมาเจอกันที่สนามซ้อมตอน 9 โมงเช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อเตรียมทีมสำหรับฤดูกาลหน้า

ที่มา :

https://www.eurosport.co.uk/football/champions-league/2018-2019/manchester-united-and-the-1998-99-treble-that-night-in-barcelona_sto7286033/story.shtml https://www.bbc.com/sport/football/48370600 https://bleacherreport.com/articles/161417-the-treble-looms-large-a-lookback-at-the-1999-man-utd-treble https://www.transfermarkt.com/manchester-united/leistungsdaten/verein/985/plus/1?reldata=%261998 https://www.premierleague.com/news/59010 https://www.skysports.com/football/news/11667/11962761/dwight-yorke-and-andy-cole-what-made-manchester-united-strike-partnership-so-special เรื่อง: ศุภณัฐ เจริญรัตน์