Måneskin: วงแกลมร็อกอิตาลี ผู้ชนะเวที Eurovision 2021 และตะโกนบอกโลกว่า ‘Rock Never Dies’

Måneskin: วงแกลมร็อกอิตาลี ผู้ชนะเวที Eurovision 2021 และตะโกนบอกโลกว่า ‘Rock Never Dies’
วันที่สมาชิกวงแกลมร็อก ‘Måneskin’ รวมตัวกันด้วยความตั้งใจว่าพวกเขาจะเป็น ‘ร็อกสตาร์’ กรุงโรมไม่ใช่สถานที่ที่วัฒนธรรมดนตรีร็อกผลิบานสักเท่าไร ทว่าภายในช่วงเวลาไม่กี่ปี ศิลปินกลุ่มนี้กลายเป็นผู้ฟื้นคืนเสียงเครื่องดนตรีร็อกให้พุ่งทะยานขึ้นมา ด้วยเพลงต่าง ๆ อย่างเช่น คัฟเวอร์ ‘Beggin’, ‘I Wanna Be Your Slave’, ‘Zitti E Buoni’ และ ‘Mammamia’ เป็นต้น ‘Måneskin’ ไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนของกีตาร์ เบส กลอง และเสียงร้องกลิ่นอายฟังก์จากประเทศอิตาลี แต่พวกเขาอยู่ที่นี่เพื่อบอกกับทั้งโลกว่า ‘เพลงร็อกยังไม่ตาย’ “ในวันนั้น การเป็นวงดนตรีหน้าใหม่ในอิตาลีมันไม่ง่ายเลย” - วิกตอเรีย เดอ แองเจลิส หลังจากคุ้นหน้าค่าตากันมาตั้งแต่พวกเขาเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น ‘เดเมียโน เดวิด’ (Damiano David) นักร้องนำ, ‘วิกตอเรีย เดอ แองเจลิส’ (Victoria de Angelis) มือเบส, ‘โธมัส ราจจี’ (Thomas Raggi) มือกีตาร์ ได้ประกาศตามหามือกลองผ่านเฟซบุ๊กแอดและคว้าตัว ‘อีธาน ทอร์คิโอ’ (Ethan Torchio) มาร่วมวง พวกเขาฟอร์มวงในปี 2015 และเริ่มต้นเส้นทางดนตรีด้วยการ busking ตามท้องถนนในกรุงโรม ร่วมปีหลังสั่งสมประสบการณ์จากการเล่นเปิดหมวกข้างถนน ทั้งสี่ก้าวเข้าสู่โลกแห่งการประกวดด้วยการแข่งขันเล็ก ๆ ในปี 2016 ชัยชนะในสนามแรกกลายเป็นพลังให้พวกเขา ร่วมกับการได้ชื่อวงอย่างเป็นทางการ หนุ่มสาวสี่ชีวิตตั้งชื่อเรียกแทนตัวพวกเขาว่า ‘Måneskin’ ภาษาเดนิชที่แปลว่า ‘แสงจันทร์’ ตามถ้อยคำที่เสนอโดยวิกตอเรีย เดอ แองเจลิส ที่มีเชื้อสายเดนิช หลังได้รับเงินรางวัล ‘Måneskin’ ขยับขยายเวทีของพวกเขาด้วยการเลือกสนามแข่งที่ใหญ่ขึ้น ปี 2017 พวกเขาเข้าร่วมรายการ ‘X Factor Italia’ และกลายเป็นที่ชื่นชอบของแฟน ๆ มากมาย อิตาลี - ที่สมาชิกในวงเคยเล่าถึงอยู่เสมอว่าไม่ใช่สถานที่ที่ผู้คนให้ความสนใจเพลงร็อกนั้น กลับหันมาเงี่ยหูฟังและโยกหัวตามเสียงเครื่องดนตรีผ่านแอมป์ของพวกเขาตั้งแต่ ‘Chosen’ เพลงแรกที่ Måneskin เล่น ซึ่งเกิดจากฝีไม้ลายมือการเขียนเนื้อเพลงและเรียบเรียงทำนองของพวกเขาเอง Måneskin กลายเป็นขวัญใจแฟนรายการ ผู้ชมที่ชื่นชอบพวกเขามีตั้งแต่เด็ก ๆ วัยหนุ่มสาว ไปจนถึงรุ่นพ่อแม่ที่มีลูกวัยไล่เลี่ยกับสมาชิก ด้วยลวดลายดนตรีเผ็ดร้อนบวกกับสไตล์และโชว์บนเวทีที่เผ็ดยิ่งกว่า อย่างเช่นครั้งที่เดเมียโน นักร้องนำ สวมซีทรูเต้นโพลแดนซ์บนเวที ก็ทำให้กลุ่มวัยรุ่นที่เชื่อมั่นในการทำลายกรอบการแต่งกายตามเพศสภาพกลุ่มนี้ได้รับกระแสเชิงบวกอย่างล้นหลาม ตามมาด้วยการคว้าอันดับที่สองในรายการมาครอง  การที่พวกเขาไม่ใช่แชมป์ในรายการไม่ได้แปลว่าพวกเขาไม่ได้รางวัล เพลง ‘Beggin’ ที่ Måneskin นำมาคัฟเวอร์กลายเป็นเพลงฮิต อีกทั้งพวกเขายังโดนใจแบรนด์หรูที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานในอิตาลีอย่าง ‘Etro’ เข้าอย่างจัง จนทางแบรนด์ได้เข้ามาดูแลเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมให้พวกเขาเลยทีเดียว “สิ่งที่เราชอบเกี่ยวกับ Måneskin คือการที่พวกเขามิกซ์เสื้อผ้าผู้หญิงและผู้ชายเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว พวกเขาไม่มีความหวาดกลัว และสนุกกับเสื้อผ้าจริง ๆ” - Estro ปี 2019 พวกเขาปล่อยอัลบั้มเต็มอัลบั้มแรก ‘Il Ballo Della Vita’ และออกทัวร์ทั่วยุโรป Måneskin ไม่ปล่อยให้ชื่อของพวกเขาห่างหายไปนาน ปี 2021 วงดนตรีแกลมร็อกวงนี้ตบเท้าเข้าแวดวงประกวดอีกครั้งกับเทศกาลแข่งขันระดับประเทศประจำปี ‘Sanremo’ และครั้งนี้พวกเขาได้รับชัยชนะ ซึ่งผู้ชนะในรายการนี้จะกลายเป็นตัวแทนประเทศเข้าแข่งขันในระดับนานาชาติ เสียงเครื่องดนตรีในเพลง ‘Zitti E Buoni’ ก้องไปทั่วเวที และเมื่อ Måneskin คว้าอันดับหนึ่งในเวที ‘Eurovision 2021’ ได้สำเร็จ หลังจากที่อิตาลีไม่ได้พาถ้วยรางวัลจากเวทีนี้กลับบ้านมาตั้งแต่ปี 1990 หรือกว่า 31 ปี ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความยินดี ถ้อยคำในพิธีมอบรางวัลของเดเมียโน เดวิด ที่เขาส่งเสียงกึ่งตะโกนออกมาคือ  “เราแค่อยากจะบอกยุโรปทั้งทวีป บอกคนทั้งโลกว่า ร็อกแอนด์โรลไม่มีวันตาย” พวกเขาได้รับคำชมมากมาย หลายคนชื่นชมเรื่องเสียงดนตรีที่ผสมผสานระหว่าแกลมร็อก ป็อป และฟังก์ได้อย่างลงตัว ราวกับยกความน่าตื่นตาตื่นใจของเสียงเพลงและแฟชั่นในยุค 70s มาไว้ในโลกปัจจุบันได้ดั่งมนต์ย้อนเวลา หนำซ้ำพวกเขายังเป็น ‘ร็อกสตาร์’ ที่ไม่เพิกเฉย และตื่นตัวอยู่เสมอเมื่อพูดถึงประเด็นทางสังคม  พวกเขาใช้เสียงเพลง คำร้อง และภาพลักษณ์เพื่อแสดงออกในหลายเรื่องราว ตั้งแต่อิสระในวัยเยาว์ไปจนถึงความกล้าที่จะเป็นตัวเอง อย่างไม่สยบยอมต่อบุคคลที่พวกเขาเรียกว่า ‘ผู้กดขี่’ บทเพลงของพวกเขากลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ใครก็ตามที่รู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกและไม่เข้าพวก  อีกหนึ่งสิ่งที่ Måneskin ทำอยู่เสมอคือการพยายามทำลายกรอบกำหนดทางเพศ พวกเขาเบลอเส้นแบ่งระหว่างไบนารี และมีใส่ซีนที่แสดงถึงเพศหลากหลายในมิวสิกวิดีโออยู่เสมอ รวมทั้งในเพลงล่าสุดอย่าง ‘Mammamia’  ส่วนเรื่องแฟชั่นก็ไม่น้อยหน้า พวกเขาถูกยกย่องว่าเป็นกลุ่มศิลปินที่คืนความสนุกและสีสันในการแต่งตัวให้เหล่าวัยรุ่น Måneskin บอกให้รู้ว่าผู้ชายก็สามารถประดับเปลือกตาด้วยอายไลเนอร์และอายแชโดว์ได้ และไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องแต่งกายตามที่สังคมกำหนดว่าเพศกำเนิดนี้ ต้องแต่งตัวแบบไหน แต่มีคนชอบก็ต้องมีคนชัง พวกเขาต้องเผชิญกับคำค่อนขอดอยู่ประปราย จากคนที่ไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลายในการแสดงออกซึ่งเพศวิถี จากคนที่ไม่เข้าใจในเสียงเพลงที่พวกเขาเล่น และเรียกพวกเขาว่า ‘วงร็อกแอนด์โรลของเก๊ made in Italy’ ส่วนบางคนก็มีปัญหากับความ ‘เกรี้ยวกราด’ ในดนตรีที่ Måneskin แสดงออกผ่านบทเพลง ขณะที่ Måneskin เองก็มีเหตุผลให้กับความ ‘โกรธ’ ในดนตรี เดเมียโนเล่าว่าความขุ่นข้องใจเหล่านั้นสั่งสมมายาวนาน และเกี่ยวข้องโดยตรงกับความทุลักทุเลของร็อกในวันวาน อย่างที่ผู้เขียนได้เล่าไปในช่วงต้นว่าสถานการณ์ของร็อกแบนด์ในอิตาลีก่อน Måneskin จะปรากฏตัวนั้นไม่สู้ดีนัก สิ่งนั้นทำให้วงเกิดความโกรธระคนมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จให้ได้ “เราไม่เคยเห็นด้วยกับความซบเซาเหล่านั้น มันให้พลังและความโกรธแก่เรามากมาย สำหรับระบายเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์แบบนี้” นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ท้ายที่สุดพวกเขาก็สามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ และพิสูจน์ถ้อยคำว่า ‘ร็อกไม่มีวันตาย’ ด้วยการใส่ฟืนเติมไฟให้มันอีกครั้ง และ Måneskin คงพามันพุ่งทะยานไปได้อีกไกล   ที่มา: https://lifeinitaly.com/meet-maneskin-the-band-breaking-the-rules/ https://www.nylon.com/entertainment/everything-to-know-about-maneskin-italys-hottest-rock-band https://www.nssgclub.com/en/pills/25503/cipria-5-errori-da-evitare https://abcnews.go.com/Entertainment/wireStory/italian-rockers-maneskin-enjoy-blurring-gender-stereotypes-79125033 https://www.nytimes.com/2021/06/16/arts/music/maneskin-eurovision.html ภาพ: Instagram @maneskinofficial