มานิต้า ดวงคำ ฟาร์เมอร์: ครูอาสา นางสาวไทยคนที่ 53 และเวทีประกวดยุค TPN

มานิต้า ดวงคำ ฟาร์เมอร์: ครูอาสา นางสาวไทยคนที่ 53 และเวทีประกวดยุค TPN
“การทำร้ายร่างกายในครอบครัวเกิดขึ้นเพราะผู้หญิงถูกปลูกฝังว่าเราจะต้องเป็นคนที่ยอมคน อ่อนแอ แต่ความเป็นจริงแล้ว เราต้องต่อสู้ แม้กระทั่งเพื่อความรักหรือสิ่งอื่น ๆ เราต้องกล้าที่จะเดินออกมา ช่วยเหลือตัวเอง กล้าที่จะบอกว่าฉันจะไม่ทนอีกต่อไป กล้าที่จะเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งในสังคมนี้ และ (นิ)ต้าเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ” - มานิต้า ดวงคำ ฟาร์เมอร์ ตอบคำถามในรอบ 5 คนสุดท้าย ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการประกวด #นางสาวไทย ที่ปีนี้มาในคอนเซ็ปต์ ‘กำเนิดใหม่อีกครั้ง’ ของทีมผู้จัดการประกวด TPN Global ทีมเดียวกับผู้ดูแล #มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ซึ่งได้ชุบชีวิตนางสาวไทยหลังจากเป็นเวทีที่เกือบจะถูกลืมเลือนไปนาน “คุณครูต้าคือชื่อที่เด็กๆ ไทยเรียกตอนที่ต้าได้มีโอกาสไปเป็นครูอาสา นอกเหนือจากการสอน ต้าได้มองเห็นคุณครูที่ตั้งใจมอบความรู้ให้แก่เด็กนักเรียน แต่สิ่งหนึ่งที่อยากเห็นเปลี่ยนแปลงเลยคือ คุณภาพชีวิตของบุคลากรครูสวัสดิการที่ดีขึ้น ปริมาณงานที่เหมาะสม และการพัฒนาการสอนให้ทันสมัยและเข้าใจง่าย (นิ)ต้าเชื่อว่าการพัฒนาครูคือการวางรากฐานที่สำคัญของสำหรับความรู้และอยาคตของนักเรียนไทย” นั่นคือคำแนะนำตัวของนางสาวไทยคนที่ 53 นิต้า – มานิตา ดวงคำ ฟาร์เมอร์ (หมายเลข 16) หนึ่งในตัวเต็งที่เป็นจับตามองมากที่สุดในการประกวด คว้ามงกุฎมาครอบครองในแบบที่เรียกได้ว่าม้วนเดียวจบ ไม่ใช่เพียงหน้าตาสวยงามโดดเด้งเกินใครแต่เพียงเท่านั้น แต่ประวัติของนิต้ายังมีความน่าสนใจไม่น้อย นิต้าเป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกัน อายุ 25 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะนิเทศศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เธอเกิดและเติบโตที่ภูเก็ต ซึ่งทำให้เธอพูดภาษาไทยชัดเจน (แม้หน้าตาจะดูเป็นฝรั่ง) แถมเธอยังพูดภาษาพื้นถิ่น ทั้งแหลงใต้ (จากความเคยชินใจการใช้ชีวิต) อู้กำเมือง (สื่อสารกับแม่ของเธอผู้เป็นสาวเชียงราย) และเว้าอีสาน (ฝึกฝนจากเพื่อนร่วมงาน) ซึ่งคุณสมบัตินี้ถือเป็นสเน่ห์และเรียกความสนใจได้เป็นอย่างมากในรอบออดิชัน  ปัจจุบันนิต้าประกอบอาชีพเป็นผู้จัดการฝ่ายขายและยังเป็นครูอาสาสอนภาษาอังกฤษให้แก่เด็กนักเรียนโรงเรียนวัดบางไผ่นารถ จังหวัดนครปฐม นิต้า ไม่ใช่หน้าใหม่ของวงการการประกวดนางงาม เธอเคยได้รับรางวัล รองอันดับ 1 มิสแกรนด์ภูเก็ต 2017 และผ่านเข้ารอบ 12 คนสุดท้ายการประกวดมิสไทยแลนด์เวิร์ลในปี 2018 ก่อนที่จะมายืนหนึ่งบนเวทีนางสาวไทย 2565 อย่างเต็มภาคภูมิ อีกหนึ่งเรื่องที่คงมีผลไม่น้อยกับชัยชนะของนิต้าครั้งนี้คือทีมงานเบื้องหลังของเธอ นิต้าอยู่ภายใต้การดูแลของ  – ทีมภูเก็ต – ซึ่งถือเป็นทีมพี่เลี้ยงนางงามแนวหน้าของประเทศซึ่งได้เคยปั้นนางงามจนถึง ‘มงใหญ่’ มาแล้วหลายต่อหลายคน อาทิเช่น อาแมนด้า ชาลิสา ออบดัม (มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020) น้ำอ้อย ชนะพาล (มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2018) ทารีน่า โบเทส (รองอันดับ 1 มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2021) ฯลฯ ความงาม คุณสมบัติ และทีมงานสนับสนุน – ถือเป็นสามองค์ประกอบที่เรียกได้ว่าเกือบจะครบ 100% แล้วของเส้นทางสู่มงกุฎแห่งเกียรติยศ แต่ไม่ว่าสามองค์ประกอบนั้นจะสมบูรณ์แบบมากสักเพียงไร แต่สิ่งหนึ่งที่นางงามจะขาดเสียมิได้เลยในวันประกวดจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอบตอบคำถามคือ ‘สติ’ นิต้าถือเป็นสาวงามที่ตอบคำถามได้กระชับ ชัดเจน และตรงประเด็น แถมยังมีความคิดความอ่านที่น่าชื่นชมไม่น้อย วัดได้ชัดเจนจากคำถามที่เธอได้รับในรอบ 5 คนสุดท้าย “องค์กรสตรีแห่งสหประชาชาติประเมินว่าทุกๆ 3 เดือน ของการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา จะมีผู้หญิงทั่วโลกต้องทนทุกข์ทรมานจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ราว 15 ล้านคน ถ้าคุณได้เป็นนางสาวไทย คุณจะมีส่วนในการทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลงได้หรือไม่ อย่างไร” และคำตอบของเธอ… “การทำร้ายร่างกายในครอบครัวเกิดขึ้นเพราะผู้หญิงถูกปลูกฝังว่าเราจะต้องเป็นคนที่ยอมคน อ่อนแอ แต่ความเป็นจริงแล้ว เราต้องต่อสู้ แม้กระทั่งเพื่อความรักหรือสิ่งอื่น ๆ เราต้องกล้าที่จะเดินออกมา ช่วยเหลือตัวเอง กล้าที่จะบอกว่าฉันจะไม่ทนอีกต่อไป กล้าที่จะเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งในสังคมนี้ และ (นิ)ต้าเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ” สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าเนื้อหาหรือความลื่นไหลของการตอบคำถาม คือตรรกะหรือฐานคิดที่อยู่เบื้องหลังคำตอบของนิต้าที่ว่าด้วย พลังของผู้หญิง หรือ การตระหนักรู้ถึงคุณค่าในตัวเอง ซึ่งให้กลิ่นอายของสตรีนิยม (ใกล้เคียงกับคลื่นลูกที่หนึ่งของโลกตะวันตก) ซึ่งค่อนข้างสอดรับกับบริบทของเวทีนางสาวไทยที่พยายามมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเรื่องผู้หญิง (แตกต่างกับมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ที่จะท้าชนคำถามการเมืองหรือข้อขัดแย้งภายในประเทศ) ในแง่หนึ่งอาจจะเป็นโชคดีของเธอด้วยก็ได้ที่เลือกคำถามได้ รับ-ส่ง กับบริบทของเวที ตอบมันอย่างชัดเจนตรงประเด็น จนคว้ามงกุฎไปได้ในที่สุดในฐานะนางสาวไทยคนที่ 53 ของประเทศไทย ข่าวแว่ว ๆ มาว่าเธอจะได้เป็นตัวแทนไปประกวดเวทีระดับนานาชาติด้วย มารอลุ้นกันว่าเป็นเวทีอะไร และเธอจะคว้าชัยชนะกลับมาได้หรือไม่ แม้ว่านางสาวไทยอาจจะไม่ได้มีประเด็นที่หวือหวาสักเท่าไหร่เมื่อเทียบกับเวทีอื่น ๆ แต่ก็ยังมีเรื่องให้ชวนถกอยู่เช่นกันเมื่อ น้องเฟิร์น – พรนภาพรรณ สังวาลทอง สาวออทิสติกตัดสินเข้าประกวดนางสาวไทยในครั้งนี้ด้วย เพราะเธอเชื่อว่าเธอจะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้หญิงคนอื่น ๆ และเป็นกระบอกเสียงทำให้สังคมเข้าใจเรื่องออทิสติกมากขึ้น ซึ่งทาง TPN Global เองก็ต้อนรับขับสู้เธอเป็นอย่างดี แต่ท้ายที่สุดเธอก็ผ่านเข้าไปได้เพียง 50 คนสุดท้าย ปรากฏการณ์น้องเฟิร์นอาจเรียกได้ว่าเป็นคลื่นลูกที่ต่อมาจากกระแสของ แอนชิลี สก็อต-เคมมิส มิยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2021 พร้อมกับคอนเซ็ปต์ #RealSizeBeauty ของเธอที่ได้ขยายอาณาบริเวณด้านนิยามของความงามในทัศนคติของคนไทยออกไปอย่างกว้างขว้างมากขึ้น จนเกิดกระแสโต้กลับจากทางฝั่งมิสแกรนด์ไทยแลนด์ที่ยืนยันว่าการประกวดความงามคือการประกวดความงาม จนเกิดเป็นสโลแกนของเวที - 3B miracles ที่เจ้าของเวทีบัญญัติเองคือ Body Beauty Brain (รูปร่าง ความงาม สมอง (เรียงตามลำดับความสำคัญดังนี้เลย)) ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากในหมู่แฟนนางงามว่าสุดท้ายแล้วเราซื้อไอเดียของทางฝั่งไหนมากกว่า เกิดเป็นการเมืองเชิงวัฒนธรรมที่ขับเคี่ยวกันในอุตสาหกรรมความงามของประเทศไทย และอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น นี่คือการชุบชีวิตเวทีนางสาวไทยที่ถูกหลงลืมไปท่ามกลางอุตสาหกรรมนางงามที่กำลังถือว่าเป็นขาขึ้นในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์, มิสแกรนด์ไทยแลนด์, มิสไทยแลนด์เวิร์ล, มิสเอิร์ธไทยแลนด์ ฯลฯ การกลับมาของนางสาวไทยในยุคของ TPN Global ครั้งนี้ดูมีสีสันมากขึ้น ทันสมัยมากขึ้น กระฉับกระเฉงมากขึ้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวในเชิงวัฒนธรรมอีกเรื่องที่น่าสนใจ ขนาดเวทีที่เข้าเค้าอนุรักษ์นิยมสุด ๆ ยังเกิดความเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่อาจถือว่าเป็นความท้าทายของนางสาวไทย ในท่ามกลางบริบทที่ทุกเวทีใหญ่ ๆ ของประเทศไทยแทบจะพูดเรื่องการเมืองการกันหมดทุกเวที ไม่ใช่เพียงการเมืองเชิงวัฒนธรรม แต่เป็นคำถามถึงผู้นำประเทศหรือรูปแบบการปกครอง เป็นไปได้หรือไม่ว่าวันข้างหน้าเราจะมีโอกาสได้เห็นนางสาวไทยขยับอีกสักก้าวเพื่อตอกย้ำเสียงของผู้หญิงในพื้นที่การเมืองและความก้าวหน้าของการเมืองเรื่องความงาม อย่างน้อย ๆ ให้สมกับที่มาของเวทีที่จัดขึ้นครั้งแรกวันที่ 10 ธันวาคม 2477 เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญไทย   เรื่อง: ณัฐ วิไลลักษณ์ ภาพ: เพจ Miss Thailand Organization