มาร์เซโล บิเอลซา น้ำใจนักกีฬา สำคัญกว่าชัยชนะ

มาร์เซโล บิเอลซา น้ำใจนักกีฬา สำคัญกว่าชัยชนะ
เป็นเวลากว่า 16 ปี ที่ ลีดส์ยูไนเต็ด ตกชั้นไปจากพรีเมียร์ลีก จากที่เคยไปไกลถึงรอบรองชนะเลิศของยูฟาแชมเปียนส์ลีก พวกเขาร่วงไปอยู่ลีกอันดับ 3 ของประเทศ (League One) ก่อนขึ้นมาล้มลุกคลุกคลานอยู่กลางตารางของลีกแชมเปียนชิพอยู่นานเกือบ 10 ปี พวกเขาก็สามารถกลับขึ้นมาอยู่พรีเมียร์ลีกได้อีกครั้ง หลังจบฤดูกาล 2019-2020 ในฐานะแชมป์ของลีกแชมเปียนชิพ ภายใต้การคุมทีมของ มาร์เซโล บิเอลซา เฮดโค้ชชาวอาร์เจนตินา แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ ฤดูกาลก่อนหน้า ซึ่งเป็นฤดูกาลแรกที่บิเอลซาเข้ามาทำทีมและเปลี่ยนทีมกลางตารางให้กลายเป็นทีมลุ้มแชมป์ได้ในทันที ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้หวังแต่ “ชัยชนะ” จนลืมเรื่องของ “น้ำใจนักกีฬา” ในทางตรงกันข้ามเขายอมสละชัยชนะที่เห็นอยู่ตรงหน้า แม้ว่านั่นจะทำให้โอกาสที่จะเลื่อนชั้นตั้งแต่ปีแรกหลุดลอยไปก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในนัดที่ 45 ที่ลีดส์เปิดบ้านรับการมาเยือนของแอสตันวิลลาที่ได้พื้นที่เพลย์ออฟค่อนข้างแน่นอนแล้ว แต่ไม่มีโอกาสลุ้นไปไกลกว่านั้น ขณะที่ลีดส์หากเอาชนะในเกมนี้ได้ก็ยังมีโอกาสที่จะได้เลื่อนชั้นอัตโนมัติในฐานะอันดับ 2 แม้จะค่อนข้างยากก็ตาม (ก่อนแข่ง ลีดส์มี 82 คะแนน ตามหลัง เชฟฟิลด์ยูไนเต็ด ที่มี 88 คะแนน แต่แข่งมากกว่า 1 นัด หากลีดส์ชนะรวด และเชฟฟิลด์แพ้ในนัดสุดท้าย พวกเขาก็ยังพอมีโอกาสแซงเป็นอันดับที่ 2 ได้) ทำให้ลีดส์มีแรงจูงใจที่สูงกว่าในการเอาชนะ จุดเดือดของเกมเริ่มขึ้นหลังการแข่งขันเข้าสู่นาทีที่ 70 เมื่อ เลียม คูเปอร์ กองหลังกัปตันทีมลีดส์ สกัดบอลจาก โจนาธาน คอดจา กองหน้าของวิลลาลงไปนอนกับพื้น ไทเลอร์ โรเบิร์ต ตัวรุกของลีดส์รับบอลต่อมา ตอนแรกทำทีเหมือนจะหยุดเล่นชี้ไม้ชี้มือไปที่คอดจา ก่อนผ่านบอลไปให้มัสเทียส คลิกช์ เมื่อคลิกช์รับบอลก็รีบลากบอลเข้าพื้นที่เขตโทษ ขณะที่กองหลังวิลลาออกตัวช้ากว่าเพราะเข้าใจว่าลีดส์จะเตะบอลออกให้ เมื่อได้จังหวะคลิกช์ไม่รอช้าทำประตูขึ้นนำให้กับลีดส์ได้สำเร็จ  หลังการทำประตูทำให้นักเตะวิลลาเข้าไปรุมประท้วงการกระทำของนักเตะลีดส์ เพราะก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่นาที อดัม ฟอร์ชอว์ กองกลางลีดส์ล้มเจ็บ นักเตะวิลลาก็เตะบอลออกข้างให้ การประท้วงทำให้เกิดความชลมุนวุ่นวายในสนาม เมื่อจู่ ๆ แพทริก แบมฟอร์ด กองหน้าลีดส์ลงไปนอนกุมหน้าทำทีว่าโดนตีศอก อาห์เหม็ด เอลกาซี ของวิลลาถูกใบแดงจากเหตุการณ์นั้น ทั้งที่ท่อนแขนทั้งแขนของเขาไม่ได้สัมผัสตัวของแบมฟอร์ดแต่อย่างใด แน่นอนว่า เมื่อไม่มีเสียงนกหวีดจากกรรมการ นักฟุตบอลย่อมมีสิทธิเล่นบอลต่อได้ และกรรมการก็เป่านกหวีดตัดสินว่า ประตูของคลิกช์ชอบด้วยกติกา  แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดตามมาอีก เมื่อบิเอลซาตะโกนโหวกเหวกสั่งให้ลูกทีมปล่อยให้วิลลาทำประตูโดยห้ามเข้าไปขวางท่ามกลางเสียงโห่ของแฟนบอล ซึ่งนักเตะลีดส์ทุกคนก็ยอมทำตามแต่โดยดี ยกเว้น ปอนตัส แยนเซน กองหลังลีดส์ที่พยายามวิ่งไปตัดบอลจากอัลเบิร์ต อโดมาห์ของวิลลา แต่ไม่สำเร็จ ลีดส์และวิลลากลับมามีสกอร์เท่ากัน และจบเกมไปด้วยผล 1-1 ประตู  หลังจากนั้น แยนเซนที่บิเอลซายกย่องว่าเป็นนักเตะที่ยอดเยี่ยมที่สุดประจำฤดูกาลของทีมก็ถูกขายทิ้ง เมื่อทัศนคติของเขาไม่เข้ากับการทำทีมของบิเอลซา ขณะที่ลีดส์ก็ต้องพลาดโอกาสเลื่อนชั้นไปอย่างน่าเสียดาย เพราะในการแข่งเพลย์ออฟนัดแรก พวกเขาสามารถบุกไปเอาชนะดาร์บีได้ก่อน 0-1 แต่เมื่อกลับมาเล่นในบ้านตัวเองกลับแพ้ไป 2-4  แม้จะจบฤดูกาลอย่างน่าเสียดาย แต่ลีดส์และบิเอลซาก็ได้รับรางวัลแฟร์เพลย์ประจำปีจากฟีฟาไปครอง โดยคำแถลงการณ์ของฟีฟากล่าวว่า  "หลายคนในโลกฟุตบอลมองว่า ชัยชนะคือเป้าหมายสูงสุด และเป็นเพียงจุดมุ่งหมายเดียวของการแข่งขัน แต่สำหรับอีกหลายคน มันมีหลักการบางอย่างที่ต้องยึดมั่นมากกว่าสิ่งใดที่อาจนำมาซึ่งชัยชนะ "ในเดือนเมษายน 2019 มาร์เซโล บิเอลซา และลีดส์ยูไนเต็ด กำลังไล่ล่าการเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกอย่างอัตโนมัติ พวกเขาเจอกับแอสตันวิลลา และขึ้นนำไปก่อน 1-0 อย่างไรก็ดี ประตูของมันเทียส คลิกช์ ทำได้ในขณะที่นักเตะวิลลาบาดเจ็บ บิเอลซาจึงสั่งให้ทีมของเขาปล่อยให้คู่แข่งทำประตูตีเสมอ "เกมจบลงด้วยผล 1-1 ส่งผลให้คู่แข่งอย่างเชฟฟิลด์ยูไนเต็ดได้เลื่อนชั้นไปเล่นพรีเมียร์ลีกเป็นที่แน่นอน แลกกับโอกาสที่ลีดส์ต้องเสียไป เดิมพันดังกล่าวจึงยิ่งทำให้ความมีน้ำใจนักกีฬาของบิเอลซาเป็นสิ่งที่น่าจดจำเป็นอย่างยิ่ง" (The Guardian) บิเอลซา ไม่ใช่นักฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเขาต้องแขวนเกือกตั้งแต่อายุได้เพียง 25 ปี ทำให้เขาเริ่มต้นอาชีพผู้จัดการทีมเร็วกว่าคนรุ่นเดียวกัน พาทีมสโมสรในอาร์เจนตินาคว้าแชมป์มากมาย ก่อนข้ามไปคุมเอสปันญอลในลาลีกา สเปน เมื่อปี 1998 แต่ปลายปีเดียวกันนั้น เมื่อได้ข้อเสนอให้คุมทีมชาติอาร์เจนตินา เขาก็รีบคว้าไว้ แต่เขาก็ไม่ประสบความสำเร็จในเวทีใหญ่ ทั้งโคปาอเมริกา หรือฟุตบอลโลก แต่ก็ทำให้อาร์เจนตินาคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้สำเร็จในปี 2004 ก่อนที่เขาจะลาออก 6 ปี ที่เขาคุมทีมอาร์เจนตินา แต่ไม่สามารถพาทีมไปได้ตามที่เขาและคนทั้งชาติมุ่งหวัง ทำให้เขาเองรู้สึกผิด จึงทำการไถ่บาปด้วยการใช้ชีวิตอยู่กับศาสนา (เขาเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัด) งดเว้นการติดต่อกับโลกภายนอกนาน 3 เดือน และเว้นวรรคการคุมทีมนาน 3 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่นานมากสำหรับเกมฟุตบอลที่พัฒนาขึ้นทุกวัน แต่เมื่อเขากลับมาคุมทีมอีกครั้งกับทีมชาติชิลี เขาก็สามารถพาทีมผ่านรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2010 ได้สำเร็จ จนเป็นที่รักของแฟนบอลชิลี  แต่ด้วยความเป็นคนที่ยอมหักไม่ยอมงอ บิเอลซาประกาศลาออกในปี 2011 หลังขัดแย้งกับสมาคมฯ (talkSPORT) หลังจากนั้น บิเอลซาก็เร่ร่อนไปคุมทีมอยู่หลายทีม ทีมละปีสองปี แต่ละที่ล้วนจบลงแบบไม่สวยเพราะเขามีความขัดแย้งกับบอร์ดบริหารเป็นประจำ แม้เว้นว่างจากความสำเร็จไปนาน บิเอลซาก็ยังเป็นกุนซือมีชื่อระดับโลก การที่ลีดส์ทีมระดับกลาง ๆ ของแชมเปียนชิพสามารถดึงตัวเขามาร่วมทีมได้ในปี 2018 จึงเป็นที่ฮือฮา และแสดงถึงความทะเยอทะยานที่จะกลับมาประสบความสำเร็จในการแข่งขันระดับสูงสุดของประเทศอีกครั้ง บิเอลซาเปิดตัวกับลีดส์ด้วยการไม่แพ้ใคร 8 นัดติดต่อกัน มีคะแนนนำเป็นอันดับ 1 ของตาราง ก่อนแพ้เป็นนัดแรกให้กับเบอร์มิงแฮมในบ้านของตนเอง และยังทำสถิติชนะ 7 นัดติดต่อกันถึงนัดบ็อกซิงเดย์ (วันที่ 26 ธันวาคม วันแกะกล่องของขวัญหลังคริสต์มาส) ด้วยสไตล์การเล่นที่เน้นการวิ่งกดดันคู่ต่อสู้ตลอดเกม เขาจึงชอบผู้เล่นที่ขยันและมีอายุน้อย ที่เต็มไปด้วยความกระหาย (เช่นเดียวกับเขา แม้ว่าเขาจะเข้าวัยเกษียณแล้วก็ตาม)  การฝึกฝนของเขายังเคี่ยวเข็ญเป็นอย่างมาก กล่าวกันว่า บิเอลซาฝึกความอึดของนักฟุตบอลด้วยการวิ่งจนกว่าจะอ้วกแตก และมีการคุมน้ำหนักอย่างใกล้ชิด ใครที่ทำไม่ได้ตามมาตรฐานที่เขาตั้งไว้อาจหลุดจากทีมได้ ไม่ว่าเขาจะมีฝีเท้าดีแค่ไหน วิธีการของบิเอลซาเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนกับลีดส์ แต่ผลเสียของมันก็ตามมาในครึ่งหลังของฤดูกาล เมื่อนักฟุตบอลหลายคนประสบกับภาวะเบิร์นเอาต์ จนกระทบกับผลการแข่งขัน เห็นได้จากการแพ้ถึง 4 ใน 6 นัด หลังจากเกมวันบ็อกซิงเดย์ การไม่สามารถรักษาความสม่ำเสมอในช่วงท้ายของการแข่งขันทำให้ลีดส์จบฤดูกาลด้วยอันดับ 3 และต้องแข่งเพลย์ออฟกับดาร์บี และเป็นพวกเขาที่ต้องตกรอบไป  ในฤดูกาล 2019-2020 พวกเขาทำได้ดีในช่วงต้นฤดูกาลเหมือนเช่นเคย และทำท่าจะเข้าอีหรอบเดิมอีกครั้ง เมื่อต้องมาแพ้ติด ๆ กันหลังขึ้นปีใหม่ (แพ้ถึง 4 ใน 5 นัด) ก่อนจะตั้งหลักได้ในเกมที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์ และใน 9 นัดสุดท้ายที่กลับมาเตะกันอีกครั้งเมื่อการระบาดของโควิด-19 เริ่มควบคุมได้ พวกเขาก็สามารถเอาชนะได้ 7 นัด เสมอ 1 นัด และแพ้อีก 1 นัด คว้าแชมป์ไปได้สำเร็จ ทั้งนี้ แม้บิเอลซาจะเป็นคนธรรมะธัมโม ยึดถือหลักการต่าง ๆ นานา แต่ในฤดูกาลแรกของเขากับลีดส์ก็มีเรื่องฉาวเช่นกันในเหตุการณ์ “สปายเกต” (เป็นคำที่สื่ออังกฤษเรียกล้อเหตุการณ์วอเตอร์เกต) ที่เขาส่งแมวมองไปสอดแนมการซ้อมของดาร์บี ที่แฟรงก์ แลมพาร์ด เป็นผู้จัดการทีมอยู่ในขณะนั้น  บิเอลซาชี้แจงว่า เขาเป็นคนบ้าข้อมูล เขาวิเคราะห์ข้อมูลการเตะของดาร์บีย้อนหลัง 51 นัด ดูแผนการเล่น วิเคราะห์นักฟุตบอลเป็นรายตัว วิเคราะห์การเปลี่ยนตัวว่าการส่งใครเข้า ถอดใครออก มีผลต่อการเล่นของทีมอย่างไร ซึ่งเขาไม่ได้ทำแบบนี้กับดาร์บีเท่านั้น แต่ทำกับทุกทีม  การส่งคนไปดูการซ้อมของคู่แข่ง เขายอมรับว่ามันเป็นการ “สอดแนม” แต่สิ่งที่เขาทำมันไม่ผิดกฎกติกาใด ๆ และเขาไม่ได้มีเจตนาร้าย หรือหวังที่จะได้เปรียบคู่แข่งอย่างไม่เป็นธรรม เพราะมันไม่ได้มีประโยชน์อะไรขนาดนั้น "ผมไม่จำเป็นต้องไปดูการซ้อมเพื่อที่จะรู้ว่าพวกเขาจะเล่นกันอย่างไร แล้วผมไปดูทำไมเหรอ? "ก็เพราะมันไม่มีข้อห้าม ผมไม่รู้ว่ามันจะทำให้เกิดปฏิกิริยาขนาดนี้ แล้วการไปดูการซ้อมของคู่แข่งมันก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร เพียงแต่มันช่วยให้ผมมีความกังวลน้อยลงเท่านั้น" บิเอลซากล่าว (talkSPORT) นั่นอาจจะเป็นเพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรม เพราะ เมาริซิโอ โปเชตติโน อดีตเฮดโค้ชท็อตแนมฮ็อตสเปอร์ ลูกศิษย์บิเอลซาบอกว่า การสอดแนมเป็นเรื่องปกติในฟุตบอลอาร์เจนตินา ด้าน เปป กวาร์ดิโอลา แห่งแมนเชสเตอร์ซิตี หรือราฟาเอล เบนิเตซ อดีตกุนซือลิเวอร์พูล ซึ่งมีรากมาจากวัฒนธรรมสเปนเหมือนกัน ต่างมองว่า การสอดแนมคู่แข่งเป็นเรื่องที่ทำกันทั่วไป (AP) สุดท้าย ทางฝ่ายจัดการแข่งขันก็สั่งปรับบิเอลซาเป็นเงิน 200,000 ปอนด์ ฐานละเมิดระเบียบที่บังคับให้แต่ละสโมสรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนาสุจริต ก่อนบัญญัติข้อบังคับใหม่ให้ชัดเจน ห้ามแต่ละทีมส่งคนไปดูคู่แข่งซ้อมเป็นเวลา 72 ชั่วโมงก่อนการแข่งขัน ฝ่ายบิเอลซาออกมาขอโทษและยอมจ่ายค่าปรับแต่โดยดี และควักกระเป๋าตังค์จ่ายด้วยตนเอง ไม่ยอมให้สโมสรเข้ามาร่วมรับผิดชอบอีกด้วย (Yorkshire Evening Post   *แก้ไขข้อมูลคลาดเคลื่อน อาร์เจนตินาคว้าเหรียญทองโอลิมปิก ปี 2004 ไม่ใช่ 2002 (แก้เวลา 22.30 น. 27 กรกฎาคม 2020)