มาร์คุส จูนิอุส บรูตุส: คนใกล้ชิดผู้ลงมือสังหาร ‘จูเลียส ซีซาร์’ เพื่อปกป้องสาธารณรัฐ

มาร์คุส จูนิอุส บรูตุส: คนใกล้ชิดผู้ลงมือสังหาร ‘จูเลียส ซีซาร์’ เพื่อปกป้องสาธารณรัฐ
“ข้าจะเป็นผู้นำความตายมาสู่ทรราชเสมอ” (Sic semper evello mortem tyrannis) กล่าวกันว่านี่คือประโยคที่ มาร์คุส จูนิอุส บรูตุส (Marcus Junius Brutus) ประกาศก้องเมื่อเขาลงมือสังหาร จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ผู้ตั้งตนเป็นเผด็จการตลอดชีพ (Dictator for Life) ของโรม บรูตุสเองไม่ใช่คนอื่นไกล เขาเป็นคนที่ใกล้ชิดกับซีซาร์มากคนหนึ่ง แม้จะเคยไปเข้าข้างฝ่ายศัตรูของซีซาร์ในสงครามกลางเมือง แต่ก็ได้รับอภัยโทษและถูกปฏิบัติด้วยเป็นอย่างดี นั่นทำให้บรูตุสถูกจารึกชื่อในประวัติศาสตร์ว่าเป็นหนึ่งในคนทรยศที่โด่งดังที่สุดตลอดกาล แต่เขาเป็นคนทรยศหรือมีอุดมการณ์ที่ต่างออกไปกันแน่ แต่เหตุผลที่ซีซาร์ปฏิบัติต่อบรูตุสเป็นอย่างดีก็เป็นเพราะเขามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ เซอร์วิเลีย (Servilia) มารดาของบรูตุสนั่นเอง  บรูตุสเกิดในตระกูลขุนนางเก่าแก่ที่มีอิทธิพลทางการเมืองในโรมมานาน ตระกูลของบรูตุสยังได้ชื่อว่าเป็นผู้นำการโค่นล้มระบอบกษัตริย์ของโรมเมื่อหลายร้อยปีก่อน และนี่อาจเป็นความภาคภูมิใจของตระกูลที่เขายึดถือไว้ และทำให้เขาเลือกที่จะกำจัดซีซาร์ที่เริ่มมีอำนาจเหมือนกษัตริย์ก็เป็นได้ บิดาของเขาก็เป็นนักการเมืองสำคัญผู้หนึ่ง แต่เคยเข้าร่วมกลุ่มกบฏ และถูกลอบสังหารหลังยอมจำนนโดยปอมเปย์ (Pompey) ซึ่งเป็นนักการเมืองและนายพลที่ถูกส่งไปปราบกบฏครั้งนี้ หลายปีหลังบิดาของบรูตุสเสียชีวิต แม่ของบรูตุสก็ได้แต่งงานใหม่หลายครั้ง แต่ก็มีนักการเมืองที่พยายามเข้าหาเธอหลายคน หนึ่งในชู้รักที่มีชื่อเสียงก็คือจูเลียส ซีซาร์ นักการเมืองอนาคตไกลที่กำลังได้รับความนิยมในแง่นโยบายที่เอาใจคนรากหญ้า ความสัมพันธ์ระหว่างซีซาร์กับเซอร์วิเลียดำเนินไปด้วยดี ซีซาร์เองก็ปฏิบัติกับบรูตุสเหมือนเป็นคนในครอบครัวคนหนึ่งเมื่อเขาไปเยี่ยมเยียนเซอร์วิเลีย  ในช่วงเดียวกันนี้ บรูตุสยังมีญาติผู้ใหญ่ที่ช่วยเลี้ยงดูอีกคนคือ คาโต (Cato the Younger) ซึ่งเป็นพี่ชายของแม่ และคาโตยังเป็นผู้ที่พาบรูตุสเข้าสู่การเมืองเมื่อเขาเติบโตขึ้น บรูตุสได้กลายมาเป็นนักปราชญ์และกวีที่สำคัญคนหนึ่งในแวดวงการเมืองโรมัน โรมในยุคนี้ยังไม่ได้เป็นจักรวรรดิ แต่เป็นระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ โดยวุฒิสภามีอำนาจการตัดสินใจสูงสุด สมาชิกวุฒิสภาก็ประกอบไปด้วยตระกูลขุนนางต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลทางการเมืองมาหลายชั่วรุ่น และหลายคนก็มีตำแหน่งเป็นแม่ทัพและสมาชิกวุฒิสภาไปด้วยกัน ปอมเปย์ที่เคยสังหารพ่อของบรูตุสได้กลายมาเป็นบุคคลทรงอิทธิพลในวุฒิสภาของโรมจากผลงานการรบหลายครั้ง เขาเป็นทั้งนายพลและยังมีตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งทำให้นักการเมืองจำนวนมากในวุฒิสภาต่างหวั่นเกรงอำนาจของเขา  ในช่วงนี้เอง ซีซาร์ที่เริ่มเล่นการเมืองกำลังเสาะหาพันธมิตรเพื่อถ่วงดุลอำนาจของวุฒิสภาจึงจับมือเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับปอมเปย์ทันที ความสัมพันธ์ระหว่างซีซาร์กับบรูตุสเริ่มร้าวฉานจากจุดนี้ คาโตเองก็มองปอมเปย์เป็นศัตรูทางการเมืองเช่นกัน ต่อมาสภาได้มีคำสั่งให้ซีซาร์ออกไปรบในดินแดงห่างไกลเพื่อลดอิทธิพลในสภาของเขา ส่วนปอมเปย์ที่ยังอยู่ในโรมก็พยายามจะรวบอำนาจไว้กับตนเองและมีการยื่นเสนอให้เขารับตำแหน่งเป็นเผด็จการแห่งโรม ซึ่งจะทำให้ปอมเปย์มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจต่าง ๆ แต่บรูตุสก็แสดงจุดยืนคัดค้านการแต่งตั้งปอมเปย์เป็นเผด็จการอย่างแรงกล้าว่า  “การไม่มีอำนาจปกครองใครเลยยังดีกว่าการเป็นทาสของผู้อื่น เพราะคนเราสามารถอยู่ได้อย่างมีเกียรติแม้ไร้ซึ่งอำนาจ แต่เราไม่อาจจะมีชีวิตเยี่ยงทาสได้เลย” นานวันเข้า ข่าวความสำเร็จในการรบของซีซาร์ทำให้เขายิ่งมีชื่อเสียงมากขึ้น อิทธิพลของซีซาร์ในฐานะผู้นำทางทหารก็เป็นที่เลื่องลือ ปอมเปย์ที่เคยเป็นมิตรกับซีซาร์ก็เริ่มหวาดระแวงขึ้นทุกที และหันไปจับมือกับคาโตและบรูตุสเพื่อต่อต้านอำนาจของซีซาร์ในที่สุด แม้ว่าปอมเปย์จะเป็นคนฆ่าพ่อของเขาก็ตาม ความขัดแย้งในสภาครั้งนี้ได้ลุกลามจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองในปี 49 ก่อนคริสตกาล เมื่อสภาที่กำลังเกรงอำนาจซีซาร์ได้ให้เขาสลายกองทัพและกลับมารายงานตัวที่โรมอย่างเร่งด่วน แต่ซีซาร์รู้ว่าสภากำลังจะเล่นงานตน จึงรีบนำกองทัพของตนเข้าประชิดโรมทันที และเข้ายึดอำนาจในโรมได้ ปอมเปย์และพรรคพวกต้องพ่ายแพ้ให้ซีซาร์หลายครั้งจนหลายคนต้องหนีกระจัดกระจายกันไปทุกสารทิศ ในขณะที่บรูตุสซึ่งไม่ได้มีพื้นเพทางทหารมาก่อน และรู้สึกอ่อนล้ากับสงคราม จึงเดินทางไปขอยอมแพ้ที่ค่ายของซีซาร์  ตลอดการรบที่ผ่านมา ซีซาร์เองก็สั่งให้ทหารของเขาละเว้นบรูตุสไว้เมื่อใดก็ตามที่พบเห็นในสนามรบ และถ้าเขายอมจำนนก็ห้ามทำอันตรายแก่เขาเป็นอันขาด เพราะซีซาร์ไม่อยากทำร้ายจิตใจแม่บรูตุสที่เป็นคนรักของตน และเขาก็คุ้นเคยกับบรูตุสมาตั้งแต่เด็ก เมื่อบรูตุสเดินทางมายอมจำนนต่อหน้าค่ายซีซาร์ เขาก็ให้การต้อนรับอย่างดี และปฏิบัติกับบรูตุสเหมือนไม่ได้เป็นเชลยศึก พร้อมทั้งแต่งตั้งให้เขาเป็นผู้ว่าการอิตาลีตอนเหนือระหว่างที่ซีซาร์นำกองทัพไปไล่ตามพรรคพวกของปอมเปย์และคาโตต่อไป  ไม่นานนักสงครามกลางเมืองก็จบลง ปอมเปย์ถูกลอบสังหารระหว่างกบดานในอียิปต์ ส่วนคาโตก็เลือกที่จะฆ่าตัวตายก่อนกองทัพซีซาร์จะเข้าถึงตัว ศัตรูของซีซาร์อีกหลายคนก็เลือกฆ่าตัวตายแทนที่จะยอมจำนน  โอกาสที่จะได้รับอภัยโทษแถมยังมอบตำแหน่งระดับสูงให้เช่นนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในประวัติศาสตร์โรมัน นั่นทำให้บรูตุสเป็นหนึ่งในแกนนำไม่กี่คนที่รอดมาได้  เมื่อกำราบศัตรูทางการเมืองได้ในปี 45 ก่อนคริสตกาล ซีซาร์ก็กลายเป็นผู้ครองอำนาจสูงสุดในกรุงโรม เขาแต่งตั้งตัวเองเป็น ‘เผด็จการตลอดชีพ’ และเริ่มรวบอำนาจหลายอย่างมาไว้ที่ตัวเอง หลายครั้งการตัดสินใจในสภาถูกละเลยเหมือนไม่มีตัวตน  เริ่มมีประชาชนบางส่วนเรียกซีซาร์ว่า ‘กษัตริย์’ ตัวเขาก็ทำท่าทีโยนหินถามทางต่อความเห็นสาธารณชนไปเรื่อย ซึ่งสถาบันกษัตริย์ถือเป็นเรื่องต้องห้ามในสาธารณรัฐโรมันมานาน เพราะชาวโรมันเคยมีประสบการณ์ถูกปกครองโดยกษัตริย์ต่างชาติเมื่อหลายร้อยปีก่อน คำว่ากษัตริย์กับทรราชจึงเป็นเรื่องที่แทบจะแยกกันไม่ออก และมีความหมายในทางลบอย่างมาก ดังนั้นใครที่พยายามจะขึ้นมาเป็นกษัตริย์จึงต้องถูกกำจัดทันที และท่าทีของซีซาร์ยิ่งทำให้วุฒิสภาเกลียดเขายิ่งขึ้น รวมไปถึงบรูตุสที่บัดนี้มองซีซาร์เป็นศัตรูของสาธารณรัฐไปแล้ว  แต่บัดนี้ ‘สาธารณรัฐโรมัน’ เหลือเพียงแต่ชื่อทางการ และถูกปกครองโดยชายผู้เดียวตลอดชีพ ยิ่งไปกว่านั้น ซีซาร์ยังเป็นชู้รักกับราชินีคลีโอพัตราแห่งอียิปต์ (Cleopatra) และคลีโอพัตรายังเดินทางมาพำนักที่คฤหาสน์หรูของซีซาร์ในโรมหลายครั้งพร้อมทั้งขบวนรับเสด็จส่วนพระองค์ นั่นทำให้สภายิ่งวิตกว่าสักวันหนึ่งซีซาร์จะตั้งตนเป็นกษัตริย์และแต่งตั้งคลีโอพัตราเป็นราชินีของโรม ความคลางแคลงใจนี้ทำให้สมาชิกสภาจำนวนมากเริ่มวางแผนกำจัดซีซาร์ก่อนจะสายเกินไป และหนึ่งในแกนนำของกลุ่มก็คือบรูตุสเอง ผู้สมรู้ร่วมคิดมักนัดพบปะกันอยู่หลายครั้งในบ้านของบรูตุส ซึ่งแม่ของบรูตุสที่เป็นชู้รักซีซาร์ก็อยู่ด้วย แต่แผนก็ถูกปกปิดอย่างมิดชิดจนเธอไม่รู้เรื่องราวใด ๆ กลุ่มผู้วางแผนนี้ต่างเรียกกลุ่มตนเองว่า ‘ผู้ปลดปล่อย’ (Liberators) วันที่ 15 มีนาคม เมื่อ 44 ปีก่อนคริสตกาล จูเลียส ซีซาร์ ไม่ได้เดินทางมายังวุฒิสภาตามปกติ เนื่องจากภรรยาของเขาเกิดฝันร้ายว่าซีซาร์ถูกฆ่าตาย และได้ส่งคนสนิทไปประกาศยกเลิกการประชุม ทางฝั่งวุฒิสภาที่กำลังกระวนกระวายใจจึงส่งคนไปเชิญซีซาร์มายังสภาเป็นการเร่งด่วน แต่เมื่อเขาเข้าไปนั่งในที่ประชุม หนึ่งในผู้ร่วมแผนก็เดินออกมาขอนิรโทษกรรมให้แก่พี่ชายของตน แต่ซีซาร์ปฏิเสธอย่างไม่ไยดี เขาจึงกระชากเสื้อของซีซาร์เป็นการส่งสัญญาณ  ทันใดนั้น กลุ่มผู้สมรู้ร่วมคิดพร้อมกับบรูตุสก็กรูกันเข้ามาจ้วงแทงซีซาร์หลายแผล แม้เขาจะพยายามปัดป้อง แต่ไม่อาจสู้กับศัตรูที่รายล้อมทุกทางได้ และแล้วเผด็จการแห่งโรมก็สิ้นลมหายใจในสภาที่เขาเคยครองอำนาจไว้ได้ ตามร่างกายของเขาพบว่ามีแผลคมมีดถึง 23 รอย บันทึกบางแหล่งเล่าว่าเมื่อซีซาร์เห็นว่าบรูตุสเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เข้ามารุมสังหาร เขาก็ถามด้วยเสียงหลงเป็นภาษากรีกว่า “เจ้าด้วยหรือ เด็กน้อย” (Kaì sý, téknon) และยอมสยบต่อมือสังหารทันที กลุ่มผู้ปลดปล่อยวาดภาพไว้ว่าการลอบสังหารซีซาร์จะทำให้สาธารณชนลุกฮือขึ้นและทำให้ขั้วการเมืองของซีซาร์ต้องยอมสยบต่ออำนาจของตนไปโดยปริยาย ทว่าความเป็นจริงกลับเป็นไปในทางตรงข้าม เมื่อบรูตุสและสมาชิกกลุ่มผู้ปลดปล่อยได้ประกาศว่าซีซาร์ตายแล้ว และสาธารณรัฐได้ถูกฟื้นฟูอีกครั้ง เสียงตอบรับจากประชาชนโรมแทนที่จะปลื้มปีติ กลับเป็นเสียงร้องด้วยความโกรธแค้นและเสียใจ นักการเมืองฝ่ายซีซาร์เริ่มแถลงการณ์ประณามกลุ่มผู้ลอบสังหารซีซาร์กันอย่างรวดเร็ว ความใกล้ชิดของซีซาร์และบรูตุส รวมไปถึงความไว้ใจและตำแหน่งที่ซีซาร์มอบให้บรูตุสทำให้ภาพลักษณ์กลุ่มผู้ลงมือยิ่งดูเลวร้ายลงไปอีก ไม่นานนัก ขั้วอำนาจฝั่งซีซาร์ก็เริ่มสั่งสมอำนาจและประกาศว่าจะนำตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้ ฝ่ายซีซาร์จึงครองเสียงของประชาชนไว้ได้ ในขณะที่บรูตุสและกลุ่มคนที่เคยลอบสังหารซีซาร์ต่างหลบหนีออกจากโรมเพื่อไปรวบรวมกองทัพมาสู้กับกลุ่มของซีซาร์ต่อไป สงครามกลางเมืองครั้งใหม่เริ่มต้นอีกครั้ง ในปีต่อมา ผู้สืบทอดอำนาจของซีซาร์ได้รวบรวมกองทัพแล้วบดขยี้กองทัพฝ่ายผู้ปลดปล่อยจนย่อยยับ ผู้นำกลุ่มหลายคนถูกสังหารในการรบหรือไม่ก็เลือกจบชีวิตตนเอง บรูตุสรู้ว่าตนกำลังพ่ายแพ้และคงไม่มีโอกาสได้กลับไปกรุงโรมอีกแล้ว จึงกล่าวขอบคุณทุกคนที่ร่วมขบวนการกันมา รวมไปถึงทหารที่เหลือที่ร่วมต่อสู้กันมา จากนั้นจึงปลิดชีพตนเองด้วยดาบ ฝ่ายซีซาร์ได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมือง และขึ้นครองอำนาจในโรมอย่างเบ็ดเสร็จ นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามหลายคนเริ่มถูกกำจัด จากนั้นก็เกิดสงครามกลางเมืองอีกครั้งในฝ่ายซีซาร์เอง และ อ็อคตาเวียน (Octavian) หลานของซีซาร์กลายมาเป็นผู้ชนะที่ควบคุมอำนาจเด็ดขาดในโรม และกลายมาเป็นจักรพรรดิคนแรกในหน้าประวัติศาสตร์โรมัน สาธารณรัฐโรมที่กลุ่มของบรูตุสพยายามจะพิทักษ์ก็มาถึงจุดจบ โรมเปลี่ยนจากสาธารณรัฐกลายเป็นจักรวรรดิที่มีบุคคลผู้เดียวกุมอำนาจตลอดชีพและเลือกสืบทอดตำแหน่งต่อไป ไม่ว่าบรูตุสจะถูกมองเช่นไร ไม่สำคัญว่าเขาเป็นคนทรยศ ผู้ปลดปล่อย ผู้ปกปักสาธารณรัฐ หรือผู้ปกป้องกลุ่มขั้วอำนาจเก่า เราไม่อาจตัดสินได้แน่ชัด แต่ประวัติศาสตร์บอกให้เรารู้ว่าการเมืองและการแย่งชิงอำนาจไม่ได้ละเว้นความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมอไป    อ้างอิง: https://www.history.com/news/julius-caesar-assassination-fall-roman-republic https://www.history.com/news/julius-caesar-assassin-ides-of-march https://www.historyextra.com/period/roman/death-julius-caesar-what-we-know-ides-of-march-brutus-cassius-et-tu/ https://www.britannica.com/biography/Marcus-Junius-Brutus https://www.nationalgeographic.org/thisday/mar15/julius-caesar-assassinated/