มาเรีย ซิบีลลา เมอเรียน: นักวิทยาศาสตร์และศิลปินหญิงผู้ปฏิเสธความเชื่อว่า ‘แมลงคือสัตว์เลี้ยงของปีศาจ’

มาเรีย ซิบีลลา เมอเรียน: นักวิทยาศาสตร์และศิลปินหญิงผู้ปฏิเสธความเชื่อว่า ‘แมลงคือสัตว์เลี้ยงของปีศาจ’
ย้อนกลับไปเกือบ 400 ปีก่อน โลกของธรรมชาติยังเป็นสิ่งที่น่าพิศวง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้อยใหญ่ที่มีสีสันประหลาดตา มีขายั้วเยี้ย หรือพืชมีพิษที่ภายนอกดูเป็นมิตรน่าค้นหา แต่อีกสิ่งที่ถูกเข้าใจผิดไปไกล เพราะไม่มีใครเข้าไปศึกษาอย่างจริงจังคือ ‘โลกของเหล่าแมลง’ บ้างก็ว่าแมลงคือสัตว์เลี้ยงของปีศาจ บ้างก็ว่าพวกมันเกิดจากผืนดิน หรือบ้างก็ว่าพวกมันสามารถปรากฏตัวได้เองตามกองขยะ นำมาซึ่งความรังเกียจและความเข้าใจผิดต่อแมลงของคนในยุคก่อนเป็นอย่างมาก ยกเว้นแต่เพียงหญิงสาวที่มีชื่อว่า ‘มาเรีย ซิบีลลา เมอเรียน’ ที่เธอไม่เชื่อเช่นนั้น มาเรียเป็นสาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เธอยืนกรานหนักแน่นที่จะไม่คล้อยตามแนวความเชื่อผิด ๆ ที่มีต่อแมลง เพราะในสายตาของเธอ พวกมันช่างลึกลับ น่าค้นหา และงดงามเป็นที่สุด มาเรียเกิดที่ประเทศเยอรมนีในปี 1647 เธอคือหญิงสาวที่ผสมผสานศาสตร์แห่งงานศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกันจากการนั่งสังเกตพฤติกรรมและลักษณะภายนอกของเหล่าแมลง หลังจากนั้นจึงวาดออกมาเป็นภาพที่มีรายละเอียดเหมือนจริง นั่นทำให้ในปัจจุบัน มาเรียถือว่าเป็นผู้บุกเบิกแนวทางในการศึกษาด้านกีฏวิทยา (ศึกษาเกี่ยวกับแมลง) รวมไปถึงประวัติศาสตร์ธรรมชาติจากภาพวาดของเธอ ช่วงวัยเด็ก มาเรียเริ่มต้นความชื่นชอบแมลงจากการนั่งสังเกตพฤติกรรมของพวกมัน ต่อมาจึงเริ่มสะสมแมลงและเลี้ยงผีเสื้อไว้ในบ้าน ประกอบกับพ่อเลี้ยงของเธอได้สอนวิธีวาดภาพสีน้ำให้ หลังจากนั้นมาเรียจึงผันตัวมาเป็นศิลปินที่วาดภาพแมลง ซึ่งเธอก็ได้ลงมือศึกษาพวกมันอย่างละเอียดจากตำราวิชาการ รวมไปถึงการสังเกตพวกมันตั้งแต่อยู่ในดักแด้จนออกมากางปีกโบยบินอย่างสวยงาม ในเวลาต่อมา มาเรียได้กลายเป็นนักธรรมชาติวิทยา นักกีฏวิทยา และนักวาดภาพประกอบทางวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่างเต็มตัว แม้ในช่วงวัยที่ย่างเข้าเลข 52 มาเรียก็ยังไม่หยุดความชอบของเธอ โดยเธอและลูกสาวได้เดินทางออกจากเนเธอร์แลนด์ไปไกลถึง 5,000 ไมล์ เพื่อเข้าไปศึกษาแมลงในป่าของประเทศซูรินาม ทวีปแอฟริกา บังเกิดเป็นหนังสือภาพประกอบทางวิทยาศาสตร์ชื่อว่า ‘Metamorphosis Insectorum Surinamensium’ ในปี 1705 ทำให้ชื่อของนักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นบุกเบิกคนนี้โด่งดังไปทั่วยุโรป แต่ด้วยทวีปยุโรปในศตวรรษที่ 18-19 ยังมีการกีดกันผู้หญิงออกจากหลาย ๆ วงการ รวมไปถึงวงการวิทยาศาสตร์ ทำให้ชื่อและความพยายามของมาเรีย ซิบีลลา เมอเรียนถูกทำให้หายไป ก่อนที่อีก 300 ปีต่อมาหลังความตายของเธอ ชื่อของศิลปินนักวิทยาศาสตร์หญิงคนแรกที่ศึกษาเรื่องแมลงจะกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง และใบหน้าของเธอก็ได้ปรากฏอยู่บนธนบัตร 500 มาร์คเยอรมัน (Deutsche Mark) ของประเทศเยอรมนี ก่อนสกุลเงินนี้จะถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการในปี 2002 ต้องขอบคุณมาเรีย ซิบีลลา เมอเรียนที่ไม่เชื่อว่าแมลงคือสัตว์เลี้ยงของปีศาจในเวลานั้น ทำให้โลกของเรามีการศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องของแมลงและพืชพันธุ์อื่น ๆ มากขึ้น จนมนุษย์สามารถหาประโยชน์จากธรรมชาติได้ดั่งเช่นปัจจุบัน เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ที่มาภาพ Photo by DeAgostini/Getty Images อ้างอิง หนังสือ Women in Science โดย Rachel Ignotofsky https://www.nytimes.com/2017/01/23/science/maria-sibylla-merian-metamorphosis-insectorum-surinamensium.html