มารี โคลวิน: ตำนานนักข่าวหญิงแกร่งผู้ฉายแสงแด่เหยื่อสงครามทั่วโลก 

มารี โคลวิน: ตำนานนักข่าวหญิงแกร่งผู้ฉายแสงแด่เหยื่อสงครามทั่วโลก 
ฤดูร้อนปี 2001 รัตติกาลอันมืดมิดห่อคลุมทั่วท้องทุ่งแห่งหนึ่งในเมืองวานนิ ประเทศศรีลังกา ก้าวย่างจากรองเท้าคอมแบทบนพื้นหญ้าและดินแห้งเป็นไปอย่างระแวดระวัง แต่มันก็ยังดังพอจะกลายเป็นส่วนเกินของท้องทุ่งยามค่ำ แต่ที่ดังกว่านั้นคือเสียงเต้นโครมครามของหัวใจอย่างร้อนรุ่มและหวาดระแวงของ ‘มารี โคลวิน’ (Marie Colvin) หญิงอเมริกันวัย 45 ปีที่เดินตามกลุ่มทหารชายฉกรรจ์มาหลายชั่วโมง และสั่งให้เธอหยุดพักก้มหัวให้ต่ำเป็นระยะ  “ไป มารีเดินไป”  ทหารหนุ่มสั่งให้เธอก้าวขาออกตามขบวนข้างหน้า แต่ในเสี้ยววินาทีนั้นมีคนตะโกน “หมอบลง!” ก่อนห่ากระสุนจะถูกรัวมาจากอีกฝั่ง ทุกร่างตะเกียกตะกายหลบกระสุน แต่มารียกตัวชูมือขึ้นแล้วตะโกนว่า “ฉันเป็นคนอเมริกัน ฉันเป็นผู้สื่อข่าว ไม่มีอาวุธ” ทว่าพริบตาเดียวกันนั้นเสียงแหวกอากาศของจรวดอาร์พีจีดังมาจากฝั่งที่เธอร้องขอชีวิตก่อนระเบิดตูมจนร่างเธอลอยละล่อง มารีบาดเจ็บสาหัสทั้งร่าง แต่สำหรับนักข่าว ไม่มีอะไรสำคัญเท่าดวงตา มารีสูญเสียดวงตาข้างซ้ายอย่างถาวร เมื่อฟื้นขึ้นที่โรงพยาบาล สิ่งแรกที่มารีทำคือเอื้อมมือควานหาสมุดจดข่าว และรายงานสิ่งที่เธอได้พบจากภายในค่ายผู้อพยพในเมืองวานนิ คือผลกระทบของสงครามระหว่างกลุ่มพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม (LTTE) กับรัฐบาลศรีลังกาที่สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงให้เด็ก ผู้หญิง คนชรา การขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค ชะตากรรมของชาวทมิฬศรีลังกาที่มิอาจเลือกได้ภายใต้สงครามกลางเมืองที่กินเวลายืดเยื้อยาวนานหลายปี  จากภาพลักษณ์ของหญิงแกร่งไม่รอมชอมกับผู้มีอำนาจ ‘มารี โคลวิน’ กลายเป็นนักข่าวที่สวมผ้าปิดตาซ้ายนับแต่นั้น เธอเย้าแหย่ตนเองให้ใครต่อใครฟังว่า “ฉันคือจอมโจรสลัด” แล้วหัวเราะอย่างไม่รู้สึกรู้สากับภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไป ทว่าภายใต้เปลือกนอกที่เป็นคนสมบุกสมบัน ภาวะ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงและกระทบกระเทือนจิตใจอย่างหนักกำลังเกาะกินเธอโดยไม่รู้ตัว หากไม่ใช่คนใกล้ตัวจริง ๆ จะไม่รู้ นั่นเพราะมารีทุ่มเทกับงานราวกับว่าชะตากรรมของคนตัวเล็ก ๆ ท่ามกลางสงครามใหญ่ทั่วโลกคือเดิมพัน ทุกวินาทีคือความสนใจที่เธอทุ่มให้กับงาน และมุ่งมั่นจะสร้างความเปลี่ยนแปลง และนั่นก็เป็นเหตุผลให้ชีวิตแต่งงานครั้งแรกของเธอกับสามีนักเขียนหนุ่มล้มเหลว ย้อนกลับไปสองปีก่อนหน้าที่เธอจะสูญเสียดวงตาข้างซ้าย มารี โคลวิน เป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์ซันเดย์ ไทม์ส ของอังกฤษ ที่ลงไปประจำการอยู่ในติมอร์ตะวันออกระหว่างการปิดล้อมของกองทัพอินโดนีเซีย เพราะการเคลื่อนไหวเพื่อขอทำประชามติแยกตัวเป็นเอกราชของชาวติมอร์ ในการสู้รบอย่างเข้มข้นของนักรบติมอร์กับกองกำลังติดอาวุธท้องถิ่นที่หนุนหลังโดยกองทัพอินโดนีเซีย ผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่ถูกต้นสังกัดเรียกตัวออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัย เพราะขณะนั้นกองกำลังติดอาวุธรุกคืบเข้ามาและเริ่มลงมือฆ่าตัดคอชาวติมอร์ที่กำลังหลบภัยและขู่จะสังหารชาวต่างชาติด้วย มารีแจ้งบรรณาธิการที่อังกฤษว่าเธอขอยืนหยัดอยู่ในพื้นที่ โดยมีเพียงเพื่อนนักข่าวหญิงชาวดัตช์อีกคน ขณะที่นักข่าวผู้ชายหนีไปกันหมดแล้ว และเธอจะไม่ยอมออกจากที่นั่นเพราะชาวโลกยังต้องรู้ชะตากรรมของชาวติมอร์ ความเด็ดเดี่ยวของเธอทำให้ยังมีข่าวสารความโหดร้ายนำเสนอออกมาจากสมรภูมิติมอร์ กระทั่งเกิดการกดดันของนานาชาติจนกองทัพของอินโดนีเซียต้องถอนกำลังออก และยินยอมให้กองกำลังเพื่อสันติภาพของสหประชาชาติเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่แทน กระทั่งนำไปสู่การลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราช กลายเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ในปัจจุบัน นักข่าวแค่ทำหน้าที่รายงานและไม่จำเป็นต้องรับเครดิตใด ๆ กับผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลง มารีได้รับรางวัลมากมายก่ายกองจากสมาคมผู้สื่อข่าวอังกฤษและสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เธอกลายเป็นไอคอนแห่งนักข่าวสงครามที่บางคนสำรวจหัวใจตนเองแล้วก็ได้แต่ฝันถึง แต่มารียึดมั่นกับงานไม่ใช่ถ้วยรางวัลหรือคำชื่นชม แม้จะอยู่ในวัยเกินครึ่งทางของชีวิตแล้ว แต่มารีไม่เคยต้องการตำแหน่งใด ๆ ในกองบรรณาธิการมากไปกว่าเป็นนักข่าวที่กระหายการลงพื้นที่ และไปฝังตัวอยู่กับเหยื่อของความขัดแย้ง และนั่นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครห้ามเธอได้  เธอเคยฝ่ากระสุนที่ถูกยิงจากเครื่องบินรบรัสเซียขณะเดินทางไปคุยกับหัวหน้ากลุ่มกบฏเชเชนเพื่อรายงานผลกระทบจากการสู้รบเพื่อปลดแอกจากรัสเซีย เคยฝ่าดงกระสุนสไนเปอร์ที่เลบานอน เคยตระเวนไปทั่วคาบสมุทรบอลข่าน ขณะกองทัพปลดปล่อยโคโซโวเปิดศึกกับชาวเซิร์บ เธอเคยตั้งคำถามอย่างเสียดแทงหัวใจผู้นำเผด็จการลิเบีย ‘มูอัมมาร์ กัดดาฟี’ ถึงความตายของพลเมืองชาวลิเบียที่แลกกับอำนาจของเขา และยังตระเวนไปนำเสนอเรื่องราวเหยื่อความขัดแย้งที่เซียร์ราลีโอน อัฟกานิสถาน สมรภูมิอิรัก และอีกหลายแห่งบนโลกที่ ‘มนุษย์ไขว่คว้าแต่สิ่งที่ไม่อาจรักษาไว้ได้’ ทั้งหมดนั้นมารีไม่เคยพุ่งเป้าไปที่การรายงานความเคลื่อนไหวของผู้มีอำนาจ แต่ให้พื้นที่กับความทุกข์ยากเข็ญใจของผู้คนภายใต้คมกระสุนและซากปรักหักพังจากแรงระเบิด เธอเป็นนักข่าวสงครามที่เกลียดชังสงคราม มารีแสดงออกเช่นนี้ทุกครั้งในข้อเขียน และดูเหมือนจะเป็นอุดมการณ์เดียวในชีวิตของเธอตั้งแต่เรียนจบด้านมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยเยล เมื่อปี 1974 และขอฝึกงานกับหนังสือพิมพ์ Yale Daily News ในระหว่างเรียน  แม้จะต้องหันเหไปทำอย่างอื่นเลี้ยงชีพเมื่อเรียนจบ แต่เธอสมัครทำงานเป็นนักข่าวสงครามที่ซันเดย์ ไทม์สสำเร็จในปี 1985 และมารีมีสังกัดเพียงแห่งเดียวทั้งชีวิต ซึ่งนั่นก็เพียงพอที่ทำให้โลกรู้จักนักข่าวสงครามผู้หญิงที่กล้าหาญ แม้ว่าเพื่อนสนิทของเธอกลับรับรู้ถึงตัวตนที่ต่างออกไป มารีคือคนอ่อนโยนและเปราะบาง ส่วน ‘แคธลีน โคลวิน’ (Cathleen Colvin) น้องสาวของมารีบอกว่า เธอ (มารี) จะเป็นลูกสาวพี่สาวน้าสาวที่วิเศษที่สุดเท่าที่คุณจะจินตนาการได้ แต่กับคนที่ทำงานด้วยกันอย่างช่างภาพฟรีแลนด์ที่มารีใช้งานเป็นช่างภาพประจำตัวยามเกาะติดสมรภูมิตะวันออกกลางอย่าง ‘พอล คอนรอย’ (Paul Conroy) ยืนยันได้เพียงว่ามารีเป็นผู้หญิงที่บ้าบิ่น ดื้อรั้น เชื่อมั่นตัวเองสูง แต่อ่อนไหวกับความทุกข์ยากของผู้คน เธอสูบบุหรี่วันละไม่ต่ำกว่ายี่สิบมวน และมวนต่อมวนเมื่อเผชิญกับภาวะ PTSD รวมทั้งดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดราวกับน้ำเปล่า เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2012 ห้วงเวลาที่กองกำลังของกลุ่มกบฏต่อสู้อย่างดุเดือดกับกองกำลังทหารของบัชชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar Hafez al-Assad) ภายหลังกระแสประท้วงอาหรับสปริง มารีและพอลติดอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวของสื่อมวลชนในอาคารกลางซากปรักหักพังของเมืองฮอมส์ (Homs) ในซีเรีย ขณะนั้นกองบรรณาธิการข่าวทั่วโลกที่มีนักข่าวประจำการอยู่ในสมรภูมิซีเรียเริ่มรับรู้ข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองเลบานอนว่า สื่อมวลชนกำลังตกเป็นเป้าหมายของกองกำลังรัฐบาลซีเรีย เนื่องจากรายงานการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติเผยแพร่ออกไปและทำให้นานาชาติกดดันรัฐบาลซีเรียอย่างหนัก มีคำสั่งลับที่ดักฟังจากวิทยุได้ว่า ให้ยิงทิ้งผู้สื่อข่าวต่างชาติได้ทันที หลายสำนักสั่งการให้นักข่าวอพยพข้ามฝั่งไปเลบานอน  แน่นอนว่ามารีดื้อรั้นกับฌอน ไรอัน (Sean Ryan) หัวหน้าของเธอที่ซันเดย์ ไทม์สเพราะเธออยู่ท่ามกลางโศกนาฏกรรมที่กลุ่มทหารกระทำต่อประชาชนซีเรีย ทั้งการข่มขืนผู้หญิง สังหารเด็กและประชาชนมือเปล่าซึ่งกัดกลืนหัวใจของมารีอย่างหนัก ในห้วงยามแห่งความโศกเศร้าหนาวเหน็บและหิวโหย เสียงระเบิดยังกัมปนาทกึกก้องหลากทิศทั่วทั้งเมือง มารีซึ่งได้รับการขอร้องจากพอล และเพื่อนช่างภาพอีกจำนวนหนึ่งให้อพยพออกจากศูนย์ข่าวที่มีเพียงไฟฟ้าจากเครื่องปั่น เธอเห็นแววตาวิงวอนจากพอลและเรอมี อ็อชลิค (Remi Ochlik) ช่างภาพชาวฝรั่งเศสอีกคนที่รับรู้ถึงภยันตรายที่คืบคลานมาใกล้ มารีเก็บสัมภาระอย่างเสียไม่ได้และเดินลอดผ่านตรอกหลบภัยอย่างระแวดระวัง แต่เหมือนเธอตัดสินใจบางอย่างได้จึงบอกกับพอลว่า ชีวิตชาวซีเรียต้องการเธอ และโลกนี้ต้องรับรู้ความเลวร้ายที่อัล-อัสซาดกระทำต่อพลเมืองของตนเอง และอย่างน้อยศูนย์ข่าวแห่งนี้ยังสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเป็นทำเลที่ดีกว่าพื้นที่ส่วนอื่นของเมืองที่ถูกถล่มจนยับเยิน  นั่นเป็นอีกหนที่พอลประจักษ์ถึงความดื้อรั้นของนักข่าวหญิงจอมแกร่ง แต่ทั้งมวลนั้นมาจากแรงขับภายในของความเป็นมนุษย์และวิชาชีพสื่อมวลชนที่มารียึดมั่น เขาและเรมีจึงยินยอมที่จะก้าวตามมารีกลับไปยังห้องโถงของศูนย์ข่าว มารีจุดบุหรี่สูบก่อนโทรศัพท์บอกหัวหน้าของเธอที่ลอนดอนว่าประสงค์จะนำเสนอข่าวนี้ผ่านการรายงานทางโทรศัพท์ไปยังสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ รวมทั้ง BBC และ CNN ซึ่งเธอได้กล่าวหาประธานาธิบดีบัชชาร์ อัล-อัสซาด และกองกำลังของเขาว่าเป็นฆาตกร เธอให้สัมภาษณ์กับ ‘แอนเดอร์สัน คูเปอร์’ (Anderson Cooper) จากสำนักข่าว CNN  ถึงประสบการณ์สุดสยอง ในการเฝ้าดูเด็กชายชาวซีเรียวัย 2 ขวบเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุน เธอบอกว่าเด็กคนนั้นอาจจะกระตุ้นให้คนอื่นคิดมากขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้น และเหตุใดจึงไม่มีใครหยุดการฆาตกรรมในเมืองฮอมส์ที่เกิดขึ้นทุกวันมาเป็นเวลานาน และไม่กี่ชั่วโมงถัดมา เธอยังรายงานข่าวให้กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 และรายการนิวส์ แอท เทน ของสถานีโทรทัศน์ ITN ซึ่งวินาทีสุดท้ายเธอบอกว่ากำลังหนีออกจากอาคารที่ถูกกำลังถล่มด้วยจรวด และหลังจากนั้นโลกก็ประจักษ์ถึงความเลวร้ายขีดสุดของเผด็จการอัล-อัสซาดผ่านคำบอกเล่าถึงสภาพศพของมารีและเรมีจากปากของพอลที่รอดชีวิตจากแรงระเบิดในสภาพที่บาดเจ็บสาหัส  ศพของมารีถูกเคลื่อนย้ายไปประกอบพิธีที่โบสถ์ โดมินิค โรมัน คาทอลิก บริเวณอ่าวออยส์เตอร์ ย่านลองไอส์แลนด์ในมหานครนิวยอร์ก อันเป็นบ้านเกิดที่เธอจากไปทำงานเพื่อมวลมนุษย์ทั่วโลก ทิ้งไว้เพียงตำนานเล่าขานถึงนักข่าวหญิงแกร่งที่สวมผ้าคาดปิดตา และทำหน้าที่เพื่อเหยื่อสงครามจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต  เรื่องราวของมารี โคลวิน ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง A Private War เมื่อปี 2018 นำแสดงโดย โรซามุนด์ ไพค์ (Rosamund  Pike) นักแสดงสาวชาวอังกฤษชื่อดังซึ่งได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมว่าถ่ายทอดบุคลิกนิสัยของมารีได้อย่างสมจริง ทว่ารายละเอียดบางช่วงบางตอนของชีวิตมารีถูกแต่งเติมและใส่เนื้อหาเพื่ออรรถรสทางภาพยนตร์เกินจริง แต่เมื่อดูเส้นทางชีวิตของมารีทั้งหมด เนื้อหาของภาพยนตร์ความยาวเกือบ 110 นาที จึงถือว่ายังน้อยเกินไปกับสิ่งที่เธอฝากไว้ให้กับเพื่อนมนุษย์และวิชาชีพสื่อมวลชนก่อนจากไปในวัย 56 ปีอย่างที่เธอเคยกล่าวไว้ว่า  “หน้าที่ของฉันคือการเป็นประจักษ์พยาน ฉันไม่เคยสนใจที่จะรู้ว่าเครื่องบินอะไรที่ทิ้งระเบิดในหมู่บ้านหรือว่าปืนใหญ่ ที่ยิงได้ 120 มม. หรือ 155 มม.”    อ้างอิง :  https://www.aljazeera.com/news/2012/2/22/foreign-journalists-killed-amid-homs-shelling https://www.washingtonpost.com/world/national-security/war-reporter-marie-colvin http://www.licf.org/Donors/OurDonorsTheheartofLICF/MARIECOLVIN https://www.newsday.com/long-island/nassau/marie-colvin-s-body-due-back-on-li-tuesday https://www.ft.com/content/c72c571c-260f-11e9-8ce6-5db4543da632 https://www.thetimes.co.uk/article/marie-colvin-fighting-her-killer-from-beyond-the-grave   เรื่อง: กัณฐ์ นครสุขาลัย